องค์กรสิทธิ์ฯ เปิดสถิติ 9 เดือนปี 62 ปิดล้อม-บังคับ-ข่มขู่ 'เก็บ DNA คนชายแดนใต้' 139 กรณี

ทีมข่าว TCIJ: 22 ธ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 6945 ครั้ง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยสถิติปัญหาการร้องเรียนจากปฏิบัติการบังคับตรวจพันธุกรรมหรือ DNA ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 2562 พบข้อร้องเรียนจากคนพื้นที่ถูกบังคับอย่างน้อย 139 กรณี  ทำความรู้จักกับ 'Racial Profiling' คือ “การที่เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ความมั่นคง และหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง ใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับเชื้อชาติสีผิว ความเป็นมาด้านชาติพันธุ์หรือชาติกำเนิด เป็นเหตุผลเพื่อสนับสนุนการมุ่งเน้นตรวจค้นบุคคลบางจำพวกอย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลและสอบสวน” | ที่มาภาพประกอบ: in-the-loop.net.au

เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เปิดเผย ‘เอกสารชุดความรู้ การบังคับเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้’ ระบุว่าตั้งแต่ปี 2555 ได้รับรายงานว่าหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้ริเริ่มปฏิบัติการบังคับตรวจสารพันธุกรรม (DNA หรือ 'ดีเอ็นเอ') ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นจำนวนมาก โดยพบว่าผู้ถูกเก็บเกือบทุกคนเป็นชาวมลายูมุสลิม ทั้งนี้เจ้าหน้าที่มักกล่าวอ้างว่าเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อประกอบฐานข้อมูลของหน่วยงานความมั่นคงที่ใช้ในการค้นหาผู้กระทำผิดในเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่

ต่อมาในปี 2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากรายงานข่าวและเอกสารราชการ พร้อมทั้งลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ถูกเก็บ DNA จำนวนกว่า 20 คน พบว่ากระบวนการเก็บ DNA มักใช้วิธีการสุ่มบังคับตรวจ โดยอาศัยวิธีการ เช่น การตั้งด่านตรวจในบางชุมชน, การปิดล้อมตรวจค้นครัวเรือน หมู่บ้าน หอพัก และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา รวมไปถึงชุมชนชาวจังหวัดชายแดนใต้ที่กรุงเทพฯ การเก็บมีขั้นตอนดังนี้ 1. เจ้าหน้าที่ (ทหารหรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ) มักใช้ก้านสำลียาว (ในบางกรณี เจ้าหน้าที่จะนำไปชุบน้ำยา) ป้ายที่กระพุ้งแก้มสองข้างเพื่อขูดเอาเยื่อบุกระพุ้งแก้ม 2. นำตัวอย่าง DNA เก็บใส่กล่องทึบสีน้ำตาล รูปร่างคล้ายกล่องยาสีฟัน และ 3. เจ้าหน้าที่ให้เจ้าของดีเอ็นเอเซ็นชื่อตนเองบนกล่อง

ปฏิบัติการดังกล่าวมักพุ่งเป้าไปที่หมู่บ้านหรือชุมชนที่เจ้าหน้าที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงหรือมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการฯ ทั้งนี้ คนที่ถูกตรวจล้วนเป็นประชาชน ผู้บริสุทธิ์ มิได้เป็นผู้ต้องหาตามกฎหมาย (แม้เจ้าหน้าที่อาจมีข่าวกรองว่าเป็นผู้ที่น่าสงสัยก็ตาม) โดยส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่มักไม่ได้ขอความยินยอมจากผู้ถูกเก็บและในบางกรณี ในบางกรณี อาจให้เจ้าของ DNA เซ็นแบบฟอร์มยินยอมหลังจากกระบวนการตรวจเก็บเสร็จสิ้น

ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับข้อร้องเรียนและตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการบังคับตรวจ DNA ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างน้อย 139 กรณีในพื้นที่ชายแดนใต้ มีตัวอย่างกรณีสำคัญ เช่น การเก็บ DNA เด็กนักเรียนชาวกัมพูชา 30 คนจากโรงเรียนปอเนาะมัดรอสาตูลฟาละห์ อ.มายอ จ.ปัตตานี และชาวบ้าน 60 คนจากบ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา เป็นต้น นอกจากการบังคับตรวจ DNA ตามชุมชน ยังมีการบังคับตรวจ DNA ของชายผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอจังหวัดสงขลาผู้ จำนวนกว่า 19,000 คน ในช่วงเกณฑ์ทหารระหว่างวันที่ 4-11 เม.ย. 2563

ในขณะที่ผู้ถูกเก็บ DNA ระหว่างการเกณฑ์ทหารได้เซ็นใบยินยอมก่อนให้เก็บตัวอย่าง DNA แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอว่า DNA นั้นจะถูกนำไปทำอะไร เก็บที่ไหน ใครเข้าถึงได้บ้าง และมีกำหนดเวลาในการทำลายตัวอย่างหรือไม่ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าสามารถปฏิเสธการให้ DNA ได้ ในภาพกว้างของสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ การเก็บตัวอย่าง DNA เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของภาครัฐในการปราบปรามความรุนแรงด้วยวิธีการสอดแนมประชากรในพื้นที่เพื่อรวบรวมข่าวกรอง ซึ่งมาพร้อมกับนโยบายอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน เช่น การเก็บข้อมูลใบหน้าประชากรในพื้นที่ผ่านการลงทะเบียนซิมโทรศัพท์มือถือ การถ่ายรูปบัตรประชาชนและทะเบียนรถ เป็นต้น

แน่นอนว่าโดยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าสามารถปฏิเสธได้ และไม่รู้ว่า DNA ที่เก็บไปจะถูกส่งต่อไปที่ไหนหรือมีผลลัพธ์อย่างไร สะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายความมั่นคงได้รุกหน้าในการเก็บข้อมูลตามแผนปฏิบัติ ทว่าตามหลักมาตรา 131 และ 131/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา ระบุไว้ว่าผู้เก็บต้องเป็นพนักงานสอบสวน หรือ เจ้าหน้าที่ตรวจชั้นสัญญาบัตร แพทย์และผู้เชี่ยวชาญ และต้องเกี่ยวกับคดีความผิดสูงกว่า 3 ปี และต้องได้รับอนุญาตจากผู้ถูกเก็บ หากผู้เสียหายไม่ยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าผลตรวจเป็นผลเสียต่อผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายนั้นแล้วแต่กรณี

โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เสนอให้ต้องเฝ้าระวังการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ได้ยึดหลักการตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อป้องกันการสุ่มเสี่ยงการละเมิดสิทธิไม่ว่าจะเป็นประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้หรือพื้นที่อื่น ก็ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติโดยไร้มนุษยธรรม

หลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ

‘เอกสารชุดความรู้ การบังคับเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้’ ของ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังระบุว่าการบังคับเก็บตัวอย่าง DNA ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักการในอนุสัญญาระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ดังต่อไปนี้: 

สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

- ในรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 158/2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ระบุว่า การเก็บ DNA ในลักษณะนี้ถือเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) โดยเฉพาะหลักในมาตรา 4(1) และมาตรา 9(1) ซึ่งระบุไว้ดังนี้:

“มาตรา 4(1): ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งคุกคามความอยู่รอดของชาติและได้มีการประกาศนั้นอย่างเป็นทางการแล้วรัฐภาคีแห่งกติกานี้อาจใช้มาตรการที่เป็นการเลี่ยงพันธกรณีของตนภายใต้กติกานี้ได้เพียงเท่าที่จำเป็นตามความฉุกเฉินของเหตุการณ์ ทั้งนี้ มาตรการเช่นว่านั้นจะต้องไม่ขัดแย้งต่อพันธกรณีอื่นๆ ของตน ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติเพียงเหตุแห่งเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ทางสังคม”

 

“มาตรา 9(1): บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุม โดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”

กสม.ได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่า การเก็บ DNA ในลักษณะนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในร่างกายที่เกินความจำเป็นและมิได้เป็นไปตามหลักการที่กฎหมายบัญญัติไว้ แม้ว่าความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้จะถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินแต่เจ้าหน้าที่ก็จะต้องไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขตในลักษณะดังกล่าว

สิทธิในการไม่ถูกเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

- เมื่อปี 2555 ประเทศไทยได้เข้าตรวจสอบพันธกรณีต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination) และคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติประจำสหประชาชาติได้เผยแพร่ข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding observation) เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย โดยย่อหน้าที่ 21 มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า “คณะกรรมการฯ มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีรายงานว่าถูกนำมาบังคับใช้อย่างเลือกปฏิบัติต่อชาวมลายูผ่านการมุ่งเน้นตรวจอัตลักษณ์หรือจับกุมคนด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ (Racial profiling)”

- ต่อมาในปี 2558 คณะกรรมการชุดเดียวกันได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปิดล้อมตรวจค้นภายใต้กฎหมายพิเศษและบังคับตรวจ DNA ในหมู่นักศึกษานักกิจกรรมจากกลุ่ม BUMI และ PERWANI ในจังหวัดยะลา รวมถึงการบีบบังคับให้นักศึกษาเหล่านี้เซ็นแบบฟอร์มให้ความยินยอม จึงมีการส่งจดหมายมาแสดงความห่วงกังวลว่า หากปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็อาจถือได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในลักษณะเดียวกับที่ระบุไว้ในย่อหน้าที่ 21 ของข้อสังเกตเชิงสรุปในปี 2555 ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

- หากเจ้าหน้าที่ต้องการเก็บ DNA ของประชากรในจังหวัดชายแดนใต้ จะต้องปฏิบัติอยู่บนพื้นฐานของหลักการ “ความยินยอมอย่างสมัครใจ ล่วงหน้า และได้รับข้อมูลเพียงพอ” (Free, Prior, and Informed consent หรือ FPIC) ซึ่งหมายความว่า ประชาชนผู้ถูกเก็บจะต้องให้การยินยอมก่อน โดยที่การตัดสินใจนั้นจะต้องเป็นอิสระ ไม่ถูกขู่เข็ญบังคับ (free) มีเวลาตัดสินใจมากพอ (prior) และ ได้รับข้อมูลเพียงพอว่า DNA นั้นจะถูกนไปใช้ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร (informed) แต่จากข้อมูลที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับรายงาน การเก็บ DNA ในพื้นที่มักมิได้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว

ประชาชนส่วนใหญ่ร้องเรียนว่า: 1. เจ้าหน้าที่มักมีท่าทางคุกคาม ใช้คำพูดและอาวุธข่มขู่ให้ยินยอม หากปฏิเสธ มักข่มขู่ว่าจะยิ่งถูกสงสัยมากขึ้น 2. เจ้าหน้าที่มักไม่ได้แจ้งก่อนว่าจะมีการเก็บ DNA เพราะทำไปต่อเนื่องจากการปิดล้อมตรวจค้นแบบไม่มีหมายค้นหรือหมายจับ และ 3. เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้ข้อมูลว่า จะเอา DNA ไปทำอะไร ใครเก็บ ใครใช้ ใช้ยังไง ตรวจสอบได้หรือไม่

 

ชวนทำความรู้จักกับ 'Racial Profiling'

การปฏิบัติที่ถือเป็น Racial profiling อาจเป็นผลมาจากหลายสาเหตุที่เชื่อมโยงและทับซ้อนกัน ทั้งในแง่การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ผสมรวมกับอคติด้วยเหตุผลด้านเพศสภาพ รสนิยมทางเพศ อายุ และศาสนา | ที่มาภาพ: 'เอกสารชุดความรู้ Racial profiling'

ในช่วงเดียวกันนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังได้เผยแพร่ 'เอกสารชุดความรู้ Racial profiling' ซึ่งใช้อธิบายปฏิบัติการที่เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย นำเอาเชื้อชาติ สีผิว ความเป็นชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมือง มาเป็นเหตุผลในการเพ่งเล็ง จับตามองคนเฉพาะกลุ่มมากเป็นพิเศษ

Mutuma Ruteere อดีตผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติซึ่งเชี่ยวชาญเกี่ยวกับลัทธิเชื้อชาตินิยมและการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ได้นิยามคำว่า 'Racial profiling' ว่าหมายถึง: “การที่เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ความมั่นคง และหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง ใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับเชื้อชาติสีผิว ความเป็นมาด้านชาติพันธุ์หรือชาติกำเนิด เป็นเหตุผลเพื่อสนับสนุนการมุ่งเน้นตรวจค้นบุคคลบางจำพวกอย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลและสอบสวนพวกเขา หรือใช้ [หลักเกณฑ์ดังกล่าว] เป็นตัวชี้วัดว่าบุคคลมีส่วนพัวพันกับอาชญากรรมหรือไม่”

องค์การสหประชาชาติรายงานว่า ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับ Racial profiling จากหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก2 รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกันโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งนำปฏิบัติการในลักษณะนี้มักอ้างว่าทำไปเพื่อ 'ความปลอดภัยของสาธารณะ' 'ความมั่นคงของรัฐ' หรือแม้กระทั่งทำเพื่อสร้าง 'สันติภาพ' Racial profiling ในแต่ละบริบทก็อาจมีรูปแบบแตกต่างกันออกไป เช่น การเรียกให้หยุดตรวจ การตรวจข้อมูลส่วนบุคคล การบุกเข้าไปในอาคารสถานที่ การตรวจอย่างเหวี่ยงแห การสอดส่องติดตามอย่างมีเป้าหมาย หรือการสอดส่องและเก็บข้อมูลทางออนไลน์การจับกุม และการควบคุมตัวที่พุ่งเป้าไปที่คนบางกลุ่มชาติพันธุ์/เชื้อชาติ เป็นต้น

ทั้งนี้ การปฏิบัติที่ถือเป็น Racial profiling อาจเป็นผลมาจากหลายสาเหตุที่เชื่อมโยงและทับซ้อนกัน ทั้งในแง่การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ผสมรวมกับอคติด้วยเหตุผลด้านเพศสภาพ รสนิยมทางเพศ อายุ และศาสนา

จิตวิทยาสังคม ของการเหมารวมกลุ่มเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์

เชื้อชาติและชาติพันธุ์จะเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม (social constructs) ซึ่งถูกสมมติขึ้นเพื่อจัดแบ่งบุคคลเป็นกลุ่มต่างๆ และจัดแจงความสัมพันธ์ทางอำนาจ การเข้าถึงโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆมักเต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียม โดยมีอคติทางเชื้อชาติหรือการเหมารวมในทางลบต่อคนบางกลุ่มเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์เป็นเครื่องมือสนับสนุน ให้ความชอบธรรมกับกลุ่มคนที่มีอำนาจในการผลักให้คนกลุ่มอื่นๆต้องประสบความรุนแรงและกลายเป็นบุคคลชายขอบ

ในหลายประเทศทั่วโลก กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ชายขอบมักถูกเหมารวมว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ความไม่สงบเรียบร้อยในที่สาธารณะ และความไม่มั่นคงของรัฐ ยกตัวอย่างเช่น มีงานศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า คนผิวดำในสหรัฐอเมริกาและชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมในออสเตรเลีย มักถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายว่าเป็นอาชญากร ในทำนองเดียวกัน ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย มักถูกตีตราในด้านลบว่าเป็น 'ผู้ค้า/ผู้ผลิตยาเสพติด' และ 'ผู้บุกรุกทำลายป่า' ส่วนชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูมักถูกมองว่าเป็น 'ผู้ก่อความไม่สงบ'

ในทางจิตวิทยาสังคม เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจำนวนมากได้สมาทานทัศนะแบบเหมารวมมาใช้ในการทำงาน โดยยึดเอาอคติทางเชื้อชาติของตัวเองเป็นหลักในการจำแนกและตั้งข้อสงสัยมากเป็นพิเศษกับบุคคลที่มาจาก (หรือถูกมองว่ามาจาก) บางกลุ่มชาติพันธ์/เชื้อชาติ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เหล่านี้มักมองข้ามการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล การพิจารณาหลักฐานเกี่ยวกับความน่าสงสัยอย่างเป็นกลาง หรือการวิเคราะห์พฤติกรรมรายบุคคลไป เพราะถูกอคติบังตาไม่ว่าจะกระทำด้วยเจตนาหรือไม่ การกระทำเช่นนี้ถือได้ว่าเข้าข่าย Racial profiling

เหตุใดจึงไม่ควรทำ Racial profiling?

Racial profiling นำไปสู่วงจรอุบาทว์ที่ทำให้คนบางกลุ่มชาติพันธ์/เชื้อชาติต้องตกอยู่ในสถานะอาชญากรด้วยเหตุผลอันไม่สมควร เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐมีอคติทางเชื้อชาติ จึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ถูกเพ่งเล็งมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะถูกจับกุม ควบคุมตัวและตัดสินว่ามีความผิดมากกว่าเดิม พอคนกลุ่มนี้มีอัตราถูกจับกุมและเอาผิดสูง ก็ยิ่งตอกย้ำทัศนะแบบเหมารวมและอคติต่างๆ ให้ฝังรากลึกลงไปอีก | ที่มาภาพ: 'เอกสารชุดความรู้ Racial profiling'

ในเอกสารชุดความรู้ Racial profiling ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังระบุว่า 'Racial profiling เป็นใบเบิกทางให้เจ้าหน้าที่เพิกเฉยต่อการประเมินสถานการณ์ด้วยเหตุและผล โดยพิจารณาข้อเท็จจริงที่เป็นกลางว่าผู้ใดมีพฤติกรรมน่าสงสัย ดังนั้น จึงนำไปสู่การทุจริตในการทำงานบังคับใช้กฎหมาย และไม่สามารถรักษาความปลอดภัยและสวัสดิภาพให้กับประชาชนในรัฐได้อย่างแท้จริง แต่กลับเป็นการใช้งบประมาณและทรัพยากรของรัฐอย่างสิ้นเปลือง

Racial profiling นำไปสู่วงจรอุบาทว์ที่ทำให้คนบางกลุ่มชาติพันธ์/เชื้อชาติต้องตกอยู่ในสถานะอาชญากรด้วยเหตุผลอันไม่สมควร เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐมีอคติทางเชื้อชาติ จึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ถูกเพ่งเล็งมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะถูกจับกุม ควบคุมตัวและตัดสินว่ามีความผิดมากกว่าเดิม พอคนกลุ่มนี้มีอัตราถูกจับกุมและเอาผิดสูง ก็ยิ่งตอกย้ำทัศนะแบบเหมารวมและอคติต่างๆ ให้ฝังรากลึกลงไปอีก จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่คงรักษาความไม่เท่าเทียมและให้ความชอบธรรมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อคนบางกลุ่มชาติพันธ์/เชื้อชาติไปเรื่อยๆ

การใช้ Racial profiling ยิ่งบั่นทอนความสัมพันธ์และทัศนคติของเจ้าหน้าที่ของรัฐกับชนกลุ่มน้อยด้านชาติพันธุ์และเชื้อชาติ งานศึกษาชิ้นต่างๆ ยืนยันว่า ชนกลุ่มน้อยซึ่งคิดว่าตัวเองตกเป็นเป้าของ Racial profiling มักรู้สึกไม่ปลอดภัย และสูญเสียความเชื่อมั่นในหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นจึงทำให้การทำงานระหว่างรัฐกับประชาชนยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก

ตัวอย่างอคติการพาดหัวและโปรยข่าวยาเสพติดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ในข่าว ทั้งนี้พบว่าชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย มักถูกตีตราในด้านลบว่าเป็น 'ผู้ค้า/ผู้ผลิตยาเสพติด' และ 'ผู้บุกรุกทำลายป่า' ส่วนชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูมักถูกมองว่าเป็น 'ผู้ก่อความไม่สงบ'

ตัวอย่างการใช้ racial profiling ในประเทศไทย นอกเหนือจากการบังคับตรวจสารพันธุกรรม (DNA หรือ 'ดีเอ็นเอ') ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ดังที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีกรณี 'ชนพื้นเมืองกับการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย' โดยชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ทางพรมแดนตอนเหนือและตะวันตกระหว่างไทยกับเมียนมา มักถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ผลิตและผู้ค้ายาเสพติด และมักตกเป็นเป้าหมายของการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย อันเป็นผลมาจากนโยบายต่อต้านยาเสพติดของรัฐบาลไทย ในปี 2546 ในระหว่าง 'สงครามปราบปรามยาเสพติด' ของรัฐบาล เจ้าหน้าที่ไทยได้สังหารนอกกระบวนการกฎหมายต่อผู้ต้องหาคดียาเสพติด 2,819 คน ซึ่งหลายคนเป็นชนกลุ่มน้อยด้านชาติพันธุ์และชนพื้นเมือง

แม้ว่ามีการยุติสงครามปราบปรามยาเสพติดในประเทศไทยแล้วอย่างเป็นทางการ แต่ยังคงมีความรุนแรงที่เป็นผลพวงซึ่งเกิดขึ้นกับชนพื้นเมืองที่ยังมีชีวิตอยู่ ในสายตาของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจำนวนมาก พวกเขายังคงถูกมองว่าเป็น 'ภัยคุกคาม' ในฐานะผู้ค้ายาเสพติดอยู่เหมือนเดิม ในปี 2557 นักกิจกรรมเยาวชนชาติพันธุ์ลาหู่คนหนึ่ง และชายชาวลีซูอีกคนหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่ยิงจนเสียชีวิตที่ด่านตรวจ เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเขาพกพายาเสพติดและพยายามขัดขืนการจับกุมโดยใช้อาวุธปืน อย่างไรก็ดี พยานหลักฐานจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงป้องกันตนเอง หากเป็นการยิงโดยมีแรงจูงใจมาจากเหตุผลด้านเชื้อชาติ ในเดือน ก.ค. 2562 ชายชาวลาหู่อีกคนหนึ่งถูกยิงจนเสียชีวิตที่ด่านตรวจอีกแห่งหนึ่ง โดยมีข้อกล่าวหาและคำอธิบายแบบเดียวกันจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงซึ่งเป็นผู้ยิง จนถึงทุกวันนี้ยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ในทุกๆ กรณี

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: คู่มืออาสาสมัครนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงรุ่นใหม่ในจังหวัดชายแดนใต้ (โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม)
ถอดรื้อวาทกรรม ‘ชาวเขาค้ายาเสพติด’ อคติหรือจริยธรรมสื่อ?

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: