เช็คลิสต์ ‘154 ข้อมูล’ ที่รัฐเชื่อมโยงกับ ‘บัตรประชาชน’ ได้แล้ว

ทีมข่าว TCIJ: 27 ม.ค. 2562 | อ่านแล้ว 8062 ครั้ง

ปัจจุบันฐานข้อมูลภาครัฐมีประมาณ 1,000 รายการข้อมูล ราว 200 รายการข้อมูลเป็นส่วนที่มีการใช้งานประจำ พบหน่วยงานภาครัฐสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลบนบัตรประชาชนสมาร์ท การ์ดเลข 13 หลัก ได้แล้ว 154 รายการข้อมูลจาก 16 กระทรวง-องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐอื่นๆ  'มหาดไทย' สูงสุด 71 รายการ ชวนดู 20 รายการข้อมูลก้อนใหญ่ที่สุดที่รัฐบันทึกไว้ นอกจากนี้พบแต่ละปีรัฐบาลมีค่าใช้จ่ายจัดการเอกสารกระดาษมากกว่า 1 พันล้านบาท จับตาการยกเลิกเก็บสำเนาเอกสารในการทำธุรกรรมภาครัฐในปี 2562 นี้ เตรียมบังคับข้าราชการ 3 ล้านคนเข้าคอร์ส 'พัฒนาทักษะด้านดิจิทัล' ภายใน 3 ปี  ที่มาภาพประกอบ: เว็บไซต์ข่าวสด

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2561 กระทรวงมหาดไทยได้รายงานผลการขับเคลื่อนตามแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 15 ม.ค. 2559 และ วันที่ 4 ก.ค. 2560 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนตามแนวทาง ‘การบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ’ โดยกระทรวงมหาดไทยระบุว่าสามารถเชื่อมโยงและเปิดให้หน่วยงานที่ร้องขอนำข้อมูลไปใช้ในการอำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชนผ่านระบบ (Linkage Center) ได้แล้ว จำนวน 73 ฐานข้อมูล คิดเป็นร้อยละ 62.93  อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูล จำนวน 25 ฐานข้อมูล คิดเป็นร้อยละ 21.55 แต่มีการขอยกเลิกเนื่องจากไม่สามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักได้ และไม่สามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart Card ในการขอรับบริการได้ จำนวน 18 ฐานข้อมูล คิดเป็นร้อยละ 15.52 [1] ทั้งนี้ข้อมูลสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ระบุว่าปัจจุบันฐานข้อมูลภาครัฐมีประมาณ 1,000 รายการข้อมูล ราว 200 รายการข้อมูลเป็นส่วนหลักที่มีการใช้งานประจำ ในจำนวนนี้มี 154 รายการข้อมูลที่เชื่อมโยงบนแพลตฟอร์ม Cloud แล้ว เหลืออีกประมาณ 50 รายการข้อมูลที่เชื่อว่าจะเชื่อมโยงได้สำเร็จในปี 2562-2563 [2]

ต่อมาข้อมูลที่เปิดเผยเมื่อเดือน ม.ค. 2562 มีการระบุว่า Linkage Center ซึ่งเป็นศูนย์การ บูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ มีการใช้งานจากหน่วยงานรัฐแล้วเกิน 11 ล้านครั้ง จากหน่วยงานรัฐกว่า 186 แห่ง มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลประชาชนกับสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามหน่วยงานผ่านระบบ Linkage Center จำนวน 154 ชุดข้อมูลแล้ว [3]

 

ข้อมูล 154 รายการ ที่มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามหน่วยงานผ่านระบบ Linkage Center (ณ วันที่ 23 ม.ค. 2562) ที่มา: Linkage Center

16 กระทรวง-องค์กรอิสระ-หน่วยงานรัฐ เชื่อมโยงข้อมูลแล้ว ‘มหาดไทย’ สูงสุด

TCIJ ได้สืบค้นฐานข้อมูล Linkage Center ณ วันที่ 23 ม.ค. 2562 พบรายละเอียดชุดข้อมูลจากหน่วยงานของกระทรวงต่างๆ (หน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่า) ที่ลิงค์กับระบบ Linkage Center ได้แล้ว สรุปรายละเอียดได้ดังนี้

กระทรวงกลาโหม (2 หน่วยงาน 2 รายการข้อมูล) กระทรวงการคลัง (6 หน่วยงาน 7 รายการข้อมูล) กระทรวงการต่างประเทศ (1 หน่วยงาน 1 รายการข้อมูล) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (1 หน่วยงาน 1 รายการข้อมูล) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (4 หน่วยงาน 9 รายการข้อมูล) กระทรวงคมนาคม (2 หน่วยงาน 7 รายการข้อมูล) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (1 หน่วยงาน 1 รายการข้อมูล) กระทรวงพาณิชย์ (4 หน่วยงาน 12 รายการข้อมูล) กระทรวงมหาดไทย (9 หน่วยงาน 71 รายการข้อมูล) กระทรวงยุติธรรม (5 หน่วยงาน 5 รายการข้อมูล) กระทรวงศึกษาธิการ (1 หน่วยงาน 1 รายการข้อมูล) กระทรวงสาธารณสุข (2 หน่วยงาน 8 รายการข้อมูล) กระทรวงอุตสาหกรรม (3 หน่วยงาน 6 รายการข้อมูล) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (5 หน่วยงาน 10 รายการข้อมูล) กระทรวงแรงงาน (2 หน่วยงาน 4 รายการข้อมูล) สำนักนายกรัฐมนตรี (1 หน่วยงาน 1 รายการข้อมูล) องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐอื่นๆ (5 หน่วยงาน 6 รายการข้อมูล)

ทั้งนี้ ชุดข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐมีการเก็บไว้จำนวนมากที่สุดตั้งแต่ 60 ล้านข้อมูลขึ้นไปมีจำนวนถึง 8 ชุดข้อมูล ได้แก่ 1.ประวัติการย้ายเข้า (ทะเบียนบ้าน) (จำนวนข้อมูล 74,487,562 รายการ ณ วันที่ 09/08/2561) 2.สิทธิประกันสุขภาพ (จำนวนข้อมูล 66,778,242 รายการ ณ วันที่ 17/09/2561) 3.ทะเบียนราษฎร (จำนวนข้อมูล 66,305,833 รายการ ณ วันที่ 31/07/2561) 4.ทะเบียนราษฎร (รายการคนในบ้าน) (จำนวนข้อมูล 65,968,435 รายการ ณ วันที่ 09/08/2561) 5.ประวัติสุขภาพ [ประวัติรายการยาที่มีข้อมูลว่าแพ้ (เฉพาะรหัสยา), ประวัติรายการยาที่มีข้อมูลว่าแพ้ (เฉพาะชื่อยา), ค่าดัชนีมวลกาย BMI และการแปลผล, ค่าน้ำตาลในกระแสเลือด FPG & HBA1C, สถานะประวัติสุขภาพ เรื่องการเป็น เบาหวาน และ สถานะประวัติสุขภาพ เรื่องการเป็น ความดันสูง] (จำนวนข้อมูล 64,457,103 รายการ ณ วันที่ 27/08/2561) 6.บัตรประจำตัวประชาชน (จำนวนข้อมูล 64,290,016 รายการ ณ วันที่ 09/08/2561) 7.ภาพใบหน้า (จำนวนข้อมูล 64,290,016 รายการ ณ วันที่ 09/08/2561) และ 8.ข้อมูลการเดินทางเข้า-ออก (Entry Exit) ของคนไทย (จำนวนข้อมูล 60,000,000 รายการ ณ วันที่ 29/11/2561) [ดูรายละเอียดทุกข้อมูลของทุกกระทรวงใน จับตา: รายการข้อมูลของกระทรวงต่างๆ ที่ลิงค์กับระบบ Linkage Center]

โดยชุดข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐมีการเก็บไว้มากที่สุด 20 อันดับแรก จากฐานข้อมูล Linkage Center มีดังตารางต่อไปนี้

รัฐใช้เงินจัดการเอกสารกระดาษ มากกว่า 1 พันล้านบาท/ปี เตรียมบังคับข้าราชการ 3 ล้านคนเข้าคอร์ส 'พัฒนาทักษะด้านดิจิทัล' ภายใน 3 ปี 

แม้รัฐบาลจะมีนโยบายยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านจากหน่วยงานผู้ให้บริการของรัฐมาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2561 โดยได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่าประชาชนไม่จำเป็นต้องนำสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านมาแล้ว ซึ่งหน่วยงานเจ้าของเรื่องจะต้องเป็นผู้รวบรวมและเก็บข้อมูลและจะต้องนำข้อมูลลงระบบในวันที่ 3 ต.ค.2561 ที่ผ่านมาแล้วนั้น [4] [5] แต่ปัจจุบัน (ณ เดือน ม.ค. 2562) ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลความสำเร็จของนโยบายนี้ต่อสาธารณะ

ในงานงานสัมมนา Digital Government Summit 2019 เมื่อเดือน ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ได้ระบุว่าแต่ละปี รัฐบาลไทยมีค่าใช้จ่ายในการจัดการเอกสารกระดาษมากกว่า 1 พันล้านบาท ทั้งนี้ใน ร่าง พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล จะทำให้ประชาชนไม่ต้องเสียค่าบริการคัดลอกเอกสารเช่นใบอนุญาตนิติบุคคล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 100-200 บาทต่อครั้ง ค่าใช้จ่ายที่ลดลงไปได้นี้ ถือเป็นเพียงผลพลอยได้จากการตั้งรัฐบาลดิจิทัลเท่านั้น เพราะภาพใหญ่ที่รัฐบาลต้องการก็คือ ‘Big Data’ ที่สามารถนำไปพัฒนาประเทศได้

สำหรับการเลิกเก็บสำเนาในการทำธุรกรรมภาครัฐจะมีผลกับ 3 ส่วนก่อนในระยะแรก ได้แก่สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน และใบอนุญาตนั้น จุดนี้ DGA ย้ำว่าจำนวนใบอนุญาตออนไลน์ที่รองรับการใช้งานจริงขณะนี้มีมากว่า 40 ใบ คาดว่าจะเพิ่มเป็น 200 ใบได้ในปี 2562 จากใบอนุญาตที่มีการใช้งานบ่อย 300 ใบ

ดร.ศักดิ์ ระบุว่าสำหรับเอกสารหลักจะยกเลิก 100% ในปี 2562 นี้ ส่วนเอกสารบางอย่างอาจต้องรอ 2-3 ปี คิดว่าอีก 2 ปี จากนั้นประชาชนจะไม่ต้องเดินทางไปยังหน่วยงานของรัฐ จะสามารถขอออนไลน์ได้หมด ได้รับทุกบริการจากที่เดียว โดยทุกวันนี้เอกสารราชการเป็นไฟล์ดิจิทัลพร้อมให้คนไทยดาวน์โหลดแล้ว เหลือเพียงแค่รอ Digital ID ซึ่งจะมากลางปี 2562 นี้ ก็จะทำให้ประชาชนดาวน์โหลดไปใช้งานได้ทันทีร่วมกับ Digital ID และ e-KYC สำหรับการยืนยันตัวบุคคล

ก้าวต่อไปนอกเหนือจาก 3 ปีแรก แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจะเข้าสู่การเร่งประชาสัมพันธ์ หนึ่งในนั้นคือแอปพลิเคชัน CITIZENinfo ซึ่งมีลักษณะเหมือน ‘Google Map ของภาครัฐ’ เช่นหากประชาชนต้องการทำใบขับขี่ แอปจะบอกข้อมูลว่าต้องเดินทางไปหน่วยงานใด ระบบจะแสดงให้ผู้ใช้ได้เห็นว่าหน่วยงานไหนอยู่ใกล้ที่สุด ต้องใช้หลักฐานใด รวมถึงรายชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ 6 หมื่นจุดทั่วประเทศที่เป็นศูนย์บริการครบวงจร นอกจากการประชาสัมพันธ์แอปพลิเคชัน CITIZENinfo ล่าสุดมีการเซ็น MOU ระหว่าง 19 กระทรวงและสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมมือกันพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่ข้าราชการและบุคลากรรัฐให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“เราจะบังคับข้าราชการ 3 ล้านคนทยอยเข้าคอร์สภายใน 3 ปี แบ่งเป็นเฟสแรกคือผู้บริหาร ที่จะต้องวางแผนเพื่อทำดิจิทัล ทรานสฟอเมชัน กลุ่มนี้จะครอบคลุมรองอธิบดีและปลัดกระทรวงที่จะต้องเปลี่ยนแปลงการจัดการ ขณะที่ข้าราชการชั้นปฏิบัติการก็จะต้องรู้วิธีการทำงานบนระบบดิจิทัล ทั้งหมดนี้จะเริ่มขึ้นผ่าน 20 หน่วยงานพันธมิตร ที่จะทยอยและช่วยกันสร้างคอร์สอบรมยกระดับบุคลากรข้าราชการ” ดร.ศักดิ์ ระบุ [6]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] รายงานผลการขับเคลื่อนตามแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 และวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 (มติคณะรัฐมนตรี, 18/12/2561)
[2] ครบ 3 ปีรัฐบาลดิจิทัล “ดร.ศักดิ์” ให้คะแนน 8.5 เต็ม 10 (ผู้จัดการออนไลน์, 18/01/2562)
[3] เพิ่งอ้าง
[4] ยืนยัน ส.ค.นี้ ยกเลิกสำเนาบัตรประชาชน-ทะเบียนบ้าน (Thai PBS, 1/5/2561)
[5] แจ้งเวียนแล้ว! มท.สั่ง 'ยกเลิก' ใช้สำเนาทะเบียนบ้าน-บัตรปชช. ตามนโยบายรบ.ดิจิทัล (สำนักข่าวอิศรา, 10/8/2561)
[6] ครบ 3 ปีรัฐบาลดิจิทัล “ดร.ศักดิ์” ให้คะแนน 8.5 เต็ม 10 (ผู้จัดการออนไลน์, 18/01/2562)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: รายการข้อมูลของกระทรวงต่างๆ ที่ลิงค์กับระบบ Linkage Center
หวังภาครัฐแก้ไข 'บัตรประชาชน Smart Card' ป้องกันสวมบัตรเปิดบัญชี
ทำไมต้องมี ‘บัตรคนจน’? หวั่นซ้ำซ้อน-ซ้ำรอยปัญหา ‘บปช.สมาร์ทการ์ด’
คนไทยรู้ยัง: คุณใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดรุ่นที่เท่าไร? ออกมากี่ใบ?

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: