เปิด 11 โครงการ ‘โรงไฟฟ้าขยะชุมชน’ ที่ต้องจ่ายไฟเข้าระบบ 31 ธ.ค. 62

ทีมข่าว TCIJ: 26 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 49417 ครั้ง

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)-มหาดไทย อนุมัติจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ให้เอกชนดำเนินงานในพื้นที่ 11 อปท. ใน 9 จังหวัด กำลังผลิตติดตั้ง 83 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนรวม 13,101 ล้านบาท หวังลดปริมาณขยะ 2,600 ตันต่อวัน กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 31 ธ.ค. 2562 ที่มาภาพประกอบ: Waste Management World

มหาดไทยเร่งผุดโรงไฟฟ้าพลังขยะ-กองทุนอนุรักษ์ฯรับลูกเตรียมเงิน 2.5 พันล้านบาท

ช่วงต้นเดือน ก.พ. 2562 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุไว้ในงานสัมมนาวิชาการ '20 ปีขยะหมดประเทศไทย? ด้วยกลไกตลาดทุน' ว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะที่ดีที่สุดคือการกำจัดด้วยการเผาเป็นพลังงานในรูปโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมทุนกับหน่วยงานท้องถิ่นในรูปแบบใดก็ได้เพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมีความคุ้มทุน เพราะหากนำขยะไปเผาอย่างเดียวจะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และภาครัฐเองก็ไม่มีเงินลงทุนเพียงพอในการสนับสนุน ทั้งนี้ การกำจัดขยะในแต่ละพื้นที่เป็นความรับผิดชอบขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นนิติบุคคล โดยกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้มีศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม (คลัสเตอร์) รวม 300 กว่าแห่งเพื่อรองรับการกำจัดขยะของ อปท.ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกัน แต่อุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการที่ค่ากำจัดขยะที่ประชาชนจ่ายนั้นไม่สะท้อนต้นทุนในการกำจัดขยะ ผู้ทิ้งขยะไม่ได้เป็นผู้รับภาระขยะที่สร้างขึ้น ทำให้ อปท.ขาดแคลนงบประมาณในการกำจัดขยะ ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะตกค้าง การทิ้งขยะข้ามเขต เป็นต้น

ในแต่ละปี กรุงเทพฯ ต้องใช้เงินในการกำจัดขยะปีละ 6.5 พันล้านบาท แต่เก็บเงินค่ากำจัดขยะได้เพียง 500 ล้านบาท ส่วนท้องถิ่นมีภาระในการกำจัดขยะสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจำเป็นต้องมีการรณรงค์แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และมีการนำ 3R คือ Reduce Reuse Recycle มาใช้เพื่อลดปริมาณขยะลง โดยยอมรับว่าขณะนี้มีปริมาณขยะราวปีละ 10 ล้านตันจากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นแต่ละปีของไทย 27 ล้านตันที่ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างถูกต้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังระบุว่า ที่ผ่านมานักลงทุนส่วนใหญ่กังวลในการเข้ามาร่วมทุนโรงไฟฟ้าขยะเกี่ยวข้องข้อกฎหมายและการประสานงานกับท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของขยะทำได้ยาก ซึ่งกฎหมายรักษาความสะอาดฯ ให้ใช้หลักการ พ.ร.บ.ร่วมทุน (PPP) ทำให้ต้องผ่านความเห็นชอบจาก รมว.มหาดไทย ซึ่งตนยังอยู่ในตำแหน่งนี้อีก 1-2 เดือน ก็จะเร่งรีบผลักดันโรงไฟฟ้าขยะให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด และเชื่อว่ารัฐบาลใหม่มาก็น่าจะสานต่อการแก้ไขปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติต่อไป [1]

ในเดือนเดียวกันนั้น (ก.พ.2562) ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้เห็นชอบจัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์ประจำปี 2562 (รอบ 2) ให้โครงการต่างๆ ที่เสนอเข้ามารวมเป็นเงิน 6,800 ล้านบาท จากวงเงินรวมประมาณ 9,300 ล้านบาท โดยส่วนที่เหลือไม่เกิน 2,500 ล้านบาท ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานหารือกับ      กระทรวง มหาดไทยเพื่อนำไปส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการสร้างระบบคัดแยกขยะชุมชนครบวงจร สำหรับนำขยะมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงในรูปแบบไฟฟ้าและก๊าซชีวภาพ ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนภายในเดือน เม.ย. 2562 นี้ [2]

คกก.กำกับกิจการพลังงาน-มหาดไทย อนุมัติจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะชุมชน

ต่อมาในช่วงเดือน เม.ย. 2562 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดเผยว่า กกพ. มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการรับซื้อไฟฟ้า ภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน คิดเป็นปริมาณที่รับซื้อได้ รวม 68.90 เมกะวัตต์จากกำลังผลิตติดตั้งรวม 83.04 เมกะวัตต์ และมีกำลังจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบ (SCOD) ภายใน 31 ธ.ค. 2562

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. ได้ระบุเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2562 ว่า “จากการที่สำนักงาน กกพ. ได้มีการจัดทำความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ภายใต้โครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก หรือ โครงการ Quick Win สามารถร่วมกันอนุมัติโครงการที่ดำเนินการโดยองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นแล้วทั้งสิ้น 11 โครงการจากพื้นที่มีศักยภาพรวม 9 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ กกพ. ได้มีการออกประกาศรับรองอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว” [3]

11 โครงการใน 9 จว. 'หนองคาย กระบี่ ระยอง นนทบุรี กรุงเทพ อยุธยา สระบุรี อุดรธานี ตาก'

สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติ มาจากพื้นที่ที่มีศักยภาพ 11 อปท. ใน 9 จังหวัด ได้แก่ จ.หนองคาย จ.กระบี่ จ.ระยอง จ.นนทบุรี กรุงเทพ จ.อยุธยา จ.สระบุรี จ.อุดรธานี จ.ตาก ซึ่งก่อนหน้านี้ กกพ. ได้ออก ประกาศและหลักเกณฑ์การจัดหาไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) (ฉบับที่ 5) โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) ซึ่งมีเป้าหมายการรับซื้อรวม 77.9 เมกะวัตต์ โดยได้เปิดให้ยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2560 - 31 มี.ค. 2562 ซึ่งสามารถสรุปยอดผู้ที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจาก กกพ. หลังปิดรับยื่นคำร้องฯ ดังนี้

ทำความรู้จัก 11 บริษัท

TCIJ ได้สืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2562) พบรายละเอียดที่น่าสนใจของทั้ง 11 บริษัท ที่ได้รับอนุมัติโครงการฯ ดังต่อไปนี้

บริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล : 0105553038161 ที่ตั้ง : 223/61 อาคารคันทรี่คอมเพล็กซ์ อาคารเอ ชั้นที่ 14 ถนนสรรพาวุธ แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 17 มี.ค. 2553 ทุนจดทะเบียน : 1,000,000,000.00 บาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน : ประกอบกิจการ ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด : ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานขยะ รายชื่อคณะกรรมการ : 1.นายเตชาภณ โรจน์ณาธรรม ส่งงบการเงินล่าสุด : ปีงบการเงิน 2561 รายได้รวม 968,488.15 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,251,850,640.11 บาท

บริษัท อัลไลแอนซ์ คลีนเพาเวอร์ จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล : 0105551090549 ที่ตั้ง : 665 หมู่ที่ 6 ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 13 ส.ค. 2551 ทุนจดทะเบียน : 1,650,000,000.00 บาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน : ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด : ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า รายชื่อคณะกรรมการ : นางสาวจิรฐา ทรงเมตตา นายธนวิจิตร อังคพิพัฒนชัย นางชัญญา สังคะหะ นายธีรวุฒิ ทรงเมตตา นายพรเมตต์ ทรงเมตตา ส่งงบการเงินล่าสุด : ปีงบการเงิน 2561 รายได้รวม 867,069,167.00 บาท กำไรสุทธิ 127,702,613.00 บาท

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) เลขทะเบียนนิติบุคคล : 0107557000411 ที่ตั้ง : 555/2 อาคารศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี ชั้นที่ 5 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 27 พ.ย. 2557 ทุนจดทะเบียน : 14,983,008,000.00 บาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน : ผลิต จำหน่าย และให้บริการไฟฟ้า ไอน้ำ น้ำ ก๊าซ น้ำมันเชื้อเพลิงและพลังงานทุกประเภท วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด : ผลิตไฟฟ้าผลิตไอน้ำและน้ำเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม รายชื่อคณะกรรมการ : นายวุฒิกร สติฐิต นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล พลตรีเชาวเลข ชยันตร์สุภาพ นายอธิคม เติบศิริ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นายคงกระพัน อินทรแจ้ง นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต นายคุรุจิต นาครทรรพ นางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ นายชวลิต ทิพพาวนิช นางสุวิมล กฤตยาเกียรณ์ ส่งงบการเงินล่าสุด : ปีงบการเงิน 2561 รายได้รวม 1,112,936,097.00 กำไรสุทธิ 2,648,423,316.00

อนึ่ง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง 2 บริษัทในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ของกลุ่ม ปตท. คือ บริษัท พีทีที ยูทิลิตี้ จำกัด (PTTUT) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าอิสระ (ประเทศไทย) จำกัด (IPT) เพื่อเป็นแกนนำในการ ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. (PTT Group's Power Flagship) ในการพัฒนา ลงทุน และดำเนินการด้านธุรกิจไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล : 0105556114055 ที่ตั้ง : 333 ถนนอ่อนนุช แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 17 ก.ค. 2556 ทุนจดทะเบียน : 420,000,000.00 บาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน : ประกอบธุรกิจบริการรับค้ำประกัน ความรับผิดชอบ การปฏิบัติตามสัญญาของบุคคลอื่น วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด : ผลิตพลังงานทดแทนจากขยะ รายชื่อคณะกรรมการ : นายทวี จงควินิต นายวีระพล โชควิทยารัตน์ นายศิลป์ชัย ชัยสิทธิเวชช นายสุชาติ จงควินิต นายไชยณรงค์ จันทร์พลังศรี นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล นายธนู กุลชล ส่งงบการเงินล่าสุด : ปีงบการเงิน 2561 รายได้รวม 9,703,946.88 บาท ขาดทุนสุทธิ 40,570,844.12 บาท

บริษัท บุญ เอนเนอร์ซิส จำกัด* เลขทะเบียนนิติบุคคล : 0345557000957 ที่ตั้ง : 261/1 หมู่ที่ 7 ถนนเลี่ยงเมือง ต.แจระแม อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 26 มิ.ย. 2557 ทุนจดทะเบียน : 1,000,000,000.00 บาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน : ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด : การผลิตและการส่งไฟฟ้า รายชื่อคณะกรรมการ : นายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์ นางสาวเมธาวี ตันวัฒนะพงษ์ นายบุรินทร์ ตันวัฒนะพงษ์ นายบรม ตันวัฒนะพงษ์ นายศรัณย์ ตันวัฒนะพงษ์ ส่งงบการเงินล่าสุด : ไม่ปรากฏข้อมูลงบกำไรขาดทุนในเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้าระหว่างปี 2559-2561

อนึ่งข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา ระบุว่าบริษัท บุญ เอนเนอร์ซิส จำกัด เป็นหนึ่งในธุรกิจของนายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ได้รับเลือกตั้งปี 2551 โดยไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีพ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2557 (อ่านเพิ่มเติมจากสำนักข่าวอิศรา)

บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล : 010549800130 ที่ตั้ง : 90 อาคารซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์ เอ ชั้นที่ 38 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 24 ก.ย. 2498 ทุนจดทะเบียน : 50,000,000.00 บาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน : ประกอบกิจการรับส่งผ่านข่าวสารข้อมูลโทรคมนาคม สื่อต่างๆ ทั้งเคเบิล วิทยุ วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด : ด้านขนส่งมวลชน รายชื่อคณะกรรมการ : นายวิสนุ ปราสาททองโอสถ นายมานิต เตชอภิโชค นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง นายปิยะ พูดคล่อง นายกฤษดา กวีญาณ นายวีระวุธ ภู่ชนะกิจ นายธัชชัย ชื่นชม นายปรีชาพร สุวัฒโนดม นายไทภัทร ธนสมบัติกุล นายอาคม พูนชัย นายธนูชัย หุ่นนิวัฒน์ นายอนันต์ มโนมัยพิบูลย์ นายอรวิทย์ เหมะจุฑา ส่งงบการเงินล่าสุด : ปีงบการเงิน 2561 รายได้รวม 447,953,372.04 บาท กำไรสุทธิ 26,785,828.34 บาท

อนึ่ง เมื่อเดือน ส.ค. 2561 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมทางด้านพลังงานและดิจิตอล เทคโนโลยี พัฒนาไปสู่กรุงเทพเมืองอัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมทางด้านพลังงานและดิจิตอล เทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจและการให้บริการ โดยใช้ดิจิตอล และเทคโนโลยี มาเป็นพื้นฐานในการให้บริการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาไปสู่ 'กรุงเทพฯ เมืองอัจฉริยะ' หรือ สมาร์ตซิตี้ (Smart city) ทั้งในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และการขนส่งมวลชน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบาย 'ไทยแลนด์ 4.0'

บริษัท พาโนว่า จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล : 0125558003498 ที่ตั้ง : 62 อาคารเดอะมิลเลนเนีย ทาวเวอร์ ชั้นที่ 20 ห้องเลขที่ 2002-3 ถนนหลังสวน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 6 ก.พ. 2558 ทุนจดทะเบียน : 92,714,300.00 บาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน : ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า พลังงานทดแทนและหมุนเวียนทุกประเภท วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด : การผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงจากขยะเทศบาล รายชื่อคณะกรรมการ นายคริสเตียน ชาคกี นายริชาร์ด ฟูลเลอร์ มิลส์ ทรี นายวุฒิชัย ลีนะบรรจง นายไมเคิล ลีโอ เคซีย์ ส่งงบการเงินล่าสุด : ปีงบการเงิน 2561 รายได้รวม 54,723.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 5,332,505.00 บาท

บริษัท เอ็นคอม เวสท์ ทู เอเนอร์จี้ (พระนครศรีอยุธยา) จำกัด* เลขทะเบียนนิติบุคคล : 0115561021639 ที่ตั้ง : 168/1 หมู่ที่ 5 ต.แพรกษาใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 21 ส.ค. 2561 ทุนจดทะเบียน : 32,500,000.00 บาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน : ประกอบกิจการ รับขนถ่ายขยะ คัดแยก และฝั่งกลบ ขยะ  รายชื่อคณะกรรมการ นายคณพศ นิจสิริภัช นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ นายสันติ ชัยคุณแสง นายประจักษุ์ อุดหนุน นายวชิระ พิทักษ์ตันสกุล ส่งงบการเงินล่าสุด : ไม่ปรากฏข้อมูล

บริษัท มิทท คอร์ปอเรชั่น จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล : 0135560009538 ที่ตั้ง : 36/1 ซอยรามคำแหง 40 (เสริมมิตร) แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 25 เม.ย. 2560 ทุนจดทะเบียน : 53,000,000.00 บาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน : การผลิตและการส่งไฟฟ้า รายชื่อคณะกรรมการ นางสาวภณิษา นิลวงษ์ นายชาญ ตั้งกาญจนาเวฬุกุล ส่งงบการเงินล่าสุด : ไม่ปรากฏข้อมูล

บริษัท ไทยโซริด รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล : 0125552009052 ที่ตั้ง : 1758/3 ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงใต้ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 13 ก.ค. 2552 ทุนจดทะเบียน : 182,000,000.00 บาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน : การออกแบบ ติดตั้ง ก่อสร้างระบบจัดการขยะ น้ำเสีย ของเสียจากกระบวนการผลิตทุกชนิด และพลังงานจากชีวมวล วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด : การผลิตและการส่งไฟฟ้า ส่งงบการเงินล่าสุด : ปีงบการเงิน 2561 ไม่ปรากฏรายได้รวม ขาดทุนสุทธิ 1,437,712.23 บาท

บริษัท คลีน แพลนนิ่ง จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล : 0105558075316 ที่ตั้ง : 23/80 (ชั้น 1 และชั้นลอย) ซอยศูนย์วิจัย ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 6 พ.ค. 2558 ทุนจดทะเบียน : 60,000,000.00 บาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน : บริหารและกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลทุกชนิด วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด : การบำบัดและการกำจัดของเสียที่ไม่เป็นอันตรายโดยการฝังกลบอย่างถูกสุขอนามัย รายชื่อคณะกรรมการ : นายธนิส สุทธิพันธ์ นางสิริพันธ์ เขียนสุภาพ ส่งงบการเงินล่าสุด : ปีงบการเงิน 2561 รายได้รวม 17,286,354.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 11,552,532.00 บาท

*หมายเหตุ 'บริษัท บุญ เอนเนอร์ซิส จำกัด' และ 'บริษัท เอ็นคอม เวสท์ ทู เอเนอร์จี้ (พระนครศรีอยุธยา) จำกัด' ในเอกสารของ กพพ. ระบุชื่อเป็น 'บริษัท บุญ เอเนอร์ซิส จำกัด' และ 'บริษัท เอ็นคอม เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี่ (พระนครศรีอยุธยา) จำกัด'

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] “อนุพงษ์” ชี้เหลือเวลา 2 เดือนลุยโรงไฟฟ้าขยะ หนุนภาคเอกชนร่วมลงทุนท้องถิ่น (ผู้จัดการออนไลน์, 4 ก.พ. 2562)
[2] จัดงบกองทุนอนุรักษ์ฯ 2,500 ล้าน ให้มหาดไทยใช้คัดแยกขยะชุมชนเพื่อผลิตไฟฟ้า (Energy News Center, 14 ก.พ. 2562)
[3] กกพ. ไฟเขียวตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 11 โครงการ (สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, 17 เม.ย. 2562)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ประกาศ กกพ. เรื่อง การจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) พ.ศ. 2559

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

อุตสาหกรรม  ธุรกิจ การค้า การลงทุน  พลังงาน  พลังงานทางเลือก  พลังงานทดแทน  โรงไฟฟ้าพลังขยะ  ท้องถิ่น  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โรงไฟฟ้าขยะชุมชน  ส่องบรรษัท  บริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด  บริษัท อัลไลแอนซ์ คลีนเพาเวอร์ จำกัด  บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)  บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด  บริษัท บุญ เอเนอร์ซิส จำกัด  บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด  บริษัท พาโนว่า จำกัด  บริษัท เอ็นคอม เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี่ (พระนครศรีอยุธยา) จำกัด  บริษัท มิทท คอร์ปอเรชั่น จำกัด  บริษัท ไทยโซริด รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด  บริษัท คลีน แพลนนิ่ง จำกัด  

Like this article:
Social share: