สำรวจทุนญี่ปุ่นในไทย พบปัญหา 'แข่งขันสูง-ค่าแรงเพิ่ม' จี้รัฐพัฒนาระบบภาษี-ทำแผนชัดเจน

ทีมข่าว TCIJ: 24 ก.พ. 2562 | อ่านแล้ว 4688 ครั้ง

หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) สำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย 557 บริษัท เมื่อปี 2561 ระบุปัญหาที่พบมากที่สุด 72% คือ‘การแข่งขันกับบริษัทอื่นที่รุนแรงขึ้น’ อีก 46% ‘ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มสูงขึ้น’ ขอรัฐบาลไทย ‘พัฒนาระบบภาษีศุลกากร’ ได้รับนโยบายส่งเสริมการลงทุน ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ-รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ’ มากที่สุด ข้อกังวลการลงทุนใน EEC คือ ‘รัฐบาลไทยมองอุปสงค์ในอนาคตเชิงบวกเกินไป-ความไม่ชัดเจนในแผนพัฒนาโครงการต่างๆ’ พบปี 2557-2560 ญี่ปุ่นลงทุนในไทยมูลค่าสูงสุด ที่มาภาพประกอบ: eeco.or.th

จากผลสำรวจ Survey of Business Sentiment by Japanese Corporations in Thailand for the 1st half of 2018 ซึ่งเป็นการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำครึ่งปีแรก พ.ศ. 2561 โดยจัดส่งแบบสำรวจไปยังบริษัทที่เป็นสมาชิกของ ‘หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ’ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok - JCC) ในประเทศไทยจำนวน 1,749 บริษัท ซึ่งมีบริษัทตอบกลับทั้งสิ้นจำนวน 557 บริษัท

พบว่าบริษัทที่ตอบแบบสอบถามในหัวข้อ 'ปัญหาด้านการบริหารองค์กร' (ตอบได้หลายข้อ) บริษัทส่วนใหญ่ตอบว่า “การแข่งขันกับบริษัทอื่นรุนแรงขึ้น” คิดเป็นร้อยละ 72 รองลงมา คือ “ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มสูงขึ้น” คิดเป็นร้อยละ 46, “ราคาวัตถุดิบหลักสูงขึ้น” คิดเป็นร้อยละ 34 ในอุตสาหกรรมการผลิต บริษัทส่วนใหญ่ยังเลือกตอบ “การขาดแคลนบุคลากรระดับวิศวกร” คิดเป็นร้อยละ 41 รองลงมาคือ “ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน” คิดเป็นร้อยละ 36 และ “การควบคุมคุณภาพสินค้า” คิดเป็นร้อยละ 35 ส่วนในอุตสาหกรรมอื่นๆ นั้น บริษัทที่ตอบว่า “การเปลี่ยนงานของพนักงาน” คิดเป็นร้อยละ 26 และ “การขาดแคลนบุคลากรระดับผู้จัดการ” คิดเป็นร้อยละ 25 และ “การปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการสินค้า/ผู้ใช้” ร้อยละ 24

ขอรัฐบาลไทย ‘พัฒนาระบบภาษีศุลกากร’ ส่งเสริมการลงทุน ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ-รักษาความปลอดภัย-ความสงบเรียบร้อย’

ในประเด็น 'ข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาลไทย' (ตอบได้หลายข้อ) จากการสำรวจของ JCC บริษัทส่วนใหญ่ตอบว่า “พัฒนาระบบและปรับเปลี่ยนการใช้งานระบบภาษีศุลกากร” คิดเป็นร้อยละ 48 รองลงมา คือ “ส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค” คิดเป็นร้อยละ 46 ถัดไปเป็น “พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในเขตกรุงเทพฯ” คิดเป็นร้อยละ 43 ซึ่งหากพิจารณาอุตสาหกรรมแต่ละประเภท ข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่มีต่อรัฐบาลไทย ได้แก่ “ความคงที่ของอัตราแลกเปลี่ยน” คิดเป็นร้อยละ 40 และ “ปรับปรุงและพัฒนาด้านการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์” คิดเป็นร้อยละ 37 ส่วนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมการผลิต ได้แก่ “ผ่อนปรนกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว” คิดเป็นร้อยละ 38

และในประเด็น 'นโยบายที่ได้รับการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการลงทุน' นั้น บริษัทส่วนใหญ่ตอบว่า “ส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เช่น เตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค)” คิดเป็นร้อยละ 34 ตามด้วย “รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ” คิดเป็นร้อยละ 23 พัฒนาระบบสาธารณูปโภคในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล คิดเป็นร้อยละ 16 และ “เตรียมความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคด้านการสื่อสารโทรคมนาคม” คิดเป็นร้อยละ 15

เกี่ยวกับ 'หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ'

หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok - JCC)  เป็นหนึ่งในหอการค้าญี่ปุ่นในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิก 1,762 บริษัท JCC ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) ได้มีการดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่ด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การพัฒนาด้านการศึกษา และกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ มากว่าครึ่งศตวรรษ

เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา JCC ระบุว่าบริษัทญี่ปุ่นมากกว่า 5,000 บริษัทที่ได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย และได้มีการร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้นแนวคิด ‘Connected industries’ จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต ในเรื่องของการแสดงข้อมูลแบบทันที (Real-time) ความยืดหยุ่นและการลดระยะเวลาของกระบวนการผลิต (Lead time) และจากแนวคิดที่จะใช้คำว่า ‘Connected Industries’ เป็นหลัก ซึ่ง JCC จะแนะนำสมาชิกเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ รวมถึงการปฏิรูปธุรกิจหรือกระบวนการทำงาน ผ่านการจัดสัมมนาหรือกิจกรรมต่างๆ [1]

 

ปี 2557-2560 ญี่ปุ่นลงทุนในไทยมูลค่าสูงสุด

ข้อมูลการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment - FDI) จากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าระหว่างปี 2557-2560 ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนในไทยสูงที่สุด โดยในปี 2560 มีมูลค่าการลงทุน 3,256.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2559 มูลค่าการลงทุน 2,986.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2558 มูลค่าการลงทุน 3,006.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปี 2557 มูลค่าการลงทุน 2,430.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อพิจารณาเฉพาะปี 2560 พบว่าจากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั้งหมด 8,045.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินลงทุนจากญี่ปุ่นสูงถึง 3,256.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40.48 ของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดเลยทีเดียว [2]

มีจำนวนบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทยเท่าไร?

ถ้านับจากตัวเลขที่ Japan External Trade Organization (JETRO) ระบุไว้ในการสำรวจบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินการใน 20 ประเทศเอเชียและโอเชียเนีย (ลงทุนโดยตรง หรือมีหุ้นมากกว่าร้อยละ 10) เมื่อปี 2560 โดย JETRO ส่งแบบสอบถามไปยัง 11,994 บริษัท พบว่ามีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในประเทศไทยจำนวนมากที่สุด 2,541 บริษัท โดยการส่งแบบสอบถามของ JETRO แบ่งเป็นตามภูมิภาคและประเทศดังนี้ อาเซียน 8,122 บริษัท (ไทย 2,541 บริษัท, อินโดนีเซีย 1,698 บริษัท, เวียดนาม 1,345 บริษัท, มาเลเซีย 939 บริษัท, สิงคโปร์ 717 บริษัท, ฟิลิปปินส์ 382 บริษัท, กัมพูชา 232 บริษัท, พม่า 213 บริษัท และลาว 55 บริษัท) เอเชียตะวันออก 2,416 บริษัท (จีน 1,405 บริษัท, ไต้หวัน 501 บริษัท, ฮ่องกง-มาเก๊า 364 บริษัท และเกาหลีใต้ 146 บริษัท) เอเชียใต้ 1,007 บริษัท (อินเดีย 795 บริษัท, บังกลาเทศ 115 บริษัท, ศรีลังกา 51 บริษัท และปากีสถาน 46 บริษัท) โอเชียเนีย 449 บริษัท (ออสเตรเลีย 291 บริษัท และนิวซีแลนด์ 158 บริษัท) [3]

ส่วนข้อมูลจากหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ประมาณการไว้เมื่อปี 2561 ว่ามีบริษัทญี่ปุ่นมากกว่า 5,000 บริษัทที่ได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย [4]

 

กังวลการลงทุนใน EEC ‘รัฐบาลไทยมองอนาคตเชิงบวกเกินไป-ไม่ชัดเจนในแผนพัฒนาโครงการต่างๆ’

เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา JCC ระบุว่าจะดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมุ่งเน้นในประเด็นหลัก 3 ประเด็น ประเด็นแรก คือ ‘การยื่นข้อเรียกร้องในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ’ ประเด็นที่สอง คือ ‘การผลักดันความร่วมมือในทุกๆ ด้านด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี’ และ ประเด็นสุดท้าย JCC มีความตั้งใจที่จะดำเนินการในเรื่องของ ‘ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก’ (ECC) อย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่ง JCC ระบุว่าหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รัฐบาลไทยได้เริ่มดำเนินการนโยบายดังกล่าว โดยเปลี่ยนจากขั้นตอนของการวางวิสัยทัศน์มาสู่ขั้นตอนในการปฏิบัติจริง และระบุว่ารัฐบาลไทยต้องรับฟังความคิดเห็นจากบริษัทญี่ปุ่นซึ่งเป็นสมาชิกของ JCC ทั้ง 278 บริษัท ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกคือ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง [5]

โดยในการสำรวจของ JCC ระบุว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในเขต EEC นั้น จำนวนบริษัทที่ “มีแผนการลงทุนชัดเจน” หรือ “มีความสนใจที่จะลงทุน” ในเขต EEC คิดเป็นร้อยละ 62 ขณะที่ จำนวนบริษัทที่  “ยังไม่สนใจลงทุน” คิดเป็นร้อยละ 14  ส่วนประเด็นที่มีความกังวลในนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขต EEC นั้น บริษัทส่วนใหญ่ตอบว่า “การมองเชิงบวกของรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องกับอุปสงค์ในอนาคต” คิดเป็นร้อยละ 36 ตามด้วย “ความไม่ชัดเจนในแผนพัฒนาโครงการต่างๆ ในเขต EEC” คิดเป็นร้อยละ 35, “การให้ข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับนโยบาย EEC จากรัฐบาลไทย (อาทิ ความไม่แน่นอนในวิธีการปรับใช้นโยบายที่ได้ประกาศไปแล้ว)” คิดเป็นร้อยละ 28 และ “ความรับผิดชอบด้านการเงินที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลไทยในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน” คิดเป็นร้อยละ 28 [6]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] สารจากประธาน JCC นายฮิซามิจิ โคกะและรายนามประธานจากอดีตจนถึงปัจจุบันและวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ (Japanese Chamber of Commerce,Bangkok, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19/2/2562)
[2] เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จำแนกตามประเทศ (ธนาคารแห่งประเทศไทย, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19/2/2562) (ดูเพิ่มเติม - จับตา: การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ระหว่างปี 2557-2560)
[3]  2017 JETRO Survey on Business Conditions of Japanese Companies in Asia and Oceania (Japan External Trade Organization, 21/12/2017)
[4] สารจากประธาน JCC นายฮิซามิจิ โคกะและรายนามประธานจากอดีตจนถึงปัจจุบันและวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ (Japanese Chamber of Commerce,Bangkok, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19/2/2562)
[5] อ้างแล้ว
[6] A Survey on Business Sentiment of Japanese Corporations in Thailand For the 1st half of 2018 (Japanese Chamber of Commerce,Bangkok, 3/8/2018)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ระหว่างปี 2557-2560

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: