รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการระบุมีเป้าหมายปรับสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพจะต้องอยู่ที่ 60% ขึ้นไป และสายสามัญ 40% แต่ทั้งนี้ต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนอาชีวะ-พัฒนาครู เพื่อทำให้การเรียนการสอนในสายอาชีพมีความน่าสนใจมากขึ้น มั่นใจว่าหากประชาสัมพันธ์ข้อดีของการเรียนสายอาชีพให้มากขึ้น ผู้ปกครองก็จะมีความเชื่อใจที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในสายอาชีพมากขึ้นตามไปด้วย ที่มาภาพประกอบ: เว็บไซต์บ้านเมือง
เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2562 ว่านายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมวีดีโอทางไกลผ่านดาวเทียม เรื่องการมอบนโยบายการรับนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2563 ของสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ว่าการประชุมดังกล่าวเป็นการส่งต่อนโยบายให้แก่หน่วยงานระดับพื้นที่ได้รับทราบถึงนโยบายการรับนักเรียน รวมถึงการวางแนวทางเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนในสายอาชีพ และการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งต่อจากนี้ไป สพฐ.และ สอศ.จะต้องทำงานเชื่อมโยงข้อมูลกันให้มากขึ้น เช่น การนำผู้เรียนอาชีวะให้เข้าไปบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีให้แก่โรงเรียนขั้นพื้นฐาน เพราะโรงเรียนบางแห่งอาจยังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีที ซึ่งเรื่องเทคโนโลยีเป็นนโยบานหนึ่งที่ตนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ส่วนประเด็นการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพและสายสามัญ ให้ได้ 50 ต่อ 50 นั้น เรื่องนี้ตนมีเป้าหมายการเพิ่มผู้เรียนทั้งสายอาชีพและสายสามัญกว่า 50 ต่อ 50 คือ สัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพจะต้องอยู่ที่ 60 ขึ้นไป และสายสามัญ 40 แต่ทั้งนี้เราก็ต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนอาชีวะ และการพัฒนาครู เพื่อทำให้การเรียนการสอนในสายอาชีพมีความน่าสนใจมากขึ้น และตนมั่นใจว่าหากเราได้ประชาสัมพันธ์ข้อดีของการเรียนสายอาชีพให้มากขึ้น ผู้ปกครองก็จะมีความเชื่อใจที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในสายอาชีพมากขึ้นตามไปด้วย
“การเพิ่มผู้เรียนในสายอาชีพให้ได้ร้อยละ 60 ขึ้นไปนั้น ผมมองว่าหากทุกฝ่ายช่วยกันทำงานจะไปที่เป้าหมายนี้ได้แน่นอน โดยจะต้องปรับความเข้าใจการบริหารจัดการระหว่าง สพฐ.และ สอศ.ให้มากขึ้น และ สพฐ.เองก็ไม่ต้องกังวลว่าเงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียนจะลดลง แต่ สพฐ.สามารถขยายโรงเรียนการสร้างความเป็นเลิศเฉพาะทางที่สร้างเด็กเก่งในสายวิทยาศาสตร์ หรือ คณิตศาสตร์ เหมือนที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้ดำเนินการอยู่” รมว.ศธ.กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ขณะนี้กระแสความนิยมอาชีพในปี 2563 จะมุ่งไปในทิศทางที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ การทำแพลทฟอร์ม การออกแบบเกม และโลจิสติกส์ แต่การจัดการสอนหลักสูตรของอาชีวะอยู่ในกลุ่มอาชีพที่น่าเป็นห่วงว่าจะมีโอกาสตกงานสูง นายณัฏฐพล กล่าวว่าเรื่องนี้ตนยอมรับว่ายังเป็นข้อจำกัดของอาชีวศึกษา และเป็นปัญหาที่เราไม่ได้มีการแก้ไขในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเราทราบถึงความต้องการของตลาดแต่ขณะเดียวกันเรายังขาดบุคลากรในการจัดการเรียนการสอน ดังนั้นขณะนี้ สอศ.กำลังดำเนินการขยายความร่วมมือโครงการทวิภาคีให้มากขึ้น การพัฒนาครู และการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษา ซึ่งเชื่อว่าอีก 2 ปีข้างหน้าเราสามารถผลิตบุคลากรรองรับตามความต้องการของตลาดแรงงานได้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ