ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตือนประชาชนเร่งเปลี่ยน 'บัตรแถบแม่เหล็ก' 20 ล้านใบ เป็น 'บัตรชิปการ์ด' ก่อนใช้งานไม่ได้ทั้งในตู้เอทีเอ็ม ซีดีเอ็ม เครื่องรูดบัตร หลังวันที่ 15 ม.ค. 2563 ประสานสถาบันการเงินประชาสัมพันธ์ประชาชน ย้ำต้องทำให้สะดวกที่สุด และไม่มีค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนบัตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2562 ว่า น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบชำระเงินและเทคโนโลยีการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจาก ธปท. สมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงิน ร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มจากรูปแบบบัตรแถบแม่เหล็ก (magnatic card) ให้เป็นบัตรชิปการ์ด (chip card) ที่เป็นมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559
ข้อมูลล่าสุด พบว่าจำนวนบัตรแถบแม่เหล็ก (ทั้งบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิต) ลดลงจาก 67 ล้านใบ เมื่อเดือน พ.ค. 2559 มาเหลืออยู่ที่ 20 ล้านใบ ณ เดือน ก.ค. 2562 ส่วนบัตรชิปการ์ด มีจำนวนเพิ่มขึ้น จาก 5 ล้านใบมาเป็น 52 ล้านใบ ทั่วประเทศ ดังนั้น เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยการทำธุรกรรมการเงิน ป้องกันความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น และเพื่อให้ผู้บัตรอิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้บัตรได้อย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (17 ก.ย.) ธปท. จึงประกาศคิกออฟ ให้ธนาคารต่างๆ เริ่มต้นประชาสัมพันธ์คู่ขนานกับ ธปท. เพื่อให้ประชาชนที่ยังถือบัตรแถบแม่เหล็กจำนวน 20 ล้านใบทั่วประเทศ นำบัตรไปเปลี่ยนเป็นบัตรชิปการ์ดที่ธนาคารผู้ออกบัตร โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสาขาที่ออกบัตร ซึ่งการเปลี่ยนบัตรไม่ได้มีความซับซ้อน เพียงแค่หลักฐาน ประกอบด้วย นำบัตรประจำตัวประชาชน บัตรเดบิตหรือบัตรเอทีเอ็มใบเดิม และสมุดบัญชีเงินฝากไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อแจ้งขอเปลี่ยนเป็นบัตรชิปการ์ด โดยการเปลี่ยนบัตรจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ส่วนค่าธรรมเนียมรายปีบัตรชิปการ์ดเริ่มต้นที่ 250 บาท ตามแต่เงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงิน
ส่วนสถาบันการเงินใดนำเสนอบัตรชิปการ์ดที่มีประกันอุบัติเหตุเพิ่มเติม เป็นสิทธิของลูกค้าที่จะรับหรือปฏิเสธบัตร ซึ่งมีค่าธรรมเนียมตามต้นทุนที่สูงขึ้นนั้นได้
"การเปลี่ยนบัตรนี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะเรามีเป้าหมายให้เปลี่ยนบัตรแถบแม่เหล็กเป็นชิปการ์ดให้หมดภายในสิ้นปี 2562 นี้ เพราะหลังวันที่ 15 ม.ค. 2563 บัตรแถบแม่เหล็กที่ประชาชนถืออยู่จะไม่สามารถใช้กับตู้เอทีเอ็ม หรือ เครื่องรูดบัตรตามร้านค้าต่างๆ ได้แล้ว" น.ส.สิริธิดา กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังวันที่ 15 ม.ค. 2563 หากประชาชนที่มีบัตรแถบแม่เหล็กยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นบัตรชิปการ์ด และต้องการกดเงินสดหรือโอนเงิน ก็จะต้องไปเบิกที่สาขาธนาคาร หรือโอนเงินผ่านโมบาย แบงกิ้ง หรือ อินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง หรือตู้กดเงิน โดยไม่ใช้บัตร แทนการใช้บัตร ซึ่งอาจไม่สะดวกสำหรับผู้ใช้บริการทางการเงินในบางกลุ่ม
พร้อมกันนี้ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. ยังกล่าวว่า ปัจจุบันมีตู้เอทีเอ็มและซีดีเอ็มทั่วประเทศรองรับบัตรชิปการ์ดทั้งหมดทั้งสิ้น 67,000 ตู้ ขณะที่บัตรแถบแม่เหล็กที่ยังเหลืออยู่ในมือประชาชนจำนวน 20 ล้านใบนั้น แบ่งออกเป็นบัตรที่ยังใช้งาน (active) เฉลี่ย 1 ครั้งต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 หรือประมาณ 14 ล้านใบ ส่วนบัตรแถบแม่เหล็กที่ไม่มีการใช้งาน (inactive) มีสัดส่วนร้อยละ 30 หรือประมาณ 6 ล้านใบ
"ตอนนี้จากรายงานจากสถาบันการเงินต่างๆ พบว่า บัตรแถบแม่เหล็กที่มีจำนวน 20 ล้านใบ แบ่งเป็นอยู่ในกรุงเทพร้อยละ 30 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 26 ภาคกลางร้อยละ 19 ภาคเหนือร้อยละ 14 ภาคใต้ร้อยละ 12 และในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นบัตรที่ออกโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ซึ่งส่วนนี้ ได้หารือกับแบงก์แล้วว่า จะต้องเริ่มต้นประชาสัมพันธ์ไปให้ถึงประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่วันนี้ และทุกๆ เดือนหลังจากนี้จะต้องติดตามจำนวนการเปลี่ยนบัตร รวมถึงสถาบันการเงินต้องทำให้ประชาชนสามารถเปลี่ยนบัตรได้สะดวกด้วย" น.ส.สิริธิดา กล่าว
ทั้งนี้ เหตุผลที่ ธปท. สมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงิน ร่วมผลักดันการเปลี่ยนบัตรจากบัตรแถบแม่เหล็กง่ายมาเป็นบัตรชิปการ์ด เพราะบัตรแถบแม่เหล็กง่ายต่อการลอกข้อมูล ปลอมแปลงบัตร และโจรกรรมข้อมูล (skimming) เพื่อนำไปทำบัตรปลอมได้ ส่วนชิปการ์ดมีเทคโนโลยีที่ยอมรับในระดับสากลด้านความปลอดภัย ปลอมแปลงได้ยากกว่าบัตรแถบแม่เหล็ก
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ