โรงกลั่นขานรับ 'น้ำมัน Euro 5' ต่อรองขอสิทธิ 'BOI' เพิ่ม

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 ม.ค. 2562 | อ่านแล้ว 2907 ครั้ง

โรงกลั่นขานรับ 'น้ำมัน Euro 5' ต่อรองขอสิทธิ 'BOI' เพิ่ม

รายงานพิเศษจากสื่อ 'ประชาชาติธุรกิจ' เผยโรงกลั่นขานรับแก้ฝุ่น PM 2.5 ลงทุน 'น้ำมัน Euro 5' ตั้งเงื่อนไขขอสิทธิประโยชน์ BOI เพิ่ม พ่วงยกเว้นภาษีเงินได้ พร้อมเสนอแผนลงทุน ปลัดพลังงานยอมรับส่งผลราคาดีเซลเพิ่มลิตรละ 10-20 สตางค์ 'BOI' เปิดทางเจรจา ที่มาภาพประกอบ: brad.erva-doce.info

ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2562 กรณีการเกิดมลพิษฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 แพร่กระจายอยู่ในอากาศของกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐเกิดการตื่นตัวในการแก้ไขปัญหา โดยหนึ่งในแนวทางที่มีการหารือในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ก็คือ การปรับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ และการเพิ่มการใช้น้ำมันดีเซล B20 หลังจากมีการหารือระหว่างกรมธุรกิจพลังงาน และโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ 6 แห่ง ประกอบไปด้วย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด, บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด และ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด

โรงกลั่นขอเพิ่มสิทธิ BOI

ประชาชาติธุรกิจระบุว่าภายหลังการหารือจบสิ้นลงว่าได้มีการพูดกันถึงปัญหาฝุ่นขนาด PM 2.5 ว่า มีสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันเชื้อเพลิงในรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล โดยแผนระยะสั้น ทางกรมธุรกิจพลังงานได้เสนอให้เพิ่มการใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 แทนน้ำมันดีเซลทั่วไป โดยมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นจาก 5.2 ล้านลิตร ในปัจจุบัน เป็น 10 ล้านลิตร และจะเริ่มนำร่องใช้ในส่วน บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ก่อนในวันที่ 7 ก.พ. 2562 นี้ (ปัจจุบันมีรถเมล์ ขสมก. และรถเอกชนร่วมบริการ รวมทั้งสิ้น 13,436 คัน แยกเป็นรถ ขสมก. จำนวน 2,816 คัน รถเอกชนร่วมบริการ 10,620 คัน)

ส่วนมาตรการระยะยาว กรมธุรกิจพลังงานได้ขอความร่วมมือให้โรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศจัดทำแผนปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมัน Euro 4 (ค่ากำมะถันไม่เกิน 50 ppm) เป็นมาตรฐาน Euro 5 (ค่ากำมะถันไม่เกิน 10 ppm) ซึ่งจะช่วยให้การระบายฝุ่นที่เกิดจากเผาไหม้เครื่องยนต์สะอาดมากขึ้น ปรากฏทางกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันให้ความสนใจที่จะเข้าร่วม แต่มีเงื่อนไขขอรับการส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มากกว่าที่ให้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันต้องลงทุนในการปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำมันใหม่ คิดเป็นมูลค่าเบื้องต้นประมาณ 35,000 ล้านบาท

ทั้งนี้การขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการโรงกลั่นน้ำมันปัจจุบันอยู่ในหมวด 6.3 (เคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ) โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ (activity-base incentives) ในกลุ่ม B1 ยกเว้น อากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นสำหรับส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นระยะเวลา 3 ปี และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีอากร เนื่องจากกิจการโรงกลั่นน้ำมันถูก BOI จัดเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูง แต่ยังมีความสำคัญต่อ value chain อยู่ ในขณะที่การให้สิทธิประโยชน์ปัจจุบันมุ่งไปที่กิจการที่สร้างความสามารถในการแข่งขันจากการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีระดับสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ประชาชาติธุรกิจได้สอบถามไปยังผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันได้รับคำตอบว่าโรงกลั่นน้ำมันต้องใช้เงินลงทุนในการปรับกระบวนการกลั่นน้ำมันเพื่อให้ได้มาตรฐาน Euro 5 ซึ่งจะต้องมีการหารือกับกระทรวงพลังงานต่อไปว่า มาตรฐาน Euro 5 ของไทยจะกำหนดคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ปัจจุบัน BOI ให้สิทธิประโยชน์กิจการโรงกลั่นน้ำมันด้วยการ ยกเว้นภาษีวัตถุดิบส่วนที่กลั่นน้ำมันเพื่อการส่งออก ดังนั้นสิทธิประโยชน์ที่กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันต้องการก็คือ การยกเว้นภาษีเงินได้ในกลุ่ม A เพื่อทดแทนกับเงินลงทุนที่จะต้องเพิ่มขึ้น

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่าขณะนี้ (ณ วันที่ 20 ม.ค. 2562) BOI ยังไม่มีการหารือกับทางกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันที่ต้องการให้ BOI พิจารณาปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในกรณีที่โรงกลั่นจะลงทุนเพื่อผลิตน้ำมันมาตรฐาน Euro 5 ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการเฉพาะด้านนี้โดยตรง ดังนั้นจึงต้องมาหารือกันว่าจะเป็นการออกมาตรการใหม่หรือปรับสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่เพิ่มให้ก็สามารถทำและเป็นไปได้ เนื่องจากเป็นนโยบายในระยะยาวของประเทศที่จะไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านมลพิษขึ้น

มีรายงานข่าวเข้ามาว่า การปรับปรุงเพื่อให้โรงกลั่นน้ำมันสามารถผลิตน้ำมันมาตรฐาน Euro 5 จะมีความเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ การลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันใหม่ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ใหม่ กับการลงทุนเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีในการกลั่นน้ำมันอาจจะเข้าสู่มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้ แต่มาตรการปรับปรุงนี้ยังไม่ครอบคลุมถึงประเภทกิจการการกลั่นน้ำมัน

ขณะที่นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่ากระทรวงกำลังผลักดันให้โรงกลั่นน้ำมันเร่งศึกษาแผนลงทุนปรับปรุงคุณภาพน้ำมันมาตรฐาน Euro 5 ให้เร็วขึ้น จากเดิมที่ใช้เวลาพัฒนามาตรฐาน Euro 3 เป็น Euro 4 ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี โดยต้องวางแผนร่วมกับโรงกลั่นในช่วงเปลี่ยนผ่าน และคาดว่าจะทำให้ต้นทุนราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นราว 10-20 สตางค์/ลิตร

บางจากพร้อมลงทุน Euro 5

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าขณะนี้บริษัทได้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันพรีเมี่ยมดีเซล และน้ำมัน E20 ซึ่งเป็นน้ำมันที่ได้มาตรฐานในระดับ Euro 5 อยู่แล้ว “แต่ยังมีสัดส่วนไม่มาก ประมาณ 15-20% ของปริมาณน้ำมันที่จำหน่าย” แต่หลังจากที่หารือกับกระทรวงพลังงาน ทางบริษัทบางจาก มีแผนศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายการลงทุนเพิ่มการผลิตน้ำมัน Euro 5

“เบื้องต้นจะต้องมีการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่ม อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาแนวทางและประเมินมูลค่าการลงทุนว่า จะต้องใช้งบประมาณเท่าไรและความคุ้มค่าในการลงทุน ตลอดจนผลกระทบต่อต้นทุนการจำหน่ายน้ำมันว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าใด จากเดิมที่เคยมีการศึกษาไว้เมื่อหลายปีก่อนว่า น้ำมันมาตรฐาน Euro 5 จะมีต้นทุนทำให้ราคาจำหน่ายสูงกว่าลิตรละ 0.50-1.00 บาท แต่ขณะนี้เทคโนโลยีด้านการผลิตและการกลั่นเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้น ต้นทุนและเม็ดเงินลงทุนก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากผลการศึกษาเดิม เพื่อจะนำเสนอกระทรวงพลังงานต่อไป” นายชัยวัฒน์กล่าว

ต้องชดเชย B20 มากขึ้น

ส่วนการเพิ่มการผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B20 ตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงานนั้น นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย ระบุว่าการเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล B20 จาก 5.2 ล้านลิตร เป็น 10 ล้านลิตร นำร่องโดยรถเมล์ ขสมก. และรถ บขส. “ถือเป็นมาตรการที่เป็นไปได้สูง” และจะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตไบโอดีเซล จากเดิมที่โครงการสนับสนุนการใช้ B20 ยังไม่แพร่หลาย “เดิม B20 เป็นโครงการสมัครใจสำหรับกลุ่มผู้ใช้รถบรรทุกไม่มีจุดบริการทั่วไป การเพิ่มปริมาณ B20 ต่อไปผู้ค้าน้ำมันจะต้องลงทุนหัวจ่ายในสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้น”

ส่วนการซัพพลายน้ำมันปาล์มดิบที่จะใช้เป็นส่วนผสมน้ำมัน B20 ที่จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อยจาก 1,000 ตัน เป็น 2,000 ตัน/เดือน ตามเป้าหมายการจำหน่าย B20 ที่ปริมาณ 10 ล้านลิตรนั้น ขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อซัพพลายน้ำมันปาล์มดิบในตลาด เพราะยังมีสัดส่วนไม่มากนัก ส่วนราคาที่กระทรวงพลังงานให้การชดเชย ไม่ให้ราคาจำหน่ายดีเซล B20 ถูกกว่าน้ำมันดีเซลทั่วไป ลิตรละ 5 บาทนั้น รัฐบาลจะต้องจ่ายส่วนต่างราคามากขึ้น จากตอนเริ่มต้นโครงการ B20 ราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ กก.ละ 2.70 บาท แต่ในปัจจุบันราคาขยับขึ้นมาเป็น กก.ละ 3.30 บาทแล้ว

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ต้องรอถึงปี 2567 โรงกลั่นจะเริ่มผลิตน้ำมัน Euro 5 แก้ปัญหาฝุ่นพิษ คาดลงทุนกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
เตรียมเรียกตัวแทนโรงกลั่นน้ำมันหารือ หวังยกมาตรฐานน้ำมันเป็น Euro 5 แก้ปัญหาฝุ่นพิษ
พบ ‘ไอเสียดีเซล’ ต้นตอสำคัญปัญหา ‘ฝุ่นละอองกรุงเทพ’
จับตา: บทเรียนการปรับปรุงมาตรฐานรถยนต์และคุณภาพน้ำมัน Euro 3 และ 4
โรงกลั่นค้าน 'น้ำมันยูโร 5' ที่ช่วยลดมลพิษ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: