วิสกี้ เบียร์ วอดก้า สาโท เหล้าขาว และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุกชนิดบนโลกล้วนเกิดมาจากพืชพันธุ์ต่างๆ บนโลก ที่หลายอย่างเกิดขึ้นจากความบังเอิญของมนุษย์และการเป็นภูมิปัญญาในการผลิตความมึนเมาให้แก่มนุษยชาติ ‘The Drunken Botanisit’ หนังสืออ่านสนุกที่ว่าด้วยพฤษาศาสตร์แห่งความเมา โดยนักเขียนหญิงชื่อ Amy Stewart นักเขียนระดับ New York Times best-seller แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีคนเอามาแปลไทยสักที
ผมเจอหนังสือเล่มนี้ที่ร้านขายอุปกรณ์ทำค็อกเทลแถวถนนมาร์เก็ตซานฟรานซิสโก ในช่วงที่เริ่มต้นสนใจจะเป็นบาร์เทนเดอร์ในสมัยที่ยังเรียนภาษาอยู่ที่นั่น เพราะงานครัว งานเสิร์ฟไม่ได้สนุกสักเท่าไหร่ การยกระดับทักษะตัวเองให้ทำค็อกเทลได้จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานต่างด้าวคนหนึ่งดีขึ้นเป็นเท่าตัว แต่สุดท้ายผมตัดสินใจกลับเมืองไทยก่อนที่จะได้เป็นบาร์เทนเดอร์ หนังสือเล่มนี้จึงกลายเป็นหนังสืออ่านนอกเวลางาน ที่จมจ่ออยู่กับการเขียนโฆษณาให้สินค้าขายได้แทน
หนังสือเล่มนี้คล้ายสารานุกรมฉบับพกพาในหมวดพืชมึนเมา ที่จะนำเราไปรู้จักเครื่องดื่มและค็อกเทลประเภทต่างๆ ผ่านพืชที่นำมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตด้วยการเล่าถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอารยธรรมความเมาของมนุษยชาติ ตั้งแต่การค้นพบ Agave ของชาวเอซเท็ก จนมาเป็นเตกิล่า และเมซแคล(Mezcal) หรือแมลงในขวดเตกิล่าที่กลายมาเป็นเหตุผลทางการตลาดของโรงกลั่น
หรือบทต่อมาที่พูดถึง 'แอปเปิ้ล' ที่เอาไว้ทำไซเดอร์ ก็น่าสนใจที่ผลผลิตแอปเปิ้ลสายพันธุ์ดีนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการติดตาเพราะแอปเปิ้ลมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอยู่ตลอดทำให้รุ่นลูกที่ผลิตออกมาได้รสชาติไม่เหมือนเดิม
ถ้าขยับจากโซนตะวันตกมายังตะวันออก พืชที่เอามาผลิตเครื่องดื่มมากที่สุดในเอเชียคงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากข้าว ที่กลายมาเป็นเหล้าขาว สาโท สาเก โชจู ที่สองอย่างหลังสามารถไปไกลแล้วในระดับสากล แต่เหล้าขาวไทยและสาโทยังคงติดอยู่กับกฎหมายโบราณที่เอื้อนายทุนใหญ่ จนทำให้คนเขียนไม่พูดถึงผลผลิตเหล้าจากเมืองไทยเลยสักตัวอักษรหนึ่ง
ทั้งที่เหล้าสะเอียบเมืองแพร่ของเราอาจไปถึงระดับโลกได้ แต่ถ้ายังสนใจเรื่องนี้อยู่ก็ยังอยากให้อ่านต่อ เพราะยังมีเรื่องน่าสนใจอีกมากในหนังสือเล่มนี้ ที่จะหยิบยกประวัติศาสตร์และเรื่องราวของพืชพันธุ์ที่ไปมีส่วนเกียวข้องกับความเมาของมนุษยชาติ ที่หลายคนมองว่าความเมามายไร้สติทำให้ชีวิตหลุดการอยู่กับปัจจุบัน ผิดต่อความเชื่อทางศาสนา ความคลั่งศีลธรรมอาจกลายเป็นตัวทำลายมนุษยชาติ วัฒนธรรมดื่มกินอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วง Prohibition era ที่ทำให้ร้านอาหารหลายร้านต้องปิดตัวลง แต่ก็ไม่มีอะไรห้ามความอยากเมาของมนุษย์ได้จนทำให้คนไปเสี่ยงต้มเหล้าเถื่อนกันทั่วทั้งอเมริกา
ในประเทศไทยก็เคยเกิดขึ้นคล้ายๆ กันในสมัยที่สรรพสามิตรไล่จับคนต้มเหล้าเถื่อนทั่วประเทศ เพื่อเอื้อต่อนายทุนใหญ่ ผ่านกฎหมายที่กีดกันผู้เล่นรายใหม่ทุนน้อย ไม่สามารถผลิตเหล้ามาแข่งในตลาได้ รวมถึงการจำกัดโซนนิ่งของพ่อค้าตามภูมิภาคต่างๆ แม้ปัจจุบันจะเห็นคนต้มเบียร์กลั่นเหล้ากันมากขึ้น แต่ท้ายที่สุดกฎหมายไทยไม่เคยสนับสนุนมนุษย์ผู้เชื่อในความเมาจะทำให้ชาติเข้มแข็งได้
ในวันหนึ่งที่วัฒนธรรมควาเมาของไทยเข้มแข็งขึ้นจนไปสู่ระดับสากล เราอาจจะมีโอกาสได้อ่านการเขียนถึงเหล้าป่าเมืองสะเอียบ น้ำตาลเมากระแช่เมืองเพชร ในหนังสือ The drunken botanist ในฉบับปรับปรุงก็ได้
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ Omnivore
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: birdsallgarden
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ