ฟื้นฟู 'สะพานเขียว' เป็นของขวัญปีใหม่ 2563 ให้คนกรุงเทพฯ

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ธ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4617 ครั้ง

ฟื้นฟู 'สะพานเขียว' เป็นของขวัญปีใหม่ 2563 ให้คนกรุงเทพฯ

'กรุงเทพมหานคร' จับมือ 'UddC-CEUS' และ 'ภาคีพัฒนาเมือง' ฟื้นฟู 'สะพานเขียว' เป็นของขวัญปีใหม่ 2563 ให้ชุมชนและคนเมือง เผยแบบการฟื้นฟูสะพานเขียวที่ตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่ายเป็นครั้งแรก ภายหลังจัดทำกระบวนร่วมหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) แจ้งข่าวเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2562 ว่าหลังกรุงเทพมหานครโดยสำนักการโยธา จัดสรรงบประมาณในโครงการปรับปรุงทางเดินและทางจักรยานคลองไผ่สิงโต เขตปทุมวันและเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร หรือ “สะพานเขียว” (Bangkok Green Bridge) เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างยกระดับเชื่อมสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติอายุ 20 ปี ให้มีความปลอดภัย ความร่มรื่น และส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนมากยิ่งขึ้น ล่าสุด กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และภาคีพัฒนาเมือง เปิดเผยแบบการฟื้นฟูสะพานเขียวที่ตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่ายเป็นครั้งแรก ภายหลังจัดทำกระบวนร่วมหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมเดินหน้ามอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ชุมชนและคนเมืองปี 2020 ภายใต้แนวคิดหลัก “สองศูนย์ สองสวน”

24 ธันวาคม 2562 - คณะทำงานโครงการปรับปรุงทางเดินและทางจักรยานคลองไผ่สิงโต หรือ สะพานเขียว (Bangkok Green Bridge) นำโดยสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (CE.US) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง (LRIC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสตูดิโอใต้หล้า จัดกิจกรรมมอบของขวัญให้ชุมชนและคนเมืองเนื่องในเทศกาลคริสต์มาสและส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2563 ได้รับความสนใจจากชาวชุมชนร่วมฤดี ชุมชนโปโล และผู้สนใจร่วมงาน ณ โบสถ์พระมหาไถ่ ร่วมฤดี เขตปทุมวัน และได้รับความกรุณาจาก คุณพ่อวิรัช อมรวัฒนา เจ้าอาวาสวัดโบสถ์พระมหาไถ่ ร่วมฤดี อำนวยความสะดวกด้านสถานที่จัดงาน พร้อมกล่าวแสดงความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันโครงการสะพานเขียว เพื่อฟื้นฟูให้เป็นโครงสร้างทางเดินและทางจักรยานเดิม ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากยิ่งขึ้น

จากนั้น ผศ. ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC-CEUS ในฐานะหัวหน้าโครงการ เล่าประวัติศาสตร์ของชุมชนร่วมฤดี ชุมชนโปโล และคลองไผ่สิงโต ตลอดจนที่มาของโครงการทางเดินทางจักรยานยกระดับ เชื่อมสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติระยะทางประมาณ 1.3 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมหารือร่วมกับ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตลอดจนคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และภาคีร่วมการพัฒนาและชาวชุมชน พบว่า สะพานเขียวซึ่งจะมีอายุครบ 20 ปี ในปี พ.ศ. 2563 มีปัญหาด้านใช้งานหลายประการ อาทิ เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม แสงสว่างไม่เพียงพอ การเข้าถึงลำบาก ขาดการเชื่อมต่อกับเนื้อเมือง และสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงกลางวัน จึงเป็นที่มาของโครงการฟื้นฟูสะพานเขียวโดยเครื่องมือการออกแบบเมืองและกระบวนการร่วมหารือ เพื่อให้โครงสร้างทางเดินและทางจักรยานลอยฟ้าใจกลางเมือง สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพในฐานะพื้นที่สีเขียวเชื่อมย่านและเชื่อมเมือง ที่สำคัญคือสามารถเชื่อมชุมชนประวัติศาสตร์ใจกลางเมือง และดึงดูดให้คนภายนอกเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งมีผลโดยตรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและเมือง ถือเป็นของขวัญชิ้นสำคัญของชุมชนและคนเมืองในปี 2020 ภายใต้แนวคิดหลัก “สองศูนย์ สองสวน”

ด้าน คุณปรีชญา นวราช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ UddC-CEUS ในฐานะผู้จัดการโครงการ เปิดเผยภาพอนาคตของโครงการและรายละเอียดการออกแบบ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากกระบวนการร่วมหารือกับชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วย การปรับปรุงพื้นที่รอยต่อสวนลุมพินีและสะพานเขียว จุดพักคอยบนสะพาน พื้นที่เชื่อมต่อชุมชน และพื้นที่ส่งเสริมสุขภาวะเมือง ทั้งนี้ รายละเอียดการออกแบบดังกล่าวสามารถตอบโจทย์สำคัญ 3 ข้อ นั่นคือ การสร้างความปลอดภัย สร้างสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมที่ดี และสร้างการเชื่อมต่อเศรษฐกิจชุมชน นอกจากนี้ ยังได้แนะนำ “แผนที่มรดกวัฒนธรรม ชุมชนร่วมฤดี-ชุมชนซอยโปโล” ซึ่งเป็นผลลัพธ์ส่วนหนึ่งของกระบวนการลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ปัญหา ความท้าทาย โอกาสและอุปสรรคในการออกแบบและพัฒนา อันจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้โครงการฟื้นฟูสะพานเขียวเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยมีชุมชนโดยรอบโครงการเป็นผู้ดูแลและสร้างระบบการจัดการพื้นที่

จากการประชุมหารือร่วมกับ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีแนวนโยบายเบื้องต้นให้เพิ่มแสงสว่างตลอดแนวสะพานเขียว เพื่อยกระดับความปลอดภัยและลดปัญหาอาชญากรรมซึ่งถูกร้องเรียนบ่อยครั้ง สอดคล้องกับเสียงสะท้อนจากชาวชุมชนร่วมฤดีและชุมชนโปโล คณะทำงานนำโดย ผศ. ดร.จรรยาพร จุลตามระ ผู้อำนวยการ LRIC จึงเตรียมจัดเวิร์คช็อปการออกแบบแสงในพื้นที่สาธารณะ เชิญชวนชุมชน สถาปนิก นักออกแบบ และผู้สนใจทั่วไป ร่วมออกแบบผังแสงสว่างโครงการสะพานเขียว ได้รับเกียรติจาก ดร.Elettra Bordonaro ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบแสงในพื้นที่สาธารณะรางวัลระดับโลกชาวอังกฤษเป็นวิทยากร พร้อมจัดงาน “สองศูนย์ สองสวน” เทศกาลศิลปะแสงไฟในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เพื่อดึงดูดให้สาธารณชนเข้ามาทดลองใช้งานพื้นที่และสะท้อนความต้องการเพื่อให้การออกแบบแสงในโครงการสะพานเขียวเป็นที่ถูกใจชุมชนและสาธารณชนมากที่สุดอีกด้วย

สะพานเขียวเป็นโครงสร้างทางเดินและทางจักรยานยกระดับ เชื่อมระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ เริ่มต้นโครงสร้างจากสี่แยกสารสินถึงปากซอยโรงงานยาสูบ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตปทุมวันและเขตคลองเตย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 ตามนโยบายของคุณพิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม อุปกรณ์ชำรุดเสียหาย พื้นผิวทางมีสภาพชำรุดเป็นหลุมบ่อเป็นวงกว้าง ลูกกรงเหล็กรั้วและราวสเตนเลสบางช่วงชำรุดเสียหาย ไฟฟ้าส่องสว่างชำรุดและแสงสว่างไม่เพียงพอ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชน สำนักการโยธา จึงขอจัดสรรงบประมาณ ปี 2562 เพื่อปรับปรุงทางคนเดิน-ทางจักรยาน บริเวณแยกสารสิน - ซอยโรงงานยาสูบ พื้นที่เขตปทุมวันและเขตคลองเตย และได้รับการเห็นชอบ ให้ดำเนินการเป็นเงิน 39.450 ล้านบาท ทั้งนี้ การปรับปรุงโครงสร้างสะพานตามงบประมาณปี 2562 จะเริ่มดำเนินการระยะที่ 1 ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: