ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความ 'ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมจากนโยบายปลดล็อคกัญชาในอเมริกา' เผยแพร่ใน Hfocus.org ระบุการปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์นั้น พบว่ากัญชาไม่ได้มีสรรพคุณที่จะมาทดแทนการรักษามาตรฐานได้ ทำให้การปลดล็อคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทั้งบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้จำนวนมาก ทั้งในเรื่องความเชื่อและการปฏิบัติระหว่างการดูแลรักษา ส่งผลต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่มาภาพประกอบ: Thomas Hawk (CC BY-NC 2.0)
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความ 'ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมจากนโยบายปลดล็อคกัญชาในอเมริกา' เผยแพร่ใน Hfocus.org เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยรายละเอียดทั้งหมดของบทความมีดังต่อไปนี้
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ : ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมจากนโยบายปลดล็อคกัญชาในอเมริกา
ปี ค.ศ.2013 Evans และคณะตีพิมพ์งานวิจัยทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมจากนโยบายปลดล็อคกัญชาในอเมริกา ลงในวารสารวิชาการ The Journal of Global Drug Policy and Practice
ผลสรุปคือ ปลดล็อคแล้วเสียหายหนักต่อเนื่องไประยะยาว ได้น้อยแต่เสียมาก
รัฐต่างๆ ที่ปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ พบว่า เอาเข้าจริง คนเสพกัญชาเพิ่มขึ้น 2 เท่า และมีอาการติดยาต้องเข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้น 2 เท่า ตัวเลขแต่ละรัฐต่างกันไป มีตั้งแต่เพิ่มขึ้น 75% ไปจนถึง 300% หนักหน่วงสุดคือ อัตราการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ตามข้อบ่งชี้จริงๆ นั้นมีน้อยกว่า 5% ของจำนวนคนใช้กัญชาทั้งหมด ที่เหลือคือแอบใช้เอง หาซื้อใช้เอง รวมถึงหมอสั่งจ่ายให้แบบแอบอ้างข้อบ่งชี้ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นจริง
เด็ก เยาวชน วัยรุ่น และวัยทำงานหนุ่มสาวอายุน้อยกว่า 24 ปี คือกลุ่มคนที่มีอัตราการเสพกัญชามากที่สุดในทุกรูปแบบ
ผลสำรวจการรับรู้เรื่องผลกระทบจากกัญชา พบว่าในกลุ่มเด็ก เยาวชน และวัยรุ่นนั้น มีการรับรู้อันตรายจากกัญชาลดลงอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดการเสพมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำมาซึ่งการออกจากระบบการศึกษา และการเกิดอุบัติเหตุจราจรหลังเสพกัญชามากขึ้น
การปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์นั้น พบว่ากัญชาไม่ได้มีสรรพคุณที่จะมาทดแทนการรักษามาตรฐานได้ ทำให้การปลดล็อคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทั้งบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้จำนวนมาก ทั้งในเรื่องความเชื่อ และการปฏิบัติระหว่างการดูแลรักษา และแน่นอนว่าส่งผลต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาระงานมากขึ้นในระบบสุขภาพอันเนื่องมาจากจำนวนคนติดกัญชาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วติด 10% แต่หากเป็นเด็กและเยาวชนที่เริ่มเสพ จะมีโอกาสติด 16% และหากคนเสพกัญชาทุกวันจะมีโอกาสเกิดอาการติดยาถึง 30-50%
ทั้งนี้มีการคาดประมาณว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ประเทศต้องแบกรับเพื่อดูแลรักษาผลกระทบจากการเสพกัญชาจะสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะคิดเป็น 60% ของค่าความเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากการปลดล็อคกัญชา
นอกจากนี้ปัญหาอุบัติเหตุจราจรยังมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง จนในปัจจุบันรัฐที่เป็นโมเดลกัญชาอย่างแคลิฟอร์เนียนั้นพบว่า มีปัญหาการขับขี่ผิดกฎหมายจากการเสพกัญชามากกว่าการดื่มเหล้าไปแล้ว
ทั้งนี้มีการวิจัยจาก Columbia University ตอกย้ำว่าการเสพกัญชาจะทำให้มีโอกาสขับขี่จนเกิดอุบัติเหตุรถชนกันมากขึ้นกว่าปกติถึง 2 เท่า ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากการเสพกัญชามากขึ้นอย่างชัดเจนในรัฐที่ปลดล็อคกัญชา ทั้งในเรื่องการจี้ปล้น การทำร้ายร่างกาย การฆาตกรรม ฯลฯ เช่นในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ปลดล็อคมาตั้งแต่ ค.ศ.2003
Imler S ผู้มีส่วนผลักดันกฎหมายปลดล็อคกัญชาในแคลิฟอร์เนียถึงกับแจ้งต่อสาธารณะว่า เดิมพยายามจะปลดล็อคเพื่อหวังช่วยคนให้พ้นจากตลาดมืด แต่สถานการณ์จริงหลังปลดล็อคกลับพบว่า ทุกอย่างที่ดำเนินไปนั้นก็อยู่ในวงจรอุบาทว์ของการทำเพื่อค้าขายหากำไร และควบคุมไม่ได้ รวมถึงการใช้กัญชาก็กลายเป็นวงจรของหมู่คนติดยาเสพติด
สำหรับเมืองไทยนั้น ชูแคลิฟอร์เนียโมเดลมาเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนนโยบายกัญชา ดูบทเรียนของเค้าแล้วยังน่ากลัว แต่ในเมืองไทยอาจรุนแรงกว่าก็เป็นได้
ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ และใช้ปัญญาในการคิดไตร่ตรอง เลือกดำรงชีวิตให้ห่างไกลยาเสพติด
สวัสดีวันหยุดครับ
อ้างอิง Evans DG et al. The Economics Impacts of Marijuana Legalization. The Journal of Global Drug Policy and Practice, December 2013.
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ