แนะขยายเวลายื่นขอ 'ผศ.-รศ.' ของอาจารย์มหาวิทยาลัยลดความกดดัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 14573 ครั้ง

แนะขยายเวลายื่นขอ 'ผศ.-รศ.' ของอาจารย์มหาวิทยาลัยลดความกดดัน

ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แจงกรณีอาจารย์มหาวิทยาลัยยื่นทำงาน ผศ.-รศ.ไม่ทันต้องออกจากงาน ขึ้นกับข้อบังคับมหาวิทยาลัย อว.-สกอ.เดิมไม่กำหนดเวลาตายตัว ฟาก อธิการบดี มร.สส.ระบุไม่ได้ให้ออกทันที ให้เวลารวม 7 ปีและช่วยพัฒนา เว้นไม่ได้จริงๆ ก็ต้องออก ขณะที่ มก.แนะขยาย ยืดหยุ่นให้เขียนตำรา 2 เล่ม เป็นทางแก้ไข ชี้ตรึงเกินไปอาจกดดัน

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2562 ว่า นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายโสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Soraj Hongladarom ด้วยข้อความระบุว่า อาจารย์ที่ทำ ผศ. รศ. ไม่ทัน ต้องออกจากงาน รวมกัน 5 ปีถึงตอนนี้มีราวๆ 30 คนนั้น ว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับข้อบังคับของแต่ละมหาวิทยาลัย ทาง อว. หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เดิม ไม่ได้มีการกำหนด ข้อบังคับหรือระยะเวลาที่ตายตัว แต่เป็นลักษณะของการเชิญชวน ให้อาจารย์พัฒนาตัวเอง โดยสร้างงานวิจัยทำผลงานทางวิชาการ ซึ่งคณะต้นสังกัดจะต้องมีส่วนเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย ดังนั้นอนาคตคงไม่มีการปรับแก้ระเบียบใดที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นอำนาจของมหาวิทยาลัยโดยตรง

รศ.ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) กล่าวว่า เชื่อว่าปัญหานี้มีทุกแห่ง โดยในส่วนของ มร.สส. กำหนดว่า ภายใน 5 ปีอาจารย์จะต้องพัฒนาตนเอง มีผลตำแหน่งทางวิชาการ โดยการทำวิจัย สร้างนวัตกรรม เขียนตำรา ซึ่งยอมรับว่า ที่ผ่านมามีอาจารย์จำนวนหนึ่ง ไม่สามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยไม่ได้ให้ออกทันที แต่จะนำรายชื่อเสนอให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณา ส่วนใหญ่จะได้ต่ออายุไปอีก 2 ปี ระหว่างนี้ มีโครงการช่วยเหลือให้คำปรึกษาอาจารย์เร่งทำผลงาน เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทาวิชาการให้ได้ หากไม่ได้จริง ๆ ก็คงต้องยกเลิกสัญญาจ้าง เพราะเวลา 7 ปีหากไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ก็ถือว่าแย่มากแล้ว

“การกำหนดให้อาจารย์ ต้องทำผลงาน เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เป็นเรื่องดี กระตุ้นให้อาจารย์ทำวิจัย สร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาตัวเอง พัฒนาการเรียนการสอน และพัฒนาประเทศ โดยในส่วนของ มร.สส. มีอาจารย์อยู่ประมาณ 1,000 คน มีตำแหน่งทางวิชาการแล้ว ประมาณ 300 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างเสนอผลงาน และยังไม่ครบกำหนดที่ต้องทำผลงาน ” นายฤๅเดช กล่าว

น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า เท่าที่ทราบข้อมูลทาง มก. ยังไม่ถึงขั้นให้อาจารย์ที่ไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้ ต้องออกจากงาน โดยปีนี้มีอาจารย์ที่ครบกำหนดยื่นผลงานทางวิชาการ ประมาณ 70-80 คน หากไม่ผ่านยังมีเวลาพัฒนาตัวเองอีก 2 ปี ซึ่งการกำหนดให้อาจารย์เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ให้ได้ภายใน 5 ปี มีข้อดี คือ อาจารย์ มีความก้าวหน้าในการทำงาน นักศึกษา ได้อ่านตำราจากอาจารย์ผู้สอนโดยตรง และสามารถนำงานวิจัยที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ขณะที่ข้อเสีย หากกำหนดหลักเกณฑ์เข้มงวด หรือตึงเกินไป อาจทำให้อาจารย์เกิดความกดดัน บางหลักสูตรต้องปิดตัวเพราะไม่มีอาจารย์ผู้สอน โดยเฉพาะสาขาใหม่ ๆ ที่ขาดแคลน ที่มีคนจบน้อย


ทั้งนี้การที่อาจารย์ ทำผลงานเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการไม่ได้ มาจากหลายสาเหตุ อาทิ ภาระงานสอนมาก เป็นสาขาขาดแคลนทำให้ไม่มีคนอ่านผลงาน วิธีแก้ไขคือ อยากให้ขยายเวลา หรือเพิ่มช่องทางจากเดิม ที่กำหนดให้ทำวิชา และเขียนตำรา ก็อาจยืดหยุ่นให้เขียนตำรา 2 เล่ม สามารถนำมาขอเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้

“ ขณะเดียวกัน ควรเพิ่มแรงจูงใจ โดยเพิ่มเงินประจำตำแหน่งให้เท่ากับข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งไม่บังคับให้ต้องทำผลงานเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทาวิชาการ แต่หากทำได้ จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง 2 เท่าของเงินเดือน ขณะที่อาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย จะได้เพียง 1 เท่า ซึ่งหากจะทำตรงนี้จะต้องไปปรับแก้กฎหมายกระทรวงการคลัง (กค.) เป็นอำนาจ รมว.อว. พิจารณา” น.ท.สุมิตร กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: