การทำให้ทรัพยากรเป็นของเอกชนในทัศนะมาร์กซิสต์

พัชณีย์ คำหนัก กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน: 23 ก.ค. 2562 | อ่านแล้ว 5048 ครั้ง


ทุกวันนี้คนในชุมชนชนบทยังคงถูกกระทำจากโครงการพัฒนาของรัฐและทุนที่ใช้อำนาจผลักดันจากบนลงล่างมาโดยตลอด การพัฒนาสร้างความเป็นอุตสาหกรรม สร้างเมืองที่แตกต่างกับชนบท ที่คนในชนบทดูเหมือนจะคอยเสียสละให้แก่คนในเมืองได้ดำรงชีพอย่างสะดวกสบาย บริโภคสินค้าหลากหลายในตลาด ทว่าที่มาของสินค้านั้นมาจากการแย่งยึดทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน ผืนป่าไปทำโรงงานและสร้างความมั่งคั่งให้คนรวยเพียงหยิบมือและสร้างระบบอภิสิทธิ์ชน มือใครยาวสาวได้สาวเอา แล้วผลของการพัฒนาอุตสาหกรรมก็นำไปสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การทำลายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติของระบบทุนนิยม

นักมาร์กซิสต์คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ในท่ามกลางความสัมพันธ์กับธรรมชาติ หากดูประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มนุษย์พึ่งพาธรรมชาติและร่วมกันดัดแปลงธรรมชาติสิ่งแวดล้อมผลิตอาหารสิ่งของเพื่อบริโภคและใช้สอยเป็นหลัก แต่ระบบทุนนิยม กลับทำลายความสัมพันธ์นี้ เพราะมุ่งสร้างความสัมพันธ์ทางการผลิตเพื่อแสวงหามูลค่าส่วนเกิน/กำไรสูงสุดและเอามาเป็นของตัวเอง ซึ่งวิธีการมักจะแย่งยึดทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ผืนป่าที่เป็นสมบัติส่วนรวม ที่ดินที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนชนบท มาทำโรงงาน กิจการส่วนบุคคลหรือของรัฐที่ไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของคนในพื้นที่นั้น แต่ผลิตเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลที่มีกำลังซื้อ ตัวอย่างล่าสุดคือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาเป็นรัฐบาล ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.กำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ไล่ยึดและไล่ที่ดินชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านออกมาต่อสู้คัดค้านก็ถูกฟ้องร้อง หรือการที่นายทุนเข้าไปลงทุนในแหล่งที่มีทรัพยากร เข้าไปซื้อที่ดินจากชาวบ้านยากจน ทำให้ชาวบ้านไร้ปัจจัยการผลิตกลายเป็นชาวนาไร้ที่ดินทำกิน

การผลิตในระบบทุนนิยมนั้นไม่ได้วางแผนการผลิตเพื่อคนส่วนใหญ่ แต่เป็นการวางแผนเพื่อเอกชน จึงกลายเป็นระบบที่อยู่บนความโลภและความพยายามเสาะหาวิถีทางที่จะขูดรีดและปล้นชิงทรัพยากรโลกเพื่อสะสมความมั่งคั่งและอำนาจของคนกลุ่มน้อยดังที่กล่าวมาแล้ว  อีกทั้ง บรรดาบริษัทขนาดใหญ่ก็ไม่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน พวกเขาได้ทำลายผืนป่า ปล่อยสารพิษลงสู่ทะเล ทำให้สัตว์หลายสายพันธุ์สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และทำให้อากาศที่เราใช้หายใจ น้ำและอาหารที่เราใช้ดื่มกินปนเปื้อนสารพิษ การกระทำอย่างต่อเนื่องของระบบทุนนิยมนั้นได้สร้างภัยคุกคามต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ และต่อการดำรงอยู่ในอนาคตของมนุษย์ด้วย

สืบจากบทความเรื่องการผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนาทุนนิยมของจีนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้อธิบายลักษณะการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมของจีน ที่สะท้อนให้เห็นว่าจีนเป็นทุนนิยมโดยรัฐ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ที่คำนึงถึงส่วนรวม กล่าวคือ ในช่วงทศวรรษ 1990 จีนได้มีนโยบายปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เปิดเสรีทางการค้าและเปลี่ยนตัวเองเป็นโรงงานของโลก ดึงดูดนักลงทุนจากประเทศอื่นเข้ามา ทำให้เราเห็นโรงงานผุดขึ้นเป็นจำนวนมากตามแถบชายฝั่งตะวันออก ซึ่งมาจากการเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรชุมชนชนบทเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมโรงงานและเมืองทันสมัย นำไปสู่การจ้างแรงงานมหาศาลในประเทศ  จึงเป็นการตอกย้ำให้เราเห็นถึงตรรกะการพัฒนาของระบบทุนนิยมที่ทำให้ประชากรที่อยู่ในท้องถิ่นหันมาพึ่งพาค่าจ้างในการดำรงชีวิตเพียงอย่างเดียว เนื่องจากถูกทำให้ไร้ปัจจัยการผลิต และไร้สิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

ในไทยก็ตามรอยการพัฒนาเช่นนี้ และชักชวนจีนเข้ามาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกมากขึ้น แต่ปัญหาที่พบคือ ไม่มีความโปร่งใสในการคิดโครงการ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกำไรสูงสุดของทุน ปัญหาของการทำโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน ได้แก่ นโยบายไม่ผ่านการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์  การขาดการมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายของชุมชน การบังคับเวนคืนที่ดินที่อยู่อาศัย ปัญหามลพิษซ้ำรอยโครงการเดิมคืออีสเทิร์นซีบอร์ด  

สรุปแล้ว ปรากฏการณ์แยกคนออกจากธรรมชาติของระบบทุนนิยมมี 2 มิติคือ 1) คนส่วนใหญ่ถูกปลดออกจากการเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน และ 2) นายทุน ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยเข้ามาครอบครองทรัพยากรภายใต้กลไกตลาดซึ่งไม่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การทำให้ทรัพยากรเป็นสินค้า

ลักษณะการพัฒนาของทุนกับรัฐอีกอย่างหนึ่ง คือ การทำให้ที่ดินกลายเป็นสินค้ามีมูลค่าแลกเปลี่ยนในตลาด ปั่นราคาให้สูง คนรวยที่มีอำนาจซื้อก็สามารถถือครองได้มากกว่าคนจน  ในขณะที่ชาวบ้านพยายามผลักดันวิธีการพัฒนาที่ดินทำกินให้ที่ดินเป็นของส่วนรวม หรือโฉนดชุมชน ให้ชุมชนมีสิทธิร่วมกันพัฒนาสร้างประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม เช่น ทำเกษตร ผลิตอาหารให้แก่คนนับแสนๆ ครัวเรือน และคนสามารถที่จะอยู่กับป่าทำการผลิตได้   สำหรับข้อเรียกร้องสำคัญของชุมชนขณะนี้คือ ชะลอโครงการ EEC ยกเลิกกฎหมาย EEC และยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัญหาการพัฒนาของระบบทุนนิยมดังที่กล่าวมาคือ การทำให้ทรัพยากรซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวมเป็นของเอกชน และทำให้ทรัพยากรเป็นสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าแลกเปลี่ยนในตลาด เช่น ที่ดินเพื่อเก็งกำไรหรือเป็นปัจจัยการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ ออกสู่ตลาด ผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อสามารถซื้อหาได้มากกว่าคนจน  และถ้ามองให้ลึกลงจากระดับปรากฏการณ์  สินค้าเหล่านั้นมาจากการทำงานรวมหมู่ของผู้ใช้แรงงาน ผู้สร้างมูลค่าการใช้สอย นั่นคือ มูลค่าแลกเปลี่ยนในตลาดคือภาพสะท้อนของการทำงานหนักของผู้สร้างมูลค่าใช้สอย (มูลค่าที่เกิดจากการแปลงวัตถุดิบเป็นสิ่งของสำหรับบริโภคเอง) ที่มักถูกเพิกเฉย ไม่เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีและได้รับเพียงค่าจ้างตอบแทนซึ่งต่ำกว่าผลได้ของมูลค่าใช้สอยที่มาจากการทำงานของแรงงาน

เมื่อคนในชุมชนถูกแย่งยึดที่ดิน ขับไล่ออกจากป่า  ทรัพยากรเป็นของรัฐและสัมปทานให้แก่นายทุน คนในชุมชนก็จะกลายมาเป็นแรงงานพลัดถิ่น พึ่งพาเพียงค่าจ้าง ดังนี้ เราจึงเห็นความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนกับคนในชุมชนและแรงงาน ที่ทุนพยายามแยกคนออกจากธรรมชาติ และทำให้คนไร้ปัจจัยการผลิต

ทุนให้ความสำคัญกับมูลค่าแลกเปลี่ยนในตลาดซื้อขายสินค้า ไม่สนใจมูลค่าใช้สอยที่ยังไม่ถูกตีค่าเป็นสินค้า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นแหล่งสร้างมูลค่าใช้สอยมหาศาลให้แก่มนุษยชาติ เช่น อากาศ น้ำ แต่ระบบแลกเปลี่ยนในกลไกตลาด อากาศไม่สามารถตีค่าเป็นสินค้าได้ นายทุนจึงไม่สนใจ และนี่คือสาเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อม

หากได้ดูภาพยนตร์เรื่อง The Young Karl Marx จะเห็นฉากแรกที่ชนชั้นปกครองออกกฎหมายจับผิดชาวบ้านที่ไปเก็บฟืนในป่า ซึ่งมาร์คซ์ได้วิจารณ์ว่ากฎหมายนี้ให้ประโยชน์แก่นายทุน อภิสิทธิ์ชน โดยแยกชาวบ้านออกจากสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน และยังคงเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบัน

แนวทางการต่อสู้

ทัศนะของมาร์คซ์ในอดีตตรงกับจุดยืนขององค์กรชาวบ้านก้าวหน้าในไทยที่มองว่า ชาวบ้านคือผู้ที่อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่ารัฐและทุน และการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมาจากความต้องการของประชาชน และเมื่อแรงงานถูกทำให้ไร้ปัจจัยการผลิต แรงงานก็ต้องต่อต้านการขูดรีดส่วนเกินซึ่งเกิดจากการทำงานของแรงงาน ช่วยกันต่อต้านระบบทุนนิยม ด้วยการนัดหยุดงาน ยึดโรงงาน ยึดที่ดินเพื่อทำการผลิตที่ให้ประโยชน์แก่ส่วนรวม คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม  ต่อต้านอำนาจรัฐเผด็จการ ระบบชนชั้น เปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาให้มาจากล่างสู่บนและกลับคืนสู่ความสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ


 

 

ที่มาภาพ: CEO Blog

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: