แอมเนสตี้เรียกร้องประธานอาเซียนคุ้มครองผู้ลี้ภัยสืบสวนการลักพาตัวนักข่าวเวียดนามในไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 1855 ครั้ง

แอมเนสตี้เรียกร้องประธานอาเซียนคุ้มครองผู้ลี้ภัยสืบสวนการลักพาตัวนักข่าวเวียดนามในไทย

ในวาระที่มีการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย. 2562 ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้นำและผู้แทนประเทศอาเซียนเข้าร่วมประชุมถึง 10 ประเทศ และประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนจนถึงสิ้นปีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลส่งข้อเรียกร้องถึงทางการไทยสอบสวนกรณีการลักพาตัวเจือง ซุย เญิ๊ต นักข่าวชาวเวียดนามที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และให้ลงนามพร้อมให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 โดยกำหนดให้การบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยเป็นอาชญากรรม และกำหนดกรอบกฎหมายและระเบียบราชการที่เข้มแข็ง เพื่อคุ้มครองไม่ให้ผู้ลี้ภัยถูกส่งตัวกลับไปเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงและอันตรายถึงชีวิตในประเทศต้นทาง

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร แถลงเรียกร้องทางการไทยสอบสวนเกี่ยวกับการลักพาตัวนายเจือง ซุย เญิ๊ต (Truong Duy Nhat) นักข่าวเวียดนามที่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมาในประเทศไทย เรียกร้องทางการไทยสอบสวนความเกี่ยวข้องของตำรวจไทยกับการลักพานักข่าวเวียดนามโดยทางการเวียดนาม หากพบว่าเจ้าหน้าที่ไทยรายใดเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวครั้งนี้ต้องถูกนำตัวมาลงโทษ

นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า จากเอกสารและข้อมูลที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับ ทำให้เกิดคำถามอย่างจริงจังเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของตำรวจไทย ที่มีต่อเหตุการณ์อันนำไปสู่การลักพาตัวของเญิ๊ตที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 มกราคม ทางการเวียดนามยอมรับแล้วว่า ในปัจจุบัน เจืองถูกควบคุมตัวอยู่ที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม และต้องเข้ารับการไต่สวนในข้อหาทุจริต

“การลักพาตัวเจือง เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่น่ากังวลอย่างยิ่งในภูมิภาคนี้ในแง่การบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย ซึ่งมักเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

“หลายประเทศในภูมิภาคกำลังแลกเปลี่ยนตัวบุคคลฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และบุคคลที่หลบหนีการประหัตประหาร ซึ่งเป็นความร่วมมือที่น่ารังเกียจของรัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาค ผู้นำอาเซียนต้องยุติแนวโน้มที่ดิ่งลงเหวเช่นนี้”

หลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะไทย เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย ต่างแลกเปลี่ยนตัวบุคคลที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองซึ่งเป็นเป้าหมายให้แก่กันและกัน ถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย ในกรณีที่เลวร้ายสุด ดูเหมือนว่าฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเหล่านี้จะถูก “อุ้มหาย” ไปจากประเทศที่อยู่ระหว่างการขอลี้ภัย และไปปรากฏตัวในอีกประเทศหนึ่งในฐานะผู้ถูกควบคุมตัวไว้ ในเวลาหลายเดือนหรือหลายสัปดาห์ต่อมา

เหตุการณ์ที่เกิดต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ต่อกรณีของเจือง ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะมีการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนระหว่างประเทศไทยกับเวียดนาม โดย เจืองถูกลักพาตัวและส่งกลับเวียดนามในเดือนมกราคม และอีกสองสามเดือนต่อมาทางการเวียดนามก็ได้ควบคุมฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่เป็นชาวไทยเอาไว้ ซึ่งเรายังไม่ทราบชะตากรรมและที่อยู่ของพวกเขา ชายไทยทั้งสามคน ได้แก่ สยาม ธีรวุฒิ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และกฤษณะ ทัพไทย โดยทั้งหมดถูกสกัดจับโดยทางการเวียดนามที่บริเวณพรมแดนเวียดนาม-ลาวเมื่อต้นปี 2562 และมีรายงานว่า ได้ถูกส่งตัวให้กับประเทศไทย เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2562

ในวันที่ 7 ก.พ. 2562 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ประกาศที่จะสอบสวนกรณีการหายตัวไปของเจือง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการประกาศความคืบหน้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบสวนในกรณีนี้แต่อย่างใด

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทางการไทยให้ดำเนินการสอบสวนต่อกรณีรายงานการหายตัวไปขอเจืองโดยทันที อย่างมีประสิทธิภาพ รอบด้านและไม่ลำเอียง รวมทั้งความเกี่ยวข้องของตำรวจไทยในกรณีนี้ด้วย หากพบว่าเจ้าหน้าที่รายใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวครั้งนี้ต้องถูกนำตัวมาลงโทษ

“กรณีของเจือง ซุย เญิ๊ต ถือเป็นการเหยียดหยามวิสัยทัศน์ของอาเซียน ที่ประกาศว่าจะรวมตัวเป็นภาคีที่ “ไม่ทิ้งใครอยู่ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต” เพราะการปฏิเสธสิทธิของคนบางคน ย่อมเป็นการปฏิเสธอนาคตของพวกเขาด้วย รัฐบาลในอาเซียนควรยุติการสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อปราบปรามฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และประกันว่าจะให้ความเคารพอย่างเต็มที่ กับสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในประเทศตนเอง

“กรณีของเจืองแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เหตุใดประชาคมระหว่างประเทศจึงต้องบัญญัติมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนจึงควรแสดงความเป็นผู้นำในการบังคับใช้มาตรฐานเหล่านี้ ไม่ใช่ไปละเมิดเสียเอง”

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้การลงนามและให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 โดยกำหนดให้การบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยเป็นอาชญากรรม และกำหนดกรอบกฎหมายและระเบียบราชการที่เข้มแข็ง เพื่อคุ้มครองไม่ให้ผู้ลี้ภัยถูกส่งตัวกลับไปเผชิญกับการประหัตประหาร” นิโคลัส กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: