งานอดิเรกคืออะไร

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ: 26 มี.ค. 2562 | อ่านแล้ว 28100 ครั้ง


“งานอดิเรกของคุณคืออะไร”

นานแค่ไหนแล้วที่ผมไม่ได้ยินคำถามนี้ จำได้ว่าตอนเด็กๆ ต้องตอบคำถามนี้บ่อยๆ ตอบในแบบเรียนภาษาอังกฤษ ใบสมัครเข้าชมรมกิจกรรม หรือใบสมัครเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน 

โตขึ้น ผมไม่ต้องตอบข้อนี้ในใบสมัครมากนัก ดูเหมือนวัยผู้ใหญ่ เราต้องทำอะไรที่เป็นการเป็นงานมากขึ้น ทั้งที่ "งานอดิเรก" บอกตัวตนของเราได้หลายอย่าง

ผมมีงานอดิเรกสองสามอย่าง การวาดรูป การจัดรายการรีวิวหนังสือ บางช่วงเขียนเรื่องสั้น เขียนนิยาย หรือนิทาน บางช่วงถ่ายรูป จัดดอกไม้ เล่นหมากรุก หมากล้อม ทั้งหมดนี้เดี๋ยวเล่นเดี๋ยวเลิก เป็นธรรมดาของบางคนที่ชอบค้นหาสิ่งที่ชอบไปเรื่อยๆ ดีเสียอีกที่จะได้รู้จักตัวเองว่า ผมมีความรื่นรมย์เพลิดเพลินกับสิ่งใดได้บ้าง

เราปรารถนาทำในสิ่งที่เราชอบและมอบความสุขแก่เรา แม้ว่าสิ่งที่ทำนั้นจะไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือไม่มีเหตุผลยืนยันหนักแน่นให้ต้องทำ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีเวลา มีทุน มีเงื่อนไขเพียงพอที่จะทำสิ่งนั้นหรือไม่ 

พูดถึงงานอดิเรกมาพอสมควร แต่เมื่อได้ถามตัวเองจริงๆ ว่า "งานอดิเรกคืออะไร" การอ่านหนังสือเป็นงานอดิเรกหรือไม่ การเดินเล่นเป็นงานอดิเรกหรือเปล่า

สิ่งที่พอจะตอบคำถามนี้ได้ก็คือพจนานุกรม จากพจนานกรมและดิกชันนารี American Heritage, Oxford, Longman และ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2554 ผมสรุปได้ว่า งานอดิเรกมีองค์ประกอบ 4 อย่าง ได้แก่ 

  1. เป็นกิจกรรมที่ทำยามว่าง
  2. ทำแล้วเพลิดเพลินรื่นรมย์
  3. ให้เวลากับกิจกรรมนี้ มีการทำซ้ำ ทำบ่อย
  4. ไม่ใช่งานเพื่อการเลี้ยงชีพ

ถึงจุดนี้ หลายคนอาจบอกว่าการดู Netflix คืองานอดิเรกของเขา รวมทั้งการนอนกลางวัน การอ่านสเตตัสในเฟซบุ๊ก ก็คืองานอดิเรกได้เช่นกัน สิ่งที่น่าคิดคือ องค์ประกอบของงานอดิเรกทั้งสี่ข้อข้างต้น ไม่สามารถแยกการดูทีวี การไถฟีดเฟซบุ๊ก หรือการนอนกลางวันได้ ออกจากการวาดภาพหรือถักเสื้อไหมพรมได้ เพราะกิจกรรมกลุ่มแรกขาดความเป็น “งาน” หรือการลงมือทำอย่างมีจุดมุ่งหมาย ดังนั้น การให้ความหมายของคำว่างานอดิเรกจากพจนานุกรมอย่างเดียว (แต่หลายเล่มนะ) น่าจะไม่เวิร์ค 

ผมจึงแวะเข้าไปดูวิกิพีเดีย เลยได้องค์ประกอบอีกข้อหนึ่งที่ช่วยแยกงานอดิเรกออกจากการพักผ่อน ได้ นั่นคือองค์ประกอบข้อ 5) ผู้ทำงานอดิเรกแล้วจะมีทักษะหรือความรู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น (Participation in hobbies encourages acquiring substantial skills and knowledge in that area) องค์ประกอบข้อนี้ช่วยแยก “การไถเฟซบุ๊ก” ไปเรื่อยๆ ออกจาก “การสะสมข่าวปลอมในเฟซบุ๊ก” ได้

และจากการค้นหาคำว่า “Hobby” ในฐานข้อมูลวารสารออนไลน์ ผมยังพบปรากฏการณ์หนึ่งคือ คนใช้คำว่า Hobby เป็นคำสำคัญในบทความวิชาการไม่มากนัก แต่ยังใช้คำอื่นๆ ที่คล้ายกันเช่น Leisure (เวลาว่าง – คำนี้มีคนใช้บ่อย) Creative activities (กิจกรรมสร้างสรรค์) และ Interest (ความสนใจ)

สิ่งที่น่าสังเกตคือ 'เวลา' ในคำว่า Leisure แตกต่างจาก free time ตรงที่ เวลาของ Leisure นั้นเอาไว้ทำสิ่งที่เพลิดเพลินด้วย การทำอะไรในเวลาว่างนี้ จึงมีแนวโน้มเป็นงานอดิเรก ขณะที่ free time หมายถึงตัวเวลาว่างเฉยๆ

ในสารานุกรม ยังบอกว่า เวลาสำหรับทำสิ่งเพลิดเพลิน หรือ Leisure มี 3 แบบ คือ

เวลาว่างที่ใช้ผ่อนคลายแบบเรื่อยๆ (causal leisure) เช่น การดู Netflix ไถเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ นอนกลางวัน

เวลาว่างที่ใช้ทำสิ่งที่สนใจจริงจัง (serious leisure) การจัดรายการพอดคาสต์ การสเก็ตช์ภาพเมือง การสะสมแสตมป์ การถักเสื้อไหมพรม การปักผ้า เป็นต้น

เวลาว่างที่เอาไว้ทำโครงการที่เสร็จเป็นช้ินๆ (project-based leisure) เช่น การทำหุ่นยนต์ (ที่ไม่ใช่ส่งงานอาจารย์) การทำสารคดี อยู่ในข่ายนี้

เมื่อเทียบกันแล้ว Serious leisure น่าจะมีความหมายที่ตรงกับ 'งานอดิเรก' มากที่สุด

ถึงตอนนี้ จะลองสำรวจดูสักหน่อยไหมครับว่า ‘งานอดิเรกของคุณคืออะไร'

 


 

ติดตาม Blog ว่าด้วยงานอดิเรกและสุขภาพได้ที่ www.thamlenlen.home.blog

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: