ความท้าทายของรัฐไทย ภายใต้การผลักดันให้แก้ความหมาย 'กฎหมายสมรส(ที่ไม่)เท่าเทียม'

ปาหนัน ชัญญา | TCIJ School รุ่นที่ 6 | Young Pride Club | 27 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 7237 ครั้ง

เมื่อ 'สิทธิการครองชีวิตคู่' ยังมีอุปสรรค มีการกีดกันไม่ให้ได้มาซึ่งความเสมอภาค จึงเปรียบดั่งการสะท้อนถึงสิทธิศักดิ์ศรีในการสมรสแบบ 'ชาย-หญิง' ที่ยังมีเหนือกว่ากลุ่มคนที่มีความ 'หลากหลายทางเพศ' ความกังวลต่อ 'ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต' ที่ว่าไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง แล้วจะมีข้อเสนออะไรอีกหรือไม่ ที่ส่งผลให้ความรักของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิอย่างครอบคลุม? ที่มาภาพประกอบ: Pxhere (CC BY 2.0)

พ.ร.บ.คู่ชีวิต กระแสฮือฮาจากภาคประชาชน จนนำไปสู่สภาวะถดถอยเชิงอุดมการณ์

ในช่วงเดือน ม.ค. 2562 ที่ผ่านมาได้มีปรากฏการณ์หนึ่งที่ได้เสียงฮือฮาและน่าประหลาดใจเนื่องจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต หรือ ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ และพร้อมส่งไปยังกฤษฎีกาและสภาพิจารณาเป็นกฎหมายต่อไป เหตุผลที่ทำให้ข่าวนี้เป็นที่ดีใจแก่กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นเพราะว่าพวกเขาจะได้รับสิทธิความคุ้มครองทางกฎหมาย เปรียบเสมือนเครื่องมือที่ช่วยสร้างความมั่นคงระหว่างความสัมพันธ์ร่วมกัน จนปลดล็อคคุณค่าความรักที่จะไม่ได้เป็นเพียงแค่ความรักแต่จะมีผลทางข้อกฎหมายด้วย

จากข้อมูลของ ดร.ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร ทนายความและนักวิจัยประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ ให้ข้อมูลกับ The standard ว่าที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิตโดยร่างที่ 1 ยกร่างในปี 2556 มีจำนวน 15 มาตรา ยกร่างโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในสมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (iLaw, 2556) และร่างที่ 2 จำนวน 63 มาตรา ปรับปรุงร่างโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในปี 2560 (นักวิจัยกฎหมาย LGBTI, 2560) นับรวมเวลาตั้งแต่ร่างแรกจนถึงร่าง พ.ร.บ. ที่ 3 นี้ ใช้เวลายกร่างและปรับปรุงร่างเป็นเวลาเกือบ 6 ปี

แต่ถึงอย่างไรก็ตามบรรดานักกิจกรรมบางส่วนยังให้ความกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ว่าไม่สามารถตอบโจทย์กับการได้มาซึ่งสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ได้เอื้อให้คู่รักกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิเพียงบางประการ อาทิ สิทธิในการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกัน สิทธิให้หรือรับมรดก แต่ยังขาดการได้มาซึ่งสิทธิหลายประการ อาทิ สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิการอุ้มบุญ สิทธิการใช้ชื่อสกุลร่วมคู่สมรส (Love United และ Voice TV, 2562 อ้างใน Thanyawat Ippoodom, The MATTER, 2562)

เมื่อสิทธิทางครองชีวิตคู่ยังมีอุปสรรคกีดกันไม่ให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคทั้งหมด จึงเปรียบดั่งการสะท้อนถึงสิทธิศักดิ์ศรีในการสมรสแบบชายหญิงที่ยังมีเหนือกว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ใจความเนื้อในของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตจึงเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากตัวร่างมีใจความที่ให้ความสำคัญเพียงแค่เชิงทรัพย์สินบางส่วนและการอุปการะดูแลร่วมกันเพียงบางประการ แต่เชิงความสัมพันธ์ในฐานะคู่ชีวิตกลับถูกละเลยความสำคัญแตกต่างจากคู่รักเพศกระแสหลักชายและหญิงในสังคมไทย ที่มีข้อกฎหมายเชิงแพ่งและพาณิชย์ที่รองรับสิทธิชีวิตคู่มาอย่างยาวนาน

และเมื่อเกิดข้อวิพากษ์ว่าร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่สามารถทำให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้นจริง จึงเกิดเป็นข้อสงสัยอันเคลือบแคลงใจว่า แล้วจะมีข้อเสนออะไรอีกหรือไม่ที่ส่งผลให้ความรักของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิอย่างครอบคลุม?

การแก้ไข ปพพ.1448 เพื่อสิทธิครอบคลุมความหลากหลายทางเพศ ขจัดปัญหาพลเมืองชั้นสองสังคมไทย

ที่มาภาพประกอบ: ปพพ.1448

นักกฎหมายด้านสิทธิความเท่าเทียมและนักเคลื่อนไหวกลุ่มความหลากหลายทางเพศบางส่วนต่างมีความเห็นที่ตรงกันว่าต้องผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ที่มีสาระสำคัญว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อ ชายและหญิง มีอายุสิบเดปีบริบูรณ์แล้วแต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนได้” ผ่านการระบุสิทธิการสมรสเชิงข้อกฎหมายโดยเปลี่ยนจากคำว่าระหว่างชายกับหญิงเป็นระหว่างบุคคลกับบุคคล รวมไปถึงการลักดันแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 เพิ่มในส่วนของวรรค 1 โดยเสนอว่า “บุคคลสองคนที่จะทำการสมรสนั้น หมายความรวมถึงบุคคลเพศเดียวกัน” (ชุมาพร แต่งเกลี้ยง อ้างใน นโยบาย By ประชาชน, 2562)

ถ้าหากการแก้ไข ปพพ.1448 สำเร็จ จะส่งผลให้รองรับสิทธิความหลากหลายทางเพศได้อย่างครอบคลุม ถือเป็นการทลายกำแพงการเลือกปฏิบัติแก่คู่รักกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้พวกเขาได้รับสิทธิ์ในชีวิตคู่ที่ไม่แตกต่างจากคู่รักเพศกระแสหลักชายหญิง ที่มีข้อกฎหมายเชิงแพ่งและพาณิชย์ที่รองรับสิทธิชีวิตคู่มาอย่างยาวนาน

กระบวนการแก้ไข ปพพ.1448 ในรัฐสภาต้องยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราขึ้น แต่ก่อนจะไปถึงขั้นตอนยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น ต้องมีการเข้าชื่อจากภาคประชาชนจำนวน 10,000 รายชื่อ หรือได้รับการเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 20 คนขึ้นไป จึงจะสามารถยกร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตามการจะผลักดันให้เกิดกระบวนวิธีดังกล่าวทั้งหมดในรัฐสภานั้นไม่ได้แปลว่าจะต้องทำตามแค่เข้าชื่อให้ครบหรือให้ ส.ส.ยกมือให้ครบเท่านั้นแต่หัวใจสำคัญของการผลักดันกฎหมายใดๆก็ตามเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งจำเป็นต้องอาศัยความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมที่ต้องกระจายความรู้และโอกาสในการมีส่วนร่วมให้แก่ภาคประชาชน รวมไปถึงการผลักดันจากภาคการเมืองซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการรัฐสภาอีกด้วย

ถ้าเรามองว่าขั้นตอนเสนอแก้ไป ปพพ.1448 เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์คความต้องการแก่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศตามหลักประชาธิปไตยแล้วนั้น มันจึงชวนให้ย้อนกลับมาดูความปิติยินดีของบุคคลบางกลุ่มที่ดีใจเมื่อได้เห็นร่าง พ.ร.บ.ผ่านร่าง ว่าเขาอาจจะกำลังเผชิญอยู่กับมายาคติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าหากไม่มีแนวความคิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยเข้ามาปะทะประสาน

ถอดรื้อมายาคติ กฎหมายสมรส(ที่ไม่)เท่าเทียม สู่การสร้างความชอบธรรมในผู้ปกครอง

หากเรามัวแต่เพ่งเล็งให้ความสำคัญในเชิงการผลักดันกฎหมายจนลืมพิจารณาชุดอุดมการณ์ประกอบการผลักดันแล้ว สามารถส่งผลให้เกิดมายาคติที่บิดเบือนผ่านการมองเห็นอำนาจอันชอบธรรมของรัฐบาลชุดนั้นๆ เป็นหลัก ดังเช่นในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผ่านร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิต และพร้อมส่งไปยังกฤษฎีกาและสภาพิจารณาเป็นกฎหมายต่อไปนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตยังมีบางส่วนในบทกฎหมายที่แสดงถึงความเป็นพลเมืองชั้นสองของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ส่งผลให้มายาคติชุดนี้ทำให้ส่งผลถึงภาคประชาชนที่ได้ถูกสภาวะเผด็จการเข้าครอบงำความคิดจนมองเห็นอำนาจเผด็จการเป็นสิ่งที่ชอบธรรม ยับยั้งผู้คนให้สนใจในการเรียกร้องประชาธิปไตยอันเป็นการกระจายโอกาสความเสมอภาคอย่างทั่วถึง และยึดมั่นในชุดความคิดสังคมล้อมรัฐจนลืมตระหนักไปว่าประชาชนมีสิทธิอำนาจในการตรวจสอบรัฐได้

ยิ่งไปกว่านั้นการเล่นข่าวของสื่อมวลชนโดยการกล่าวถึงการผ่านร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิตถ้าเกิดขึ้นได้จริงจะถือเป็นชาติแรกในเอเชียนั้น ถ้าหากไม่มีการศึกษารายละเอียดอย่างถี่ถ้วน แน่นอนว่ามันจะทำให้ผู้คนเชื่อกับข่าวโดยเสพข่าวเพียงแค่ผิวเผิน ไม่สามารถทราบข้อเท็จจริงอันเป็นประจักษ์ว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างสมบูรณ์ และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไต้หวันเข้มแข็งกว่าบ้านเรามาก จนเกิดร่างกฎหมายชุดใหม่ได้สำเร็จ การอ่านข่าวสารที่ขาดวิจารณญาณจึงแสดงถึงความอ่อนแอในการรับสารของประชาชนบางส่วนที่จำเป็นจะต้องมีทักษะแสวงหาข้อเท็จจริงในการรับสารมากกว่านี้ เพื่อยับยั้งการถูกสื่อกล่อมเกลาจนขาดภูมิคุ้มกันในการเสพข่าวสารลงไป

นอกจากนี้แล้ว ในสังคมไทยแรกเริ่มเดิมทีนั้น ความพยายามในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตในช่วงเริ่มแรก หน่วยงานราชการที่รองรับการผลักดันร่างกฎหมายยังคงมีความเข้าใจในประเด็นความหลากหลายทางเพศอย่างเบาบาง กล่าวไปถึงประเด็นผิวเผินแล้วอนุมานไปเองว่านั่นคือความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มคนเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น การรู้จักเพียงแค่ Same-sex Union (คู่ชีวิตเพศเดียวกัน) ถือจัดเป็นมุมมองในภาวะที่คับแคบของคนบางกลุ่มภายใต้ระบบราชการ เพราะมองแค่เพียงว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถรักและอยู่อาศัยร่วมกันได้ และยับยั้งชุดความคิดเชิงคุณค่าว่าความรักของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถเรียกร้องให้เกิดความเสมอภาคผ่านข้อเรียกร้องทางกฎหมายได้

การจะขุดรากถอนโคนชุดมายาติเหล่านี้จึงเป็นหัวใจสำคัญของการผลักดันกฎหมายใดๆเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมที่ต้องกระจายความรู้และโอกาสในการมีส่วนร่วมให้แก่ภาคประชาชน รวมไปถึงการผลักดันจากภาคการเมืองซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการรัฐสภา

ความท้าทายของภาคประชาชนและภาคการเมือง สู่การผลักดันมวลชนคนที่มีความหลากหลายทางเพศ  และ ปพพ.1448

ภาคประชาสังคมมีจุดประสงค์ให้ภาคชุมชนและสังคมเข้มแข็ง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงหลากประเด็นมวลรวมทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติ แต่ถ้าพิจารณาไปที่ภาคประชาสังคมสำหรับนักกิจกรรมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนั้น ‘ชุมาพร แต่งเกลี้ยง’ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มโรงน้ำชา หนึ่งในนักกิจกรรมที่ผลักดันให้มีการแก้ไข ปพพ.1448 ได้ชวนให้มองถึงความท้าทายของภาคประชาสังคมที่ยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควรเพื่อระดมมวลชนได้ กรณีของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จึงมีการเข้าข่ายถึงการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

เมื่อเกิดขั้วความคิดที่แตกต่างกันนั้น จึงทำให้มองเห็นแนวคิดในการผลักดันกฎหมายสิทธิการสมรสในหมู่ภาคประชาสังคมแยกย่อยออกเป็น 2 ประเภท คือ ภาคประชาสังคมที่ยอมให้มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต โดยเสนอต่ออำนาจนิติบัญญัติไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดก็ตาม และภาคประชาสังคมที่พิจารณาถึงการได้มาซึ่งอุดมการณ์ในการเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลก่อน ใช้ฐานคิดประชาธิปไตยในการขับเคลื่อนกฎหมายสิทธิ ชะลอการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไปก่อน

ภาคประชาสังคมที่พิจารณาถึงการได้มาซึ่งอุดมการณ์ในการเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลก่อน พวกเขาจะมีอุดมการณ์ที่สอดคล้องกันเนื่องจากภายใต้รัฐบาลทหารยังไม่สอดคล้องและตอบโจทย์กับฐานความคิดการผลักดันอะไรก็ตามเพื่อความเท่าเทียม เพราะไม่สอดคล้องกับฐานคิดประชาธิปไตยในการกระจายโอกาสเข้าถึงทุกคนจนเกิดการผลักดันสิทธิความเสมอภาคทางเพศ เพราะฉะนั้นนักกิจกรรมเหล่านี้จึงเสนอให้มีการแก้ไข ปพพ.1448 แทนการยกร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

ยิ่งไปกว่านั้น ชุมาพร ยังได้ให้ทุกคนชวนมองถึงความท้าทายของภาคประชาสังคมในมุมมองที่ นักกิจกรรมมักจะสื่อสารการผลักดันด้วยกันเอง แต่การฟังเสียงคนรอบข้างยังไม่ยิ่งใหญ่พอ นอกจากจะฟังเสียงผู้อื่นให้มากขึ้น ต้องหลอมรวมพวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมร่วมกับบรรดานักกิจกรรมด้วย “ไม่ใช่สอนเขา อย่าพูดแทนเขา ต้อง empower และดึงพวกเขาเพื่อร่วมไปผลักดันร่วมกัน”

รวมไปถึงความท้าทายในการกระจายเสียงไปยังผู้คนในวงนอก ทุกเพศทุกวัย เช่น กระจายไปยังผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่ใช่รวมศูนย์อยู่แค่กรุงเทพ ทำให้พวกเขาเข้าใจในการผลักดัน ปพพ.1448 พร้อมทั้งอำนวยกระบวนการที่ทำให้พวกเขาเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวด้วย

“ต้องสนับสนุนคนที่เป็นแกนนำคือคนชายขอบ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้พวกเขา ชี้ให้เห็นว่า movement=intersectionality (อำนาจทับซ้อนในอัตลักษณ์หนึ่ง) เพื่อสะท้อนประเด็นปัญหาของพวกเขา และทลายออกมาเป็นการเรียกร้องต่อสู้กับอำนาจในสังคมได้”

นอกจากนี้ ‘คณาสิต พ่วงอำไพ’ จากกลุ่ม Non-binary Thailand และแกนนำ New Gen Network พรรคอนาคตใหม่ได้แสดงวิสัยทัศน์ของภาคการเมืองนอกจากจะสานต่อการขับเคลื่อนให้มีการแก้ไข ปพพ.1448 แล้ว ทางพรรคยังสนใจประเด็นอื่นๆ ที่ขับเคลื่อนสิทธิความหลากหลายทางเพศในวันข้างหน้า โดยต้องอาศัยการรับฟังจากเสียงของภาคประชาสังคมด้วยเช่นกัน อย่างเช่น การขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติ ทั้งในที่ทำงานและสถานการณ์ทั่วไป รวมถึง พ.ร.บ.คำนำหน้านาม ที่เปิดโอกาสให้เลือกคำหน้านามหรือปฏิเสธการมีคำนำหน้านาม จนนำไปสู่สภาวะ ‘ไร้เพศ’ ก็เป็นได้

และในฐานะของภาคการเมืองเอง คณาสิต ยังให้ความสำคัญกับความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมควบคู่กัน ผ่านการจัดกิจกรรมให้ชุดความรู้เข้าถึงทุกคน หรือการจัดเวทีสาธารณะ และมุ่งกระจายความรู้ไปยังทุกเพศเพื่อยกดับสิทธิความหลากหลายทางเพศร่วมกัน

“ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม ถ้าสังคมไม่มีเสียงที่ดังพอ การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิด ที่ผ่านมาความสำเร็จของไต้หวันได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว ว่าพลังมวลชนมันยิ่งใหญ่จริงๆ”

“ไม่ใช่แค่ LGBT แต่ต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิง แล้วการผลักดันมันจะมีพลังอย่างแท้จริง”

ย้อนมองความสำเร็จของไต้หวัน สำเร็จจนเท่าเทียมกันจริงๆ หรือต้องได้ถอดรื้อมายาคติออกมา?



ที่มาภาพประกอบ: Taiwan Sentinel

วันที่ 16 พ.ค. 2562 รัฐสภาไต้หวันมีมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นชาติแรกในเอเชีย (ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ, The Standard, 2562)

‘เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์’ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มโรงน้ำชา หนึ่งในนักกิจกรรมที่ผลักดันให้มีการแก้ไข ปพพ.1448 ได้ชวนมองในบริบทของความสำเร็จในกฎหมายสมรสเท่าเทียมในไต้หวัน ว่ากระบวนการไม่ได้มาจากการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แบบที่นักกิจกรรมไทยกำลังพยายามเสนอไปยังภาครัฐ แต่กรณีไต้หวันเป็นการบัญญัติกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับสิทธิการสมรสในบรรดากลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในไต้หวัน สะท้อนถึงภาคประชาสังคมและภาคการเมืองที่เข้มแข็งมากจนสร้างการเปลี่ยนแปลครั้งนี้ได้

เป็นที่แน่นอนว่าตัวบัญญัติกฎหมายใหม่นี้ กระแสข่าวต่างทำให้เกิดเสียงฮือฮาในหมู่ประชาชนทั้งในไต้หวันและกระจายไปยังทั่วทุกมุมโลก แต่อย่างไรก็ตามประชาชนกลับทราบข่าวแค่เพียงผิวเผินว่า LGBT ไต้หวันสามารถสมรสกันได้ แต่ไม่มีใครสามารถรู้ความจริงเชิงลึกได้เลยว่าภายใต้กฎหมายสมรสเท่าเทียมใหม่ในไต้หวัน ยังมีการจำกัดสิทธิ์ไม่อนุญาตให้คนไต้หวันสมรมกับชาวต่างชาติซึ่งเป็นประชากรของประเทศที่ยังไม่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม

“เพราะฉะนั้นแทนที่จะเกิดความเท่าเทียมจริงๆ กลับทิ้ง LGBT+ ส่วนหนึ่งไว้กลางทาง และนักกิจกรรมไต้หวันรวมไปถึงภาคการเมืองต้องผลักดันต่อไป”

การชี้ให้เหตุถึงจุดบกพร่องของกฎหมายสมรมเท่าเทียมในไต้หวัน จึงเป็นการถอดรื้อมายาคติอีกอย่างหนึ่ง ว่าสุดท้ายแล้วกฎหมายการสมรสเท่าเทียม (ที่เท่าเทียมอย่างแท้จริง) ยังไม่เกิดขึ้นได้จริงในทวีปเอเชีย แต่มีเพียงกรณีไต้หวันเท่านั้นที่แสดงถึงความรุดหน้าในการยอมรับสิทธิความหลากหลายทางเพศโดยไม่คำนึงถึงอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศแต่อย่างใด

มันจึงเกินเป็นคำถามชวนคิดว่าถ้าหากการผลักดัน ปพพ.1448 ในรัฐไทยสำเร็จ LGBT ได้รับสิทธิอย่างครอบคลุม จะส่งผลต่อสิทธิประโยชน์ใดในรัฐไทยบ้างหรือไม่ นอกจากการประกาศความภาคภูมิใจในการได้มาซึ่งสิทธิครอบคลุมของกลุ่ม LGBT?

ภาคนักกิจกรรม ภาคเยาวชน บทวิเคราะห์ถึงสิทธิประโยชน์ต่อกลุ่ม LQBT หากรัฐไทยเปิดโอกาสการสมรสเท่าเทียมขึ้นได้จริง

กลุ่ม 'Young Pride Club' เข้าร่วมกิจกรรม กิจกรรมวันยุติความรุนแรงต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ “Chiang Mai Pride 2019: ๑๐ ปี เสาร์ซาวเอ็ดรำลึก” เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2562 ที่มาภาพ: Young Pride Club

‘ชิษณุพงศ์ นิธิวนา’ นักกิจกรรมกลุ่มนักศึกษาเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ Young Pride Club ได้วิเคราะห์ถึงการสร้างความเข้าใจในสังคม ผ่านการอธิบายแนวโน้มหลังจากที่ประเทศไทยอนุมัติให้มีการแก้ไข ปพพ.1448 จะส่งผลดีอย่างไรต่อภาพลักษณ์ประเทศบ้าง

เริ่มแรกการจะส่งเสริมอะไรเกี่ยวกับสิทธิความหลากหลายทางเพศ มันจะเป็นเพียงการผลักดันวงแคบๆ เพราะฉะนั้นเริ่มแรกถ้าหากเราจะผลักดันสิทธิการสมรส แต่เราอย่าลืมว่าจุดมุ่งหมายของเราไม่ใช่มีเพียงแค่การใช้ชีวิตคู่ เราต้องมองถึงคนระดับล่างพี่เขาอาจยังไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการสมรสและยังเผชิญอยู่กับการต่อสู้ทางฐานะ ทางชนชั้น หรือการต่อสู้จากการเลือกปฏิบัติไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม เพราะฉะนั้นแล้วความเข้าใจทางสังคมต้องกระจายมายังผู้ที่ขาดโอกาสในจุดหมายของการสมรสเท่าเทียมด้วย

และถ้าหากรัฐไทยมีการอนุมัติให้มีการแก้ไข ปพพ.1448 จะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศด้านการเกิด hub หรือจุดศูนย์กลางซึ่งประกาศให้นานาชาติรู้ว่าประเทศของเรามีค่านิยม LGBT Friendly ที่มีผลในเชิงโครงสร้าง

“การดำเนินการด้านกฎหมายของรัฐโดยวางนโยบายเชิงรุกกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ถ้าหากว่าผ่านกฎหมายระดับชาติ มันจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวนานาชาติหรือทุกคนรู้ว่าประเทศไทยเริ่ดแค่ไหน”

ในกรณีที่การเคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศในประเทศโลกที่ 1 และไต้หวันเอง เมื่อกระแสความหลากหลายเริ่มที่เป็นจับตามองใน Global trend มันจะส่งผลนำมาซึ่งโอกาส ภาคการตลาดใหญ่ขึ้น เม็ดเงินจากทุนและกำลังทรัพย์จากนักท่องเที่ยวชาติต่างๆจะหลั่งไหลเข้ามา

อ้างอิงจาก Our top 25 most gay friendly countries in the world (Last updated 13 June, 2019) ที่ได้ให้ข้อมูลถึงการชักชนให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้ไปท่องเที่ยวยังกลุ่มประเทศที่เป็นมิตรต่อ LGBT+ เพื่อรองรับว่าพื้นที่ประเทศเหล่านี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขาอย่างเสรี และจุดที่น่าสนใจคือเกณฑ์การชี้วัดว่าประเทศเหล่านี้เป็นประเทศ LGBT Friendly นั้น จะใช้การประเมินจากการผ่านกฎหมาย same-sex marriage ในประเทศนั้นเป็นหลัก (อ้างอิงจาก https://nomadicboys.com/most-gay-friendly-countries-in-the-world/)

ข้อมูลประเทศที่เป็นมิตรกับความหลากหลายทางเพศนี้ ส่งผลให้เกิดข้อเสนอกับทางอำนาจรัฐว่าถ้าหากรัฐไทยผ่านกฎหมายการแก้ไข ปพพ.1448 นอกจากจะทำให้ทุกคนในสังคมถูกหลอมรวมผ่านสิทธิที่ครอบคลุมแล้วนั้น ยังมีโอกาสเพิ่มเม็ดเงินและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับชาติ ในฐานะประเทศลำดับต้นๆของทวีปเอเชียที่เป็นมิตรต่อ LGBT ทั้งในเชิงการปฏิบัติตนอย่างเสรีและเชิงโครงสร้างด้วย

นอกจากนั้นในฐานะแกนนำเยาวชน ชิษณุพงศ์ ยังได้ให้ความสำคัญกับภาคประชาชน ถ้าหากการแก้ไข ปพพ.1448 สำเร็จนั้น ในฐานะที่ภาคประชาสังคมปัจจุบันที่มีหลากหลายช่วยวัย จะทำให้พลังเสียงของเยาวชนนั้นยิ่งใหญ่ขึ้น เสริมทับกับก่อนหน้านี้ที่องค์การอนามัยโลกได้ยกเลิก homosexual ว่าเป็นความผิดปกติทางร่างกาย มันจะทำให้เสียงของเยาวชนใหญ่ขึ้น เพราะแปรผกผันกับอุดมการณ์อนุรักษนิยมทางชุดความคิดที่จะค่อยๆลดเลือนลงไป ทำให้การยอมรับซึ่งความหลากหลายทางเพศได้หลั่งไหลเข้ามาสู่สถาบันต่างๆ เช่น ภาคการศึกษาในโรงเรียน

และมุมมองของภาคประชาชน “มะกัน” นักศึกษาเทคนิคการแพทย์ เป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เขาได้เปิดใจกับสื่อถึงความคาดหวังที่จะส่งผลถึงสังคม LGBT+ เมื่อปพพ.1448 ได้รับการแก้ไขสำเร็จในวันข้างหน้า เขาเปิดใจกับผู้เขียนว่า

“ในฐานะ LGBT  คนหนึ่ง หาก ปพพ.1448 มีการแก้ไขให้มีการเปลี่ยนจากคำว่าชายหญิงเป็นบุคคลและบุคคลแล้ว โดยส่วนตัวนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง เนื่องจากคนเราทุกคนเกิดมาควรมีสิทธิในการเลือกที่จะรักได้อย่างเสรี ไม่ควรถูกจำกัดอยู่ในกรอบของคำว่าเพศเพียงเท่านั้น โดยความรู้สึกส่วนตัวคงจะดีใจกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไม่น้อย เพราะทั้งตัวของเราเองและหลายๆคนที่เป็น LGBTQ เหมือนกัน คงอยากได้รับความเท่าเทียมในกฎหมายข้อนี้ และมีครอบครัว มีคู่ชีวิติที่ถูกต้องตามกฎหมายต่างๆได้แบบชายหญิงทั่วไป ไม่ใช่ถูกจำกัดทางกฎหมาย ซึ่งผมเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะเลือก partner ในชีวิตของเราว่าเขาคนนั้นเป็นใครมากกว่าที่จะดูแค่ว่าเขาคนนั้นเป็นเป็นเพศอะไร  ความชอบหรือความรัก มันมีอะไรที่มากกว่าคำว่าเพศ มันเป็นรสนิยม เหมือนกับที่เราชอบเสื้อสีแดง ในขณะที่อีกคนชอบเสื้อสีดำ เราไม่ควรเบียดเบียนลุกล้ำกันและกัน คนที่ชอบเสื้อสีแดงควรได้ใส่เสื้อสีแดง คนที่ชอบเสื้อสีดำควรได้ใส่เสื้อสีดำ ซึ่งหากมันไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเบียดเบียนใครไปเสียแล้ว ก็ไม่เห็นว่าทำไมจะไม่ควรแก้กฎหมายข้อนี้เพื่อให้ความยุติธรรมแก่ LGBT ที่เราไม่ได้เกิดมาแตกต่างจากใครเลย เราก็เป็นเหมือนคนทั่วไป มีทุกข์ มีสุข มีเศร้า มีหัวเราะ แต่เราแค่ไม่ได้ชอบเพศตรงข้ามแบบพวกคุณเท่านั้นเอง”

นี่จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของรัฐไทย ที่จะชวนให้สังคมเกิดการตั้งคำถามว่าท่ามกลางชุดอุดมการณ์แนวคิดอนุรักษนิยมเป็นใหญ่ในระบบรัฐสภาไทยปัจจุบัน เขาเหล่านั้นพร้อมที่จะลดขั้วความคิดเชิงอุดมการณ์ของตนลง เพื่อเปิดรับกระแสโลกที่หลายภาคส่วนกำลังผลักดันนี้หรือไม่

และภายใต้ข้อเสนอต่ออำนาจรัฐ การทำให้สิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นสิทธิระดับชาติ แน่นอนว่ามันจะส่งผลถึงมิติการเปลี่ยนแปลงระดับชาติ เพื่อที่จะทำให้รัฐไทยได้ชูความภาคภูมิใจว่าเราเป็น role model ด้านความหลากหลายทางเพศในระดับภูมิภาค ระดับทวีปเอเชีย หรือในระดับนานาชาติ ส่งผลต่อแรงขับเคลื่อนการเรียกร้องสิทธิความหลากหลายทางเพศในรัฐอื่นๆ ที่ได้เหลียวมองกลับเพื่อมองสะท้อนว่ารัฐไทยว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปลดแอกระบบสองเพศเป็นใหญ่ และหันมามุ่งหน้าเพื่อผลักดันอุดมการณ์ความเท่าเทียมบนรากฐานของประชาธิปไตยต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: