คกก.วัตถุอันตรายแบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต' มีผล 1 ธ.ค. 2562 นี้

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 ต.ค. 2562 | อ่านแล้ว 2246 ครั้ง

คกก.วัตถุอันตรายแบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต' มีผล 1 ธ.ค. 2562 นี้

คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติตามกระทรวงเกษตรฯ เสนอแบน 3 สารเคมีเกษตร 'พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต' มีผล 1 ธ.ค. 2562 นี้

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 ว่านายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 41-9/2562 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป

พร้อมมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น แล้วเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตรไปพิจารณาระยะเวลาความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่าย เป็นต้น โดยให้รับรองมติในที่ประชุม

สำหรับการลงมติวันนี้คณะกรรมการฯ ได้มีการลงมติแบบเปิดเผย เช่นเดียวกับทุกครั้งที่มีการลงมติ ผลการลงมติ คือ พาราควอต ยกเลิกการใช้ภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 จำนวน 20 คน ยกเลิกการใช้วันที่ 1 ธ.ค. 2564 จำนวน 1 คน จำกัดการใช้ จำนวน 5 คน ส่วนสารไกลโฟเซต ยกเลิกการใช้ 19 คน จำกัดการใช้ 7 คน คลอร์ไพริฟอส ยกเลิกการใช้ 22 คน จำกัดการใช้ 4 คน

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาข้อมูลแล้ว ประกอบด้วย ผลการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้นำบัญชานายกรัฐมนตรีไปดำเนินการ โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณา และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่าได้มีการพิจารณาข้อมูลวิธีการและสารทางเลือกในการจัดการวัชพืช ต้นทุนของวิธีการและสารทางเลือก ข้อมูลสารทดแทนสารคลอร์ไพริฟอส ปริมาณสารที่คงเหลือปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่าสามารถบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติได้ หากยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ และผู้แทนหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอข้อมูลความเป็นอันตราย และข้อมูลการตรวจสอบเฝ้าระวังสารตกค้างในสินค้าเกษตรในท้องตลาด นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้นำข้อมูลและข้อเสนอที่ได้รับจากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งส่วนที่ต้องการให้ยกเลิกการใช้ และส่วนที่ไม่เห็นด้วยหากจะยกเลิกการใช้มาพิจารณาในที่ประชุมด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: