'Facebook' จับมือ 'AFP' ตรวจสอบข่าวปลอมในไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 ต.ค. 2562 | อ่านแล้ว 3037 ครั้ง

'Facebook' จับมือ 'AFP' ตรวจสอบข่าวปลอมในไทย

'Facebook' ร่วมกับ สำนักข่าว 'AFP' เปิดโปรแกรมตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย หากพบว่าไม่จริงจะแจ้งเตือนผู้ใช้งานก่อนแชร์ว่าปลอมพร้อมแสดงลิงก์ข่าวที่ถูกต้อง ขณะที่เพจข่าวปลอมจะถูกลดคะแนนการมองเห็น ส่งผลกระทบต่อการหารายได้จาก Facebook ที่มาภาพ: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2562 ว่านางอันจาลี คาปูร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรข่าวประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค Facebook กล่าวว่า Facebook ประกาศเปิดตัวโปรแกรมการตรวจสอบข้อมูลเท็จโดยผู้ตรวจสอบภายนอก ในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรักษาความโปร่งใสบนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จและพัฒนาคุณภาพของข่าวสารที่ผู้คนอ่านบนโลกออนไลน์

โดย Facebook ร่วมมือกับ สำนักข่าว AFP ซึ่งได้รับการรับรองโดยเครือข่ายการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับนานาชาติ (International Fact Checking Network หรือ IFCN) ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่สถาบันพอยน์เตอร์ โดย Facebook ได้เปิดตัวโปรแกรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยผู้ตรวจสอบภายนอกในเดือน ธ.ค. 2559 และมีพันธมิตรกว่า 50 รายทั่วโลก ครอบคลุมกว่า 40 ภาษา มีเจ้าหน้าที่กว่า 30,000 คน กระจายตัวทำงานอยู่ในแต่ละประเทศ เพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ

สำหรับการตรวจสอบ จะตรวจสอบบนเพจ หรือ ลิงก์ ข่าว ที่เป็นทั้งเนื้อหาข่าว รูปภาพและวิดีโอ ที่เปิดเป็นสาธารณะ เท่านั้น ไม่ได้ตรวจสอบกับเพจส่วนบุคคล เมื่อมีการตรวจสอบพบว่า เป็นเรื่องราวเท็จ Facebook จะให้คะแนนเรตติ้งน้อยลง และลดการมองเห็น หากยังมีการทำข่าวปลอมซ้ำๆ จะถูกห้ามไม่ให้ใช้ฟีเจอร์ในการสร้างรายได้และการโฆษณาด้วย ขณะที่ในมุมของผู้ใช้งาน Facebook เองหากจะแชร์ข่าวปลอม Facebook จะเด้งข้อความก่อนแชร์เพื่อให้ทราบว่าเป็นข่าวปลอม พร้อมแสดงให้เห็นลิงก์ข่าวจริงควบคู่ไปด้วย

เว็บไซต์ Business Today รายงานเพิ่มเติมว่า อันจาลี คาปูร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรข่าวประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค Facebook กล่าวว่า Facebook ได้ร่วมมือกับ AFP สำหรับโปรแกรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยผู้ตรวจสอบภายนอกในประเทศไทย ซึ่งโปรแกรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้จะช่วยให้ Facebook สามารถสร้างชุมชนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วนมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสที่จะขยายโปรแกรมนี้กับผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับท้องถิ่นในอนาคต


ที่มาภาพ: Business Today

โปรแกรมนี้มีความสอดคล้องกับขอบข่ายในการดำเนินงานที่มีอยู่ 3 ส่วนของ Facebook เพื่อพัฒนาคุณภาพและความแท้จริงของเรื่องราวบนฟีดข่าว เมื่อผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงภายนอกเขียนบทความเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาใดเนื้อหาหนึ่ง Facebook จะแสดงบทความเหล่านี้ในบทความที่เกี่ยวข้อง (Related Articles) ทันที โดยจะปรากฏอยู่ด้านล่างของเนื้อหานั้นบนฟีดข่าว นอกจากนี้ ผู้ดูแลเพจและผู้ใช้ Facebook ยังจะได้รับการแจ้งเตือนหากพวกเขาพยายามที่จะแชร์โพสต์หรือได้แชร์โพสต์ที่ถูกประเมินว่าเป็นเท็จ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนในการตัดสินใจอ่าน เชื่อ และแชร์เนื้อหาด้วยตนเอง

แคท บาร์ตัน หัวหน้าหน่วยงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า การขยายโปรแกรมมาสู่ประเทศไทย ทำให้หน่วยงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ประจำภูมิภาคเอเชียมีนักข่าวที่ได้รับมอบหมายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 10 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จากออสเตรเลียไปจนถึงปากีสถาน ในระดับโลก

หน่วยงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ประจำภูมิภาคเอเชียมีการดำเนินงานที่ครอบคลุมกว่า 20 ประเทศในปัจจุบัน และภายในเร็วๆ นี้ จะให้ข้อมูลด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 8 ภาษา รวมถึงภาษาไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส บาฮาซาของอินโดนีเซีย และอาหรับ

ภายในงานเปิดตัว ณ สำนักงาน Facebook ประเทศไทยวันนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในไทย ได้แก่ รองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ รักษาการผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ที่มาร่วมให้ข้อมูลเชิงลึกและยกตัวอย่างกรณีศึกษาในการจัดการกับข้อมูลเท็จในช่วงเสวนาอย่างครอบคลุม

พีรพล อนุตรโสตถิ์ รักษาการผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท กล่าวว่า ข่าวปลอมนั้นไม่ได้เพียงแค่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่สามารถสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสาธารณชนได้ในหลากหลายรูปแบบ ความล้ำสมัยของเทคโนโลยีทำให้ข่าวปลอมแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และเข้าถึงคนจำนวนมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

ข่าวปลอมมีผลกระทบต่อมุมมองการรับรู้ของสาธารณชนที่มีต่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง และยังมีอิทธิพลต่อวิธีการคิดและการตัดสินใจของผู้คนอย่างง่ายดายอีกด้วย

“การตรวจสอบข้อเท็จจริงสามารถกลายเป็นเรื่องยุ่งยากและซับซ้อนในโลกปัจจุบัน ซึ่งใครก็ตามสามารถสร้างเนื้อหาที่ไม่เป็นความจริงบนโลกออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย วิธีที่ง่ายที่สุดในการป้องกันการตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมคือการตั้งข้อสงสัยอยู่เสมอ และอย่าแชร์ข่าวหรือเนื้อหาที่ไม่ได้มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้” พีรพลกล่าว

รองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเพิ่มความรู้และทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่คนไทยก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการต่อสู้กับข่าวปลอม หนึ่งในความท้าทายหลักของการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย คือ การที่ชุมชนไม่รู้จักวิธีการในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว และแนวโน้มในการใช้อารมณ์เหนือเหตุผลในการประเมินเรื่องราว

“คนเรามีแนวโน้มที่จะคิดวิเคราะห์น้อยลงเมื่อมีอารมณ์โกรธระหว่างการอ่านบทความข่าว และหลายคนตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมเพราะเหตุนี้ นอกจากนี้ ผู้คนควรตระหนักให้มากขึ้นว่า ในบางครั้ง พวกเขาอาจละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นจากการกระทำง่ายๆ อย่างการแชร์เนื้อหาออนไลน์ โซเชียลมีเดียจึงมีบทบาทที่สำคัญในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ด้วยการจัดการวิธีการที่ข้อมูลถูกแชร์ การจัดอันดับการแสดงเนื้อหาในฟีด และช่วยผู้คนในการสังเกตข่าวปลอมผ่านการใช้เครื่องมือและฟีเจอร์ต่างๆ เช่น การแจ้งเตือน เป็นต้น”

นอกจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยผู้ตรวจสอบภายนอก Facebook ยังสนับสนุนความมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้ผู้คนมีทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการรับข่าวสาร เพื่อการตัดสินใจอ่าน เชื่อ และแชร์ด้วยตนเอง ผ่านการสนับสนุนโปรแกรมด้านการพัฒนาทักษะในการรับข่าวสารต่างๆ ทั่วโลก และการแชร์เคล็ดลับในการช่วยสังเกตข่าวปลอม และให้ข้อมูลเชิงบริบทแก่ผู้คนเกี่ยวกับโพสต์ที่พวกเขาเห็นในฟีดข่าว

Facebook เปิดตัวโปรแกรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยผู้ตรวจสอบภายนอก ในเดือน ธ.ค. 2559 และมีพันธมิตรกว่า 50 รายทั่วโลกในปัจจุบัน รวมถึง AFP โดยครอบคลุมกว่า 40 ภาษา

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: