'ILO-ไทย' ร่วมมือยกระดับการเข้าถึงทักษะทางเทคนิคด้านอิเล็กทรอนิกส์ของแรงงานสตรี

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 3549 ครั้ง

'ILO-ไทย' ร่วมมือยกระดับการเข้าถึงทักษะทางเทคนิคด้านอิเล็กทรอนิกส์ของแรงงานสตรี

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และกระทรวงแรงงาน ร่วมพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมด้าน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์) ให้แก่แรงงานสตรีในภาคอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของประเทศไทย ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล เป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรแก่แรงงานสตรีที่สำเร็จการฝึกอบรม ที่มาภาพ: ILO

กรุงเทพฯ (ข่าว ไอแอลโอ) - เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. 2562 แรงงานสตรีในประเทศไทยรับวุฒิบัตรจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหลังสำเร็จการอบรมหลักสูตรด้าน STEM ที่พัฒนาโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรให้แก่แรงงานสตรีรุ่นแรกที่สำเร็จการอบรม การวิเคราะห์และการนำเสนอข้อมูลเพื่อการผลิต กล่าวภายในงานว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อย่างเช่นการใช้เครื่องจักรกลอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านทักษะที่จำเป็นในการทำงาน

องค์การแรงงานระหว่างประเทศประมาณว่าร้อยละ 44 ของการจ้างงานหรือแรงงานกว่า 17 ล้านคนในประเทศไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผู้หญิงเป็นแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศไทย ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงของแรงงานสตรีที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบเครื่องจักรกลอัตโนมัติและให้แรงงานสตรีได้มีโอกาสก้าวหน้าทางอาชีพ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และโครงการ Women in STEM (STEM – วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) จึงร่วมกันออกแบบโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานสตรีเพื่อตอบสนองความต้องการด้านทักษะตามแผนการพัฒนา ไทยแลนด์ 4.0

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ ไอแอลโอ ให้ความสำคัญกับการลงทุนสร้างศักยภาพของแรงงานสตรีและได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน โครงการมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แรงงานหญิงทุกคนในประเทศไทยมีโอกาสเข้าถึงการทำงานที่มีคุณค่าและประสิทธิผลอันเป็นสิ่งสำคัญตามแผนงานว่าด้วยการทำงานที่มีคุณค่าของประเทศที่ลงนามโดยกระทรวงแรงงาน ไอแอลโอ องค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้างเมื่อต้นปี 2562

จากความร่วมมือดังกล่าว กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและ ไอแอลโอ ได้สร้างแผนการฝึกอบรมแผนแรกขึ้นและให้การฝึกอบรมเกี่ยวกับ การวิเคราะห์และการนำเสนอข้อมูลเพื่อการผลิต โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตหน่วยจัดเก็บข้อมูลชั้นนำของโลกที่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่อยู่ในประเทศไทย

แผนการฝึกอบรมดังกล่าวสนับสนุนการหาความรู้ สมรรถนะ และทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานสตรีในการรวบรวม วิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการผลิตเพื่อการตัดสินใจ โดยมีแรงงานสตรีที่ทำงานที่ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 1,050 คน เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ โดยใช้เวลา 36 ชั่วโมงในการฝึกอบรมเพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นในการรวบรวม วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตโดยใช้คอมพิวเตอร์ในบริบทของอุตสาหกรรม 4.0

องค์การแรงงานระหว่างประเทศทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงานในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของการทำงานที่มีคุณค่าและประสิทธิผลที่ดีในประเทศไทย แผนการพัฒนาทักษะที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและ ไอแอลโอ ร่วมกันจัดทำขึ้นมานี้ ออกแบบให้ผู้หญิงและงานที่แรงงานสตรีทำเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจ การลงทุนสร้างศักยภาพแรงงานสตรีทำให้ผู้หญิงได้เติบโตและมีทักษะที่จำเป็นต่อความก้าวหน้าในอาชีพ นายแกรม บัคลีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสปป. ลาว และสำนักงานคณะทำงานว่าด้วยการทำงานที่มีคุณค่าสำหรับเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก กล่าว

การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญในยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีที่สอดคล้องกับแผนว่าด้วยการทำงานที่มีคุณค่าของประเทศที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยสอดคล้องกับนโยบายการพลิกโฉมกำลังแรงงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เน้นย้ำว่ากระทรวงฯ มุ่งพัฒนากำลังแรงงานให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้ตามการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและองค์กรธุรกิจ

โครงการฝึกอบรมได้รับการดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 5 นครราชสีมา และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี สถาบันฯ จัดการฝึกอบรม การวิเคราะห์และการนำเสนอข้อมูลเพื่อการผลิต โดยมุ่งเน้นที่แรงงานสตรีระดับแรกเข้า การฝึกอบรมมีขึ้นที่โรงงานซีเกท เทคโนโลยี นครราชสีมาและครอบคลุมคนงาน 35 กลุ่มๆ ละ 30 คน รวมทั้งสิ้น 1,050 คน ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน 2562 ทักษะที่ได้รับการพัฒนาในกระบวนการอบรมมีดังนี้ (1) สร้างฟังก์ชั่น ป้อนข้อมูล และประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับการผลิต (2) ประมวล จัดหมวดหมู่ คำนวณ และตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการผลิต (3) วิเคราะห์ข้อมูลการผลิตและประเมินผลเพื่อแก้ปัญหาในโรงงาน (4) นำเสนอข้อมูลโดยใช้สื่อในการนำเสนอต่อผู้จัดการสายการผลิต

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: