สุ่มตรวจอาคารในเขต 'ทต.-อบต.' 139 แห่ง ส่วนใหญ่ไม่ปลอดภัยจาก 'อัคคีภัย'

ทีมข่าว TCIJ: 23 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 3690 ครั้ง

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สังเกตการณ์อาคารในเขต 'เทศบาลตำบล' (ทต.) และ 'องค์การบริหารส่วนตำบล' (อบต.) ‘โรงแรม-หอพัก-ห้องเช่า-อาคารชุด-โรงมหรสพ-สถานบริการ’ รวม 139 แห่ง พบส่วนใหญ่ไม่มีความปลอดภัยจากอัคคีภัย ตามกฎกระทรวงที่กำหนด 'ไม่มีป้ายผังบริเวณ' 82.73% 'ไม่มีป้ายทางหนีไฟ' 76.26% และ 'ไม่มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้' 66.91% ที่มาภาพประกอบ: VIRIN

ข้อมูลจาก การตรวจสอบการดำเนินงานการบังคับใช้กฎหมายควบคุมภายใน เขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ค. 2562 เนื้อหาระบุว่าเนื่องจากเขตเทศบาลตำบล (ทต.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในจังหวัดต่างๆ มีการขยายตัวด้านการก่อสร้างอาคารและการผังเมือง กระทรวงมหาดไทยจึงกำหนดเขตควบคุมอาคารตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการควบคุมเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร รวมทั้งการรองรับการขยายตัวของชุมชนในด้านการก่อสร้างอาคาร ซึ่งท้องที่ที่ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 นั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายที่จะประกาศให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในท้องที่ดังกล่าว

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตระหนักถึงความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารในเขต ทต. และ อบต. จึงได้เลือกตรวจสอบการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อ ทต. และ อบต. ในการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยข้อค้นพบที่น่าสนจนของ สตง. มีตัวอย่างดังนี้

อาคารไม่มีความปลอดภัยจากอัคคีภัยตามกฎกระทรวงที่กำหนด

จากการสังเกตการณ์อาคารในเขต ทต. และ อบต. ที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 139 แห่ง ประกอบด้วย โรงแรม 77 แห่ง หอพัก 27 แห่ง ห้องเช่า 24 แห่ง อาคารชุด 4 แห่ง โรงมหรสพ 3 แห่ง และสถานบริการ 4 แห่ง พบว่าอาคารส่วนใหญ่ไม่มีความปลอดภัยจากอัคคีภัยตามกฎกระทรวงที่กำหนด โดยมีสภาพปัญหาความไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ 1.ไม่มีป้ายผังบริเวณ จำนวน 115 แห่ง (ร้อยละ 82.73) 2.ไม่มีป้ายทางหนีไฟ 106 แห่ง (ร้อยละ 76.26) และ 3.ไม่มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ 93 แห่ง (ร้อยละ 66.91) ของอาคารที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมด ซึ่งทั้ง 3 ลำดับนี้ เป็นระบบและอุปกรณ์ความปลอดภัยจากอัคคีภัย ที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) กำหนดให้อาคารต้องมีวิธีการเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัย

นอกจากนี้ ยังพบว่าอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป 42 แห่ง โรงมหรสพ 3 แห่ง และสถานบริการ 4 แห่ง รวมทั้งสิ้น 49 แห่ง ซึ่งกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดมาตรการระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับประตูหนีไฟ และบันไดหนีไฟ แต่จากการสังเกตการณ์ปรากฏว่าอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป ไม่มีประตูหนีไฟหรือมีแต่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 20 แห่ง (ร้อยละ 40.82) ของอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปทั้งหมดที่สุ่มตรวจสอบ

กฎกระทรวงฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 by TCIJ on Scribd

 

ปี 2551-2560 ขออนุญาตสร้างอาคารผ่าน 'กองช่าง-กองคลัง' ขัดกฎหมายกว่า 246 แห่ง


ที่มาภาพประกอบ: mckeller.co.th

รายงานฉบับนี้ของ สตง. ยังพบว่าการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคารหรือป้ายในเขต ทต. และ อบต. ที่สุ่มตรวจสอบไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร เจ้าของอาคารไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร ทั้งการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต

โดยจากการตรวจสอบเอกสารการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคาร ปี 2551- 2560 ของฝ่ายแบบแผนและก่อสร้าง กองช่าง ของ ทต. และ อบต.ที่สุ่มตรวจสอบพบว่ามีการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคารแล้ว 377 ราย แบ่งเป็นไม่ทราบสถานภาพ 260 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 38 ราย และดำเนินการแล้วเสร็จ 79 ราย ของจำนวนการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคารทั้งหมด กรณีนี้กล่าวคือเจ้าพนักงานท้องถิ่น ได้ดำเนินการออกคำสั่งตามแบบของคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2528) และอยู่ในระหว่างการบังคับให้เจ้าของอาคารปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยเป็นการกระทำผิดกรณีก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตมากที่สุด 246 ราย แต่ไม่ทราบสถานภาพ 167 ราย เนื่องจากไม่มีการติดตามผลการดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบดังกล่าวยังไม่รวมถึงข้อมูลของฝ่ายนิติการ สำนักปลัด ทต. และ อบต. ที่สุ่ม นอกจากนี้จากการสังเกตการณ์อาคารในเขต ทต. และ อบต. ที่สุ่ม พบว่ายังมีเจ้าของอาคารทั้งสิ้น 37 อาคาร ที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคาร กล่าวคือ มีการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร โดยไม่ขออนุญาตหรือก่อสร้างผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

ขณะเดียวกัน ข้อมูลในประเด็นการเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการตรวจสอบเอกสารการออกใบ อนุญาตก่อสร้างฯ (อ.1) หรือการขอเปลี่ยนการใช้ฯ (อ.6) ของฝ่ายแบบแผนและก่อสร้าง กองช่าง เปรียบเทียบกับข้อมูลการสำรวจโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง (ผ.ท.2) ของฝ่ายแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน กองคลัง เทศบาลตำบลและอบต. ที่สุ่มตรวจสอบ พบว่าข้อมูลจำนวนอาคารประเภทควบคุมการใช้ที่ขออนุญาตฯ (อ.1) หรือขอเปลี่ยนการใช้ฯ (อ.6) มีความแตกต่างกัน คือ ระหว่างปี 2551 - 2560 ทต. และ อบต. ที่สุ่ม 8 แห่ง มีอาคารประเภทควบคุมการใช้ที่ขออนุญาตฯ (อ.1) หรือขอเปลี่ยนการใช้ฯ (อ.6) กับฝ่ายแบบแผนและก่อสร้าง กองช่าง เพียง 714 แห่ง แต่ข้อมูลการสำรวจโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง (ผ.ท.2) ของฝ่ายแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน กองคลัง มีอาคารประเภทควบคุมการใช้ 1,346 แห่ง ซึ่งมีความแตกต่างกันถึง 632 แห่ง แสดงว่าอาคารส่วนใหญ่อาจมีการเปลี่ยนการใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ จากการสังเกตการณ์อาคารในเขต ทต. และ อบต. ที่สุ่มตรวจสอบ พบว่ามีอาคารทั้งสิ้น 21 อาคาร ที่มีการใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามที่แจ้งขออนุญาต กับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเข้าข่ายเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 และยังมิได้ดำเนินการขอเปลี่ยนการใช้อาคารให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือมีอาคารที่เปิดให้บริการโดยคิดค่าบริการเป็นรายวัน ซึ่งเข้าข่ายการประกอบธุรกิจโรงแรม

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: