เรียกร้อง กสม. ตรวจสอบกรณีผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงหมดสติเข้ารักษาตัวห้องไอซียู

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 ก.ค. 2562 | อ่านแล้ว 2025 ครั้ง

เรียกร้อง กสม. ตรวจสอบกรณีผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงหมดสติเข้ารักษาตัวห้องไอซียู

แอมเนสตี้เรียกร้อง กสม. ตรวจสอบกรณีผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงหมดสติเข้ารักษาตัวห้องไอซียู รพ.ปัตตานี หลังถูกคุมตัวเข้าค่ายทหาร

23 ก.ค. 2562 จากรายงานข่าวที่มีการนำเสนอกรณี อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง ได้หมดสติเข้ารักษาตัวที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลปัตตานีเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2562 หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ไม่ทราบฝ่ายและจำนวน เข้าไปควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2562 เวลาประมาณ 16.00 น. ก่อนจะส่งตัวต่อไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพโดยทันทีต่อกรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลปัตตานี จากอาการหมดสติและสมองบวม ภายหลังจากถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เป็นเวลาไม่ถึงหนึ่งวัน

“การสอบสวนต้องนำมาซึ่งผลที่แน่ชัดว่านายอับดุลเลาะถูกเจ้าหน้าที่รัฐทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายระหว่างถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. เวลา 16.00 น. จนถึงวันที่ 21 ก.ค. เวลา 03.00 น. หรือไม่ โดยการสอบสวนดังกล่าว ควรเป็นภารกิจของหน่วยงานอิสระ ไม่ใช่ปล่อยให้ทหารสอบสวนกันเอง”

“หากการสอบสวนพบว่ามีการทรมานเกิดขึ้น ทางการไทยจะต้องให้การประกันว่าจะมีการดำเนินคดีอาญาในศาลยุติธรรม เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดี และลงโทษผู้กระทำผิด”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องทางการไทยให้การรับรองว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามสถานที่ต่างๆ และค่ายทหารสามารถเข้าถึงทนายความ ญาติพี่น้อง และได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม ตลอดจนอนุญาตให้หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระเข้าเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวทุกแห่งได้

“เพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ทางการไทยต้องผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... เป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณา หลังมีการแก้ไขเนื้อหาให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย และให้สัตยาบันในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับสูญหาย รวมถึงการสร้างกลไกระดับชาติในการป้องกันการทรมาน” ปิยนุช ย้ำ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: