ขยายพื้นที่ ‘เจาะบ่อบาดาล’ แก้วิกฤตภัยแล้ง งานวิจัยชี้เสี่ยงดินเค็ม

ทีมข่าว TCIJ: 25 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 12188 ครั้ง

คาดภัยแล้ง 2562-2563 วิกฤตหนัก รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ สั่งขยายพื้นที่ ‘เจาะบ่อน้ำบาดาล’ หลายที่ทยอยเจาะเพิ่มเติม ข้อมูล ก.ค.-ส.ค. 2562 มีบ่อถูกกฎหมายทั่วประเทศ 170,541 บ่อ บ่อราชการ 107,130 บ่อ เอกชน 63,411 บ่อ และบ่อสังเกตการณ์ระดับน้ำบาดาล 2,744 บ่อ ปริมาณน้ำบาดาลกักเก็บรวม 1,137,713 ล้าน ลบ.ม. งานวิจัยพบเจาะบาดาล ‘เสี่ยงดินเค็ม’ แนะวางแผนจัดการน้ำบาดาลอย่างเป็นระบบร่วมกับน้ำผิวดิน ที่มาภาพประกอบ: กรมทรัพยากรน้ำบาดาล

รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ สั่งขยายพื้นที่เจาะบ่อบาดาล

เมื่อต้นเดือน ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวภายหลังรับฟังการสรุปสถานการณ์แก้ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงน้ำหลากในบางจังหวัด จากว่าที่ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมทรัพยากรน้ำ, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้บูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ขุดเจาะบ่อบาดาลที่ จ.สุรินทร์ บริเวณบ้านพักของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งอยู่กันประมาณ 600 คน แต่ห่างจากตัวโรงพยาบาลไปประมาณ 3 กิโลเมตร ทั้งนี้จากการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์จากความลึกประมาณ 60 เมตร และคาดว่าจะได้น้ำ 100 คิวต่อวัน นอกจากนี้ยังได้เจาะบ่อบาดาลในบริเวณวัด โดยประสานกับทางเจ้าคณะจังหวัด ที่ อ.เมือง เนื่องจากชุมชนใกล้วัดนั้นขาดแคลนน้ำ ดังนั้นขอให้ประชาชนมานำน้ำตรงนี้ไปใช้ได้ ส่วนที่ จ.บุรีรัมย์ ดำเนินการสำรวจเพื่อขุดเจาะที่โรงพยาบาลลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ โดยประสานงานร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค

นายวราวุธ กล่าวอีกว่าได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้าสำรวจและขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ อบต.ต่าง ๆ เพื่อให้แต่ละแห่งมีบ่อบาดาลเป็นของตัวเอง  แต่อาจจะติดปัญหา จ.สุรินทร์ เป็นจังหวัดที่มีน้ำบาดาลเป็นน้ำเค็ม ซึ่งทางอธิบดีรายงานว่าการใช้น้ำเพื่อทำระบบประปาไม่ใช้น้ำจากน้ำบาดาล นอกจากพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซาก และในปีนี้กระทรวงฯ ได้เข้าไปทำแล้ว 17 หมู่บ้าน เพื่อให้มีระบบประปา

ส่วนปัญหาน้ำล้นที่อ่างเก็บน้ำมรสวบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายวราวุธ กล่าวว่าเป็นอ่างเก็บน้ำที่สร้างมานานตั้งแต่ปี 2539 อยู่ในภารกิจดูแลของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวง ทส. มีรอยรั่วที่คันดินและซ่อมแซมมาเป็นระยะ ด้วยอายุการใช้งานมานาน อาจซ่อมแล้วไม่คุ้ม อธิบดีฯ เสนอทำใหม่ และขยายความจุเพิ่มมากขึ้น จากเดิม 1.6 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 2 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ทั้งนี้ต้องส่งผู้เชี่ยวชาญไปสำรวจข้อเท็จจริงเพื่อทำการแก้ไขปัญหาก่อนที่จะสรุปแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่

“กระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาน้ำ ทั้งแล้งและหลาก ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาไม่แพ้กัน เราเร่งหาแหล่งน้ำให้กับเกษตรกร น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร ต้องค่อย ๆ แก้ไขปัญหา” นายวราวุธ กล่าว [1]

ทยอยเจาะบ่อบาดาลใหม่หลายแห่ง แก้วิกฤตภัยแล้ง

หน่วยทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ขุดเจาะน้ำบาดาลที่โรงพยาบาลสุรินทร์ จำนวน 8 บ่อ เพื่อนำน้ำดิบจากใต้ดินขึ้นมาผลิตน้ำประปา เมื่อต้นเดือน ส.ค. 2562 ที่มาภาพ: สยามรัฐ

โดยในช่วงต้นเดือน ส.ค. 2562 หลายพื้นที่ก็มีการเร่งเจาะบ่อน้ำบาดาล เช่น ต.หินดาด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะปีนี้เกิดฝนทิ้งช่วงระยะยาว ส่งผลกระทบต่อประชาชน ต.หินดาด ขาดน้ำอุปโภคบริโภค 2 หมู่บ้าน ซึ่ง อบต.หินดาด ได้ดำเนินการช่วยเหลือโดยการนำรถบรรทุกน้ำไปเติมถังน้ำประปาของหมู่บ้าน ตั้งแต่ 18 มิ.ย.เป็นต้นมา กว่า 1.4 ล้านลิตร นอกจากนี้ อบต.หินดาด ยังได้จ่ายขาดเงินสะสมว่าจ้างรถเจาะบ่อน้ำบาดาลไปทำการเจาะน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาหมู่บ้านเพิ่มอีกด้วย [2]

กองทัพภาคที่ 2 ร่วมกับสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 5 จ.นครราชสีมา ได้นำรถขุดเจาะน้ำบาดาลขนาดใหญ่มาทำการเร่งขุดเจาะน้ำบาดาลบริเวณโดยรอบอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ จำนวนกว่า 20 จุด เพื่อดึงน้ำบาดาลออกมาให้บริการประชาชนที่ขาดแคลนน้ำ รวมทั้งเพื่อไว้สูบดึงน้ำบาดาลลงไปเติมสมทบให้เป็นน้ำดิบภายในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงเพื่อผลิตน้ำประปา ซึ่งจากการยืนยันของโครงการชลประทานสุรินทร์ระบุว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ที่ประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม. สามารถใช้น้ำได้อีก 2 เดือนข้างหน้า (ก.ย.-ต.ค. 2562) [3] นอกจากนี้หน่วยทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ได้นำรถอุปกรณ์ขุดเจาะน้ำบาดาลที่โรงพยาบาลสุรินทร์ จำนวน 8 บ่อ เพื่อนำน้ำดิบจากใต้ดินขึ้นมาผลิตน้ำประปาให้บริการแก่โรงพยาบาลสุรินทร์ ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การให้บริการแก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลสุรินทร์ [4]

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ส่งนายช่างพร้อมเครื่องจักรขุดเจาะบ่อบาดาลและเครื่องเป่าลม มาทำการสำรวจเพื่อซ่อมแซมบ่อบาดาล ที่โรงพยาบาลวิเชียรบุรี อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ที่เริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้อุปโภคบริโภค มาตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. 2562 รวมทั้งทำการเจาะบ่อน้ำบาดาลใหม่ที่ความลึกประมาณ 100 เมตร [5]

นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวว่าชาวนาใน อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ได้ใช้เงินลงทุนว่าจ้างผู้รับเหมาขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลใต้ดินลึกกว่า 60 เมตร เพื่อสูบน้ำขึ้นมาล่อเลี้ยงต้นข้าวนาปีที่กำลังขาดน้ำ หลังน้ำที่ทำการกักเก็บไว้ไม่เพียงพอ หวั่นต้นข้าวที่ปลูกล้มตายหมด [6] เป็นต้น

ไทยมีบ่อน้ำบาดาลกว่า 170,541 บ่อ น้ำบาดาลกักเก็บรวม 1,137,713 ล้าน ลบ.ม.

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ณ วันที่ 19 ส.ค. 2562 ระบุว่าปัจจุบันในไทยมีบ่อน้ำบาดาลทั้งประเทศ จำนวน 170,541 บ่อ แบ่งเป็นบ่อราชการ 107,130 บ่อ บ่อเอกชน 63,411 บ่อ และบ่อสังเกตการณ์ระดับน้ำบาดาล 2,744 บ่อ

โดยแผนโครงการกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ปี 2562 จำนวน 1,928 โครงการ แผนโครงการน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 999 แห่ง แบ่งเป็น โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับระบบประปาหมู่บ้าน 548 แห่ง, โครงการสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียน (ขนาดใหญ่) 146 แห่ง, โครงการสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียน (ขนาดเล็ก) 285 แห่ง และโครงการจัดหาแหล่งน้ำในพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก 54 แห่ง ส่วนแผนโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร จำนวน 895 แห่ง แบ่งเป็นโครงการน้ำเกษตรแบบจุ่มใต้น้ำ 454 แห่ง, โครงการน้ำเกษตรแบบเทอไบน์ 143 แห่ง และโครงการน้ำเกษตรแบบพลังแสงอาทิตย์ 298 แห่ง ซึ่งปริมาณน้ำที่คาดว่าจะได้รับ 44 ล้าน ลบ.ม./ปี ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 41,760 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์ 129,097 ครัวเรือน [7]

นอกจากนี้ ข้อมูลที่เปิดเผยในปลายเดือน ก.ค. 2562 ระบุว่าสถานการณ์น้ำบาดาลของประเทศไทย มีปริมาณน้ำบาดาลกักเก็บรวม 1,137,713 ล้าน ลบ.ม. เมื่อแบ่งเป็นรายภาคพบว่าภาคกลางมีปริมาณน้ำบาดาลที่กักเก็บสูงสุด 412,856 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36.3 ของปริมาณกักเก็บรวม, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 241,312 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21.2, ภาคใต้ 199,779 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 17.6, ภาคเหนือ 166,860 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 14.7, ภาคตะวันตก 63,710 ล้าน ลบ.ม. และภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำบาดาลที่กักเก็บน้อยสุดที่ 53,197 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 4.7 [8]

งานวิจัยพบเจาะน้ำบาดาลเสี่ยงดินเค็ม

แม้การเจาะบ่อบาดาลจะช่วยเหลือประชาชนได้เฉพาะหน้า แต่มักจะมีปัญหา ‘น้ำบาดาลเค็ม’ ไม่สามารถนำไปใช้อุปโภคบริโภคและเพาะปลูก สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอย่างมากโดยเฉพาะในภาวะที่ฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง

ก่อนหน้านี้เมื่อ ก.ค. 2562 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ระบุว่าแม้จะเข้าสู่ฤดูฝน แต่ในปีนี้หลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสานของไทยประสบภาวะภัยแล้งอย่างหนัก เช่นที่ จ.นครราชสีมา แล้งสุดในรอบ 50 ปี จากภาวะฝนทิ้งช่วง ที่ขอนแก่นแหล่งน้ำผิวดินอยู่ในสภาพแห้งหมดอ่าง แนวทางแก้ที่ผ่านมาคือการใช้น้ำบาดาลเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะระบบประปาหมู่บ้าน ดังนั้นทุกครั้งที่เกิดภัยแล้งสิ่งที่รัฐทำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง คือ การแจกงบประมาณปูพรมเจาะบ่อบาดาลช่วยเหลือประชาชนแบบเฉพาะหน้า แต่ปัญหา ‘น้ำบาดาลเค็ม’ ที่เกิดขึ้นมีมาช้านาน ทำให้เกิดข้อจำกัดในการพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ แถมน้ำผิวดินบางช่วงก็เกิดปัญหาความเค็มด้วย เช่นกรณีลำน้ำมูลและลำน้ำสาขาแห้งแถมเค็ม และอีกหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำบาดาลที่เคยใช้กลายเป็นน้ำเค็ม ไม่สามารถนำไปใช้อุปโภคบริโภคและเพาะปลูกต่อไปได้ สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอย่างมากโดยเฉพาะในภาวะที่ฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง

แล้วสาเหตุอะไรที่ทำให้น้ำบาดาลเค็ม ? 

เป็นที่มาของ ‘โครงการแนวโน้มผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการใช้ที่ดินต่อศักยภาพการพัฒนาน้ำบาดาลในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง’ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อวางแผนการบริหารจัดการที่ดินและการพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้ในอนาคต ให้มีทรัพยากรน้ำบาดาลใช้ได้อย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานคู่ขนานบนฐานข้อมูลเดียวกับการศึกษาแนวโน้มการแพร่กระจายดินเค็มในอนาคตในช่วง 10 ปี 20 ปี และ 30 ปีข้างหน้า บนพื้นที่ปลูกข้าวสำคัญของ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง ผลการศึกษาที่ได้อยู่ในรูปแบบของแผนที่ศักยภาพน้ำบาดาล แผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงต่อการใช้น้ำบาดาล และแผนที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำขัง-ดินเค็ม โดยใช้แบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์

ใช้น้ำบาดาลจนเกินสมดุล เป็นสาเหตุการกระจายตัวของน้ำบาดาลเค็มในอนาคต

ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่าเนื่องจากพื้นที่ภาคอีสานมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝนและการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ซึ่งมีผลต่อระบบอุทกธรณีวิทยาและมีผลต่อปริมาณการเพิ่มเติมน้ำบาดาล สมดุลน้ำบาดาลและศักยภาพน้ำบาดาล การกระจายความเค็มในน้ำบาดาลและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดินเค็มในอนาคต ดังนั้นเพื่อให้มีทรัพยากรน้ำบาดาลใช้ได้อย่างยั่งยืน และอาจช่วยให้เข้าใจถึงความเสี่ยงในการขยายตัวของพื้นที่น้ำบาดลขัง-ดินเค็ม โครงการวิจัยนี้ มีเป้าหมายเพื่อประเมินศักยภาพทรัพยากรน้ำบาดาลและประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดขึ้นน้ำขัง-ดินเค็มในลุ่มน้ำห้วยหลวง ในปัจจุบันและอนาคตภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การใช้ที่ดิน และการใช้น้ำในอนาคต  คาดหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล ทรัพยากรน้ำ และพื้นที่ดินเค็ม ได้นำผลการศึกษาไปใช้ในการวางแผนการจัดการทรัพยากรน้ำ ดิน และการใช้ที่ดินได้อย่างเหมาะสมในอนาคต โดยมีพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงเป็นพื้นที่ต้นแบบในการศึกษาพื้นที่อื่นต่อไป

ลุ่มน้ำห้วยหลวงเป็นลุ่มน้ำที่อยู่ในภาคอีสาน ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งภาคอีสาน โดยลุ่มน้ำห้วยหลวงครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3,900 ตร.กม. อยู่ในเขต จ.อุดรธานี จ.หนองบัวลำภู และ จ.หนองคาย พื้นที่ประกอบด้วยภูเขา พื้นที่ลูกคลื่นลอน และที่ราบลุ่ม มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 160-200 เมตร โดยพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงรองรับด้วยกลุ่มหินโคราช ที่มีหน่วยหินมหาสารคามรองรับอยู่ ซึ่งเป็นชั้นหินที่มีเกลือหินแทรกตัวอยู่ พื้นที่บางแห่งจึงพบน้ำบาดาลเค็ม โดยเฉพาะบริเวณที่มีชั้นเกลือหินแทรกตัวในระดับตื้นๆ ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงมีข้อจำกัดในการพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ หากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือมีการพัฒนาใช้น้ำบาดาลจนเกินสมดุล หรือเกินศักยภาพของแหล่งน้ำบาดาลอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการรุกตัวหรือกระจายตัวของน้ำบาดาลเค็มในอนาคต           

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน บอกว่าการทำวิจัยที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง มี 2 ประเด็นที่สนใจ คือ ปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ และประเด็นการกระจายตัวของน้ำเค็มในอนาคตภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนปลายบริเวณที่บรรจบกับลุ่มน้ำโขงฝนมาก แต่ตอนที่ลึกเข้ามาในแผ่นดินไปทางจังหวัดอุดรธานีและหนองบัวลำภู จะค่อนข้างแห้งแล้ง           

“ภาพรวมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ พื้นที่น้ำเค็มจะกระจายตัวมากขึ้น แต่ความเค็มจะลดลง เปรียบกับไข่แดง ไข่แดงจะลดลง แต่ไข่ขาวจะใหญ่ขึ้น พื้นที่น้ำบาดาลเค็มไม่มากขยายตัวขึ้น แต่เอาน้ำมาใช้ไม่ได้มากขึ้น ขณะที่พื้นที่เค็มจัดๆ จะลดลง”  

บ่อเถื่อนที่ไม่อยู่ในระบบ สร้างปัญหาในการคำนวณ

ดร.โพยม  กล่าวว่า “ ข้อเท็จจริงคือในภาคอีสาน ถ้าใช้น้ำบาดาลเยอะ ปัญหาแรกที่จะเจอคือ น้ำเค็มเข้า ต่างจากกรุงเทพฯถ้าใช้น้ำบาดาลมาก ดินจะทรุดแล้วน้ำเค็มค่อยเข้า เพราะกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนเดินเหนียวอ่อน เมื่อสูบน้ำจากดินจะเป็นน้ำบาดาลในตะกอน มันพร้อมจะยุบตัวถ้าเกิดความดันใต้ดินลดลง แต่ในอีสานเป็นน้ำบาดาลในหิน การสูบน้ำในหินไม่ได้ทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดิน แต่เกลือที่อยู่ใต้หินที่เราใช้น้ำ มันมีความเค็ม พร้อมที่จะกระจายความเค็มหรือค่าคลอไรด์เข้ามาในบ่อบาดาล แล้วจะใช้ไม่ได้ เราจะเห็นว่าบ่อบาดาลในภาคอีสานเป็นบ่อทิ้งร้างจำนวนมาก เจาะกันใช้ปีเดียว พอปีหน้าน้ำเค็มเข้าก็ใช้ไม่ได้ ต้องหาที่เจาะใหม่ไปเรื่อยๆ

ข้อมูลสำคัญที่เราไม่รู้คือ ปริมาณการใช้น้ำบาดาลที่แท้จริง เพราะว่าตอนนี้มีบ่อที่ไม่ได้อยู่ในระบบทะเบียน เป็นบ่อเถื่อนที่เราไม่รู้ อยู่ในป่าอ้อย ในบ้าน ในวัด ในโรงเรียน และอีกหลายๆ ที่ที่เราไม่รู้ว่ามีการเจาะอยู่ตรงไหน เจาะลึกเท่าไร และสูบน้ำขึ้นมาใช้เท่าไร อย่างในแอ่งแถวอีสานมีที่เรารู้ประมาณร้อยละ 10 อีกกว่าร้อยละ 80 เราไม่รู้ เราจะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาอย่างไรแล้วบริหารจัดการอย่างไร เป็นปัญหาใหญ่ในตอนนี้”     

ผลการทดลอง พบน้ำเค็มมากบริเวณที่มีเกลือใกล้ผิวดิน

สำหรับการศึกษาวิจัยครั้งนี้ นอกจากข้อมูลเรื่องน้ำบาดาล ดร.โพยม บอกว่า สิ่งที่ได้มีการทดลองเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือ การศึกษาทดลองหาค่าการแพร่กระจายของมวลสาร (Dispersivity) ในน้ำบาดาล เพราะค่านี้เป็นค่าที่ชี้ว่าน้ำบาดาลเค็มแพร่กระจายไปเร็วหรือช้าแค่ไหน บริเวณน้ำบาดาลที่เราใช้จะอยู่ในหินชั้นบน เป็นหินที่เราใช้น้ำเป็นน้ำจืด แต่ถ้าเราเจาะลึกเกินไปนิดหน่อยจะพบว่าเป็นน้ำเค็ม เนื่องจากเกลือในอีสานมีเยอะมากและหนามาก

บริเวณที่เราพบว่ามีน้ำเค็มมาก คือ บริเวณที่มีเกลือใกล้ผิวดิน เพราะฉะนั้นนอกจากความลึก ความหนาของเกลือเหล่านี้ ระบบการไหลของน้ำบาดาลก็คือส่วนสำคัญเพราะน้ำบาดาลไหลพาเกลือไป เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ฝนตกน้อยหรือมาก การไหลพาเกลือไปจึงมีการเปลี่ยนแปลงด้วย ขณะเดียวกันถ้าปีไหนแล้งติดต่อกันนาน เรายิ่งใช้น้ำบาดาลมาก ทำให้ต้นทุนของน้ำบาดาลยิ่งน้อยลง น้ำเค็มก็จะยิ่งขึ้นมา นี่เป็นปัญหาใหญ่ในช่วงหน้าแล้ง ยิ่งแล้งติดต่อกันหลายๆ ปี ยิ่งมีผลกระทบมาก

จากการศึกษาชั้นดินชั้นหินทางธรณีวิทยาและการประเมินปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ได้อย่างยั่งยืน (Sustainable yield) โดยใช้แบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์ ทำให้ทราบว่า บริเวณไหนเกลืออยู่ตื้น-ลึกขนาดไหน น้ำบาดาลตรงไหนเค็มมาก เค็มน้อย ถ้าต้องการจะพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ควรจะไปใช้ตรงไหนและใช้ได้เท่าไรในสภาวะไหน ถ้ามีฝนปริมาณนี้ใช้น้ำได้ประมาณไหน โดยใช้สภาพภูมิอากาศในอนาคตมาจำลองว่าน้ำในอนาคตจะไหลลงไปใต้ดินเท่าไร และจะไหลพาเอาความเค็มไปทางไหน โดยใช้สัญญาลักษณ์สีเป็นตัวกำกับความเค็ม อาทิ สีฟ้า คือน้ำจืด สีเขียว คือน้ำกร่อย สีแดง คือเค็ม พบว่า พ.ศ. 2580 - 2590 พื้นที่ตรงที่ไม่เคยแดงก็จะแดง โดยเฉพาะแถวอำเภอกุดจับ ความเค็มจะมากขึ้น       

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน ยอมรับว่า “การใช้แบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือประเมินศักยภาพน้ำบาดาล เปรียบไปไม่ต่างกับการทำนายภูมิอากาศ เพราะเป็นผลกระทบของภูมิอากาศอีกต่อหนึ่ง เราจะสามารถวาง แผนได้ว่าควรจะไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรือจะไปทำอะไร เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และ เกษตรกร จะได้เข้าใจว่าถ้าเราจะขยายพื้นที่ชลประทานหรือขยายนาข้าว ควรจะพิจารณาตรงไหนเป็นพื้นที่ที่ควรขยาย หรือ หลีกเลี่ยงอะไร อย่างไร ขณะเดียวกัน ถ้าเรารู้จักการบริหารจัดการ พื้นที่ที่บอกว่าจะเค็มในอนาคตอาจจะไม่เค็มก็ได้”

นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยยังพบว่า พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำขัง-ดินเค็ม ในพื้นที่ จ.อุดรธานี ได้แก่ ตำบลเชียงยืน ตำบลปะโค ตำบลกุดสระ และในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ.2570 จะขยายตัวจากเดิมไปในพื้นที่ ต.สามพร้าว และ ต.นาข่า กลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำขัง-ดินเค็มเพิ่มขึ้น ดังนั้นการพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้พื้นที่ ต้องมีการเฝ้าระวังระดับน้ำบาดาลและความเค็มของน้ำบาดาล ต้องมีการวางแผนไม่ให้เกิดการใช้น้ำบาดาลเกินศักยภาพตามปริมาณการใช้ตามสภาพภูมิอากาศและการใช้ดินที่เปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม  เพื่อป้องกันการแทรกตัวของน้ำบาดาลเค็ม เข้ามาในบ่อบาดาลที่มีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้น้ำบาดาลเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นแหล่งของน้ำอุปโภคและบริโภค รวมทั้งน้ำดื่ม น้ำแร่สารพัดยี่ห้อ กระทั่งประปาหมู่บ้านล้วนแล้วแต่อาศัยแหล่งน้ำจากใต้ดินทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีการนำเรื่องน้ำบาดาลมาอยู่ในแผนที่เดียวกับแหล่งน้ำผิวดินในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเรื่องนี้ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน ยอมรับว่า การบริหารจัดการน้ำนั้นต้องทำทั้งน้ำบนดินและน้ำบาดาล ที่ผ่านมาการวางแผนน้ำส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องแผนการจัดการน้ำผิวดิน ทั้งๆ ที่มีพื้นที่ๆ พึ่งพาการใช้น้ำบาดาลเป็นหลักจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำบาดาล ประเทศไทยเราตอนนี้จึงกำลังดำเนินการเรื่อง Groundwater Governance อยู่อย่างเร่งด่วน โดยมีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็น Regulator

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] “วราวุธ” สั่งขยายพื้นที่เจาะบ่อบาดาล แก้วิกฤติภัยแล้ง (สำนักข่าวไทย, 13 ส.ค. 2562)
[2] รอง ผวจ.โคราช รุดแก้ภัยแล้ง อ.ด่านขุนทด เร่งฟื้นฟูบ่อบาดาลใช้ทำประปา (ไทยรัฐออนไลน์, 8 ส.ค. 2562)
[3] เร่งแก้วิกฤติภัยแล้งขุดเจาะ 20 บ่อบาดาล (คมชัดลึก, 17 ส.ค. 2562)
[4] หน่วยทหารพัฒนาเร่งขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล 4 บ่อ ภายใน รพ.สุรินทร์ (บ้านเมือง, 13 ส.ค. 2562)
[5] ขุดเจาะบ่อบาดาลลึก 100 ม. แก้ปัญหา “รพ.วิเชียรบุรี” ขาดน้ำ (NewTV18, 13 ส.ค. 2562)
[6] ทนภัยแล้งไม่ไหวจ้างช่างขุดบ่อน้ำบาดาล (สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 14 ส.ค. 2562)
[7] สรุปรายงานสถานการณ์ประจำวัน วันจันทร์ที่ 19 ส.ค. 2562 (กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, 19 ส.ค. 2562)
[8] สถานการณ์น้ำบาดาลของประเทศไทย (กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, 22 ก.ค. 2562)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: 9 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการเจาะบ่อน้ำบาดาล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: