ข่าวพะยูนน้อย’มาเรียม‘ตายโดยมีเศษซากพลาสติกในท้อง ยืนยันปัญหาวิกฤตขยะพลาสติกในประเทศไทย ซึ่งติด 1 ใน 6 ประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุดในโลก โดยมีการปล่อยขยะลงสู่ท้องทะเลมากถึง 1 ล้านตันต่อปี เราจะตามไปดูปัญหาขยะในไทยและตรวจการบ้านข้อกำหนด’โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก’ โดยมีตัวอย่างสามมหาวิทยาลัยชั้นนำจับมือเดินหน้าลดการเกิดขยะต้นทาง นักวิชาการแนะ “ทำได้” ถ้าออกเป็นกฎหมายและบูรณาการอย่างเป็นระบบ ที่มาภาพประกอบ: ACTs of Green
รู้หรือไม่ ? ประเทศไทยติด 1 ใน 6 ประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุดในโลก โดยมีการปล่อยขยะลงสู่ท้องทะเลมากถึง 1 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ยังเป็นหลุมขยะพลาสติกอันดับสามของอาเซียน โดยมีการนำเข้าขยะพลาสติกมากถึง 481,381 ตันในปี2561 ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในอดีตที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงทำให้ปัญหาถูกสะสมและแสดงผลให้เห็นเป็นข่าวบ่อยครั้งในปัจจุบัน
ข้อมูลจากรายงานสรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561พบว่า มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นจำนวน 27.8 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน และมีขยะเพียง 0.5ล้านตันเท่านั้นที่สามารถนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้ มีการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างไม่ถูกต้อง 7.15 ล้านตัน เช่นการเทกองทิ้งไว้ การเผากลางแจ้ง การลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ลักลอบทิ้งลงสู่แหล่งน้ำหรือการทิ้งลงทะแลโดยตรง ขยะตกค้างเหล่านี้สะสมอยู่ในธรรมชาติและส่งผลต่อระนิเวศสิ่งแวดล้อม ปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่จากการรวบรวมสถิติของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าสัดส่วนปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี2557-2561 มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี
ในปี 2562 ประเทศไทยผ่านร่างโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา ข้อมูลภายในโรดแมประบุว่ามีระยะเวลาดำเนินงานทั้งหมด 13 ปี เริ่มจากปี 2561-2573 ประกอบด้วยสองเป้าหมายได้แก่
เป้าหมายแรกคือ ลดและเลิกการใช้พลาสติก 7 ชนิด ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีด้วยกันสองส่วน ในส่วนแรกกำหนดว่าภายในปี2562 จะเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด ได้แก่ พลาติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม(Cap Seal) พลาสติกที่มีส่วนผสมสารอ็อกโซ่ (Oxo) และพลาสติกไมโครบีด (Microbead)
ส่วนที่สองกำหนดว่าภายในปี 2565 จะเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบางใช้ครั้งเดียวทิ้ง และหลอดพลาสติก
เป้าหมายที่สองคือ การนำขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ กลับมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ให้ครบ 100 % ภายในปี2570 โดยแบ่งการปฏิบัติงานในการจัดการขยะพลาสติกออกเป็น 3 มาตรการได้แก่
มาตรการแรก ลดการเกิดขยะพลาสติกตั้งแต่แหล่งกำเนิด โดยการสนับสนุนการออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single – use plastics)
มาตรการที่สอง ลดและเลิกใช้พลาสติกในขั้นตอนการบริโภค ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single – use plastics) ที่ผลต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สามารถนำกลับเข้ามสู่ระบบเศรฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
มาตรการที่สาม จัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยการส่งเสริม สนับสนุนการนำขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบการนำกลับมาใช้ประโยชน์
ซึ่งหากดำเนินการได้ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดก็คาดว่าจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,9001 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่รองรับและกำจัดขยะมูลฝอย พลาสติก โดยคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ จะช่วยประหยัดพื้นที่ฝังกลบได้ประมาณ 2,500 ไร่ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 1.6 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า
แม้ว่าโรดแมปจะเพิ่งมีออกมาในปี 2562 แต่ก่อนหน้านั้นก็มีหลายภาคส่วนที่เห็นความสำคัญของการลดพลาสติกและได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่มีผลลัพธ์สำเร็จออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม ที่น่าสนใจคือมหาวิทยาลัยชั้นนำ 3 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เข้าร่วมโครงการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของโลก และการจับมือกันเหนียวแน่นของเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ได้ทำโครงการในการลดขยะพลาสติก โดยมีมาตรการที่คล้ายกัน คือการให้ร้านสะดวกซื้อทุกร้านภายในมหาลัยเลิกแจกถุงพลาสติกฟรีให้กับลูกค้า ยกเว้นในกรณีที่สินค้ามีความร้อน และมีการเก็บเงิน 2 บาทในกรณีที่ลูกค้าต้องการถุงพลาสติก ซึ่งจากโครงการดังกล่าวสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้มากถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
จุดร่วมสามมหาวิทยาลัย สร้างเงื่อนไข-ลดการใช้ถุงพลาสติก-ลดการผลิตขยะตั้งแต่ต้นทาง
รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานเสวนาเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ‘From Green to Sustainable University’ ณ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ย้ำว่า โครงการ ‘มหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติก’ เริ่มจากการขอความร่วมมือจากร้านสะดวกซื้อจำนวน 12 ร้านในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก งดให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้าตั้งแต่ 25 กรกฎาคม 2559 ในช่วงแรกที่เปิดตัวโครงการนั้น มีการใช้ถุงพลาสติกสูงถึง 282,000 ใบ แต่หลังจากบังคับใช้มาตรการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 6 เดือน มียอดการใช้ถุงพลาสติกเหลือเพียง 34,000 ใบเท่านั้น หรือมีอัตราการใช้ถุงพลาสติกลดลงไปถึง 90 % ภายใน 6 เดือน เป็นโครงการลดการใช้ถุงพลาสติกที่ทำได้ผลชัดเจนเป็นรูปธรรม ไม่เพียงแค่เห็นผลเป็นตัวเลขเท่านั้น แต่นักศึกษาและบุคลากรในวันนี้ต่างก็ปรับรูปแบบพฤติกรรมในชีวิต ประจำวันด้วย ทุกคนทุกฝ่ายมีความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทางด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีโครงการ ‘Chula Zero Waste’ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและดำเนินงานร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมและสำนักบริหารระบบกายภาพ โดยมีวัตถุประสงค์คือการพัฒนาระบบการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นต้นแบบการจัดการขยะในพื้นที่เมือง บูรณาการความรู้เรื่องการลด คัดแยกและจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนและกิจกรรมภาคปฏิบัติตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย และเพื่อสร้างค่านิยม Zero-Waste กับบุคลากรในจุฬาฯ ให้เห็นความสำคัญของการลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง เป็นตัวอย่างให้กับชุมชนและสังคม
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยชำนาญการ ในฐานะผู้จัดการ โครงการ Chula Zero Waste ให้สัมภาษณ์กับTCIJ ถึงโครงการนี้ “ในระยะแรกมีร้านค้าบางร้านที่ไม่เข้าร่วมโครงการเพราะกลัวจะถูกต่อว่าจากลูกค้าถ้าไม่ให้ถุงฟรี ดังนั้นร้านค้าจึงต้องการมาตรการที่ชัดเจนในการลดการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งกว่าจะมีมาตรการออกมาได้ต้องใช้เวลาหลายเดือน ด้วยการเข้าหาติดต่อร้านค้าแต่ละร้าน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างความตระหนักด้วย”
ดร.สุจิตรา กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการ Chula Zero Waste นี้เหมาะกับการขยายผลไปยังองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการลดและคัดแยกขยะในองค์กร เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน หน่วยงานราชการ แต่อาจจะไม่ต้องทำทุกแผนงานเหมือนในโครงการ แต่ถ้าโมเดลการเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ก็เสนอให้ภาครัฐออกเป็นกฏหมายระดับประเทศเลย การที่มีกฏที่ชัดเจนออกมาจะเป็นตัวคุ้มครองร้านค้า เหมือนเป็นผ้ายันต์ โดยร้านจะสามารถชี้แจงกับลูกค้าได้ว่านี่คือนโยบาย ร้านค้าทุกร้านต้องปฏิบัติตาม”
ต่อมา จุฬาลงกรมหาวิทยาลัยก็ได้มี ‘มาตรการการลดขยะพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งในจุฬาลงกรมหาวิทยาลัย พ.ศ.2561’ ออกมาเพื่อสร้างความชัดเจนให้กับทางร้านค้า โดยครอบคุมทั้งส่วนที่อยู่ภายในเขตพื้นที่การศึกษาและเขตพื้นที่เชิงพาณิชที่อยู่ในการควบคุมของจุฬาลงการวิทยาลัย โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขหลักคือการยกเลิกการให้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบให้เปล่า และยกเลิกการใช้ภาชนะจากโฟมและถุงพลาสติกชนิดที่แตกสลายได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวก็เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ที่เอื้อต่อการลดการใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดปริมาณการเกิดขยะพลาสติกที่จะตามมาภายหลัง
คล้ายกันกับนโยบายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต ที่ได้กำหนดให้ ยกเลิกการจำหน่ายเครื่องดื่มที่มี พลาติกหุ้มฝาขวด(Cap Seal) ให้ร้านสะดวกซื้อภายในมหาลัยยกเลิกการแจกถุงฟรีให้กับลูกค้า และห้ามไม่ให้มีการร้องเรียนพนักงานในกรณีที่ไม่ให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว เพื่อเป็นการคุ้มครองพนักงานไม่ให้โดนลงโทษจากบริษัท
ทางด้าน เอกดนัย วงษ์วัฒนะ ผู้ประสานงานโครงการมหาวิทยาลัยยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับTCIJ ว่า “ที่ผ่านมาพนักงานร้านสะดวกซื้อที่ไม่แจกถุงพลาสติกมักจะถูกลูกค้ารายงานไปยังบริษัท และพนักงานก็จะถูกลงโทษตักเตือน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่ออาชีพการทำงาน จึงทำให้พนักงานเลือกที่จะแจกถุงให้กับลูกค้าทุกครั้งเป็นการกันไว้ก่อน และหลังจากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ดำเนินโครงการตามนโยบายดังกล่าวแล้ว พบว่าในปี 2561 สามารถลดถุงพลาสติกลงจาก 4.5 ล้านใบ เหลือ 0.9 ล้านใบ ในปี 2562 และในอนาคตมีความพยายามว่า จากเดิมที่ยังแจกฟรีถุงพลาสติกสำหรับผู้ซื้อสินค้าที่มีความร้อน เปลี่ยนเป็นการ “ยกเลิก” การแจกถุงทุกกรณีในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเริ่มผลักดันให้เกิดผลในภาคการศึกษาที่จะมาถึงนี้”
เอกดนัยกล่าวต่อว่า “เรื่องการลดขยะที่ทำได้ผลในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนกว่า 30 สถาบัน ที่มีมาตรการลดขยะพลาสติกเช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำ และยังมองว่าโครงการนี้สามารถขยายไปใช้ในระดับประเทศได้ แต่จะมีความแตกต่างกันในเชิงโครงสร้างและจำนวนคน ซึ่งในมหาวิทยาลัยจะง่ายกว่าในด้านการบริหารและจัดการระบบ แต่ในเรื่องคุณภาพของตัวบุคคลไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ทุกคนมีคุณภาพเท่าเทียมกัน ทุกคนสามารถลดการใช้พลาสติกได้ ส่วนตัวมองว่ายิ่งเอาไปเริ่มใช้ในระดับชุมชนยิ่งทำง่าย ขอแค่เราพยายามให้เหตุผล ทำให้เขาเข้าใจ เราเชื่อว่าคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีความพยายามมากพอหรือไม่”
นักวิชาการชี้ โรดแมปทำได้แต่ควรมีกฎหมายรองรับ-หน่วยราชการต้องเข้าร่วมบูรณาการ
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยชำนาญการ ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นโรดแมปที่เพิ่งผ่านร่างออกมาว่า “โรดแมปนี้ต่างจากต่างประเทศตรงที่ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นไปในแนวสมัครใจ แต่ก็มีบางข้อเช่นการแบนไมโครบีต ที่องค์การอาหารและยา มีกฎหมายออกมายกเลิกการใช้อย่างชัดเจน ซึ่งโดยภาพรวมแล้วมองว่าโรดแมปสามารถลดขยะพลาสติกลงได้ แต่ไม่100% เพราะเป้าหมายที่วางไว้นั้นดี แต่มาตรการที่จะมาควบคุมนั้นอ่อนเกินไป” ซึ่ง ดร.สุจิตรา ก็ได้เสนอแนวทางโรดแมปเป็นระยะว่า ที่มาภาพประกอบ: ฤแะ
เฟสที่หนึ่งระยะสองปีแรก สร้างมาตรฐานทางสังคม สร้างความยอมรับ และเห็นด้วยในการออกกฎหมาย เช่น ทำแคมเปญสร้างความตระหนักเรื่องปัญหาพลาสติกกับประชาขนให้เข้าถึงคนหมู่มากและเข้มข้นกว่าเดิม อาจเป็นการใช้สื่อสังคมออนไลน์มาช่วยในการโปรโมท
เฟสที่สอง ออกกฎหมายควบคุมการใช้พลาสติกที่ชัดเจน แนะนำให้กระทรวงทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพในการออกกฎหมายเก็บเงินค่าพลาสติก และกฎหมายควบคุมพลาสติกทั้ง 7 ชนิดที่อยู่ในแผนโรดแมปทั้งหมด ในส่วนนี้จะครอบคลุมขยะพลาสติกที่มีอยู่ทั่วประเทศได้ถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์
เฟสที่สาม สร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการลดขยะเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยแนะนำให้กระทรวงการคลังมีการเก็บสรรพสามิตหน้าโรงงานผู้ผลิตพลาสติก ถ้าราคาถุงพลาสติกแพงขึ้น ก็จะเอื้อให้ร้านค้าลดการแจกถุงฟุ่มเฟือย เพราะในตอนนี้ราคาถุงพลาสติกถูกมาก
ด้านเอกดนัย วงษ์วัฒนะ ผู้ประสานงานโครงการมหาวิทยาลัยยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “เรื่องโรดแมปถ้าจะให้มีประสิทธิภาพ ควรมีมาตรการกลางออกมาและแต่งตั้งคณะกรรมการกลางที่มาจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดขยะพลาสติกมาดำเนินงานที่มีผลสืบเนื่องจากโรดแมป เพื่อให้เกิดการบูรณาการและความต่อเนื่องที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีกว่า โดยมาตรการกลางควรกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องทำอะไรและอย่างไรบ้าง ในตอนนี้ภาพรวมของปัญหาในระดับประเทศคือเรื่องการบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ คือเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง ถ้าจัดการตั้งแต่ต้นทางได้ดี มีต้นทุนต่ำ ก็จะมีประสิทธิภาพสูง ถ้าบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทางไม่ดี มีต้นทุนสูง ประสิทธิภาพการจัดการที่ได้ก็จะต่ำ”
ดูเหมือนว่าหน่วยงานต่าง ๆ ได้ตระหนักถึงปัญหาวิกฤตขยะพลาสติกมากขึ้นจากแต่ก่อน ดูจากภาครัฐเองที่ออกโรดแมปมาจัดการปัญหาพลาสติก หน่วยงานอย่างมหาวิทยาลัยเองก็จับมือกันเป็นเครือข่ายดำเนินโครงการลดใช้พลาสติก แม้ว่ามาตรการทั้งหลายดังกล่าวจะมีมาในช่วงที่ปัญหาขยะพลาสติกในไทยสะสมมานานเกินกว่าจะแก้ไขได้ในเวลาอันสั้นแล้ว แต่อย่างน้อยก็หวังว่าจะสามารถลดการเกิดขยะพลาสติกลงได้ในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
- รายงานเรื่อง “ต่อกรการค้าขยะพลาสติกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อประเทศสมาชิกอาเซียน” โดย กรีนพีซ
- สรุปสถานการณ์มลพิษ ของประเทศไทย ปี 2561
- ประกาศกระทรวงทรัพยการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง(ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573
- รายงานความก้าวหน้า ระยะ 6 เดือน (ตุลาคม 2561 – มีนาคม 2562) โครงการพัฒนาต้นแบบการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายในพื้นที่เมือง (จุฬาฯ zero waste) ปีที่ 3
- ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาลงการมหาวิทยาลัย พ.ศ.2561
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ