ครบรอบสองปีหลังการอพยพออกจากประเทศของชาวโรฮิงญา ยังไม่มีการรับผิดชอบจากกองทัพ

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 5513 ครั้ง

ครบรอบสองปีหลังการอพยพออกจากประเทศของชาวโรฮิงญา ยังไม่มีการรับผิดชอบจากกองทัพ

ครบรอบสองปีหลังการอพยพออกจากประเทศของชาวโรฮิงญา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เตือนรัฐยะไข่ยังคงไม่ปลอดภัย เนื่องจากผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อความทารุณโหดร้ายยังไม่ถูกนำตัวมาลงโทษ

เนื่องจากมีความเสี่ยงว่า จะมีการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังคลาเทศไปเมียนมาอีกครั้ง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเตือนว่า รัฐยะไข่ยังคงไม่ปลอดภัย เนื่องจากผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อความทารุณโหดร้าย ยังไม่ถูกนำตัวมาลงโทษ สัญญาณที่เห็นได้ชัดเจนจากตัวผู้ลี้ภัยเอง เนื่องจากไม่มีบุคคลใดเลยที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของผู้อพยพกลับกลุ่มแรก ตามความเห็นชอบของรัฐบาลบังคลาเทศและเมียนมา ที่พร้อมใจเดินทางกลับตามกระบวนการในวันที่ 22 ส.ค. ซึ่งควรเป็นวันที่น่าจะมีการเริ่มต้นเดินทางกลับ

วันอาทิตย์นี้ (25 ส.ค. 2562) นับเป็นการครบรอบสองปี หลังปฏิบัติการของกองทัพเมียนมาในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กกว่า 740,000 คน ต้องหลบหนีออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ปฏิบัติการที่ทารุณโหดร้ายอย่างกว้างขวาง รุนแรงถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาจเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทั้งนี้ตามความเห็นของคณะผู้สอบสวนจากองค์การสหประชาชาติ

แม้นานาชาติจะแสดงความโกรธเคือง และแม้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จะมีมติให้หาตัวผู้รับผิดในเมียนมา แต่นายพลทหารซึ่งเป็นผู้สั่งการโจมตีทำร้ายชาวโรฮิงญา ยังคงดำรงตำแหน่งของตนต่อไป ในเดือนมกราคม 2562 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล บันทึกข้อมูลว่า กองทัพได้เริ่มปฏิบัติการครั้งใหม่ที่เป็นอาชญากรรมสงคราม ในระหว่างการสู้รบกับกองทัพชาวอาระกันในรัฐยะไข่

นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่าข้อเสนอล่าสุดของบังกลาเทศและเมียนมาให้ส่งกลับชาวโรฮิงญาหลายพันคน ทำให้เกิดความหวาดกลัวอย่างมากในค่ายผู้ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเหล่านี้ยังคงจดจำภาพการสังหาร การข่มขืน และการเผาหมู่บ้านได้ติดตา ในขณะที่กองทัพเมียนมายังคงทรงอิทธิพลและไม่เคยสำนึกเสียใจเช่นเดิม จึงไม่มีความปลอดภัยสำหรับบุคคลใด ๆ ที่ต้องการเดินทางกลับไปรัฐยะไข่

“วาระครบรอบที่ยังมืดมนนี้ เป็นสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนถึงความล้มเหลวของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการยืนหยัดต่อสู้เพื่อผู้ตกเป็นเหยื่อ และการนำตัวผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการทารุณโหดร้ายครั้งใหญ่มาลงโทษ คณะมนตรีความมั่นคงต้องส่งเรื่องที่เกิดขึ้นในเมียนมา เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน และให้ใช้มาตรการห้ามการซื้อขายอาวุธอย่างครอบคลุม”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: