อำนาจรัฐฤาสร้างมายาคติ ชาวนาคือตัว ‘ปัญหา’

อาทิตย์ ภูบุญคง | นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | TCIJ School รุ่น 6 | 25 ต.ค. 2562 | อ่านแล้ว 5701 ครั้ง

ชาวนาคือตัวแสดงทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างมากในสังคมไทย เห็นได้จากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  มีการนำชาวนาและนโยบายจำนำข้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของข้ออ้างในการทำรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาล จนถึงขั้นที่อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ รวมถึงคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายจำนำข้าวได้ถูกตัดสินจำคุกหลายปี ไม่เพียงเท่านั้น หลังเหตุการณ์นี้ชาวนาและนโยบายข้าวยังได้ถูกนำมาใช้เป็นประเด็นทางการเมืองสืบเนื่องเรื่อยมา ที่มาภาพประกอบ: Voice TV

กระนั้น ชะตากรรมของชาวนายังคงดำเนินต่อไป ซึ่งในยุค คสช. ได้เกิดปัญหาราคาข้าวตกต่ำอย่างมากในรอบหลายปี สะท้อนให้เห็นจากคำบอกเล่าของผู้ที่เป็นทั้งนักวิชาการและชาวนาในเวลาเดียวกันอย่าง รศ. ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้สัมภาษณ์ผู้เขียนไว้ว่า “โรงสีรับซื้อข้าวอยู่ที่ประมาณ 7,000 ถ้าเกี่ยวสดจากนามันต่ำกว่านี้อยู่แล้ว เพราะถูกหักความชื้น เหลือประมาณที่ชาวบ้านบอก 5,000-6,000 นี่คือสภาพที่เป็นอยู่ คือวิกฤติราคาที่ต่ำมาก มันตกลงไปแทบจะสุดแล้ว [1]

ในการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำดังกล่าว  คสช. ได้มีการกำหนดนโยบายออกมามากมาย แต่ราคาข้าวยังคงอยู่ในระดับที่ตกต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้า นอกจากนโยบายที่ทยอยออกมาแล้ว คสช. ยังมีการสร้างมายาคติ (myth) ต่อชาวนา โดยหัวหน้าคณะ คสช. นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการพูดผ่านสื่อต่างกรรมต่างวาระ ที่มีลักษณะให้ภาพและชักจูงว่า ชาวนาคือภาระ ชาวนาคือตัวปัญหาที่รัฐบาลต้องแบกรับและใช้ทรัพยากรของชาติไปช่วยเหลือสงเคราะห์อยู่เสมอ เราลองมาดูว่า มายาคติที่ทำให้ชาวนากลายเป็นปัญหาของประเทศนี้ มีอะไรบ้าง

ราคาข้าวตกต่ำเพราะมีข้าวล้นตลาด ?

คสช.ชี้ว่าต้นเหตุของปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เป็นเพราะปริมาณข้าวมีมากกว่าความต้องการซื้อของประชาชนหรือที่เรียกว่า กฎของอุปสงค์อุปทาน นั่นเอง  โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้กล่าวผ่านรายการ’คืนความสุข’ว่า “ปัญหาที่สำคัญในเรื่องการเกษตรเหล่านี้ก็คือเรื่องความสมดุล ดีมานด์ ซัพพลาย วันนี้เรายังลดพื้นที่บางอย่างไม่ได้ พืชบางอย่างปลูกมากเกินไป ราคาตก ก็ต้องลดพื้นที่ลง โดยการเอามาทำเป็นมูลค่าเพิ่มเพื่อชดเชยอนาคต เราจะต้องลดพื้นที่เหล่านั้นลงไปให้ได้ ไม่งั้นเกษตรกรก็แย่ลงทุกวัน วันนี้ก็สงสารเค้า น่าเห็นใจเค้า” [2]

โดยที่พลเอกประยุทธ์ ยังได้กล่าวอีกว่า “อยากให้เกษตรกรเรียนรู้ตลาดทั้งในและต่างประเทศมากกว่าปลูกข้าวอย่างเดียว ข้าวต่างประเทศมีการพัฒนาพันธุ์คล้ายเรา และหลายประเทศปลูกเหมือนกันหมด ถือเป็นสิ่งที่อันตรายเพราะปลูกมากราคาน้อยลง... [3] 

ในประเด็นนี้ ชาวนานักวิชาการอย่าง รศ. ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวไว้ในเว็บไซต์ของ  way magazine [4] ว่า “ถามว่าจะเปลี่ยนอย่างไร เปลี่ยนทันที เปลี่ยนแบบว่า พวกคุณทำไมยังปลูกข้าวอย่างนี้อยู่ ทั้งที่ราคามันต่ำ ทำไมคุณไม่ไปขายปุ๋ย หรือว่าไปปลูกหมามุ่ย คือพูดแบบนี้มันพูดแบบไม่รับผิดชอบเลยนะครับ เพราะสิ่งที่รัฐบาลทุกๆ สมัย หรืออาจจะเรียก ‘รัฐ’ พากันมาถึงจุดนี้ ช่วงหนึ่งคุณก็ส่งเสริม พอส่งออกได้เยอะคุณก็เก็บต๋ง ขูดรีดมูลค่าส่วนเกินของชาวนา เอาไปพัฒนาเศรษฐกิจอะไรมากมาย เก็บค่าพรีเมียมอะไรต่างๆ วันดีคืนดีคุณบอก ทำไมคุณปลูกในสิ่งที่ราคาถูก อย่างนี้ไม่ได้

ฉะนั้น การที่ คสช. ชี้ว่าสาเหตุปัญหาราคาข้าวตกต่ำว่าเกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างความต้องการซื้อกับความต้องการขาย (อุปสงค์กับอุปทาน)  จึงเกิดเป็นคำถามอย่างมากว่าเป็นเพียงข้ออ้างที่เลื่อนลอยหรือไม่ ซึ่งเมื่อเราไปดูรายละเอียดความต้องการซื้อข้าวทั้งในประเทศและนอกประเทศ กลับพบว่ามีมากพอสมควร ดังที่หอการค้าไทย [5] ได้แสดงสถิติการส่งออกสินค้าด้านเกษตรกรรมของไทยในปี พ.ศ. 2561 (ม.ค.-พ.ย.) ปรากฏว่าอันดับหนึ่งคือ ข้าว โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 163,130.36 ล้านบาท ตามมาด้วยอันดับสองคือยางพารา มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 136,444.59 ล้านบาท 

อีกทั้งเมื่อไปดูปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  ที่จัดทำเป็นสถิติเปรียบเทียบในแต่ละปีไว้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่าการส่งออกข้าวในยุคคสช.ได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเมื่อเราลองเปรียบเทียบระหว่างช่วงเวลาก่อนและหลังการรัฐประหาร โดยในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดือนที่ส่งออกข้าวมากสุดคือเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 คือปริมาณอยู่ที่ 1,012,703,721 กิโลกรัม มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 17,529,010,093 บาท  ขณะที่หลังรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 มีปริมาณการส่งออกข้าว 1,493,823,396 กิโลกรัม และมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 22,359,421,191 บาท

เมื่อนำปริมาณการส่งออกของทั้งสองเดือนข้างต้นมาลบกันเพื่อชี้ให้เห็นปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในยุคคสช. ในเบื้องต้นผลปรากฏ ระยะห่างระหว่างเดือนที่ส่งออกข้าวมากที่สุด (สิงหาคม 2554 ยุคเพื่อไทยกับ พฤศจิกายน 2560 คสช.) อยู่ที่ 481,119,675 กิโลกรัม ส่วนระยะห่างของมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4,830,411,098 บาท

โดยที่ภาพรวมของการส่งออกข้าวในแต่ละปีของประเทศไทยตั้งแต่ยุครัฐบาลเพื่อไทยถึงยุคคสช. สามารถแสดงให้เห็นผ่านกราฟที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้รวบรวมไว้ [6] ดังนี้

เห็นได้ชัดว่ายุคสช. ความต้องการซื้อข้าวของไทยก็มีมากโดยเฉพาะความต้องการซื้อข้าวจากต่างประเทศ ดังที่ตัวเลขการส่งออกได้ชี้ให้เห็น ด้วยเหตุนี้มายาคติการที่ว่าราคาข้าวตกต่ำเพราะปลูกเยอะคนซื้อน้อยเป็นสิ่งที่ชวนตั้งคำถามอย่างยิ่ง

มายาคติ ประชานิยมคือยาฝิ่นของชาวนา

เพื่อที่จะปูทางไปสู่ความพยายามส่งเสริมให้ชาวนาลดการพึ่งพาจากรัฐ  คสช. ได้มีการสร้างภาพให้เห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับนโยบายข้าวที่รัฐบาลชุดก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่าคือสิ่งที่ทำให้ชาวนาไม่รู้จักพึ่งพาตนเองกลายเป็นการติดนิสัย ดังที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวไว้ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 ว่า “ถ้าแก้ปัญหาด้วยการซับสิไดซ์ (การสงเคราะห์เงิน) ไปตลอด มันก็คือความไม่ยั่งยืนนะ คงแก้ได้เพียงปีเดียวแหละ การจ่ายเงินก็จ่ายได้ครั้งเดียว พอครั้งต่อไปก็จ่ายยากแล้วนะ มันจะกลายเป็นการเพาะนิสัย[7]

ที่มาภาพ chanvity (CC0 Public Domain)

โดยที่ ผศ.ดร. ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์เพื่อชี้ให้เห็นถึงมายาคติที่มีต่อชาวนาที่ คสช. สร้างขึ้นในช่วงที่ขึ้นสู่อำนาจ คือการพยายามบอกว่านโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาวนา ว่า

“ชาวนาควรจะต้องเป็นอาชีพที่อยู่ในกรอบแนวคิดแบบที่ควรจะต้องรู้จักกินรู้จักใช้ เขา (คสช.) พยายามชี้ให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลชุดก่อนโดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทย ทำให้ชาวนาฟุ้งเฟ้อ โครงการรับจำนำข้าวที่แจกเงินให้กับชาวนาทำให้ชาวนาฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายเกินตัว เพราะฉะนั้นนโยบายที่ดีควรจะต้องเป็นนโยบายที่ช่วยเหลือชาวนาในลักษณะที่พอประมาณ ในลักษณะที่พอกินพอใช้ ช่วยในระดับหนึ่งที่พออยู่ได้ พยายามเรียกร้องชาวนาว่าต้องเห็นใจว่าการช่วยเหลือชาวนาเป็นไปได้ในระดับหนึ่ง ไม่สามารถทำได้เยอะเหมือนในอดีต เพราะในอดีตเป็นนโยบายที่ทำให้หลงมัวเมาไปกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดทำให้คุณใช้เงินภาษีของประชาชนมาใช้จ่ายในทางที่ไม่ถูกต้อง” 

เมื่อมีชุดความคิดที่มองว่าปัญหาของชาวนามาจากติดฝิ่นนโยบายประชานิยมของรัฐบาลก่อนหน้า ทางออกที่ คสช. เสนอคือการกลับไปที่ตัวของชาวนาเอง โดยการมุ่งเน้นส่งเสริมให้ชาวนารู้จักปรับตัวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ดังที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวว่า “สำหรับเรื่องเศรษฐกิจระดับฐานราก ผู้มีรายได้น้อย รัฐพยายามช่วยเหลือและแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเกษตรกร อาชีพอิสระ แรงงาน ผู้ที่ปรับเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิถีการผลิต เพิ่มความขยันขันแข็ง อดทนโอกาสจะมีอยู่เสมอ เว้นแต่หากท่านอยากสบาย ไม่ต้องทำงานมาก เกียจคร้าน ไม่อดทน ไม่เปลี่ยนแปลงแล้วต้องการรายได้ที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องช่วยตลอดเวลา คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง อย่าไปหลงเชื่อวาทกรรม การบิดเบือน และการสร้างความเข้าใจผิด ๆ อีกต่อไป” [8]

ในขณะที่ รศ. ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง ได้ชี้ให้เห็นอีกมุมที่ตรงกันข้ามกับทัศนะและข้อเสนอของ คสช. โดยกล่าวว่า ถ้าไปดูที่ทุ่งนาก็จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของชาวนาด้วยตัวเอง “ที่บ้านผมเป็นที่สหกรณ์มีอยู่ 20 ไร่ ก็อาจจะปรับมาสัก 2-3 ไร่เพื่อปลูกพืชล้มลุก หอม ผักชีฝรั่ง หรือ นาบัว นาผักบุ้ง เต็มไปหมด มีสตางค์หน่อยก็เปลี่ยนเป็นนากุ้ง ถ้าจะเป็นแบบนั้นต้องมีทุนสูง มีสตางค์ ชาวนาต้องปรับตัว ด้นชีวิตกันไปอย่างนั้น” [9]

จินตนาการถึงสังคมชาวนาแบบดั้งเดิม

การที่ คสช. บอกว่าทางแก้ปัญหาชาวนาที่สำคัญคือการกลับมาที่ตัวชาวนาเอง แสดงให้เห็นถึงตัวตนของชาวนาที่ คสช. อยากให้เป็นนั่นก็คือ การกลับไปหาสังคมชาวนาแบบดั้งเดิม

ดังที่ ผศ.ดร. ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ กล่าวว่า คสช. พยายามสร้างมายาคติผ่านรายการคืนความสุข โดยมุ่งฉายภาพให้เห็นถึงวิถีของชาวนาแบบในอดีต ช่วยกันเกี่ยวข้าว มีวัฒนธรรมชุมชน รู้รักสามัคคี เหล่านี้คือสิ่งที่ คสช. ในช่วงที่ผ่านมาพยายามทำ คือชาวนาในอดีตมีลักษณะแบบนี้ ปลูกข้าวลงแขก ทำนาด้วยกัน สังคมชนบทเป็นสังคมสงบอยู่อย่างพอกินพอใช้

“ย้อนภาพว่าชาวนาเป็นกลุ่มคนที่รัฐจะต้องคอยอุ้มชูดูแล ไม่อยากให้ลืมตาอ้าปาก ไม่อยากให้เป็นกลุ่มคนที่เป็นอิสระหรือมีความเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือมีการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นภาพที่ออกมาคือชาวนาน่ารัก ชาวนาอยู่ในชุมชนเล็กๆ หากินอย่างพอดิบพอดี พอมีพอกิน ไม่สะสม”

ผศ.ดร. ธนพันธ์  ยังได้เพิ่มเติมความเห็นประเด็นนี้ว่า ในความเป็นจริงแล้วสังคมชาวนาไม่ใช่แบบนั้น แต่เป็นอย่างที่อาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวไว้ คือชาวนาไม่ได้ลงแขกมานานมาก เขาจ้างแรงงานทำนามาโดยตลอดหลายสิบปี รวมไปถึงเอาเข้าจริงๆ แล้ว การมองว่าชาวนาเป็นแบบอดีตเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับงานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าชาวนาไทย ชนบทไทย เปลี่ยนแปลงไปแล้ว  และเป็นสังคมที่เข้าสู่ระบบตลาดมานานมากแล้ว

 

ข้อมูลอ้างอิง

[1] 10 คำถามเรื่องข้าว กับ ประภาส ปิ่นตบแต่ง (Way Magazine, 5 พ.ย. 2559)

[2] รายการคืนความสุขให้คนในชาติ วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2559 (สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน, ม.ป.ป.)

[3] “ประยุทธ์” พบชาวนาแก้ปัญหาข้าวแขวะ จำนำต้องไม่เป็นภาระประเทศ (เวิร์คพอยท์, 8 มิ.ย. 2561)

[4] 10 คำถามเรื่องข้าว กับ ประภาส ปิ่นตบแต่ง (Way Magazine, 5 พ.ย. 2559)

[5] สินค้าส่งออกสำคัญของไทย (การค้าไทย, ม.ป.ป.)

[6] สถิติการส่งออก (Export) (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, ม.ป.ป.)

[7] เกษตรกร-ชาวนา ภายใต้การผลิตสร้างความหมายของนายกรัฐมนตรีผ่านรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” (ประชาไท, 13 พ.ค. 2560)

[8] ประยุทธ์ชี้ผู้มีรายได้น้อยหากไม่เปลี่ยนตนเอง เกียจคร้าน รอ รบ.ช่วยตลอด คงเป็นไปไม่ได้ (ประชาไท, 13 พ.ค. 2560)

[9] ความล้มเหลวของโรงรัฐจำนำ: ผ่ากลไกนโยบายช่วยเหลือชาวนา (Way Magazine, 27 ส.ค. 2560)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: