หนุนศักยภาพท้องถิ่นตั้งรับจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่ 1 ม.ค. 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 พ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 2521 ครั้ง

หนุนศักยภาพท้องถิ่นตั้งรับจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่ 1 ม.ค. 2563

ท้องถิ่นปรับตัวรับมาตรการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ผู้เชี่ยวชาญห่วงหน่วยจัดเก็บภาษีท้องถิ่นหลายๆ แห่ง ยังไม่มีความพร้อมในการรับมือกับระบบจัดเก็บรูปแบบใหม่ ประกอบกับรูปแบบการคำนวณที่ค่อนข้างซับซ้อน เร่งเสริมศักยภาพบุคลากรด้านการจัดเก็บภาษี พร้อมทั้งทำความเข้าใจประชาชน

22 พ.ย. 2562 หลังพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า “ภาษีที่ดิน” ซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บรายปี ตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลจะเป็นหน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินงานจัดเก็บ ซึ่งจะเริ่มต้นดำเนินงานจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563  และมีการคาดการณ์กันว่า วิธีการเก็บภาษีแบบใหม่จะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท 

ดร.ไกรวุฒิ ใจคำปัน อาจารย์ประจำสำนักวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทีมวิจัยโครงการการพัฒนาระบบบริหารจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยการสนับสนุนงบประมาณจาก แผนงาน Spearhead เป้าหมายการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคมกล่าวว่า นับจากมีนโยบายการจัดการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งของเดิมเรียกว่าภาษีโรงเรือน ประเด็นที่น่าสนใจคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายๆ แห่งยังไม่มีความพร้อมในการรับมือกับระบบจัดเก็บรูปแบบใหม่ ซึ่งมีรูปแบบการคำนวณที่ค่อนข้างซับซ้อน 

“แบบเดิมที่เรียกว่าภาษีโรงเรือนไม่ต้องมีการคำนวณอะไรมาก และจ่ายเท่าเดิมปีต่อปี ขณะที่อัตราภาษีรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะที่เรียกว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องมีการคำนวณใหม่ ซึ่งจะมีเรื่องขนาดของที่ดิน ราคาประเมิน ซึ่งจะแยกเก็บกับสิ่งปลูกสร้างคือตัวบ้านหรือตัวอาคาร ซึ่งกฎหมายใหม่ถ้าเป็นที่อยู่อาศัยก็อาจมีการยกเว้น กรณีทำประโยชน์ก็ต้องมีการคำนวณภาษีตามที่กฎหมายระบุ ซึ่งต้องดูเป็นรายๆ ไป” 

ดร.ไกรวุฒิ อธิบายเพิ่มว่า เมื่อรูปแบบการเรียกเก็บภาษีเปลี่ยน การคำนวณภาษีก็ต้องเปลี่ยน ขณะที่กลุ่มงานที่รับผิดชอบเรื่องการจัดเก็บภาษีโดยตรงในอบต.หลายๆ แห่งยังขาดความพร้อม โดยเฉพาะบุคลากรที่ส่วนมากรับผิดชอบงานค่อนข้างมาก และนี่คือข้อกังวลจนนำไปสู่การดำเนินงานวิจัย 

“โครงการวิจัยที่ดำเนินงานพร้อมกัน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศเป้าหมายคือเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั้นหมายความว่าหลังจบโครงการ อปท. จะต้องศักยภาพในการจัดเก็บภาษี ซึ่งก็คือรายได้ต้องเพิ่มขึ้น กระบวนการทำงานคือการหาตัวแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการจัดเก็บภาษี ซึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม มีความพร้อมมากที่สุดทั้งบุคลากร นโยบายของผู้บริหาร ขณะเดียวก็กันเป็นองค์กรดีเด่นด้านการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่เพราะฉะนั้นถ้าที่นี่ประสบความสำเร็จก็จะใช้เป็นโมเดลให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้”

สำหรับแนวทางการดำเนินงานวิจัยเบื้องต้นคือการจัดประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มคนผู้เสียภาษีซึ่งจะเป็นการเชิญแกนนำ ผู้ใหญ่บ้าน และในส่วนของภาคราชการที่หลายแห่งมีการนำเอาที่ดินไปใช้ประโยชน์และเกิดรายได้ ซึ่งกฎหมายที่ดินฉบับใหม่ก็ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับหน่วยงานราชการ

“เมื่อมีกฎหมายใหม่ประกาศใช้ การทำความเข้าใจกับผู้เสียภาษีเป็นเรื่องสำคัญ ตัวงานวิจัยเองอยากทราบว่า รูปแบบภาษีแบบเดิมและแบบใหม่แตกต่างกันอย่างไร รายได้จะเพิ่มขึ้นตามที่ประมาณการณ์หรือไม่สมมติว่าตัวเลขที่ออกมาไม่ตรงกับตัวเลขการจัดเก็บภาษีแบบเดิมซึ่งตรงนี้ต้องรอข้อมูลหลังจากงานวิจัยจบลง แต่ที่ต้องดำเนินงานในปัจจุบันคือ การค้นหารูปแบบและวิธีการจัดเก็บภาษีที่สามารถจัดเก็บได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งในกระบวนการทำงานก็ต้องมีการพัฒนาศักยภาพบุคคลกรให้มีทักษะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสิ่งที่ อปท.หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดคือ ทักษะ และเครื่องมือ และองค์ความรู้ที่ใช้ในการสำรวจข้อมูลเพื่อนำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลภาษี เพราะระบบการเก็บภาษีตามกฎหมายใหม่จะความละเอียดมากขึ้น การลงพื้นที่สำรวจจึงเป็นหัวใจสำคัญของการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ เพราะเป็นวิธีการจัดเก็บที่ถูกต้องที่สุด”

ด้านนายนพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าในช่วงแรกๆ ค่อนข้างกังวลต่อวิธีการจัดเก็บเนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ เกรงว่าเจ้าหน้าที่จะไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

“จากการศึกษารายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ ก็เห็นว่าเป็นกฎหมายที่ดี เพราะมีความพยายามกันมานานแต่ในฐานะผู้ปฏิบัติ ช่วงแรกๆ ก็มีข้อกังวลว่าการเก็บภาษีแบบใหม่จะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะภาษีที่ดิน เพราะกฎหมายใหม่มีข้อยกเว้นหลายเรื่อง  ตรงนี้ตนพยายามชี้แจงและทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงตัวชาวบ้านเอง นับเป็นโอกาสดีที่เราได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งจากทางจุฬาลงกรณมหาวิยาลัย มหาวิยาลัยเชียงใหม่รวมทั้งหน่วยงานสนับสนุนงานวิจัยอย่าง สกสว. ที่เข้ามาสนับสนุนกระบวนการและองค์ความรู้ เพราะที่ผ่านมาเราต้องยอมรับว่า การเก็บภาษี เราจัดเก็บได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย กระบวนการนี้น่าจะทำให้วิธีการจัดเก็บภาษีซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ ง่าย และสะดวกมากขึ้นและเมื่อเข้าสู่การประกาศใช้อย่างเป็นทางการในต้นปีหน้า เชื่อว่า ทางคณะทำงานจะสามารถดำเนินงานได้อย่างทันท่วงที”  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้วกล่าวอย่างมั่นใจ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: