ไทยติดอันดับส่งออก 'ผลิตภัณฑ์ชา' มากสุดอันดับ 4 ของโลก

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ก.พ. 2562 | อ่านแล้ว 7033 ครั้ง

ไทยติดอันดับส่งออก 'ผลิตภัณฑ์ชา' มากสุดอันดับ 4 ของโลก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุไทยยังส่งออกผลิตภัณฑ์ชาเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา และจีน โดยส่งออกเป็นปริมาณ 10,775 ตัน คิดเป็นมูลค่า 958 ล้านบาท ที่มาภาพประกอบ: shinelimp (Pixabay License)

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2562 ว่านางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์และติดตามความพร้อมของเกษตรกรและผู้ประกอบการชา และผลิตภัณฑ์ชาของไทยในการเปิดตลาดภายใต้ FTA ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ไทยมีผลผลิตชาสดประมาณ 93,309 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 27.45 แบ่งเป็นชาอัสสัม 84,231 ตัน คิดเป็นร้อยละ 90.27 ของผลผลิตชาทั้งหมด และชาจีน 9,078 ตัน คิดเป็นร้อยละ 9.73 ในปีเดียวกัน ไทยนำเข้าชา 11,639 ตัน จากประเทศ จีน ร้อยละ49 เวียดนาม ร้อยละ25 และเมียนมา ร้อยละ11

ซึ่งภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทยลดภาษีนำเข้าใบชาจากอาเซียนเหลือร้อยละ 0 แล้ว สำหรับประเทศคู่ FTA อื่นๆ เช่น จีน ไทยยังไม่ได้ลดภาษีใบชาให้กับจีน โดยเก็บอัตราภาษีนำเข้าชาจากจีนเท่ากับประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก อื่นๆ คือ อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 30 ในปริมาณ 625 ตัน ต่อปี หากมีการนำเข้าเกินปริมาณโควตาดังกล่าว จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 90 ขณะที่ในส่วนของอัตราภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ชา ไทยได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ากับประเทศคู่ FTA เช่น อาเซียนและจีนแล้ว และในทางกลับกัน จีน และอาเซียนก็ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ให้กับไทยแล้วเช่นกัน ยกเว้นเมียนมาที่ยังมีการเก็บภาษีนำเข้าใบชาอยู่ที่ร้อยละ 5

ในปี 2560 ไทยยังส่งออกผลิตภัณฑ์ชาเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา และจีน โดยส่งออกเป็นปริมาณ 10,775 ตัน คิดเป็นมูลค่า 958 ล้านบาท ไปยังพม่า ร้อยละ 46 สหรัฐร้อยละ 27 และลาว ร้อยละ 7 ซึ่งไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศดังกล่าว เช่น อาเซียนและจีน เป็นต้น โดยในปี 2560 ไทยส่งออกใบชา 2,710 ตัน คิดเป็นมูลค่า 436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 49 ส่งออกไปยังอินโดนีเซีย ร้อยละ 25 กัมพูชา ร้อยละ 19 และจีน ร้อยละ 18 นอกจากนี้ การที่ไทยจะเปิดเสรีสินค้าชาให้กับออสเตรเลียในปี 2563 ภายใต้ความตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลียนั้นคาดว่าจะไม่มีผลกระทบกับอุตสาหกรรมชาในประเทศ เนื่องจากออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศที่ผลิตและส่งออกชารายใหญ่ อย่างไรก็ดี หากเกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถเพิ่มมูลค่า พัฒนาคุณภาพสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ก็สามารถใช้โอกาสทางการค้า หรือการลดภาษีของประเทศคู่ค้าที่มี FTA กับไทยเพื่อส่งออกสินค้าได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: