ปี’61 ก่อสร้างภาครัฐใช้น้ำยางพาราต่ำกว่าเป้า จี้ใช้งบกลาง-งบอปท.ทำถนน 1 หมู่บ้าน 1 กม.

ทีมข่าว TCIJ: 24 มี.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4133 ครั้ง

พบโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐปี 2561 ใช้น้ำยางพาราก่อสร้าง 22,262.37 ตัน เป็นเงิน 11,849.59 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 97,920.61 ตัน วงเงิน 24,760.52 ล้านบาท ใช้ทั้งงบกลาง-งบสะสม อปท. ด้านข้อมูลที่รวบรวมโดย กมธ.เกษตรฯ สนช. ปี 2557-2560 การกระตุ้นการใช้ยางพาราในประเทศยังไม่กระเตื้อง ที่มาภาพประกอบ: หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นนิวส์

จี้หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมใช้ยางพารา-น้ำยางสดในงานก่อสร้าง

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐปี 2561 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐปี 2561 โดยส่วนราชการ ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ดำเนินกิจกรรม ได้แก่ ฝายยาง สระน้ำ บล็อกยางปูพื้น ภายนอกอาคาร (ทางเท้า สนามเด็กเล่น) ถนนงานยางพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต และถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพารา วงเงินงบประมาณ 24,760.52 ล้านบาท ปริมาณน้ำยางสดที่ใช้ 97,920.61 ตัน ดำเนินงานเสร็จสิ้นแล้ว 11,849.59 ล้านบาท ใช้น้ำยางสด 22,262.37 ตัน คงเหลือที่อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการฯ อีกจำนวน 12,910.94 ล้านบาท [1]

ใช้งบกลาง-งบสะสม อปท.

คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการให้เกิดการใช้ยางพาราภายใน ประเทศให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ประกอบด้วย (1) งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามนัยของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 57 ในกรณีที่มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ประเภทงบกลาง ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้ก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 2562 (2) เงินรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) (งบสะสม อปท.) ซึ่งมีลักษณะเป็นเงินนอกงบประมาณ เห็นควรให้ อปท. ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และ (3) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งยังไม่มีการก่อหนี้ผูกพัน เห็นควรให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบให้ควรสนับสนุนให้หน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม และกรุงเทพมหานคร พิจารณาใช้ผลิตภัณฑ์ยางให้เหมาะสมกับภารกิจให้มากขึ้น เช่น บล็อกยางปูพื้นภายนอกอาคาร (ทางเท้า สนามเด็กเล่น) บล็อกยางปูพื้นสนามฟุตซอล ผลิตภัณฑ์เครื่องนอน เป็นต้น โดยจัดทำเป็นโครงการที่สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน และเอื้อต่อการส่งเสริมการใช้ยางพาราอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้และเพิ่มมูลค่ายางพาราที่สามารถส่งผลต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมภายในประเทศ ให้ได้รับการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในระยะยาว ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย [2]

เร่งรัดทำผลิตภัณฑ์ส่งออก-ทำถนนสายรอง

ต้นปี 2562 ยังมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม เร่งรัดดำเนินการแสวงหาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมการส่งออกยางพาราและการนำยางพาราไปใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์หรือการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น [3] และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบท เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการก่อสร้าง/ปรับปรุงเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนสายรองที่เชื่อมต่อถนนสายหลักไปยังหมู่บ้านและชุมชนต่าง ๆ โดยให้มุ่งเน้นใช้ยางพาราเป็นวัสดุสำคัญในการก่อสร้าง/ปรับปรุงถนนดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้น้ำยางพาราในประเทศให้เพิ่มขึ้นและสร้างสมดุลของราคายางพาราให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นด้วย [4]

เร่งเดินหน้าก่อสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร

การปรับปรุงถนนลูกรังให้เป็นถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ที่ อ.เซกา จ.บึงกาฬ เมื่อปี 2560 ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์



การปรับปรุงถนนลูกรังสายหลังวัดพระธาตุจอมสัก ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย ให้เป็นถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ ระยะทาง 500 เมตร เมื่อเดือน มี.ค. 2562 ที่มาภาพ: หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นนิวส์

เมื่อเดือน ม.ค. 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เชิญตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 77 จังหวัด ร่วมประชุมชี้แจง โครงการสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ทั่วประเทศ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร โดยได้มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินงานสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ทั่วประเทศ จำนวน 75,032 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทางกว่า 75,032 กิโลเมตร ใช้น้ำยางสดปริมาณกว่า 1.4 ล้านตัน หรือคิดเป็นน้ำยางข้นประมาณ 7.2 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าน้ำยางสดกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ถนนและพื้นผิวการจราจรภายในหมู่บ้านต่างๆ มีมาตรฐานที่ดี ทนทานและแข็งแรงขึ้น พี่น้องประชาชนสามารถเดินทางคมนาคมด้วยความปลอดภัย สะดวกสบาย ที่สำคัญโครงการนี้จะสามารถช่วยกระตุ้นและเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้น ทำให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดผลกระทบจากสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำ สร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีกทางหนึ่ง [5]

อนึ่ง การยางแห่งประเทศไทยชี้แจงว่าในส่วนของการนำยางพาราไปใช้ในการทำถนน ด้วยการนำน้ำยางสดหรือน้ำยางข้นผสมกับสารผสมเพิ่ม (NR-Pleblend) เพื่อปรับปรุงคุณภาพ และปรับเปลี่ยนคุณสมบัติบางประการของน้ำยางพาราให้มีคุณสมบัติทางวิศวกรรมกำหนด สำหรับในส่วนของราคากลางที่กรมบัญชีกลางออกมาทั้ง 2 ฉบับ คือ หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 4 ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องของกระบวนการและราคา โดยประมาณการราคา (ณ วันที่ 18 ธ.ค. 2561) ไว้ดังนี้ สำหรับหลักเกณฑ์ฯ ฉบับที่ 2 คำนวณจากราคาน้ำยางข้น FOB และมีกระบวนการทำถนนแบบผสมในโรงผสม เมื่อทดลองคิดราคาตามมาตรฐานของกรมบัญชีกลางอยู่ที่ประมาณ 1.23 ล้านบาทต่อกิโลเมตร (กว้าง 6 เมตร ระยะทาง 1 กม.) และสำหรับหลักเกณฑ์ฯ ฉบับที่ 4 คำนวณจากราคาของน้ำยางสด ตามประกาศราคาของการยางแห่งประเทศไทย และขั้นตอนการทำถนนเป็นวิธีการแบบใช้รถเกลี่ย (Motor Glade) เมื่อทดลองคิดราคาตามมาตรฐานของกรมบัญชีกลางอยู่ที่ประมาณ 1.12 ล้านบาทต่อกิโลเมตร (ถนนกว้าง 6 เมตรยาว 1 กม.) ซึ่งราคาที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับการประมูลงานในแต่ละท้องที่ และการจัดซื้อจัดจ้างทำถนนยางพาราซอยด์ซีเมนต์ ก็ขึ้นอยู่กับส่วนปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ว่าจะสะดวกดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบใด [6]

นอกจากนี้ พบว่าปัจจุบันกรมทางหลวง ยังมีการดำเนินการนำยางพารามาใช้ตามภารกิจทั้งหมด 4 โครงการได้แก่ โครงการฉาบผิวแบบพาราสเลอรี่ซิล (Para Slurry Seal) ใช้ฉาบผิวทางเดิมที่ลื่น เพื่อเพิ่มความฝืด และช่วยอุดรอยแตกกันน้ำลงได้ ป้องกันการเกิดออกซิเดชันของผิวทาง การฉาบผิวถนนแบบนี้จะสามารถเปิดการจราจรได้ภายในเวลา 2 ชั่วโมง เนื่องจากมีคุณสมบัติเด่น คือ บ่มตัวเร็วและยังมีความทนทานกว่าการฉาบผิวแบบธรรมดาที่ไม่มีส่วนผสมของยางพารา ทั้งนี้ ในการฉาบผิวถนนที่มีความหนา 5-10 มิลลิเมตร และมีความกว้าง 12 เมตร ใช้น้ำยางพาราข้น ประมาณ 0.98 ตัน/กิโลเมตร โครงการแอสฟัลต์คอนกรีตปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ เป็นการนำยางพารามาใช้ในสัดส่วนร้อยละ 5 ของน้ำหนักของแอสฟัลต์ซีเมนต์ผสมเสร็จ โดยคุณสมบัติและลักษณะเด่นของแอสฟัลต์คอนกรีตปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติจะมีความทนทานมากกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับแอสฟัลต์คอนกรีตที่ใช้ AC 60-70 ซึ่งปริมาณการใช้ยางพาราสำหรับยางพาราร้อยละ 5 เพื่อปูผิวทางหนา 5 เซนติเมตร และถนนมีความกว้าง 12 เมตร จะใช้น้ำยางพาราข้นประมาณ 5.716 ตัน/กิโลเมตร โครงการนำยางพารามาใช้ก่อสร้างชั้นพื้นทางดินซีเมนต์ (Para soil cement) เป็นการนำยางพารามาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพวัสดุชั้นพื้นทาง ด้วยวิธีการเติมน้ำยางข้น และสารผสมเพิ่มในชั้นพื้นทางดินซีเมนต์ (ดินลูกรัง) กระบวนการนี้เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถใช้ในการปรับปรุงคุณสมบัติโครงสร้างชั้นทางให้ดีขึ้น โดยอาศัยข้อดีของยางพารา เช่น ความคงตัวสูง ความยืดหยุ่นดี ทนความล้าดี มาเป็นตัวเสริมคุณสมบัติ สามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของถนนโดยเฉลี่ยประมาณ 2-3 เท่าของอายุการใช้งานเดิม ช่วยประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนน และยังมีโครงการผลิตภัณฑ์อำนวยความปลอดภัยจากยางพาราในภารกิจของกรมทางหลวง ซึ่งได้ทำบันทึกความตกลงร่วมกันระหว่างกรมทางหลวง และการยางแห่งประเทศไทย โดยกรมทางหลวงมีแผนการนำยางพารามาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ได้แก่ เสาหลักนำทางผสมยางพารา ใช้ยางแห้งประมาณ 2,049 ตัน กำแพงน้ำพลาสติก ใช้ยางแห้งประมาณ 2,205 ตัน และหลักนำทาง กม. ย่อย ใช้ยางแห้งประมาณ 660 ตัน [7]

กมธ.เกษตรฯ สนช.ระบุปี 2557-2560 การใช้น้ำยางในประเทศไม่บรรลุเป้าหมาย

ข้อมูลจาก รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ภาพรวมของยางพาราทั้งระบบ ของ คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2562 ระบุว่าความแตกต่างของปริมาณการผลิตและปริมาณการใช้ในประเทศที่ไร้สมดุลต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน ผลผลิตยางพาราไทยนั้นส่วนใหญ่จะส่งออกไปนอกประเทศ มากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งการเน้นแปรรูปพื้นฐานเพื่อการส่งออกเป็นหลักนี้ทำให้มีอำนาจต่อรองต่ำ ไม่สามารถกำหนดราคาขายที่เหมาะสมได้ และในตลาดยางแปรรูปพื้นฐานนั้นผู้ซื้อมีอำนาจเหนือกว่าในการกำหนดราคาผ่านกลไกซื้อขายตลาดล่วงหน้า

แม้ว่าตั้งแต่ปี 2557 รัฐบาลได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาราคายางพาราในระยะยาว ด้วยการกำหนดเป้าหมายการใช้ยางพาราในประเทศเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของปริมาณทั้งหมดในระยะเวลา 5 ปี แต่สถิติพบว่าสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก จากในปี 2557 ที่มีสัดส่วนการใช้ในประเทศร้อยละ 12.51 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.42 ในปี 2558, ปี 2559 ร้อยละเพิ่มเป็น 13.60 และปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 12.72 เท่ากับว่าระหว่างปี 2558-2560 สัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 0.74 ต่อปีเท่านั้น สวนทางกับผลิตยางพาราในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.68 ปี 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.45 ปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.42 และปี 2560 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.1[8]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] ขอรายงานผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐปี 2561 (มติคณะรัฐมนตรี, 20/11/2561)
[2] อ้างแล้ว
[3] ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี (มติคณะรัฐมนตรี, 29/1/2561)
[4] การส่งเสริมการใช้ยางพาราเป็นวัสดุสำคัญในการก่อสร้าง/ปรับปรุงถนน (มติคณะรัฐมนตรี, 26/2/2562)
[5] กษ. นัด อปท. 77 จังหวัด ชี้ชัดการทำถนนยางฯ โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร เร่งเดินหน้าก่อสร้าง ยึดแบบมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ (การยางแห่งประเทศไทย, 11/1/2562)
[6] กยท. ยันส่วนผสมทำถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ใช้ได้ทั้งน้ำยางสดและน้ำยางข้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของวิธีการจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละท้องถิ่น (การยางแห่งประเทศไทย, 19/12/2561)
[7] กษ. จัดโครงการส่งเสริมความร่วมมือนวัตกรรมถนนผสมยางพารา แก่รัฐสุลต่านโอมาน หวังผลักดันนวัตกรรมถนนยางสู่ระดับนานาชาติ (การยางแห่งประเทศไทย, 14/3/2562)
[8] รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ภาพรวมของยางพาราทั้งระบบ (คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, 15/3/2562)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ตัวเลขการส่งออกยางพาราปี 2552-2561

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: