การผลิตซ้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนาทุนนิยมของจีน

พัชณีย์ คำหนัก: 25 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 6679 ครั้ง


เป็นที่เข้าใจได้ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรม การค้าการลงทุนในภาคส่วนต่างๆ เป็นการพัฒนาของระบบทุนนิยมเสรีไม่ว่าจะขับเคลื่อนโดยรัฐวิสาหกิจ หรือนายทุนเอกชนแต่ผลกำไรตกเป็นของเจ้าของกิจการ  มีการวางแผนนโยบายจากโครงสร้างระดับบนลงล่างมากกว่าจากล่างสู่บน มีการแย่งยึด เวนคืนที่ดิน หรือกว้านซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงาน การกำหนดราคาสินค้าที่ไม่ได้เกิดจากผู้ผลิตตัวจริงคือเกษตรกร การก่อเกิดชนชั้นผู้ใช้แรงงานที่พึ่งพาเพียงแค่ค่าจ้างวันต่อวัน การย้ายถิ่นฐานของแรงงานจากชุมชนที่ขาดทรัพยากรและงานที่เพียงพอ รวมทั้งการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นระยะๆ ในทวีปต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนทำงานมากกว่าเจ้าของกิจการ และการมีบทสรุปว่า ระบบทุนนิยมก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และอำนาจระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างมหาศาลจากที่ประชุมประชาคมเศรษฐกิจโลก

ในช่วงปี 2540 และ 2551 ผู้คนเคยมีประสบการณ์กับวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียและสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นก็ได้มีนายทุนระดับรัฐเข้ามามีบทบาทพัฒนาระบบทุน (ทุนนิยมโดยรัฐ) นั่นคือ รัฐบาลจีน จีนในฐานะประเทศมหาอำนาจหนึ่งในเอเชียที่แตกต่างจากมหาอำนาจในยุโรป อเมริกา คือมีอุดมการณ์ทางการเมืองคอมมิวนิสต์แตกต่างจากประชาธิปไตยเสรีนิยม  อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่มีโครงสร้างการปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียว ไม่มีฝ่ายค้านที่จะมาคานอำนาจเหมือนประชาธิปไตยเสรีแต่อย่างใด  จึงมีลักษณะครอบงำประชาชน จำกัดสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วม ดังนั้น เราอาจเห็นลักษณะการลงทุนของจีนที่แตกต่างไปจากประเทศเสรี ในแง่ที่มีการครอบงำ ขาดการตรวจสอบ และมีการปราบปรามยิ่งกว่า

รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน : ทุนนิยมโดยรัฐ

รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นมาจากการนำจากผู้ปกครองระดับบนลงล่างคือ  รัฐมีบทบาทสำคัญในการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจและเข้าไปลงทุนในประเทศแถบเอเชีย ยุโรป แอฟริกา เสริมกับบรรษัทภาคเอกชนขนาดใหญ่ บทความนี้จะเล่าถึงลักษณะการลงทุนพัฒนาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Great Mekong Sub-region) ที่ได้ร่วมมือกับจีนพัฒนาโครงการต่างๆ มากมายภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

ก่อนอื่น เรามาดูผลการพัฒนาภายในประเทศจีน จากการที่ประเทศจีนมีนโยบายในการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดเสรีทางการค้าตั้งแต่ปี 1979 และต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990 เปลี่ยนตัวเองเป็นโรงงานของโลก โดยใช้นโยบายดึงดูดการลงทุนจากประเทศอื่นๆ เข้ามาในจีน เห็นได้จากโรงงานจำนวนมากผุดขึ้นตามแถบชายฝั่งตะวันออกในระยะเวลา 30 ปีมานี้ ซึ่งได้เปลี่ยนพื้นที่การเกษตร ชุมชนชนบทเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมโรงงานและเมืองทันสมัย นำไปสู่การจ้างแรงงานจำนวนมหาศาลภายในประเทศ มีการไหลเข้ามาทำงานของประชาชนในแผ่นดินใหญ่ไปยังแถบชายฝั่งตะวันออกของจีน 

ดังนั้น จีนจึงต้องค้นหาพลังงานทรัพยากรธรรมชาติและความมั่นคงทางอาหารในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์ มีความยาวถึง 4,880 กิโลเมตร เพื่อรองรับเศรษฐกิจภายในประเทศที่ใหญ่โตขึ้น เช่น ทำโครงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ภายในประเทศจีนเองกำลังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างมาก  แม้ว่าจำนวนคนยากจนจะลดลงและชนชั้นกลางขยายตัว แต่ความเติบโตนี้ได้สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ประชากรเพียง 1% ของประเทศ จากรายงานสำรวจของศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งเมื่อปี 2557 จำนวนครัวเรือน 1% มีรายได้กว่า 1 ใน 3 ของความมั่งคั่งของประเทศ ในขณะที่คนจนที่สุด 25% มีรายได้เพียง 1% สัมประสิทธิ์การกระจายรายได้หรือดัชนีจีนี่ของจีนลดลงตั้งแต่ปี 2551 แต่ในปี 2559 ค่าสัมประสิทธิ์อยู่ที่ 0.465 สูงกว่าระดับอันตรายที่ 0.400 สะท้อนว่า มีความแตกต่างอย่างรุนแรงระหว่างคนจนกับคนรวย ทำให้เกิดการตั้งคำถามอย่างจริงจังกับความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ตามมา

นอกจากจีนจะมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศดังกล่าวแล้ว ยังมีนโยบายไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ จีนได้ลงทุนไปแล้ว 183 พันล้านเหรียญสหรัฐและถูกจัดอันดับลงทุนมากเป็นอันดับ 2 ของโลกเมื่อปี 2558 จีนยังมีแผนที่จะลงทุนถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐใน 64 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะกู้เงินจากธนาคารนำเข้าและส่งออกของจีน คนจีนเดินทางออกไปต่างประเทศแล้ว 150 ล้านคนและได้ลงทุนต่างประเทศไปแล้ว 210 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2560 ซึ่งการลงทุนนี้อยู่ในยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

การเชื่อมโยงระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน

ยุทธศาสตร์การพัฒนาหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงชุมชนระหว่างประเทศ สร้างระบบห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาคและระดับโลกและขยายตลาดการค้า รวมทั้งการส่งออกแรงงานจีนไปทำงานยังต่างประเทศ เช่น ในแอฟริกา เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้   (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง การขยายการลงทุนของจีนในต่างประเทศ ในมุมมอง 'สิทธิแรงงาน' ในเว็บไซต์ TCIJ: https://www.tcijthai.com/news/2018/8/labour/8248 )  

สำหรับการลงทุนในประเทศในแถบลุ่มน้ำโขง จีน (ในส่วนมณฑลยูนนานและเขตปกครองกวางสีจ้วง) ได้ร่วมลงทุนกับรัฐบาล 5 ประเทศ (ไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชาและเวียดนาม) ล่าสุดได้ร่วมกันวางแผนการลงทุนพัฒนา ทั้งหมด 227 โครงการ มูลค่า 66 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากตลาดในภูมิภาคนี้มีจำนวนประชากร 329 ล้านคน และมีกำลังแรงงาน 136 ล้านคน ยุทธศาสตร์สำคัญของจีนในการพัฒนาอนุภูมิภาคนี้ คือ การหาแหล่งพลังงานที่มั่นคงเพื่อรองรับการเติบโตของจีน เชื่อมโยงเส้นทางทั้งทางบกและทางน้ำเพื่อขยายตลาดการส่งออกสินค้าของตนเอง สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองทหารกับประเทศมหาอำนาจเช่นสหรัฐอเมริกา 

ในส่วนของไทย ตั้งแต่มีรัฐบาลเผด็จการทหาร 2557 เรามักเห็นปรากฏการณ์การลงทุนของจีนในไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ซึ่งการลงทุนพัฒนาไม่ต่างจากเวียดนาม คือ มีนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก และได้ นำไปสู่การเวนคืนที่ดินโดยหน่วยงานของรัฐเพื่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งไทยเคยมีบทเรียนแล้วจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชน ต่อแม่น้ำลำคลองและทะเลอ่าวไทย เกิดมลพิษเพราะมีการปล่อยสารเคมี  นอกจากนี้ ยังมีปัญหาแย่งชิงทรัพยากรในลุ่มน้ำโขงระหว่างจีนกับประเทศไทย ลาว พม่า เช่น การพยายามระเบิดแก่ง ขยายการคมนาคมทางเรือ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ และอาชีพของคนท้องถิ่น  

ประเด็นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจโดยมหาอำนาจจีนที่ไม่ได้เรียนรู้บทเรียนในอดีต ไม่ได้เรียนรู้วิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา แม้จะมีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่พร่ำสอนว่า คำนึงถึงประชาชนมาก่อนกำไร แต่กลับกลายร่างเป็นเผด็จการกีดกันการมีส่วนร่วมของชุมชนและแรงงาน เน้นการเจรจากับระดับผู้นำมากกว่า และผู้นำภายในประเทศไทยก็มีความเป็นเผด็จการ จึงนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล ขาดการมีส่วนร่วม ขาดประชาธิปไตย และผลิตซ้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไปได้อีก

ลักษณะการลงทุนการพัฒนาของจีน ในความเป็นจริงได้นำโมเดลตัวอย่างการพัฒนามาจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่ผลักดันการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมาแต่แรก โมเดลการพัฒนาเดิม ๆ เช่น การใช้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตามชายฝั่ง การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เขตเศรษฐกิจพิเศษ โมเดลความร่วมมือระหว่างรัฐ ทุนและนักวิชาการ ที่ไม่นับคนงานและชุมชน หรือโมเดลประชารัฐนั่นเอง

มูลค่าการลงทุนของจีนในประเทศแถบลุ่มน้ำโขง เมื่อปี 2560 อยู่ที่ราว 220 พันล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุนในจีนถูกมองว่าเป็นเสมือนรถเกลี่ยดินถากทาง (bulldozer) ดังเห็นจากการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เช่นลาว มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่-กลาง 60 แห่งและกำลังก่อสร้างอีก 30 เขื่อน ทั้งวางแผนจะสร้างอีก 90 โครงการ

อย่างไรก็ตาม จากรายงานขององค์กรอ๊อกซ์แฟม ออสเตรเลียที่ศึกษาผลกระทบจากการพัฒนาในประเทศแถบลุ่มน้ำโขง พบว่า การที่เศรษฐกิจเติบโตขึ้นนั้นก่อให้เกิดความแตกต่างทางรายได้มานับตั้งแต่ปี 1990 เพราะคนท้องถิ่นถูกกีดกันออกไปจากการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ไม่มีอำนาจต่อรองในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนภายในประเทศลุ่มน้ำโขง

และการลงทุนก็ยังคงขยายต่อไปในพื้นที่ที่แม้ห่างไกล อำนาจรัฐและทุนจึงสามารถไปถึงได้หมด ดังนี้

การขยายการลงทุนในไทย

ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ มีการลงทุนในภาคบริการกว่าครึ่งของมูลค่าการผลิตในประเทศ (GDP) และลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร ในช่วงทศวรรษ 90 ไทยได้รับความช่วยเหลือจาก ADB เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจด้านการขนส่ง พลังงาน การค้า การท่องเที่ยว การลงทุนของเอกชนและการเกษตร ภายใต้ชุดโครงการการพัฒนาลุ่มน้ำโขงทำให้ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้นตามลำดับ โดยในช่วงปี 1995-2004 มูลค่าของสินค้าที่ส่งออกมากที่สุดคือ เครื่องจักร เครื่องใช้-อุปกรณ์ไฟฟ้า รองลงมาคือ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม พลาสติก ยาง เป็นต้น  จากนั้นในช่วงปี 2004-2014 มูลค่าการส่งออกสินค้าที่มากที่สุด ยังคงเป็นเครื่องจักร อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

รองลงมาคือ ยานพาหนะเครื่องบิน การขนส่ง เครื่องดื่ม อาหาร ตามลำดับ ไทยได้รับเงินลงทุนภายใต้ชุดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีรัฐบาลจีนเป็นผู้ขับเคลื่อน

นอกจากนี้ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้อนุภูมิภาคนี้เชื่อมต่อกับจีน จึงได้ลงทุนก่อสร้างเส้นทางสำคัญในประเทศไทยที่เชื่อมโยงประเทศในกลุ่ม GMS อื่น ๆ ได้แก่  'เส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก' (EWEC: เส้นทาง R9), "เส้นทางเศรษฐกิจเหนือ - ใต้" (NSEC: เส้นทาง R3A) และ 'เส้นทางเศรษฐกิจตอนใต้ (SEC: เส้นทาง R1) ซึ่งสำคัญต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการท่องเที่ยว มีดังนี้

ตัวอย่างเช่น ในภาคเหนือของประเทศไทย รถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งผ่านเมืองเชียงของจังหวัดเชียงรายไปทางสะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 4 ซึ่งข้ามจากอำเภอเชียงของไปยังเมืองห้วยทรายในประเทศลาว  เมืองห้วยทรายอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงของประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อข้ามชายแดนระหว่างประเทศ ขนส่งสินค้าไปยังภาคใต้ของจีน จากสถิติของกรมศุลกากรในปีงบประมาณ 2558 ด่านศุลกากรเชียงของ มีมูลค่าการนำเข้ามากกว่า 3,800 ล้านบาทและมูลค่าการส่งออกมากกว่า 13,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่เปิดตัวสะพานมิตรภาพ สปป. ลาว - ​​ไทยครั้งที่ 4 อย่างเป็นทางการในปี 2556

ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร ไทยได้รับเงินทุนจากจีนเพิ่มขึ้น 120% จากปี 2558 จีนได้ลงทุนมากกว่า 24,000 ล้านบาทใน 69 โครงการเมื่อปี 2559 เพื่อที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมในระเบียงตะวันออกและโครงการอื่นๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์  อิเล็กทรอนิกส์ การบิน การสร้างรถไฟที่เชื่อมต่อไปยังจีน เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลทหารกำลังพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 เขตจังหวัดเพื่อเชื่อมโยงการค้ากับประเทศในอาเซียน ได้แก่ จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี ด้วยงบประมาณที่อนุมัติแล้ว 7,362 ล้านบาท โดยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและจุดตรวจคนเข้าเมือง  และผลจากการพัฒนาระบบทุนเหล่านี้ สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตที่เราควรรับมือไว้คือ ปัญหาความขัดแย้งจากการลงทุนของจีนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศอื่น

ประเด็นความขัดแย้งจากการลงทุนของจีน

  1. การไล่ที่ของประชาชนในท้องถิ่น การระเบิดแก่ง ทำลายระบบนิเวศ ขาดการปรึกษาหารือกับประชาชนในชุมชน
  2. การละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น จ้างงานราคาถูก สภาพการทำงานที่เลวร้าย นอกจากนี้ จีนยังสร้างความขัดแย้งในเรื่องการจ้างงานโดยนำเข้าแรงงานจีน การเลือกปฏิบัติกับแรงงานในท้องถิ่น เช่น เคนย่า อินโดนีเซีย
  3. การสร้างภาระหนี้สินผูกพันในประเทศที่ด้อยพัฒนา ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เช่น ศรีลังกา
  4. การทุจริตโครงการ การขาดการตรวจสอบจากประชาชน ในบางประเทศมีการต่อต้านการลงทุนจากจีน เช่น เวียดนาม

กล่าวโดยสรุป จีนผลิตซ้ำทุนนิยมและอาจก่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกในอนาคต การลงทุนของรัฐบาลจีนได้คุกคามความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เพราะโครงการมีลักษณะกำหนดจากบนลงล่าง ขาดประชาธิปไตย มุ่งทำกำไรให้แก่ชนชั้นนำและนายทุนภาคเอกชน  จึงจำเป็นที่ภาคประชาสังคมจะต้องติดตามผลกระทบจากการลงทุนของจีนอย่างใกล้ชิด การผลิตซ้ำของระบบทุนนิยมเสรีนิยมสามารถสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่จบสิ้น และจำเป็นที่จะต้องต่อต้านการละเมิดสิทธิ ขยายความร่วมมือในภาคประชาสังคมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานและชุมชน รวมทั้งจับตานักการเมือง ข้าราชการ รัฐบาลอำนาจนิยมในประเทศที่รับการลงทุนเช่นไทยด้วย เพราะรัฐทหารได้ร่วมลงทุนกับจีนในโครงการขนาดใหญ่ แต่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมเผด็จการทหารถึงต้องการสืบทอดอำนาจไปอีก 20 ปี เพราะต้องการเก็บเกี่ยวผลได้จากการลงทุนซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งเป็นความมั่งคั่งของชนชั้นนำ ที่มาจากหยาดเหงื่อ เลือดเนื้อ ศักดิ์ศรีของแรงงานและชุมชน แต่สวนทางกับความมั่นคงของคนธรรมดา

 


 

ที่มาภาพ: Free-photos (CC0 Public Domain)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: