เผยคุณภาพน้ำ 5 ปี 'เจ้าพระยา-ป่าสัก' สกปรก-ค่าออกซิเจนต่ำ

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 2786 ครั้ง

เผยคุณภาพน้ำ 5 ปี 'เจ้าพระยา-ป่าสัก' สกปรก-ค่าออกซิเจนต่ำ

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เผยจากข้อมูลคุณภาพน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – 2560 ของ 'แม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนและตอนกลาง' และ 'แม่น้ำป่าสัก' พบสกปรก-ค่าออกซิเจนต่ำ ที่มาภาพประกอบ: ไทยโพสต์

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมาว่านายสมชาย ทรงประกอบ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่าปัจจุบันคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำสายหลักหลายแหล่งมีคุณภาพน้ำไม่เป็นไปตามเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่กำหนด ในปี พ.ศ. 2562 คพ. จึงได้กำหนดพื้นที่ลุ่มน้ำเป้าหมายเพื่อยกระดับและรักษาระดับแหล่งน้ำผิวดินให้มีคุณภาพเป็นไปตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่กำหนดและได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการยกระดับคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสักให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต และกำหนดทิศทางเป้าหมายเพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางการจัดการมลพิษในระยะยาว โดยแผนปฏิบัติการยกระดับคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสักอยู่ภายใต้แผนแม่บทด้านการจัดการคุณภาพน้ำ 20 ปี ซึ่งจัดทำขึ้นภายใต้บริบทที่สอดคล้องและเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

นายสมชาย กล่าวว่า เมื่อนำข้อมูลคุณภาพน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – 2560 ของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนและตอนกลาง มาเทียบกับมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินที่กำหนด โดยจัดกลุ่มข้อมูลเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มข้อมูลตลอดปี กลุ่มข้อมูลช่วงหน้าแล้ง และกลุ่มข้อมูลช่วงหน้าฝน พบว่าทั้ง 3 กลุ่มข้อมูลมีพารามิเตอร์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดเหมือนกัน ได้แก่ ค่าออกซิเจนละลาย (DO) ค่าความสกปรกในรูปบีโอดี (BOD) ค่าแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด (TCB) และค่าแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม (FCB) ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีพารามิเตอร์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดเหมือนกับตอนบนและตอนกลาง แต่พบเพิ่มเติมคือ ค่าแอมโมเนีย (NH3-N) นอกจากนี้ เมื่อนำข้อมูลคุณภาพน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – 2560 ของแม่น้ำป่าสักมาเทียบกับมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินที่กำหนด โดยจัดกลุ่มข้อมูลเป็น 3 กลุ่ม พบว่า ช่วงหน้าฝนมีพารามิเตอร์ที่ไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดหลายพารามิเตอร์ แสดงถึงการชะล้างความสกปรกหรือของเสียสะสมจากกิจกรรมของมนุษย์โดยน้ำฝน มีผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพน้ำแม่น้ำป่าสักที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน

"การจัดทำแผนปฏิบัติการยกระดับคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสัก คพ.ได้ลงพื้นที่สำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสัก เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาร่วมกับผลคุณภาพน้ำย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2560 และกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา 5 มาตรการ ได้แก่ การป้องกัน ควบคุม กำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมาย การลดการระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ การติดตามตรวจสอบ และการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของแหล่งน้ำ และการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่องค์ความรู้ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และสร้างจิตสำนึกให้กับทุกภาคส่วน" นายสมชาย กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: