ปตท.สผ. ทุ่ม 1.6 พันล้าน ตั้ง ARV รุกธุรกิจ AI และ Robotic

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 2700 ครั้ง

ปตท.สผ. ทุ่ม 1.6 พันล้าน ตั้ง ARV รุกธุรกิจ AI และ Robotic

ปตท.สผ. เปิดตัว ARV บริษัทให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ โดยช่วงแรกจะใช้เงินลงทุน 1,600 ล้านบาท วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งอุตสาหกรรมด้านการเกษตร และความปลอดภัย วางเป้าภายใน 3-5 ปี เป็นผู้นำด้าน AI ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาภาพ: Energy News Center

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2562 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเปิดตัวบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงนวัตกรรมกับทั่วโลก และดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่ โดยปัจจุบัน ARV เริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ในประเทศแล้ว และมีแผนจะขยายบริการไปทั่วภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก นอกจากนี้ ตนจะชักชวนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาใช้บริการของ ARV ในการตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศและในอาเซียนด้วย

ด้าน นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. กล่าวว่า ARV จะทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม ซึ่งช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ความปลอดภัยของพนักงาน และยังสามารถยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากด้านพลังงาน ซึ่งในระยะแรก (2562-2564) ARV จะมีการลงทุนประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายจะเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในระยะเวลา 3-5 ปี

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีของ ARV จำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับการทดสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ปตท.สผ. จึงได้ลงนามสัญญากับ ปตท. เพื่อเช่าที่ดินวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ของ ปตท. รวม 44.3 ไร่ เป็นเวลา 30 ปี เพื่อทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ และธุรกิจใหม่ๆ ด้านพลังงาน ซึ่ง ARV จะเข้าไปใช้ประโยชน์ภายในศูนย์แห่งนี้ด้วย และในอนาคต ปตท.สผ. อาจย้ายศูนย์วิจัยที่วังน้อยไปอยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง เพื่อเชื่อมโยงการทำงานด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กระตุ้นให้โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi ) เกิดการเติบโตมากขึ้น

นายธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป ARV กล่าวว่า ในช่วงแรก ARV จะให้บริการในกลุ่ม ปตท. และ ปตท.สผ. เป็นหลัก เพื่อสะสมชั่วโมงบินก่อนขยายการให้บริการไปยังธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน ซึ่งขณะนี้ เริ่มมีธุรกิจด้านการเกษตรที่สนใจนำเทคโนโลยีโดรน (Drone) เข้ามาช่วยวิเคราะห์การเติบโตของพืช ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยว รวมทั้งการลดข้อจำกัดของเกษตรกรในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีราคาถูกลง และขณะนี้ก็มีบริษัท มิตรผล ที่สนใจนำเทคโนโลยีของ ARV ไปใช้ในการตรวจสอบวิเคราะห์สภาพการเติบโตของไร่มันสำปะหลัง รวมทั้งการใช้งานด้านความปลอดภัย (Security) เช่น โดรนดับเพลิง ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้

นอกจากนี้ ยังมีการจับมือกับบริษัท สตาร์ทอัพ ในประเทศนอร์เวย์ ในการพัฒนาหุ่นยนต์ซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ (Subsea Flowline Control and Repair Robot – SFCR) ตัวแรกของโลก ที่สามารถตรวจสอบและซ่อมท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำได้โดยอาศัยการควบคุมจากระยะไกล ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในงานซ่อมแซมได้กว่าครึ่งจากการทำงานรูปแบบเดิม และลดความเสี่ยงของพนักงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบและคาดว่าจะเริ่มใช้งานจริงได้ในปี 2563 หากประสบความสำเร็จ เชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยน (Game Changer) ที่มีผลกระทบต่อวงการอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ

สำหรับการทำงานของ SFCR นั้น เป็นการส่งหุ่นยนต์ลงไปซ่อมท่อแทนที่จะส่งคนหรือนักประดาน้ำลงไปซ่อม ซึ่งท่อในอ่าวไทยมีความลึกประมาณ 60-70 เมตร เป็นระดับที่ไม่ควรส่งมนุษย์ลงไปดำเนินการ โดยหุ่นยนต์ตัวนี้สามารถทำงานใต้ทะเลที่ระดับความลึกได้ถึง 200-300 เมตร ซึ่งตัวต้นแบบมีอยู่ 1 ตัว กำลังทำการผลิตที่ประเทศนอร์เวย์

นอกจากนี้ ARV ยังให้บริการและอยู่ระหว่างพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อปฏิบัติงานทั้งบนบก ในทะเล และทางอากาศ เช่น หุ่นยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติไร้สาย (Inspection-class Autonomous Underwater Vechicle – IAUV) สำหรับตรวจสอบอุปกรณ์ใต้น้ำได้โดยอัตโนมัติ เช่น การตรวจสอบท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำและโครงสร้างของแท่นผลิตปิโตรเลียมใต้ทะเล เพื่อป้องกันการชำรุด โดยไม่ต้องอาศัยเรือสนับสนุนหรือเจ้าหน้าที่บังคับ ส่วนหุ่นยนต์ตรวจสอบภายในท่อ (In-pipe Inspection Robot – IPIR) เพื่อใช้สำรวจสภาพภายในท่อปิโตรเลียมที่มีพื้นที่จำกัด ตั้งแต่ 6-16 นิ้ว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ และสามารถประมวลผลเป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2017 จนได้เจนเนอเรชั่นที่ 2 ในปี 2018

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: