กกพ. ไฟเขียว 'มิตรผล อำนาจเจริญ' สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบ

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 ก.พ. 2562 | อ่านแล้ว 3165 ครั้ง

กกพ. ไฟเขียว 'มิตรผล อำนาจเจริญ' สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบ

สำนักงาน กกพ. ออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวลให้ มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) หลังใช้เวลาตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกือบ 3 เดือน พร้อมเพิ่มมาตรการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมไว้ในท้ายใบอนุญาต มั่นใจจะจัดการข้อร้องเรียนและลดข้อวิตกกังวลของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าได้ครบถ้วน ด้านกลุ่มมิตรผล ยืนยันเดินหน้าโครงการต้นแบบที่อำนาจเจริญ ด้าน 'กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย' ตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ โรงไฟฟ้ามิตรผล-โครงการประชารัฐ ที่มาภาพ: สำนักข่าวประชาไท

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2562 ว่า น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เผยว่า กกพ. มีมติเห็นชอบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้แก่ บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 32,500 กิโลโวลต์แอมแปร์ (kVA) หรือ 26 เมกะวัตต์ (MW) ผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย ใบอ้อย และชิ้นไม้สับ) ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ พร้อมกำหนดมาตรการกำกับดูแลเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรายงาน EIA

ดังนั้น เพื่อให้ครอบคลุมข้อร้องเรียนและประเด็นผลกระทบโดยระบุไว้ในเงื่อนไขเฉพาะในท้ายใบอนุญาต กกพ.ยังได้รับทราบมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และข้อวิตกกังวลของประชาชนเพิ่มเติมตามที่ตัวแทนกลุ่มบริษัทมิตรผลได้แสดงเจตจำนงว่าจะจัดทำมาตรการดังกล่าว เพื่อเป็นโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบ ซึ่งหากพบว่าผู้ประกอบการฝ่าฝืนและเกิดมลพิษที่ส่งผลกระทบสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดให้หยุดการผลิตได้ทันที

ทั้งนี้การประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2561 กกพ. ได้มีมติชะลอการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ระบบจำหน่ายไฟฟ้า จำหน่ายไฟฟ้า การอนุญาตก่อสร้างอาคาร และการอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) เพื่อให้ กกพ. ได้รับฟังข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อสรุปประเด็นปัญหาข้อร้องเรียน ข้อกังวลใจ และแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2562 นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. ยังได้ลงพื้นที่และประชุมร่วมกับ นายนิกร สุกใส ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร และกลุ่มผู้คัดค้านโครงการ อาทิ กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายและกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซบาย ซึ่งมีข้อสรุปที่นำมาใช้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรายงาน EIA โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทฯ เพื่อนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงก่อนก่อสร้างและตลอดช่วงก่อสร้าง ตลอดจนถึงช่วงการดำเนินการ

สำหรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า น.ส.นฤภัทร กล่าวว่า กกพ.ได้มีมติเพิ่มเงื่อนไขเฉพาะในการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า เป็น 9 ข้อ มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.ต้องปฏิบัติตามรายงาน EIA “โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ” ฉบับล่าสุด หรือฉบับที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมที่ได้รับความเห็นชอบโดยเคร่งครัด

2.ต้องนำส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหา ข้อจำกัด และข้อเสนอแนะต่อสำนักงาน กกพ. ทุก 6 เดือน

3.ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดส่งเอกสารดังต่อไปนี้ ก่อนแจ้งเริ่มประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า (1) ผลการทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพเครื่องจักรอุปกรณ์สำคัญที่ได้รับรองอย่างเป็นทางการจากผู้ผลิต (2) ผลการทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพของระบบผลิตไฟฟ้า ซึ่งรวมถึง Heat Balance, Mass Balance, Water Balance และปริมาณมลพิษทางอากาศที่ระบายจากปล่อง ซึ่งได้รับรองอย่างเป็นทางการหลังจากการทดลองเดินเครื่องและทดสอบระบบ

4.หากจะเปลี่ยนแปลงชนิดของเชื้อเพลิงหรือรายละเอียดโครงการจากที่เสนอไว้ จะต้องเสนอรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการ

5.ให้นำส่งรายงานสมดุลของการผลิต ซื้อ ใช้ และ/หรือจำหน่ายไฟฟ้าประจำวันของสถานประกอบกิจการ โดยแสดงรายละเอียดเป็นรายชั่วโมง และผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามรอบการตรวจติดตามที่กำหนดในรายงาน EIA ทุกเดือน นับแต่วันที่เริ่มประกอบกิจการ

6.ห้ามจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายพลังงานของการไฟฟ้าก่อนได้รับอนุญาต

7.ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉิน จัดการฝึกอบรม แนะนำวิธีการป้องกันเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในส่วนที่อาจก่อให้เกิดอันตราย อุบัติเหตุและอุบัติภัย และมีการฝึกซ้อมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

8.ต้องตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้งระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการ จำนวน 4 จุด (ทิศทางลมและความเร็วลม 2 จุด) ปีละ 3 ครั้ง (ทุก 4 เดือน) ครั้งละ 7 วันต่อเนื่อง ให้ครอบคลุมทั้งในช่วงฤดูหีบอ้อยและนอกฤดูหีบอ้อย

9.ให้ควบคุมดูแลการระบายมลพิษทางอากาศให้น้อยที่สุด และติดตั้งเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากปล่องที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (CEMs) โดยให้ติดตั้งจอแสดงผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่บริเวณหน้าโรงงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบได้โดยสะดวก

ส่วนมาตรการเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ข้อวิตกกังวลของประชาชนเพิ่มเติมตามที่บริษัทให้เจตจำนงไว้ มีดังนี้

1.บริษัทฯ จะควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศให้น้อยที่สุดและจะติดตั้งเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากปล่อง CEMs โดยจะรายงานคุณภาพอากาศผ่านจอแสดงผลที่บริเวณหน้าโรงงาน

2.บริษัทฯ จะจัดส่งรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินให้แก่สำนักงาน กกพ. ทุกเดือน

3.บริษัทฯ จะเพิ่มความถี่ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้งระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการปีละ 3 ครั้ง ต้องดำเนินการตรวจวัดในช่วงหีบอ้อย นอกฤดูกาลหีบอ้อย และช่วงหยุดซ่อมบำรุง

4.บริษัทฯ ยินดีเชิญผู้ร้องเรียนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อติดตามการประกอบกิจการ

5.บริษัทฯ จะจัดตั้งกองทุนมวลชนสัมพันธ์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นในรัศมี 5 กม.รอบโรงงาน ซึ่งบริหารกองทุนโดยคณะกรรมการไตรภาคี

6.บริษัทฯ จะจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย โดยสนับสนุนการเพาะเลี้ยงและปล่อยพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำท้องถิ่น รวมทั้งกิจการสัตว์น้ำท้องถิ่น โดยผ่านคณะกรรมการไตรภาคีและประมงจังหวัด

7.บริษัทฯ จะพัฒนาถนนและการจราจรในพื้นที่ เพื่อสร้างทางเลี่ยงทางหลัก และลดการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ รวมทั้งการดูแลฝุ่นถนน

8.บริษัทฯ จะมอบทุนวิจัยการพัฒนาและอนุรักษ์กับนักวิจัยของมหาวิทยาลัย

9.บริษัทฯ จะยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรที่เป็นอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ในการปลูกอ้อย

10.บริษัทฯ จะติดตั้งมาตรวัดปริมาณน้ำที่โรงงานผันน้ำจากลำน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากและรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ

11.บริษัทฯ จะดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน สร้างงานสร้างอาชีพเสริม การท่องเที่ยวชุมชน

12.บริษัทฯ จะจ้างงานคนพิการในพื้นที่รัศมี 5 กม. รอบโรงงาน

'กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย' ตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ โรงไฟฟ้ามิตรผล-โครงการประชารัฐ


ที่มาภาพ: สำนักข่าวประชาไท

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2562 สำนักข่าวประชาไท รายงานว่าประชาขนกลุ่มอนุลำน้ำเซบาย ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ประมาณ 200 คน ร่วมกันทำกิจกรรมเผาพริกเผาเกลือ และโลงสพ สาปแช่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พร้อมประกาศไม่ยอมรับมติพิจารณาของ กกพ. หลังอนุมัติผ่านโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) ไปเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2562 โดยไม่ได้แจ้งให้ทางกลุ่มทราบล่วงหน้าว่าจะมีการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน

ลำดวน เนินทราย สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า หลังจากได้รับทราบข่าวว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอนุมัติให้โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ผ่านการพิจารณาแล้วนั้น ยังไม่เข้าใจว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรเนื่องจากที่ผ่านมาได้ยืนยันข้อมูลกับหน่วยงานรัฐมาตลอดว่า การมีโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่ใกล้กับชุมชนจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของผู้คนที่อยู่ในรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร และอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในลำน้ำเซบายด้วย สิ่งที่ไม่พอใจมากที่สุดคือ การที่ กกพ. ดำเนินการพิจารณาโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งที่ทางกลุ่มเคยทำหนังสือไปขอว่า ถ้าจะมีการพิจารณาออกใบอนุญาตประกิบกิจการพลังงานจะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า 7 วัน

มะลิจิตร เอกตาแสง อายุ 58 ปี กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย อ่านแถลงการณ์ “ประกาศไม่ยอมการพิจารณาของ กกพ. พร้อมท้า กกพ. ถ้าเกิดผลกระทบอันใกล้นี้ กกพ.จะรับผิดชอบหรือไม่” โดยมีเนื้อหาคำประกาศดังนี้ จากกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้นำโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขาด 61 เมกะวัตต์ขึ้นมาพิจารณาเมื่อวันพุธที่ผ่านมา และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอนุมัติผ่านไปแล้วนั้น ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการที่ผ่านมาดังนี้

1. เนื่องจากกลุ่มบางกลุ่มเป็นกรรมการที่อยู่ในโครงสร้างสานพลังประชารัฐ และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเองก็เป็นหนึ่งในโครงการประชารัฐ ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเพ็งจึงตั้งข้อสังเกตว่า เป็นใบสั่งมาหรือไม่ ทำไมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานไม่รับฟังความเห็นต่างจากประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ และไม่ชะลอการพิจารณาออกไปก่อนเพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยซึ่งชาวบ้านกำลังรอการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และการใช้สิทธิในกระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริงได้

2. ปัญหาผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 พิสูจน์ให้เห็นแล้วการที่สังคมไทยต้องเผชิญกับสภาวะฝุ่นเกินค่ามาตรฐานแต่รัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ ผู้ที่รับชะตากรรมคือชาวบ้านในพื้นที่ ส่วน กกพ. ผู้พิจารณาอยู่ในห้องแอร์ลอยนวลเสมอ

ดังนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจึงขอท้าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ด้วยประการดังนี้

1. ถ้าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ กกพ. กล้ารับผิดชอบหรือไม่

2. ปัญหาฝุ่นละอองที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและสุขภาพ กกพ. กล้ารับผิดชอบหรือไม่

ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายขอประกาศว่า พวกเราจะไม่ยอมรับมติการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น และทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจะยังคงเดินหน้าคัดค้านโรงฟ้าชีวมวลต่อไป เพื่อสิทธิที่จะได้ใช้อากาศบริสุทธิ์ เพื่อสิทธิในการใช้น้ำที่สะอาด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: