แอมเนสตี้เรียกร้องทางการกัมพูชายุติการคุกคามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ธ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 2275 ครั้ง

แอมเนสตี้เรียกร้องทางการกัมพูชายุติการคุกคามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์เรียกร้องทางการกัมพูชาต้องยุติการคุกคาม และข่มขู่สมาชิกพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ที่ถูกยุบไปแล้ว ขณะนี้พวกเขาหลบหนีการประหัตประหารทางการเมืองในกัมพูชาและอยู่ระหว่างลี้ภัยในประเทศไทย

28 ธ.ค. 2562 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับข้อมูลว่า นายสวน จำเรียน อายุ 37 ปี นักเคลื่อนไหวจากพรรคสงเคราะห์ชาติ ได้ถูกทำร้ายร่างกาย และดูเหมือนมีความพยายามลักพาตัวเขาที่กรุงเทพฯ ตอนค่ำวันที่ 22 ธันวาคม 2562 และอาจมีความเสี่ยงว่านายจำเรียนจะถูกปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนเพิ่มเติมจากน้ำมือของทางการกัมพูชา หากมีการบังคับส่งตัวเขากลับไปกัมพูชา

ตอนค่ำวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา มีชายสองคนได้เดินเข้าหานายจำเรียนช่วงสามทุ่มครึ่ง และพยายามจับตัวเขาเข้าไปในรถตู้ที่อยู่ใกล้ๆ แต่นายจำเรียนขัดขืนเป็นเหตุให้ชายทั้งสองคนจับตัวเขาไว้ และช็อตด้วยเครื่องช็อตไฟฟ้า แต่สุดท้ายเขาสามารถหลบหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ได้รับบาดเจ็บหลายแห่งจากเหตุการณ์นี้

นายสวนเป็นสมาชิกคณะทำงานของพรรคสงเคราะห์ชาติ สาขาจังหวัดพระตะบอง กัมพูชา เขาเป็นหนึ่งในแกนนำอาวุโส 18 คนของพรรคสงเคราะห์ชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ฮุนเซนแห่งกัมพูชาระบุว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน แกนนำทั้ง 18 คนจึงตกเป็นเป้าหมายการจับกุมของทางการกัมพูชานับแต่นั้นมา

นายสวนยังเป็นหนึ่งใน 39 คน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคสงเคราะห์ชาติ และได้ถูกเพิกถอนหนังสือเดินทางโดยกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชาในเดือนพฤศจิกายน นายจำเรียนได้รับสถานะเป็นบุคคลในความห่วงใย (Person of Concern) จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลังมีการคุกคามและข่มขู่อย่างเป็นระบบต่อพลเมืองชาวกัมพูชา ซึ่งหลบหนีการประหัตประหารทางการเมืองและแสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศไทย มีการปราบปรามอย่างเข้มข้นมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ในวันที่ 23 พฤศจิกายน นายต่อ นิมล นักเคลื่อนไหวพรรคสงเคราะห์ชาติ รวมทั้งนางเฉินลิ้ม ภรรยาของเขา ซึ่งต่างได้รับสถานะบุคคลในความห่วงใยของ UNHCHR ถูกบังคับส่งกลับไปกัมพูชา หลังถูกจับกุมที่กรุงเทพฯ ต่อมาพวกเขาได้ “รับสารภาพ” เนื่องจากถูกข่มขู่ระหว่างการควบคุมตัวเป็นเวลานาน โดยยอมรับว่าสนับสนุนความพยายามของนายสม รังสี อดีตประธานพรรคสงเคราะห์ชาติ ที่จะเดินทางกลับสู่กัมพูชาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ซึ่งทางการกัมพูชากล่าวหาว่าเป็นความพยายามทำรัฐประหาร

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ยุติการคุกคาม การข่มขู่ และการสอดส่องชาวกัมพูชาที่ลี้ภัยในประเทศไทยโดยทันที ทางการไทยต้องประกันว่า บุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรงและการจับกุมโดยพลการ และไม่ให้ความร่วมมือสนับสนุนการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อพลเมืองชาวกัมพูชา ที่หลบหนีการประหัตประหารทางการเมือง

ข้อมูลพื้นฐาน

นายสม รังสี อดีตประธานพรรคสงเคราะห์ชาติประกาศเมื่อเดือนสิงหาคมว่า จะเดินทางกลับกัมพูชาในวันที่ 9 พฤศจิกายน ทางการกัมพูชาตอบโต้โดยกล่าวหาว่าแผนการเดินทางกลับครั้งนี้ เป็นความพยายามยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหาร และได้เริ่มปราบปรามอย่างหนักหน่วงต่อบุคคลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคสงเคราะห์ชาติ นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน ทางการได้มุ่งปราบปรามบุคคลซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนนายสม รังสี และอยู่ในพรรคสงเคราะห์ชาติ

การปราบปรามของทางการกัมพูชาต่อสมาชิกพรรคสงเคราะห์ชาติ ยังรวมถึงการกดดันบังคับให้ “รับสารภาพ” และการย้ายพรรค ในบรรดานักเคลื่อนไหวพรรคสงเคราะห์ชาติ โดยสมาชิกอย่างน้อย 50 คนของพรรคสงเคราะห์ชาติ “รับสารภาพ” ว่าวางแผนต่อต้านรัฐในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา โรห์นา สมิธ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยกัมพูชา แสดงข้อกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับการปราบปราม “ที่น่าตกใจ” รวมทั้งความร่วมมือของประเทศเพื่อนบ้าน [1]

 ก่อนถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน ทางการไทยปฏิเสธไม่ให้สมาชิกพรรคสงเคราะห์ชาติเข้าประเทศ มู ซกฮั้ว รองหัวหน้าพรรคสงเคราะห์ชาติถูกตม.กักตัวไว้ไม่ให้เข้าประเทศ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม หลังทางการกัมพูชาได้ออกหมายจับแกนนำพรรคสงเคราะห์ชาติ โดยส่งหมายจับไปยังรัฐภาคีอาเซียน

พรรคสงเคราะห์ชาติก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 ภายหลังการรวมตัวของพรรคสม รังสีกับพรรคสิทธิมนุษยชน ไม่นานหลังจากนั้น พรรคสงเคราะห์ชาติประสบผลสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2556 โดยแพ้ให้กับพรรคประชาชนกัมพูชาเพียงไม่กี่ที่นั่ง

ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งยุบพรรคสงเคราะห์ชาติเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ตามคำร้องของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกล่าวหาว่าพรรคสงเคราะห์ชาติทำการ “รัฐประหารอย่างผิดกฎหมาย” เป็นเหตุให้มีการยุบพรรคในที่สุด และถูกมองจากคนทั่วไปว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือ

ศาลฎีกายังมีคำสั่งตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 118 คนของพรรคสงเคราะห์ชาติเป็นเวลาห้าปี ภายหลังการยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ ได้มีการจัดสรรที่นั่งสมาชิกรัฐสภา องค์การบริหารระดับอำเภอและหมู่บ้านให้กับพรรคประชาชนกัมพูชา และพรรคเล็กพรรคน้อยที่ไม่มีผู้แทน

ชาวกัมพูชาคนอื่นๆ ซึ่งหลบหนีการประหัตประหาร เพื่อแสดงสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออกอย่างสงบ ได้ถูกบังคับส่งกลับไปยังกัมพูชาด้วยความร่วมมือจากทางการไทยในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งนักโทษด้านความคิดอย่าง นายรัฐ รอทโมนี และแซม โสกา ปัจจุบันนายรัฐ รอทโมนีต้องโทษจำคุกเป็นเวลาสองปีในข้อหา “ยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติ” จากการทำหน้าที่สนับสนุนการถ่ายทำสารคดีของสถานีโทรทัศน์ RT ในประเด็นการค้ามนุษย์ [2] ส่วนนางแซม โสกาก็ต้องโทษจำคุกสองปีในข้อหา “ยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติ” และ “ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน” จากการปารองเท้าใส่ป้ายโฆษณาหาเสียงที่มีภาพของนายกรัฐมนตรี ฮุนเซนแห่งกัมพูชา [3]

 


[1] https://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=25260&LangID=E

[2] https://www.amnesty.org/en/latest/news/2019/10/cambodia-quash-conviction-rt-documentary-fixer/

[3] https://www.amnesty.org/download/Documents/ASA2378662018ENGLISH.pdf

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: