ผลศึกษาพบคนกรุงเทพฯ มีเงินฝากสูงสุด สูงกว่าคนอีสาน 6.4 เท่า

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 ธ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4362 ครั้ง

ผลศึกษาพบคนกรุงเทพฯ มีเงินฝากสูงสุด สูงกว่าคนอีสาน 6.4 เท่า

ผลการศึกษา 'สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์' และ 'สถาบันคุ้มครองเงินฝาก' พบคนไทย 58% มีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายค่าครองชีพรายเดือน 56.04% มีเงินในบัญชีไม่ถึง 3,142 บาท 12.2 ล้านคน มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท 4.7 ล้านคนไม่ถึง 50 บาท มีเพียง 0.2% มีเงินในบัญชีมากกว่า 10 ล้านบาท คนกรุงเทพฯ มีเงินฝากสูงสุด สูงกว่าภาคอีสานและบางจังหวัดของชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี) ถึง 6.4 เท่า ซึ่งมีเงินในบัญชีน้อยที่สุดซึ่งมีไม่เกิน 1,400 บาท | ที่มาภาพประกอบ: Alan Cleaver (CC BY 2.0)

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2562 ว่าผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) โดย น.ส. อัจจนา ล่ำซำ และ น.ส. รัฐพร บุญเลิศ เรื่องส่องพฤติกรรมการออมของคนไทยผ่านข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคารกว่า 80 ล้านบัญชีจาก DPA ซึ่งครอบคลุมประมาณ 70% ของเงินฝากทั้งระบบ ณ มิ.ย. 2560 มีปริมาณเงินฝากรวมทั้งสิ้น 12 ล้านล้านบาท มีบัญชีเงินฝากกว่า 80.2 ล้านบัญชี ของผู้ฝากเงินบุคคลธรรมดา 37.9 ล้านคน จากสถาบันการเงิน 34 แห่ง พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ 58% มีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายค่าครองชีพรายเดือน โดยเฉพาะคนภาคอีสาน ที่ 2 ใน 3 ของคนภาคอีสานมีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายค่าครองชีพรายเดือนที่ 6,345 บาท ขณะที่สัดส่วนของคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายค่าครองชีพอยู่ที่ 44%

นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่าคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีเงินฝากสูงสุด ค่ากลางเงินฝากต่อรายอยู่ที่ 10,442 บาท โดยสูงกว่าคนภาคอีสานและบางจังหวัดของชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี) ถึง 6.4 เท่า ซึ่งมีเงินในบัญชีน้อยที่สุดซึ่งมีไม่เกิน 1,400 บาท และ เงินฝากมีการกระจุกตัวสูง โดยผู้ฝากรายใหญ่สุด 10% มีเงินฝากรวมถึง 93% ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด และคนไทยกว่าครึ่ง 56.04% มีเงินในบัญชีไม่ถึง 3,142 บาท และ 32.8% ของผู้ฝาก หรือ 12.2 ล้านคน มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท ซึ่งในจำนวนนั้นมีผู้ฝากถึง 4.7 ล้านคนที่มีเงินในบัญชีไม่ถึง 50 บาท ขณะเดียวกันมีเพียง 0.2% ของผู้ฝากที่มีเงินในบัญชีมากกว่า 10 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังพบว่าจำนวนเงินในบัญชีมีความสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น คนที่มีอายุมากจะมีปริมาณเงินในบัญชีมากกว่าคนที่อายุน้อย โดยคนวัยหลังเกษียณมีค่ากลางเงินฝากในบัญชีต่อรายที่ 7,445 บาทเทียบกับกลุ่มคนที่มีอายุน้อย (อายุ 15-25 ปี) ที่มีประมาณ 947 บาท และผู้หญิงมีเงินในบัญชีมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่าตั้งแต่ยังเด็ก อาจสะท้อนถึงความมีวินัยทางการเงินหรือทักษะการบริหารจัดการเงินของผู้หญิงที่มากกว่า รวมถึงบทบาทของผู้หญิงที่สำคัญในการดูแลการเงินของครัวเรือน

โดยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เป็นบัญชีมหาชน ทุกคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ฝากเงินถึง 93.3% ขณะที่บัญชีเงินฝากประจำจะพบมากในกลุ่มวัยหลังเกษียณ มีเพียง 6.3% ซึ่งการที่ผู้ฝากเก็บเงินในบัญชีเงินฝากที่ให้ผลตอบแทนต่ำ สะท้อนว่า นโยบายที่จะส่งเสริมการออมต้องไม่หยุดแค่การส่งเสริมการเข้าถึงบริการเงินฝาก แต่ควรให้ความสำคัญกับนโยบายที่กระตุ้นพฤติกรรมการออม ความตระหนักและความเข้าใจถึงความสำคัญของการออม สร้างแรงจูงใจในการออมและการออกแบบผลิตภัณฑ์การออมที่ตรงตามความต้องการทางการเงินของผู้ออมกลุ่มต่าง ๆ ประกอบกับการส่งเสริมความรู้ทางการบริหารจัดการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้แก่ผู้ฝาก ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการส่งเสริมการออมที่มีประสิทธิภาพ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: