กสศ.-เทศบาลนครภูเก็ต ใช้ระบบ Q-Info ติดตามนักเรียน ลดสอบตก-โดดเรียน

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 เม.ย. 2562 | อ่านแล้ว 2400 ครั้ง

กสศ.-เทศบาลนครภูเก็ต ใช้ระบบ Q-Info ติดตามนักเรียน ลดสอบตก-โดดเรียน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และเทศบาลนครภูเก็ตใช้ Q-Info เพื่อปฏิรูปข้อมูลสารสนเทศ 7 สถานศึกษาทั้งระบบ ช่วยลดขาดเรียน ดันผลการเรียนของเด็กดีขึ้น เป็นเครื่องมือให้ครูและโรงเรียนติดตาม แก้ปัญหาผู้เรียน

เว็บไซต์บ้านเมือง รายงานเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2562 ว่า ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่าปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่เทศบาลนครภูเก็ต และโรงเรียนในสังกัดทั้ง 7 แห่งได้ใช้งาน "ระบบเพิ่มคุณภาพการศึกษาและพัฒนาคุณภาพนักเรียน Quality learning Information System หรือ Q-info (คิวอินโฟ) ในการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศทั้งระบบการศึกษาในเทศบาลนครภูเก็ต โดยปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมา มีบุคลากรครู 658 คน นักเรียน 9,668 คน ใช้ระบบ Q-info ในการจัดการศึกษาและติดตามข้อมูลการเรียนการสอนที่เปิดสอนทั้งสิ้น 2,729 วิชาตลอดปีการศึกษา ซึ่งเป็นข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ปัจจุบันเทศบาลนครภูเก็ตใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทันสมัยในการบริหารจัดเก็บ ในรูปแบบข้อมูลดิจิตอลอย่างครบวงจร

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 4 ปี พบว่าระบบ Q-info ยังคงช่วยสนับสนุนการทำงานของครูในการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนในสถานศึกษาสังกัดเทศบาลนครภูเก็ตได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น สามารถแก้ปัญหาผู้เรียนเป็นรายคน อัตราการเข้าเรียนของนักเรียนเพิ่มขึ้นทุกโรงเรียน ทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา

“สถานศึกษาทั้ง 7 แห่งมีค่าเฉลี่ยจำนวนนักเรียนติด 0 สะสมเกิน 3 วิชาใน 1 ปีการศึกษา ที่ลดลงมากกว่า 75% ภายในระยะเวลา 4 ปี ที่ใช้งานระบบ Q-info ในขณะที่จำนวนนักเรียนที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 1.5 ของทั้ง 7 สถานศึกษามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 4 ปีการศึกษา รวมทั้งแนวโน้มการออกจากระบบการศึกษาของทั้ง 7 โรงเรียนการลดลงอย่างต่อเนื่อง” ดร.ไกรยส กล่าว

ดร.ไกรยส กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นบทพิสูจน์ว่า พลังข้อมูล และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่ กสศ.ให้ความสำคัญในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง สามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนครูและผู้บริหารสถานศึกษาทำให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นได้ในทุกโรงเรียน และระบบที่ออกแบบขึ้นทำให้ท้องถิ่นสามารถใช้ข้อมูลวางแผนและแก้ปัญหาการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ“ รองผู้จัดการ กสศ.กล่าว

ทั้งนี้การศึกษาของเทศบาลนครภูเก็ตก้าวหน้ามาถึงจุดนี้ได้ เพราะผู้บริหารทุกระดับตั้งแต่ระดับเทศบาลถึงระดับสถานศึกษาให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) เพื่อพัฒนาการศึกษาแบบครบวงจร จนปัจจุบันสำนักการศึกษาและโรงเรียนในเทศบาลภูเก็ตเลิกใช้กระดาษในการจัดการข้อมูลการศึกษาส่วนใหญ่แล้ว และกำลังจะก้าวสู่โรงเรียนและระบบการศึกษาดิจิตอลเต็มตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ (Digital Smart School)

ด้านนางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่าเราอยากจัดการศึกษาดูแลเด็กให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษา มุ่งมั่นพัฒนาเด็กให้เต็มศักยภาพ เพราะนักเรียนของเทศบาลมีความเหมือนและแตกต่างกัน แต่เราเดินไปคนเดียวไม่ได้ จะต้องอาศัยภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน

“ระบบที่นำมาใช้ ส่งผลให้เป้าหมาย ที่วางไว้ โดยเฉพาะเรื่อง การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษา และเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษา ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยให้บริหารจัดการศึกษา ลดเวลาการทำงานของครูด้านเอกสาร และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายต่อไปของระบบที่เรานำมาใช้คือ แก้ปัญหาเด็กจบการศึกษาแต่ไม่มีงานทำ ซึ่งเชื่อว่าระบบนี้ จะทำให้ได้ข้อมูลที่ช่วยให้เด็กมีงานมีที่สอดคล้องกับประเภทงานตามบริบทความเป็นเมืองภูเก็ตได้ในอนาคต”

นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าว ทั้งนี้เทศบาลนครภูเก็ตได้จัดให้มีการประชุม “พิมพ์เขียวการศึกษา” Phuket Education Blueprint ขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงปิดเทอมใหญ่เมษายน เพื่อให้ผู้บริหารเทศบาล และสถานศึกษาในสังกัดนำเอาข้อมูลผลการจัดการศึกษาทุกด้านจากระบบ Q-info มาใช้ประเมินผลและวางแผนการศึกษาในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถติดตามผลลัพธ์ว่ามีการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นเหมือนที่วางเป้าหมายไว้หรือไม่ รวมถึงเห็นว่า โรงเรียนแต่ละแห่ง มีจุดอ่อนจุดแข็งอะไรบ้าง และต่อยอดไปสู่การทำแผนการพัฒนาโรงเรียนได้อย่างมีทิศทางที่ชัดเจน โดยมีประชาคมภูเก็ตจากทุกภาคส่วนมาร่วมในกระบวนการ

สำหรับ Q-info เป็นระบบข้อมูลสารสนเทศ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาโรงเรียน มีวัตถุประสงค์การใช้ 1. เพื่อติดตามนักเรียนเป็นรายคนอย่างต่อเนื่องสามารถติดตามสถิติการมาเรียน-ขาดเรียนรวมถึงผลการเรียนของนักเรียนเป็นรายคน 2. เพื่อแจ้งเตือนกรณีนักเรียนที่มีความเสี่ยงสูงอันรวมถึงความเสี่ยงทั้งด้านพฤติกรรม ด้านเศรษฐฐานะ ด้านสุขภาพ และด้านสังคม 3. เพื่อช่วยลดภาระของครูในการประมวลข้อมูล และลดภาระทางธุรการ ทำให้สามารถดำเนินการได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น และ 4. ประมวลผลในระดับชั้นเรียนจนถึงภาพรวมของโรงเรียน เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลในกระบวนการวางแผนพัฒนาโรงเรียน (Evidence-based Planning)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: