เตรียมลงทะเบียนโซลาร์ภาคประชาชน พ.ค.นี้ ขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้ 10 ปี

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 มี.ค. 2562 | อ่านแล้ว 22886 ครั้ง

เตรียมลงทะเบียนโซลาร์ภาคประชาชน พ.ค.นี้ ขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้ 10 ปี

กกพ.เตรียมเปิดรับจดทะเบียนโซลาร์ภาคประชาชน เดือน พ.ค. 2562 นี้ รวม 100 MW ขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้ 10 ปี คาดว่าจะมีการติดตั้งประมาณ 10,000 - 20,000 ระบบ มูลค่ารวมประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี ที่มาภาพ: Energy News Center

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2562 ว่านายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า โครงการ "โซลาร์ภาคประชาชน" ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดตัวในวันนี้ เป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ได้กำหนดหลักการโครงการนำร่องการรับจดทะเบียนเจ้าของบ้านและอาคารที่เป็นเจ้าของมิเตอร์ ประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ต้องการติดตั้งแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เอง สามารถเชื่อมกับระบบไฟฟ้าของประเทศ และขายผลผลิตไฟฟ้าส่วนเกินความต้องการใช้เข้าสู่ระบบได้ ในขนาดการติดตั้งประมาณ 100 MW ต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี

รมว.พลังงาน คาดว่าจะเริ่มรับจดทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และผู้ประกอบการติดตั้งระบบในประเทศ และสถาบันอาชีวะศึกษา ให้มีส่วนร่วมในธุรกิจการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบ ซึ่งในแต่ละปี คาดว่าจะมีการติดตั้งประมาณ 10,000 - 20,000 ระบบ เป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ 10 ปี ทั้งนี้ หลักการของโครงการจะได้มีการนำเสนอ โดย กกพ.ในลำดับต่อไป

อย่างไรก็ตามหากโครงการดำเนินการได้ครบตลอดระยะเวลา 10 ปี จะมีการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนเข้าระบบรวม 1,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นการติดตั้งประมาณ 200,000 ระบบ เบื้องต้นเห็นว่าจะไม่กระทบต่อระบบการผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ แต่หากโครงการได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก ก็ต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถเพิ่มการรับซื้อได้หรือไม่และระบบไฟฟ้าจะมีเสถียรภาพรองรับได้หรือไม่ด้วย

ทั้งนี้ ประเมินว่าผู้ประกอบการจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้โครงการดำเนินการได้อย่างราบรื่น เพราะจะเป็นผู้ที่มีความพร้อมและแนะนำแก่ภาคประชาชนที่ต้องการติดตั้งแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าดังกล่าว โดยกกพ.จะจัดทำรายชื่อผู้ประกอบการที่น่าเชื่อถือ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเจ้าของบ้านที่จะเข้าร่วมโครงการด้วย ซึ่งการดำเนินโครงการครั้งนี้คาดหวังจะช่วยกระตุ้นให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ในระยะยาวอย่างตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า

"เจตนารมย์ของโครงการไม่ได้ต้องการจะรับซื้อไฟฟ้า แต่ต้องการให้ผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็นหลัก เหลือจึงขายออกมาเพราะราคารับซื้อที่ 1.68 บาท/หน่วย ไม่คุ้มเพราะเป็นราคาไม่สูงมากนัก แต่เจ้าของบ้านที่ติดตั้งแผงโซลาร์จะลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าได้ เราคำนวณแล้วว่ากรณีเลวร้ายสุดแม้ทำแล้วใช้นิดหน่อย ขายออกมาเป็นส่วนใหญ่ไม่ถึง 10 ปีก็น่าจะคืนทุนแล้ว...เป้าหมายระยะยาว เราต้องการกระตุ้นให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ อย่างสตาร์ทอัพ ที่อาจจะมีการรับซื้อรวบรวมไฟฟ้าจากหลังคาบ้านเรือนหลาย ๆ หลัง รับซื้อขึ้นมาและขายไฟฟ้าต่อ มีระบบแบตเตอรี่ ก็จะเป็นธุรกิจใหม่ออกมาในอนาคตที่เราเรียก smart grid smart system ซึ่งจะนำมาซึ่งตลาดการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ในอนาคต"รมว.พลังงาน กล่าว

ด้านนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. เปิดเผยว่า การประกาศรับซื้อไฟฟ้าภายใต้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนครั้งนี้ จะเป็นมิติใหม่ในการกำกับดูแลภาคพลังงานของ กกพ. เพราะนอกเหนือจากการที่ กกพ. ออกระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า และออกประกาศเชิญชวนตามปกติแล้ว กกพ. ยังจะอำนวยความสะดวกด้านการให้ข้อมูล และการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจ และยืนยันทุกคนจะได้รับการพิจารณาอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม

สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการ ประกอบด้วย 1. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จะเริ่มกระบวนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 โดยประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลได้ที่ 02-207-3599 หรือติดตามจากเว็บไซต์ สำนักงาน กกพ. ที่ www.erc.or.th และเว็บไซต์ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายทั้ง 2 แห่ง

2. เปิดรับลงทะเบียนสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวง และเว็บไซต์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และหมดเขตรับลงทะเบียนภายในปี 2562

3. ทยอยประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณา โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 และ 4. กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในปี 2562

นายเสมอใจ กล่าวว่า อยากให้ประชาชนได้มีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วย โดยเฉพาะการพิจารณาผลประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว ประชาชนจะต้องมีการลงทุนเพื่อติดตั้งระบบ ดังนั้น ควรต้องคำนึงถึงความคุ้มทุนที่จะเกิดขึ้นกับการลงทุนด้วย ซึ่งความคุ้มค่าการลงทุนจะขึ้นกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนเป็นหลัก และอยากให้มีการเปรียบเทียบ กับปริมาณความต้องการ และช่วงเวลาในการใช้ไฟฟ้า เช่น หากมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากอยู่แล้ว ระยะเวลาในการคุ้มทุนย่อมเร็วกว่า เป็นต้น


น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การประกาศรับซื้อไฟฟ้าภายใต้โครงการฯ ว่า ประกอบด้วย ผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า และเป็นผู้ที่มีเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าประเภทที่ 1 ตามประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ไม่เกิน 10 KW ต่อครัวเรือน โดยมีราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วย ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี

สำหรับเป้าหมาย และปริมาณการรับซื้อรวม 100 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พื้นที่การไฟฟ้านครหลวงรวม 30 เมกะวัตต์ พื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครวม 70 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ เงื่อนไขในการพิจารณา และข้อยกเว้น กกพ. จะมีการพิจารณาแบบเรียงลำดับก่อนหลังตามความพร้อม (First come First served) โดยจะยึดถือวันและเวลาที่ได้รับแบบคำขอที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารหลักฐานที่กำหนดเป็นสำคัญ

น.ส.นฤภัทร กล่าวว่า สำหรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่ระดับ 1.68 บาท/หน่วย จะเป็นการรับซื้อเฉพาะในปี 62 ซึ่งการกำหนดราคาพิจารณาจากต้นทุนส่วนเพิ่มระยะสั้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยราคาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยเช่นกัน โดยการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนนำร่อง 100 เมกะวัตต์ในปีนี้ จะมีการประเมินผลอีกครั้งในช่วงปลายปี เพื่อกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมในการรับซื้อในปีต่อ ๆ ไปด้วย

ด้านนายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.ประเมินระยะเวลาคืนทุนสำหรับกรณีบ้านที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขนาดติดตั้ง 5 กิโลวัตต์ วงเงินลงทุนประมาณ 150,000-200,000 บาท โดยหากเป็นการผลิตเพื่อขายเข้าระบบ 100% จะได้ราคารับซื้อไฟฟ้า 1.68 บาทต่อหน่วย คิดเป็นรายได้ต่อปีประมาณ 12,500 บาท ระยะเวลาคืนทุนจะนานประมาณ 12-16 ปี

แต่ถ้าหากเป็นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและใช้เอง 100% โดยไม่ได้ขายเข้าระบบเลย จะสามารถประหยัดรายจ่ายค่าไฟฟ้าซึ่งอยู่ที่ 3.8 บาทต่อหน่วย คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ประมาณ 28,000 บาทต่อปี ระยะเวลาคืนทุนจะสั้นลงอยู่ที่ประมาณ 5-7 ปี

ดังนั้นโครงการโซลาร์ภาคประชาชนจึงสนับสนุนให้มีการติดตั้งเพื่อใช้เองเป็นลำดับแรกและหากมีไฟฟ้าที่ผลิตเหลือใช้ค่อยขายเข้าระบบ จะทำให้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยกรณีดังกล่าว จะคิดเป็นส่วนรายได้และรายจ่ายที่ประหยัดได้รวมประมาณ 20,000 บาทต่อปีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ประมาณ 7-10 ปี

ด้านนายดุสิต เครืองาม ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) มีทิศทางที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือขายตรง (Independent Power Supply: IPS) มากขึ้น ทั้งในกลุ่มบ้านพักอาศัยและโรงงานอุตสาหกรรม หรือพื้นที่ที่มีหลังคาขนาดใหญ่ โดยประเมินว่าปีนี้จะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟราว 500 เมกะวัตต์ จากกว่า 100 เมกะวัตต์ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ใช้ไฟฟ้าให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิตมากขึ้น อีกทั้งต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยแผงโซลาร์ปรับลดลงมากจากในช่วงก่อนหน้านี้ โดยปัจจุบันมีต้นทุนอยู่ที่ราว 40 ล้านบาท/เมกะวัตต์

ทั้งนี้ตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ.2561-2580 จะมีการผลิตไฟฟ้าตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่มีเป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกับคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ในรูปแบบของ IPS เพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ คู่ขนานกันไป ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวจำนวนมาก จากเฉพาะที่ประเมินการลงทุนตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีมูลค่าราว 4 แสนล้านบาท ในช่วง 20 ปีข้างหน้า

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: