ประธานอนุฯ บริหาร 'โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่' เผยไม่ติดใจกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้งบฯ น้อย แต่ขอให้ได้งบฯ ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี เพื่อไม่ให้โครงการสะดุด และลดข้อจำกัดไม่ควรให้งบฯ แบบต่อหัว แต่ควรเปิดกว้างหลากหลายตอบสนองยุคดิจิทัล
เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2562 ว่านายบัณฑิต ทิพากร ประธานคณะอนุกรรมการบริหารโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบายThailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย (ปี2561-2565) กล่าวถึงกรณีการอภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563ในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เกี่ยวกับโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่มีการติงว่างบประมาณได้จำนวนน้อย ว่า งบประมาณจะมากหรือน้อย ไม่สำคัญเท่ากับงบฯ ต้องได้อย่างต่อเนื่องและเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 5 รุ่น สำหรับการผลิตหลักสูตรแบบหลักสูตรระดับปริญญา (degree) และแต่ละรุ่นต้องสนับสนุนให้ครบตามเวลาที่ กำหนดไว้ในหลักสูตร และหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) ที่เพิ่มและปรับเปลี่ยนทักษะอาชีพ (Up-Skills/Re-skills) เป็นต้น เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ของโครงการ ซึ่งโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่มีเป้าประสงค์ คือ สร้างระบบนิเวศของการอุดมศึกษาที่ตอบสนองสังคมดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และการสนับสนุนควรไม่มีข้อจำกัดการใช้ที่เป็นรายการเฉพาะ หรือเป็นงบฯ เฉพาะต่อหัวผู้เรียน เนื่องจากเป็นการดำเนินการตอบสนองความหลากหลาย
“การดำเนินการที่ผ่านมาช่วงระยะแรก พบว่า มหาวิทยาลัยยังไม่ค่อยเข้าใจโครงการ ส่วนงบฯ ที่ได้รับช่วงแรก 1,000 ล้านบาท ถือว่าเพียงพอในการกระตุ้นความสนใจ แต่เมื่อมีสถาบันอุดมศึกษาและเอกชนเข้าใจและมีศักยภาพทำได้มากขึ้น งบฯ ก็ควรจะเพิ่มขึ้น หรือมีตัวอย่างที่เห็นผลเชิงประจักษ์ เพื่อการกระจายตัวตอบสนองผู้เรียนในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคการผลิตต้องการบัณฑิตจำนวนเท่าไหร่ และต้นทุนการผลิตจะเท่าไหร่นั้นยังคาดการณ์ไม่ได้ แต่เรื่องของงบฯ ผมเห็นว่าควรจะเป็นงบฯ ปกติของการจัดการการอุดมศึกษาในการผลิตกำลังคนอุดมศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคการผลิตในอนาคต”ประธานคณะอนุกรรมการบริหารโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ