ชี้ Nursing Home ไทยยังเป็นระบบ 1.0 แนะใช้เทคโนโลยีช่วยดูแลผู้สูงอายุ

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ก.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4488 ครั้ง

ชี้ Nursing Home ไทยยังเป็นระบบ 1.0 แนะใช้เทคโนโลยีช่วยดูแลผู้สูงอายุ

สมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทยชี้ภาพรวมของ Nursing Home ยังเป็นระบบ 1.0 ผู้สูงอายุที่เข้าพักจะเป็นผู้ป่วยล้วนๆ การเก็บและบันทึกข้อมูลสุขภาพผู้สูงอายุยังใช้ระบบของการเขียนในกระดาษ แนะการนำระบบไอทีเป็นสิ่งสำคัญมากในการเข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ ทั้งเรื่องของการเก็บข้อมูลสุขภาพรวมถึงการส่งต่อไปโรงพยาบาล ที่มาภาพประกอบ: AARP

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2562 ว่าในงาน “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือการพัฒนาและขยายผลการใช้ประโยชน์ระบบบริหารสถานดูแลผู้สูงอายุ ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย” ได้จัดให้มีเวทีเสวนา “การยกระดับ Nursing Home ในประเทศไทย” โดยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับในการดูแลผู้สูงวัยมาร่วมเสนอแนะนำแนวทางไว้น่าสนใจ

นพ.ฆนัท ครุธกุล นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย เผยว่าในอดีตนั้นการดูแลผู้สูงอายุจะเน้นคนในครอบครัวดูแลกันเอง และเวลาที่พ่อแม่ป่วยก็จะเสียชีวิตที่บ้าน กระทั่งเข้าสู่ยุคการแพทย์เฟื้องฟูในช่วงสมัย ร.6 เป็นต้นมา ก็มีโรงพยาบาลมากขึ้น แต่ก็เกิดความแออัดในการใช้บริการ ตรงนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นการเริ่มมีหน่วยงาน หรือคนดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้สูงอายุที่ไม่ได้เจ็บป่วยมาก ดังนั้น “Nursing Home” หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ จึงเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของคนสูงวัย ที่เน้นให้บริการด้านการช่วยฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งสมัยก่อนหลายคนจะมองภาพของ Nursing Home คล้ายกับโรงฆ่าสัตว์ แต่ปัจจุบันในบ้านเราได้พัฒนาให้มีมาตรฐาน เช่น เตียงที่ใช้นั้นสามารถปรับโยกได้ และยังช่วยลดแผลกดทับได้ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ผู้ที่มาอยู่รู้สึกอบอุ่นเหมือนกับเป็นบ้านหลังที่ 2

“สำหรับช่องทางในการยกระดับ Nursing Home ในบ้านเรา นอกจากการดูแลผู้สูงอายุในด้านไลฟ์สไตล์ เช่น การเดิน กินข้าว และขับถ่าย โดยการใช้คนมาคอยช่วยเหลือแล้ว ในอนาคตการใช้เครื่องมืออำนวยความสะดวกเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้เทคโนโลยี จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ และช่วยทำให้การดูแลผู้สูงอายุใน Nursing Home มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวโดยสรุปแล้ว การยกระดับ Nursing Home ในบ้านเราในอนาคตที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว อาจจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและง่ายต้องการดูแลรักษา โดยเฉพาะเวลาที่เกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น การจัดทำระบบข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพผู้สูงอายุ โดยเก็บข้อมูลทุกอย่างลงในบัตรประชาชนใบเดียว หรือกำไลข้อมือ ที่เมื่อนำไปสแกนก็จะทำให้รู้ข้อมูลสุขภาพผู้ป่วย และนำไปสู่การรักษาที่รวดเร็วมากขึ้น เพราะเวลา 1-2 นาทีในการกรอกประวัติมีค่ามากในการยื้อชีวิตผู้ป่วย หรือแม้แต่การปรับปรุงเทคโนโลยีให้ใช้งานง่าย และนำมาใช้ในการเขียนกราฟอัตราการเต้นของหัวใจ และเก็บรวบรวมเป็นข้อมูลดังกล่าวในรูปแบบอุปกรณ์ที่กล่าวมา ก็สามารถนำมาวิเคราะห์ในการรักษาโรคได้อย่างสะดวกและรวดเร็วในอนาคตเช่นกัน”

ด้าน ดร.นพัฐกานต์ เกิดแสง ฝ่ายวิชาการสมาคมฯ และผู้บริหารบ้านทิพย์รดาเอลเตอรี่แคร์ บอกว่า ภาพรวมของ Nursing Home ที่ดูแลอยู่นั้นยังเป็นระบบ 1.0 และผู้สูงอายุที่เข้าพักจะเป็นผู้ป่วยล้วนๆ และการทำงานของบ้านทิพย์รดาเอลเตอรี่แคร์นั้น ก็เน้นในเรื่องของการฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุเป็นหลัก รวมถึงการเก็บและบันทึกข้อมูลสุขภาพผู้สูงอายุคล้ายกับโรงพยาบาล แต่ยังใช้ระบบของการเขียนในกระดาษ ดังนั้นจึงมองว่าการนำระบบไอทีเป็นสิ่งสำคัญมากในการเข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ ทั้งเรื่องของการเก็บข้อมูลสุขภาพผู้ป่วย รวมถึงการส่งผู้สูงวัยที่เจ็บป่วยในกรณีฉุกเฉินไปรักษาใน รพ.ที่ใกล้ที่สุด หรือ รพ.ที่ผู้สูงอายุมีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท) ภายใน 15 นาที (มีการติดกับรถพยาบาลเอกชนสำรองไว้ตลอด)

“ตรงนี้ถ้าในอนาคตมีการนำเทคโนโลยีมาเก็บข้อมูลสุขภาพ อีกทั้งฐานข้อมูลดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงไปยังเบอร์ฉุกเฉิน 1669 เพื่อให้มารับตัวผู้ป่วยได้ และเพียงแค่กดแอปพลิเคชันก็สามารถแจ้งสถานะอาการ รวมถึงข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยโดยที่ไม่ต้องซักถาม ก็จะทำให้การรักษาเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาว่า บางครั้งที่โทร.เรียก 1669 และรถพยาบาลไม่มา เนื่องจากการสื่อสารกันคลาดเคลื่อนในการบอกลักษณะอาการที่ป่วย ดังนั้นถ้ามีการเก็บข้อมูลสุขภาพที่แม่นยำ เป็นมาตรฐาน ส่งต่อได้รวดเร็ว ก็จะทำให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งๆ ขึ้นไปอีกค่ะ”

ปิดท้ายกันที่ ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. บอกว่า ที่ผ่านมา สวทช.ได้ทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์เกี่ยวกับบริการดูแลผู้สูงอายุ หรือ Nursing Home โดยการทำงานเชื่อมโยงกับสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย ในการสอบข้อมูลไปยังผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือแคร์กิฟเวอร์ ก็ทำให้ได้ข้อมูลที่ตรงกัน จึงได้พัฒนาออกมาเป็น 3 ระบบที่สำคัญ ได้แก่

“อันแรก “ระบบซอฟต์แวร์กลาง” หรือที่เรียกกันว่าระบบบริหารจัดการข้อมูล โดยการแปลงให้เป็นข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำมาใช้รักษาผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย ที่สำคัญข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวยังสามารถนำไปต่อยอดร่วมกับหุ่นยนต์ในการวิเคราะห์ข้อมูล และนำไปสู่การรักษาในอนาคต หรือที่เรียกกันว่าระบบ “การวางแผนการดูแลผู้ป่วย” และสุดท้าย ได้แก่ “ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน” ในส่วนนี้เราได้ทำวิจัยซอฟต์แวร์เพื่อเชื่อมต่อกับรถพยาบาล 1669 เพื่อให้การแจ้งเหตุเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และเพียงแค่กดปุ่มแอปพลิเคชันของ 1669 ระบบข้อมูลก็จะส่งรายละเอียดประวัติสุขภาพคนไข้ ตลอดจนสถานะผู้ป่วยในขณะนั้น โดยไม่จำเป็นต้องซักถาม หรือคลิกแค่ปุ่มเดียวก็จะไปด้วยกันทั้งหมด รวมถึงระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินดังกล่าวยังสามารถแจ้งพิกัดที่อยู่ของผู้สูงวัยที่ป่วยใน Nursing Home ได้อีกด้วย เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้าไปรับผู้ป่วย”

ดร.กิตติ บอกอีกว่า ส่วนผลงานวิจัยเพื่อผู้สูงอายุด้านอื่นๆ ที่พร้อมใช้งานในปัจจุบัน ได้แก่ เครื่องมือสำหรับตรวจสุขภาพประจำวันที่ผู้สูงอายุทำได้เอง รวมถึงเครื่องพกพาในการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง และสามารถนำไปใช้เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุได้ หรือแม้แต่อุปกรณ์ติดตามตัวผู้อายุอย่าง “เซ็นเซอร์ติดตามตัวผู้สูงอายุ” ที่สำคัญยังสามารถส่งสัญญาณเตือนไปยังโน้ตบุ๊ก ซึ่งเป็นอุปกรณ์แม่ข่ายในการเตือนให้ผู้ดูแลคอยพลิกตัวผู้สูงอายุไม่ให้ป่วยติดเตียง เป็นต้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: