กรมทรัพยากรธรณี ศึกษาพบรอยเลื่อนมีพลังที่ 16 ของประเทศไทย บริเวณ จ.เชียงใหม่ เตรียมศึกษาเพิ่มเติมเพื่อวางแผนรับมือป้องกันประชาชนได้รับผลกระทบ ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2562 ว่ากรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย และศูนย์เตรียมพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย จัดประชุม เรื่อง ธรณีพิบัติภัยในประเทศไทยปี 2562 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านธรณีพิบัติภัย และสร้างเครือข่ายความร่วมือ สามารถใช้ประยุกต์ด้านการจัดการธรณีพิบัติภัยอย่างมีประสิทธิภาพ
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่าประเทศไทยเกิดปัญหาภัยพิบัติต่อเนื่อง โดยใสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภัยพิบัติเกี่ยวกับดินถล่ม ดินไหล รอยแยก และหินร่วงเกิดขึ้นมากที่สุดร้อยละ 61 แผ่นดินไหว และสึนามิ เกิดขึ้นร้อยละ 21 หลุมยุบเกิดขึ้นร้อยละ 13 และตลิ่งทรุด เกิดขึ้นร้อยละ 4
ซึ่งในการประชุมนี้จะร่วมหารือแลกเปลี่ยนด้านวิชาการกับผู้เชี่ยวชาญในการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ รวมทั้งการวางแผนในการรับมือป้องกันที่ถูกต้องเหมาะสม และเกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงนี้อยู่ในช่วงมีฝนตกมากในหลายพื้นที่ เช่น พื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งยังมีจุดเสี่ยงในพื้นที่เขาสูงชัน เสี่ยงต่อดินถล่มหรือเกิดภัยพิบัติกรณีต่างๆได้ ซึ่งลักษณะภัยพิบัติดินถล่มเช่นนี้ทั่วประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงประมาณ 1,084 ตำบล 54 จังหวัด โดยกรมทรัพยากรธรณีได้จัดทำแผนที่เสี่ยงภัยเพื่อวางแนวทางในการป้องกันรับมือ กำหนดจุดเสี่ยง และจุดปลอดภัย ซึ่งจะช่วยให้เครือข่ายในพื้นที่ต่างๆที่เฝ้าระวังสามารถใช้ในการรับมือเมื่อเกิดภัยพิบัติได้
สำหรับในการศึกษาด้านรอยเลื่อนมีพลังล่าสุดพบรอยเลื่อนมีพลังที่ 16 ของประเทศ หรือรอยเลื่อนเวียงแหง บริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณใกล้กับด้านตะวันตกของดอยอินทนนท์ ความยาวประมาณ 100 กิโลเมตรนักวิชาการศึกษาพบว่ามีอายุกว่า 2,000 ปี มีการไหวขนาด 6.7 โดยปัจจุบันศึกษาการขยับสั่นไหวยังคงมีการสั่นไหวตลอดเวลาตั้งแต่ 1-4 ทั้งนี้ประชาชนไม่ต้องกังวลจนเกินไป เนื่องจากรอยเลื่อนที่ 16 นี้ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่า จากนี้จะมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ แนวโน้มความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลในการแจ้งเตือน เฝ้าระวัง และใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการก่อสร้างให้มีความปลอดภัย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ