คนไทยรู้ยัง: ชาวเอเชียทำธุรกรรมออนไลน์เฉลี่ย 22.1 ครั้ง/คน/ปี

กองบรรณาธิการ TCIJ: 26 เม.ย. 2562 | อ่านแล้ว 2357 ครั้ง

ผู้บริโภคในเอเชียเปิดรับการนำเทคโนโลยีมาใช้มากกว่านักช้อปปิ้งในตลาดอื่นๆ ปี 2017 พบว่าร้อยละ 77 ของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกซื้อสินค้าครั้งล่าสุดผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เทียบกับร้อยละ 61 ของผู้บริโภคทั่วโลกและร้อยละ 24 ในยุโรป เอเชียยังเป็นผู้นำการชำระเงินออนไลน์โดยมีการทำธุรกรรมออนไลน์โดยเฉลี่ย 22.1 ครั้งต่อคนต่อปี  ขณะที่คนทั่วไปในภูมิภาคอเมริกาเหนืออยู่ที่ 19 ครั้งต่อปี ที่มาภาพประกอบ: Tim Reckmann (CC BY 2.0)

Rama Sridhar รองประธานบริหาร ฝ่าย Digital and Emerging Partnerships and New Payment Flows ของ Mastercard ได้เขียนบทความ 'Evolving e-commerce in Asia: Preparing for the next wave of digitalization' เผยแพร่ในเว็บไซต์ technologyreview.com เมื่อปลายเดือน มี.ค. 2019 โดยในบทความนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจคือการที่ผู้บริโภคชาวเอเชียนั้น เปิดรับการนำเทคโนโลยีมาใช้มากกว่านักช้อปปิ้งในตลาดอื่นๆ ของโลก

ผู้บริโภคในเอเชียเปิดรับการนำเทคโนโลยีมาใช้มากกว่านักช้อปปิ้งในตลาดอื่นๆ บริษัทวิจัย KantarTNS ระบุว่าจากการสำรวจ (ปี 2017) พบว่าร้อยละ 77 ของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกที่สามารถใช้อินเตอร์เน็ตในช่วงที่ทำการ สำรวจจับจ่ายซื้อสินค้าครั้งล่าสุดผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เทียบกับร้อยละ 61 ของผู้บริโภคทั่วโลกและร้อยละ 24 ในยุโรป เอเชียยังเป็นผู้นำการชำระเงินออนไลน์จากการสำรวจของบริษัท KPMG โดยมี การทำธุรกรรมออนไลน์โดยเฉลี่ย 22.1 ครั้งต่อคนต่อปี  ขณะที่คนทั่วไปในภูมิภาคอเมริกาเหนืออยู่ที่ 19 ครั้งต่อปี

ตัวเลขการทำธุรกรรมออนไลน์ต่อประชากรต่อปี (ที่มา: KPMG, 2017, อ้างใน technologyreview.com)

เงินทุนหมุนเวียนจากนักลงทุนในภูมิภาคชี้ว่า การค้าขายออนไลน์ในเอเชียเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น Tech in Asia รายงานว่า มี การร่วมลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงแห่งเดียวเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวในปี 2017 มีมูลค่าเกือบ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุนเหล่านี้ช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิตัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 60 ในปี 2017 เพียงปีเดียว และคาดว่าจะขยายตัวจากประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2017 เป็น 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2025

ในขณะที่ระบบดิจิตัลขยายตัวในเอเชีย เส้นแบ่งระหว่างโลกแห่งการจับจ่ายซื้อขายแบบเดิมกับโลกออนไลน์กลมกลืนเข้าหากันอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันสตรีในประเทศอินเดียได้เห็นโฆษณาหูฟังในหนังสือพิมพ์ ก่อนสั่งซื้อทางออนไลน์ และโพสต์รูปตัวเองขณะใช้หูฟังดังกล่าวบนโซเชียลมีเดียในคืนเดียวกัน การจะแยกแยะผลจากกิจกรรมออนไลน์และออฟไลน์ของสตรีคนดังกล่าวในแต่ละวันกลายเป็นเรื่องยากและจะยิ่งยากยิ่งขึ้นในอนาคต

การเติบโตที่รวดเร็วมาพร้อมกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น

การเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบดิจิตัลในเอเชียทำให้ธุรกิจต่างๆ และผู้กำหนดนโยบายต้องเผชิญ ความท้าทายในการหาวิธีที่ดีที่สุดระหว่างประโยชน์จากการพัฒนาระบบดิจิตัลกับการเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเสี่ยงบางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้น

ในช่วงเริ่มต้น บริษัทต่างๆ ต้องพยายามแสวงหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อให้ผ่านสิ่งรบกวนในตลาดดิจิตัลไปให้ได้ หากไม่ทำเช่นนั้น ความเสียหายจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคจะเกิดความสับสนยิ่งขึ้นกับทางเลือกต่างๆ ในโลกออนไลน์ ความสับสนอาจทำให้ผู้บริโภคลังเลที่จะไว้ใจธุรกิจใหม่ๆ บนอินเตอร์เน็ตในช่วงเวลาที่ธุรกิจเหล่านั้นกำลังเติบโต

หน่วยงานกำกับดูแลและผู้กำหนดนโยบายในเอเชียยังมุ่งเน้นไปที่การปกป้องข้อมูลของผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลเพื่อทำให้ผู้บริโภคและธุรกิจมั่นใจในประสบการณ์ใช้งานออนไลน์ โดยเฉพาะเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นหรือช่องทางต่างๆ ที่มีอยู่เดิมนั้นมีการพัฒนาไปในทิศทางที่แตกต่างกัน

ผู้นำรัฐบาลของแต่ละประเทศส่งเสริมการเติบโตขององค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในภาคเศรษฐกิจของประเทศตนเอง และสนับสนุนบริษัทขนาดใหญ่ในปัจจุบันที่ช่วยเหลือ SME ให้สามารถเข้าถึงตลาดได้ อาทิ แพลทฟอร์มดิจิตัล Go-Jek, Line หรือ WeChat ที่ผสมผสานการบริการที่แตกต่างกันให้เป็นหนึ่งเดียว – ช่วยให้บริษัทต่างๆ และธุรกิจแบบหุ้นส่วนสามารถเข้าถึงและให้บริการผู้บริโภคได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของบริษัทเหล่านั้นทำให้เกิดความเสี่ยง เนื่องจากแพลทฟอร์มขนาดใหญ่ดังกล่าวจะมีผลต่ออินเตอร์เน็ตอย่างมาก

การพัฒนาระบบดิจิตัลอย่างไม่เท่าเทียมกันยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลอีกเรื่องหนึ่ง เพราะจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเนื่องจากไม่มีทักษะด้านดิจิตัลหรือไม่สามารถเข้าถึงได้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประชากรกว่าร้อยละ 40 ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างสม่ำเสมอ การลดช่องว่างระหว่างประชากรยุคดิจิตัลกับประชากรที่ไร้ความรู้เกี่ยวกับดิจิตัลจะกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นในบางประเทศเมื่อภูมิภาคนี้พัฒนายิ่งขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: