ประชาชนและองค์กรภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงประสานความร่วมมือปักหมุดจุดเผือกพื้นที่เสี่ยงต่อการคุกทามทางเพศมากกว่า 600 หมุด พร้อมเปิดข้อมูลพื้นที่ที่มีความร่วมมือปักหมุดจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ
16 พ.ย. 2562 ที่ลานกิจกรรมชั้น M ด้านหน้าห้างสรรพสินค้า เดอะ มาร์เก็ตแบงคอก ราชประสงค์วันนี้ ภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงจัดงานแถลงข่าวเปิดข้อมูลพื้นที่เสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ 600 จุดในเขตกรุงเทพและปริมณฑลจากโครงการ First Pin “ปักหมุดจุดเผือก” พร้อมการประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญของเจ้าหน้าที่ตำรวจและภาคีเครือข่ายในการสร้างเมืองที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยภายในงานได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ เปิดดาต้าปักหมุดจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ 600 จุด รอบกทม.และปริมณฑล สู่การแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม
เปิดข้อมูล 600 หมุดและพื้นที่จุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศจากการปักหมุดของประชาชนและภาคีเครือข่าย
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้แทนเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงกล่าวว่า โครงการปักหมุดจุดเผือกเราทำงานรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาความไม่ปลอดภัยทางเพศที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ และมาร่วมกันสอดส่องดูแลเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งในการทำงานรอบนี้ นอกเหนือจากองค์กรด้านผู้หญิงและการพัฒนาสังคมซึ่งร่วมงานกันมาแต่แรก อย่างองค์การแอ็คชั่นเอด แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายสลัมสี่ภาค แล้ว เรายังขยายความร่วมมือกับภาคีใหม่ ๆ ที่ทำงานหลากหลายด้าน อย่าง Big Trees ที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม บริษัท ฉมา โซเอ็น ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องภูมิสถาปัตย์และการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ และ Urban Creatures ที่ทำงานสื่อสารประเด็นคุณภาพชีวิตในเมือง มาร่วมออกแบบและดำเนินงานด้วยกัน ทำให้โครงการรณรงค์นี้เข้าถึงกลุ่มประชากรที่หลากหลายมากขึ้น
ผู้แทนเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงกล่าวว่า เมื่อเราเริ่มดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง เราก็ได้รับการติดต่อจาก NECTEC ที่เสนอให้เราลองใช้แอพพลิเคชั่น Traffy Fondue ที่ NECTEC ได้พัฒนาขึ้นสำหรับใช้แจ้งเหตุต่าง ๆ นำมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมที่เราเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมกันสำรวจพื้นที่สาธารณะและแจ้งจุดเสี่ยงภัยคุกคามทางเพศ ซึ่งแอพพลิเคชั่นดังกล่าวก็ตอบโจทย์ของเราที่ต้องการช่องทางการสื่อสารแจ้งจุดเสี่ยงที่สะดวกรวดเร็วสำหรับทั้งผู้แจ้งและผู้รับข้อมูล เมื่อได้แอพพลิเคชั่นช่องทางแจ้งข้อมูลที่เหมาะสมแล้ว เราจึงเริ่มรณรงค์เต็มรูปแบบให้ประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ไหน ถ้าพบเห็นพื้นที่สาธารณะหรือเส้นทางสัญจรไปมาจุดใดที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดการคุกคามทางเพศ เช่น เป็นเส้นทางสัญจรที่ไม่มีไฟส่องสว่างเวลากลางคืน หรือเป็นพื้นที่เปลี่ยว เป็นมุมอับ ขาดการดูแล ทำให้ผู้ผ่านไปมารู้สึกไม่ปลอดภัย ก็ให้แจ้งข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นเข้ามา และทีมของเราจะรวบรวมและประมวลผลข้อมูลเพื่อสรุปลักษณะปัญหาความเสี่ยงต่าง ๆ แล้วนำเสนอต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ อาทิ ตำรวจท้องที่ และกรุงเทพมหานคร ให้หาทางปรับปรุงหรือดูแลความปลอดภัยให้เข้มข้นยิ่งขึ้น
ดร.วราภรณ์กล่าวว่า ภายหลังจากที่เราเริ่มโครงการปักหมุดจุดเผือกตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบันนี้เป็นระยะเวลา 2 เดือน จากเป้าที่เราตั้งไว้ 600 หมุดตอนนี้มีประชาชนปักหมุดเข้ามากมากกว่า 600 หมุดทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเราได้รวบรวมและประมวลผลข้อมูลพื้นที่ที่ภาคีเครือข่ายและประชาชนได้ร่วมกันปักหมุดจุดเผือกเข้ามามีดังนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต 280 หมุด , เขตลุมพินี สะพานเขียว ซอยร่วมฤดี ซอยโปโล 114 หมุด โดยเป็นการการปักหมุดในพื้นที่บริเวณ ชุมชนสะพานเขียว ถนนวิทยุ ซอยร่วมฤดีซอยโปโล , เขตราชเทวี-พญาไทถนนเพชรบุรี 75 หมุด โดยเป็นการการปักหมุดในพื้นที่บริเวณเพชรบุรีซอย 5 เพชรบุรีซอย 7 , เขตบางขุนเทียน 33 หมุดโดยเป็นการการปักหมุดในพื้นที่บริเวณ ชุมชนเคหะ ธนบุรี 3 บริเวณพระราม 2 ซอย 60 และสถานีรถไฟรางสะแก ,เขตมักกะสัน 32 หมุด เป็นการการปักหมุดในพื้นที่บริเวณ ถนนนิคมมักกะสัน , เขตบางซื่อ 25 หมุด เป็นการการปักหมุดในพื้นที่บริเวณทางรถไฟประชาชื่น , เขตสะพานควาย 10 หมุด โดยเป็นการการปักหมุดในพื้นที่บริเวณ ซอยพหลโยธิน ซอยอินทามระ 45 ,เขตดินแดง-อนุสาวรีย์ 4 หมุดเป็นการการปักหมุดในพื้นที่บริเวณถนนราชวิถี,เขตจรัญสนิทวงศ์ 11 หมุด เป็นการการปักหมุดในพื้นที่บริเวณ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 34 และซอยจรัญสนิทวงศ์ 1 ,เขตประชานิเวศน์-ประชาอุทิศ 6 หมุด เป็นการปักหมุดในพื้นที่ ซอยประชานิเวศน์ 3 ซอยรามคำแหง 21 ,เขตลาดกระบัง 5 หมุด เป็นการปักหมุดในพื้นที่ สถานีรถไฟพระจอมเกล้า ,เขตบางกรวย 4 หมุด เป็นการปักหมุดในพื้นที่ คลองบางกอกน้อย ,และเขตรัชดา 4 หมุด ซึ่งเป็นการปักหมุดในพื้นที่รัชดาซอย 4 ทั้งนี้ลักษณะพื้นที่ที่มีคนปักหมุดจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุดคือทางเดินและซอย 39 เปอร์เซ็นต์ สะพาน 16 เปอร์เซ็นต์ ริมถนน 15 เปอร์เซ็นต์ ใต้ตึก 13 เปอร์เซ็นต์ อาคารร้าง 7 เปอร์เซ็นต์ ทางเดินริมคลอง 7 เปอร์เซ็นต์ สะพานลอย 3 เปอร์เซ็นต์ สวนสาธารณะ 1 เปอร์เซ็นต์ ทางจักรยาน 1 เปอร์เซ็นต์ และนอกจากนี้แล้วเราได้ประมวลผลพบ 7 อันดับจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุดดังนี้ 1. จุดที่ขาดการบำรุงรักษา 23 เปอร์เซ็นต์ ไฟสว่างไม่เพียงพอ 23 เปอร์เซ็นต์ จุดอับสายตา 15 เปอร์เซ็นต์ ทางเปลี่ยว 14 เปอร์เซ็นต์ ทางแคบทางตัน 13 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีป้ายบอกทาง 9 เปอร์เซ็นต์ ไกลจากป้ายรถเมล์ วิน สถานี 3 เปอร์เซ็นต์
ผู้แทนเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงกล่าวว่า จากการรณรงค์ที่สะพานเขียว เราได้รับความร่วมมือจากผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีรับข้อมูลจุดเสี่ยงไปพิจารณา โดยทาง สน. รับปากจะเพิ่มความถี่ในการออกตรวจตราพื้นที่เสี่ยง และจะเพิ่มการทำงานเสริมศักยภาพของอาสาสมัครตำรวจบ้านในชุมชนรอบ ๆ ให้สามารถตรวจตราเฝ้าระวังดูแลพื้นที่ และประสานงานแจ้งเหตุกับตำรวจท้องที่ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งในระยะยาว เราคาดหวังว่าหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ จะใส่ใจกับปัญหาความไม่ปลอดภัยทางเพศ และมีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้น และควรมีช่องทางการสื่อสารแบบถาวรที่ประชาชนจะสามารถช่วยกันแจ้งข้อมูลจุดที่มีความเสี่ยงหรือมีอันตรายต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานเข้ามาดูแลป้องกันโดยไม่ต้องรอให้เกิดเหตุร้ายขึ้นเสียก่อน
“สำหรับเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เราประเมินว่าแม้ขณะนี้สังคมจะมีความตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น แต่การรับรู้เรื่องนี้ก็ยังไม่ทั่วถึง และเรายังได้ยินว่ามีเหตุการณ์การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นที่นั่นที่นี่อยู่เรื่อย ๆ ดังนั้น หลังจากกิจกรรมในวันนี้แล้ว สมาชิกเครือข่ายฯ จะร่วมกันประเมินสถานการณ์และผลการทำงานที่ผ่านมา แล้วจะวางแผนการทำงานเพื่อลดปัญหาการคุกคามทางเพศให้ได้ผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น”ดร.วราภรณ์ระบุ
นักออกแบบแนะแก้ปัญหาพื้นที่เสี่ยงโดยการออกแบบดึงดูดให้คนมาใช้พื้นที่มากขึ้น
ด้านนายยศพล บุญสม ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง Shma Company Limited กล่าวว่า การที่ภายในระยะเวลา 2 เดือน ทีมเผือกมีการปักหมุดจุดเสี่ยงไปกว่า 600 จุดนั้น เริ่มเห็นถึงการขยับของภาคประชาชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยง ผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญเพราะประชาชนเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว เพราะหากอาศัยเพียงหน่วยงานรัฐการแก้ไขปัญหาก็จะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ดังนั้นการมีส่วนร่วมครั้งนี้จึงเป็นพลังที่ดีในการแก้ไขปัญหา
นายยศพล กล่าวว่ากระบวนการในการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยงมีด้วยกัน 2 มิติ คือ ทางกายภาพ และ ทางสังคม ที่จะคู่ขนานกันไป โดยทางกายภาพ คือลดความเสี่ยง เช่น ติดไฟส่อง ติดกล้องวงจรปิด หรือ เพิ่มการตรวจตรา แต่ในมิติของสังคมจะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ซึ่งมิติทางสังคมคือกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยรอบ ในการร่วมกันออกแบบกับชุมชน ว่าต้องการอะไร มีความเห็นอย่างไร เพื่อสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วม
นายยศพล กล่าวถึงต้นแบบการปรับปรุงพื้นที่บริเวณสะพานเขียว ที่ก่อนหน้านี้ทีมเผือกได้ลงพื้นที่ไปปักหมุดจุดเสี่ยง ว่า การแก้ไขปัญหาสะพานเขียว ซึ่งเป็นทางลอยฟ้าที่มีระยะทางยาว พื้นที่จัดกิจกรรมมีจำกัด ไม่กระตุ้นให้คนมาใช้ทาง ซึ่งเมื่อไม่มีคนใช้เส้นทางนี้กลายเป็นเส้นทางที่อันตราย ไม่น่าไว้วางใจ ดังนั้นจะต้องดึงดูดให้คนมาใช้พื้นที่ตรงนี้มากขึ้น เช่น การเพิ่มทางขึ้นลงจากชุมชนให้มากกว่าเดิม เพิ่มกิจกรรมระหว่างเส้นทาง เช่น ลานกีฬา สนามเด็กเล่น หรือ สวนสมุนไพร เพื่อเชิญชวนให้คนหลากหลายกลุ่มมาใช้งาน
"สร้างความเป็นเจ้าของด้วยการยึดโยงกับความต้องการของชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะแม้จะสร้างอย่างสวยงาม แต่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน ก็จะกลายเป็นเส้นทางที่ไม่มีคนใช้เหมือนเดิม ทั้งนี้ภาครัฐอาจให้ความสำคัญเชิงกายภาพ ว่าต้องติดกล้องวงจรปิด เพิ่มไฟ เพื่อแก้ปัญหา ทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยง แต่มิติทางสังคมจะเป็นกลไกในการป้องกันระยะยาว นอกจากความปลอดภัยแล้ว สามารถมองในเรื่องของการส่งเสริมคุณภาพชีวิต เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชนเพื่อเพิ่มให้การมีส่วนร่วมตรงนี้ขับเคลื่อนได้มากขึ้น" ผอ.Shma Company Limited ระบุ
NECTEC ชี้เป็นโมเดลนำร่องที่สามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ
ด้านนายวสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในทีมเผือกในการใช้เทคโนโลยีช่วยระบุจุดเสี่ยงเพื่อไปสู่การแก้ไขเพื่อให้กรุงเทพฯเป็นเมืองปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกชีวิต ในการช่วยพัฒนาพื้นที่ของเมืองให้ปลอดภัย โดยเฉพาะใช้ชีวิตของสตรี เด็ก คนชรา รวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งการดำเนินงานของทีมเผือกถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมาก
นายวสันต์ กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีให้เข้ามาช่วยเหลือชีวิตคนให้ปลอดภัยมีความจำเป็น โดยเห็นด้วยที่ภาครัฐ ต้องพัฒนาเทคโนโลยีในรูปแบบนี้ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย อย่างไรก็ตามในขณะนี้NECTEC ได้พัฒนาโปรแกรมดังกล่าวสมบูรณ์แล้วและมีความพร้อมที่จะนำไปใช้ได้ทันที ในการรวบรวมข้อมูลพื้นที่จุดเสี่ยง เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาช่วยเหลือประชาชนได้ได้ทุกพื้นที่ไม่ว่าจะกรุงเทพมหานครหรือต่างจังหวัด
"โครงการปักหมุดจุดเผือกนี้ ถือเป็นโมเดล นำร่อง ที่สามารถนำเทคโนโลยีเช่นเดียวกันนี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นได้ทั่วประเทศ ซึ่งหากท้องถิ่น หรือเทศบาลใดสนใจสามารถติดต่อมาได้ที่NECTEC ได้ทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด"
สน.ลุมพินีรับมอบข้อมูลพร้อมเตรียมปรับแผนการรักษาความปลอดภัย และตรวจตราความเรียบร้อย
ขณะที่ พ.ต.อ.กัมพล รัตนประทีป ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี กล่าวถึงเหตุผลที่สน.ลุมพินีเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง และมีส่วนร่วมในโครงการทีมเผือก ว่า ถือเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะในมุมมองของตำรวจจะเห็นว่าพื้นที่ใดเป็นจุดเสี่ยงไม่ปลอดภัย แต่ประชาชนทั่วไปอาจไม่รับทราบข้อมูลเหมือนตำรวจ ดังนั้นหากประชาชนรับทราบว่าจุดไหนเป็นจุดเสี่ยงหรือเข้ามามีส่วนร่วมในการปักจุดพื้นที่เสี่ยงก็จะทำให้ประชาชนทั่วไประมัดระวังตัวและดูวิธีในการป้องกันตัวเวลาไปในพื้นที่เสี่ยงได้ อย่างไรก็ตามการร่วมมือกันในการเฝ้าระวัง และแก้ปัญหาของทุกฝ่ายทั้งทีมเผือก ประชาชนและตำรวจ จะทำให้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่สูงสุดก็คือเมืองปลอดภัย
ผู้กำกับสน.ลุมพินี กล่าวถึงกรณีที่ข้อมูลระบุว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีกว่า 500 จุดที่เข้าข่ายเป็นพื้นที่จุดเสี่ยง ว่า ถือเป็นหน้าที่ของตำรวจทุกสน. ที่จะดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน โดยปกติแล้วในแต่ละวันตำรวจจะรับทราบว่ามีเหตุเกิดที่จุดไหน เมื่อใด เพื่อจัดทำเป็นสถิติอาชญากรรมในการวางแผนตรวจตรา แต่ในบางครั้งมักพบว่าหลังเกิดเหตุ ผู้เสียหายไม่มาแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงทำให้พื้นที่ดังกล่าวไม่ถูกระบุในแผนที่ที่ตำรวจทำไว้ว่าเป็นจุดเสี่ยง มีเหตุเกิดขึ้น ทำให้พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้ถูกการวางแผนเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากทีมเผือกนี้จึงมีประโยชน์กับการวางแผนเพื่อที่จะดูแลและรักษาความปลอดภัยให้ประชาชนในสถานีตำรวจทุกแห่งทั่วกรุงเทพฯ
"การปักหมุดพื้นที่เสี่ยงมีความสำคัญเพราะผู้หญิงจะได้ทราบว่าพื้นที่ใดเป็นจุดเสี่ยงที่อันตรายต่อชีวิต การถูกคุกคามทางเพศ หรือจุดเสี่ยงในเรื่องทรัพย์สิน ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงรู้วิธีที่จะป้องกันตัวเองในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงนั้นได้ โดยในส่วนของสน. ลุมพินีจะนำข้อมูลที่ได้จากทีมเผือกครั้งนี้ไปปรับแผนการรักษาความปลอดภัย และตรวจตราความเรียบร้อย โดยในบางจุดสน.ลุมพินีจะส่งสายตรวจเพื่อตรวจความเรียบร้อย เฝ้าระวัง ตามช่วงเวลาที่มีการแจ้งเข้ามาให้มากขึ้น" ผกก.สน.ลุมพินีระบุ
มธ.เตรียมติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ไม่ให้มีจุดบอด หรือ จุดลับสายตาผู้คน พร้อมเพิ่มช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของนักศึกษา
ผศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสาเหตุของการที่มธ.เข้าร่วมในโครงการว่า สถานการณ์ของความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามต่อผู้อื่นในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับโลก หรือ ระดับประเทศ มีสถิติที่เพิ่มมากขึ้น เราเองก็รู้สึกว่าหากรอให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำๆ ก็จะไม่เป็นผลดีต่อนักศึกษาที่ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมีโครงการจึงต้องการให้นักศึกษา และบุคลาการในมหาวิทยาลัยเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยง และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการมีส่วนร่วมของประชาคมธรรมศาสตร์
“เรารู้สึกว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา ต่อคนในธรรมศาสตร์ เราก็ต้องทำ และธรรมศาสตร์อยากเป็นตัวอย่างของการชี้นำสังคม ว่าสังคมเราจะนิ่งนอนใจให้เกิดสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ทุกพื้นที่ในธรรมศาสตร์มีสิทธิและเสรีภาพ แต่สิทธิและเสรีภาพต้องไปไม่ละเมิด หรือคุกคามคนอื่นในพื้นที่มหาวิทยาลัยนี้ และมุ่งหวังว่าหลังจากความร่วมมือกับทีมเผือกจะทำให้นักศึกษาและบุคลากรช่วยแก้ปัญหาโดยเขยิบเข้าไปในภาพใหญ่ของสังคม ร่วมกันปักหมุดในพื้นที่อื่นที่พบเห็นความเสี่ยง "ผศ.ดร.ชุมเขตระบุ
ขณะที่นางปณณพร แพ้วสกุณี หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตปทุมวัน ซึ่งเป็นตัวแทนสำนักงานเขตปทุมวันมาร่วมงาน โดยระบุว่า ข้อมูลที่ได้รับจะนำไปขยายผลในพื้นที่ว่าพื้นที่ใดมีจุดเสี่ยงอีกบ้าง โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณรองเมือง และ สน.ปทุมวัน ทั้งนี้การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการปักหมุดจุดเสี่ยง เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้สำนักงานเขตรับทราบข้อมูล และจะนำเรื่อดังกล่าวไปประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนเขามามีส่วนร่วมเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป
ทั้งนี้ภายในงานนอกจากจะมีเวทีเสวนาแล้วยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเปิดจุดเสี่ยงผ่านจอ LCD ที่ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถค้นหาจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศรอบกรุงเทพและปริมณฑล 500 จุดด้วยตนเอง มีบู๊ทให้ประชาชนได้ร่วมเรียนรู้วิธีสังเกตพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่ของตนเองและเรียนรู้การใช้งานผ่านโปรแกรมแจ้งเหตุ Chat bot ทีมเผือกในแอพพลิเคชั่นไลน์ และไฮไลท์ภายในงานภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงได้ร่วมกันมอบข้อมูลแผนที่ยักษ์ 500 จุดเสี่ยงให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการนำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงไปแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปอีกด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ