เสนอ 3 แนวทางตั้งโรงงานต้นแบบเชื้อเพลิงขยะ RDF

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 4442 ครั้ง

เสนอ 3 แนวทางตั้งโรงงานต้นแบบเชื้อเพลิงขยะ RDF

เสนอ 3 แนวทางตั้งโรงงานต้นแบบผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel หรือ RDF) โดยมีแนวโน้ม เลือกรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พร้อมพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้า SPP รองรับเชื้อเพลิง RDF ที่ผลิตได้ นัดประชุมอีกรอบเดือน ก.ค. 2562 คาดได้ข้อสรุปและจัดทำรายงานเสนออนุกรรมการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานในเดือน พ.ย. 2562 นี้ ที่มาภาพประกอบ: Energy News Center

Energy News Center อ้างแหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน รายงานว่าในการประชุมศึกษาการจัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel หรือ RDF) ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2562 ที่ผานมา โดย พพ. มีการนำเสนอ 3 แนวทาง สำหรับการจัดตั้งโรงงานผลิต RDF ได้แก่

1.ให้หน่วยงานภาครัฐ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ดำเนินการจัดตั้งโรงคัดแยกขยะ และโรงผลิต RDF เองทั้งหมด 2.ให้เอกชนและภาครัฐร่วมลงทุนโรงคัดแยกขยะ และโรงผลิต RDF แต่ให้ อบต.ต่างๆจัดส่งขยะให้ ซึ่งรูปแบบนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีปริมาณขยะไม่มากนัก และ 3. ให้เอกชนและภาครัฐร่วมลงทุนโรงคัดแยกขยะ และโรงผลิต RDF แต่ให้ อบต.ที่มีการจัดแบ่งงานเป็นหลายคลัสเตอร์ ดำเนินการเป็นแม่ข่ายรวบรวมขยะแล้วจัดส่งให้โรงคัดแยกขยะ และโรงหีบ RDF ต่อไป ซึ่งรูปแบบนี้เหมาะกับพื้นที่ที่มีบ่อขยะจำนวนมาก เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต เป็นต้น

โดยที่ประชุมมีแนวโน้มจะเลือกแนวทางที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นการร่วมดำเนินการระหว่างภาครัฐและเอกชน จึงคล่องตัวกว่าการดำเนินโดยภาครัฐทั้งหมด นอกจากนี้มีการพิจารณาว่าควรสร้างความต้องการใช้ RDF ให้เกิดขึ้นด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ตามพื้นที่ที่มีโรง RDF อยู่ เนื่องจากปัจจุบันเชื้อเพลิง RDF ยังมีราคาสูง หากนำไปจำหน่ายให้โรงไฟฟ้า SPP ที่เดินเครื่องอยู่ในปัจจุบัน หรือโรงงานปูน ถือเป็นเรื่องยาก เพราะ SPP ต่างมีเชื้อเพลิงที่ราคาถูกกว่า RDF อยู่แล้ว และโรงงานปูนสามารถจัดหา RDF ได้ในราคาถูกอยู่แล้ว ทั้งนี้ในส่วนของการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ RDF เป็นเชื้อเพลิงนั้น เป็นเรื่องของเอกชนที่ต้องดำเนินการเอง

อย่างไรก็ตามที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปที่จัดเจน เพราะต้องรอความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะประชุมร่วมกันอีกครั้งในเดือน ก.ค.2562 นี้ โดยจะมีหน่วยงานจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และ กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมประชุมด้วย เพื่อหาข้อสรุปว่าจะเลือกรูปแบบใดในการจัดตั้งโรง RDF และเลือกพื้นที่ใดเพื่อดำเนินการบ้าง เป็นต้น ทั้งนี้คาดว่าการประชุมครั้งต่อไปจะได้ข้อสรุปทั้งหมด จากนั้น พพ. จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อจัดทำเป็นรายงาน เสนอต่ออนุกรรมการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ในเดือน พ.ย. 2562 นี้

Energy News Center ยังรายงานว่าสำหรับการศึกษาดังกล่าวเกิดขึ้นจากคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้ พพ. ไปดำเนินการส่งเสริมชุมชนตั้งโรงงานต้นแบบผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel หรือ RDF) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยจัดการปัญหาขยะชุมชนและสร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน โดยขณะนั้นคณะกรรมการกองทุนฯ มีมติให้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวภายใน 6 เดือน ใช้งบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2562 (รอบ 2) ภายในวงเงิน 100 ล้านบาท สำหรับขยะ RDF คือ การนำขยะมูลฝอยที่ผ่านการคัดแยกแล้ว มาผ่านกระบวนการแปรรูปและจัดการต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมี ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงขยะ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: