เสนอฟื้น 'โครงการผันน้ำโขงฯ ป่าสัก' แก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม หวั่นกระทบ 2 แสนครอบครัว+ที่ดิน 2 ล้านไร่

ทีมข่าว TCIJ: 28 ก.ค. 2562 | อ่านแล้ว 5567 ครั้ง

ส.ส. เพื่อไทย เสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล และแม่น้ำป่าสัก โดยใช้ ‘อุโมงค์ผันน้ำ-คลองลำเลียงน้ำ’ หวังแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งภาคอีสาน ใช้เวลา 20 ปี ต้นทุน 1.9 ล้านล้านบาท แต่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งพื้นที่ป่าสงวน 69,360.29 ไร่-ตัดเส้นทางคมนาคม 467 แห่ง-กระทบต่อที่ดินประชาชน 2,053,860 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 25,421 หลัง ผู้ได้รับผลกระทบ 205,407 ครัวเรือน ด้านสถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูกาลในปี 2562 (พ.ค.-ก.ค.) ส่งผลกระทบไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท หรือ 0.1% ของ GDP ประเทศ

ส.ส. เพื่อไทย เสนอโครงการผันน้ำโขงฯ-ป่าสัก อิงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อ้างบรรเทาความเหลื่อมล้ำ ระบุกรมชลฯ ทำ EIA แล้วปี ‘55

เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตนและ ส.ส.พรรคเพื่อไทยอีก 32 คน ได้เสนอญัตติด่วนต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล และแม่น้ำป่าสัก ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2551 เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ใน เอกสารประกอบการพิจารณา ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล ป่าสัก (สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, มิ.ย. 2562) ระบุว่าภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 103.5 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ มีภูมิประเทศ เป็นที่ราบสูง ลุ่มน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำโขงอีสาน ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ยังอาศัยน้ำฝนตามฤดูกาล สำหรับพื้นที่ชลประทานยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ประชาชนประสบปัญหาน้ำท่วม และปัญหาขาดแคลนน้ำอันเกิดจากฝนทิ้งช่วงในฤดูฝน รวมทั้งการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ทำให้ผลผลิตการเกษตรที่ได้ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ และทำให้มีคนยากจนมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว กรมชลประทานได้ทำการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเสร็จเมื่อเดือน ก.ค. 2555 เป็นการศึกษาภาพรวมรูปแบบการพัฒนาโครงการเต็มศักยภาพ สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรเกือบทั้งหมด ในลุ่มน้ำโขง ชี มูล หากการพัฒนาโครงการนี้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) อาจจะสามารถพาประเทศให้หลุดพ้นหรือบรรเทาความรุนแรงของสภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคมได้

คลองส่งน้ำสายหลัก 6 สาย ความยาว 2,273.401 กิโลเมตร

 

การขุดอุโมงค์ผันน้ำในต่างประเทศ ที่มาภาพ: Engineering News-Record

โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล การพัฒนาโครงการเต็มศักยภาพ เป็นโครงการที่ใช้ประโยชน์ จากสภาพภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่สูงมีระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่บริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย ที่ระดับสูงสุด +212.00 ม.รทก. ไหลผ่านอุโมงค์ผันน้ำและคลองลำเลียงน้ำโดยแรงโน้มถ่วงเพื่อส่งน้ำให้พื้นที่ การเกษตรให้ได้มากที่สุด ครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพชลประทานของโครงการ 36.09 ล้านไร่ ในพื้นที่ 20 จังหวัด 281 อำเภอ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีคลองส่งน้ำสายหลัก ทั้งหมด 6 สาย ความยาว 2,273.401 กิโลเมตร (รวมคลองลำเลียงน้ำ) ประกอบด้วย 1. ปรับปรุงแม่น้ำเลย ความยาว 0.901 กิโลเมตร 2. คลองชักน้ำ ความยาว 0.995 กิโลเมตร 3. คลองส่งน้ำสายหลัก MC1 (โขง) ความยาว 322.717 กิโลเมตร 4. คลองลำเลียงน้ำ ความยาว 59.325 กิโลเมตร 5. คลองส่งน้ำสายหลัก MC2 (ฝั่งซ้ายซี-ฝั่งซ้ายมูล) ความยาว 495.775 กิโลเมตร 6. คลองส่งน้ำสายหลัก MC3 (ต้นน้ำชี ฝั่งขวาชี-ฝั่งซ้ายมูล) ความยาว 481.022 กิโลเมตร 7. คลองส่งน้ำสายหลัก MC4 (ฝั่งซ้ายน้ำพอง-ฝั่งขวาลำปาว) ความยาว 101.872 กิโลเมตร 8. คลองส่งน้ำสายหลัก MC5 (ต้นน้ำมูล) ความยาว 147.600 กิโลเมตร และ 9. คลองส่งน้ำสายหลัก MC6 (ฝั่งขวามูล) ความยาว 663.194 กิโลเมตร

นอกจากเป็นการใช้น้ำเพื่อการเกษตรแล้ว ยังสามารถส่งน้ำช่วยเพื่อการอุปโภคบริโภค เติมน้ำให้เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนลำปาวได้ด้วยแรงโน้มถ่วง เติมน้ำเขื่อนห้วยหลวง ลำตะคอง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง ลำปลายมาศ ได้ด้วยการสูบน้ำ ผลประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งทางตรงและอ้อม เช่น เพิ่มปริมาณน้ำ ในลุ่มน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน บรรเทาอุทกภัยจากน้ำหลากในพื้นที่ต้นน้ำ ประหยัดพลังงานและลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงจากฝนตกล่าช้าและฝนทิ้งช่วง ส่งเสริมการประมง เป็นแหล่งน้ำให้ด้านอุตสาหกรรม ส่งเสริม การท่องเที่ยวและกิจกรรมทางน้ำ วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับน้ำ สามารถพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นโครงข่ายถนนจราจร ตามแนวคันคลอง เพิ่มระดับน้ำใต้ดินและศักยภาพการใช้น้ำใต้ดิน ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร กระจายรายได้ และลดช่องว่างของรายได้ เป็นต้น

โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ จะใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการ 20 ปี และใช้เงินลงทุนสูงมากประมาณ 1,931,697 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างระบบผันน้ำ 1,022,205 ล้านบาท ระบบส่งน้ำชลประทานและอาคารประกอบ 730,633 ล้านบาท ค่าชดเชยทรัพย์สินตามแนวผันน้ำและพื้นที่ชลประทาน 117,343 ล้านบาท ค่างานป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม 61,516 ล้านบาท โดยปัจจุบันโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 จังหวัดเลย (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ)

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งพื้นที่ป่า-ลุ่มน้ำ-การคมนาคมขนส่ง-ที่ทำกินชาวบ้าน

โครงการนนี้จะกระทบต่อพื้นที่อุทยานแห่งชาติและวนอุทยาน 4,560.25 ไร่ รวมทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติถึง 69,360.29 ไร่ ทั้งนี้ 'เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน' พื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพขนาดเล็กมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะทางนิเวศวิทยาก็จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ด้วย ที่มาภาพ: การประชุมวิชาการพฤกษศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่โครงการทั้งผลกระทบ ทางตรงและผลกระทบทางอ้อม เช่น 1. ผลกระทบต่อพื้นที่ป่า การซ้อนทับพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและวนอุทยาน รวมทั้งสิ้น 4,560.25 ไร่ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม 3,094.81 ไร่ อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ 376.06 ไร่ วนอุทยานภูผาแดง 1,089.38 ไร่ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน 103.24 ไร่ กระทบต่อพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 69,360.29 ไร่ ในเขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) เป็นพื้นที่จำนวน 8,310.26 ไร่ ป่าเพื่อเศรษฐกิจ (ป่าโซน E) เป็นพื้นที่จำนวน 39,584.48 ไร่ และป่าเพื่อการเกษตร (ป่าโซน A) เป็นพื้นที่จำนวน 21,465.57 ไร่

2. ผลกระทบต่อพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ควรสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 2,508.05 ไร่ 3. ผลกระทบด้านการคมนาคมขนส่ง มีการตัดกับเส้นทางคมนาคมทางบกและทางน้ำรวม 467 แห่ง และจำแนกเป็นจุดตัดเส้นทางคมนาคมทางบก 146 แห่ง ทางรถไฟ 6 แห่ง และทางน้ำ 315 แห่ง และ 4. ผลกระทบด้านการชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน ส่งผลกระทบต่อที่ดินทำกินและทรัพย์สินของประชาชน ได้แก่ ที่ดิน 2,053,860 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 25,421 หลัง ไม้ผลไม้ยืนต้น 20,410 ไร่ ผู้ได้รับผลกระทบ 205,407 ครัวเรือน

เสนอเพิ่ม 'ลุ่มน้ำป่าสัก' เข้าร่วมโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล

สำหรับลุ่มน้ำป่าสัก เป็นลุ่มน้ำที่อยู่ทางตะวันตกของโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล มีลักษณะพื้นที่เป็นเทือกเขาสูงล้อมบริเวณด้านเหนือ ด้านตะวันตกและด้านตะวันออกของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ราบอยู่ตอนกลาง ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 110-115 เมตร ลาดเทมาทางทิศใต้ มีแม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำสายหลัก มีต้นน้ำอยู่บริเวณเทือกเขาตอนบนในเขตจังหวัดเลย ไหลลงสู่ที่ราบภาคกลาง ผ่านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สู่เขื่อนทดน้ำ พระราม 6 และไหลบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 700 กิโลเมตร มีลำน้ำสาขาแยกไปทางตะวันตกและตะวันออก แต่ลำน้ำสาขาส่วนใหญ่จะสั้นและพื้นที่รับน้ำมีขนาดเล็ก ซึ่งลุ่มน้ำป่าสักยังคงประสบปัญหา การขาดแคลนน้ำและภัยแล้ง รวมถึงปัญหาน้ำท่วมด้วย โดยเกิดจากปัญหาด้านสภาพทางกายภาพของลุ่มน้ำ และปัญหาการใช้ที่ดินที่ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในลุ่มน้ำ

เมื่อพิจารณาตามโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ซี มูล ซึ่งอาศัยหลักการแรงโน้มถ่วงในการส่งน้ำ จากพื้นที่สูงลงสู่พื้นที่ต่ำ จะเห็นได้ว่าพื้นที่ปากแม่น้ำเลยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 212.00 เมตร สูงกว่าพื้นที่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 110-115 เมตร ซึ่งอาจจะสามารถ ดำเนินการผันน้ำตามหลักการแรงโน้มถ่วงได้ และอาจจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในภาคเกษตรกรรมบรรเทาปัญหา การขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง และบรรเทาปัญหาอุทกภัยจากน้ำหลากในพื้นที่ต้นน้ำได้ รวมถึงลดความเสี่ยงจากฝนตกล่าช้าและฝนทิ้งช่วง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ต่ำกว่าที่ควร

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำป่าสัก ควรจะต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ ถึงความเป็นไปได้ของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเติมลุ่มน้ำป่าสักเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกับโครงการบริหาร จัดการน้ำโขง เลย ชี มูล หรือ การบริหารจัดการลุ่มน้ำป่าสักโดยการนำน้ำมาจากแม่น้ำโขงโดยตรงเพื่อลงต้นน้ำป่าสัก ซึ่งในการศึกษาควรจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศ ซึ่งบริเวณตอนบนของลุ่มแม่น้ำป่าสักเป็นเทือกเขาล้อมรอบ พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ต่อระบบนิเวศน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนหลักความคุ้มค่าของการลงทุน

ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำป่าสัก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเติมลุ่มน้ำป่าสักเพื่อที่จะใช้ประโยชน์ ร่วมกับโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล หรือการนำน้ำจากแม่น้ำโขงลงต้นน้ำป่าสักโดยตรง ควรมีการพิจารณา ศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นรวมถึงความคุ้มค่าของงบประมาณในการลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการดังกล่าว ตลอดจนความร่วมมือของพหุภาคีในการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำ เกิดประสิทธิภาพในภาพรวมสูงสุด

ภัยแล้งนอกฤดู 2562 สร้างความเสียหายแล้วกว่า 1.5 หมื่นล้าน

สถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูกาลในปี 2562 (พ.ค.-ก.ค.) ได้ส่งผลกระทบไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท หรือ 0.1% ของ GDP ประเทศแล้ว ที่มาภาพ: ประชาไท

เมื่อปลายเดือน ก.ค. 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกบทวิเคราะห์ ‘ภัยแล้งนอกฤดูกาลปี 2562 กระทบผลผลิตข้าวนาปี...คาดมูลค่าความสูญเสียเกิดขึ้นแล้วไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท’ ระบุว่าแม้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2562 ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา แต่โดยภาพรวมแล้วปริมาณน้ำฝนก็ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน (Weak El Nino) ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งประเทศยังคงสูงกว่าค่าปกติราว 1-2 องศาเซลเซียส และทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงราว 2 เดือนในเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2562 นับเป็นสถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูกาล (ภัยแล้งช่วงหน้าฝน) ส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 10 และทำให้ระดับน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำ พิจารณาได้จากปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนของไทยแยกตามรายภาค ณ วันที่ 21 ก.ค. 2562 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั้งประเทศลดลงร้อยละ 48.5 (YoY) โดยเฉพาะในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ในขั้นวิกฤติ กระทบต่อการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูดังกล่าว จะเป็นภาวะแห้งแล้งเช่นนี้ที่มีฝนทิ้งช่วงและภาวะฝนน้อยน้ำน้อยไปจนถึงสิ้นปี 2562  อีกด้วย

จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าได้ส่งผลกระทบต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และยิ่งเป็นการซ้ำเติมรายได้เกษตรกรให้แย่ลงไปอีก โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปี เป็นพืชเกษตรที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากปัญหาภัยแล้งที่ยืดเยื้อยาวนานในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 2562 เนื่องจากตรงกับฤดูกาลเพาะปลูก อีกทั้งผลผลิตข้าวนาปีส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดเป็นสัดส่วนผลผลิตร้อยละ 46.4 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งประเทศ ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่นอกเขตชลประทานมากถึงร้อยละ 90 ของพื้นที่ปลูกข้าวนาปีทั้งหมดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงต้องอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งภัยแล้งในช่วงนอกฤดูกาลดังกล่าวนี้ ทำให้ราคาข้าวนาปีเฉลี่ยขยับขึ้น ส่งผลต่อภาพรวมราคาข้าวนาปีเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 อย่างไรก็ตาม ด้วยความเสียหายของผลผลิตข้าวนาปีที่ลดลง จึงยังเป็นแรงกดดันต่อภาพรวมรายได้เกษตรกร

ผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจในช่วงภัยแล้งนอกฤดูกาล (พ.ค.-ก.ค. 2562) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท  ซึ่งเป็นการประเมินความเสียหายของข้าวนาปีเป็นหลัก หรือคิดเป็นราวร้อยละ 0.1 ของ GDP แต่ทั้งนี้ เป็นการประเมินในเบื้องต้น ซึ่งหากรวมผลเสียหายของพืชเกษตรอื่น อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้  นอกจากนี้ยังต้องจับตาสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ที่ลากยาวเช่นนี้ อันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อน ซึ่งจะใช้เป็นน้ำเพื่อทำการเกษตรในฤดูแล้งถัดไปในปี 2563 (พ.ย. 2562-เม.ย. 2563) โดยจะกระทบต่อพืชเกษตรหลักที่มีฤดูกาลเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งที่สำคัญคือ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และอ้อย ก็จะยิ่งทำให้ตัวเลขมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมีความเสียหายต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 และกระทบรายได้เกษตรกรให้ยังคงลำบากต่อเนื่องไปอีก รวมถึงในระดับภูมิภาค จะยังส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในพื้นที่ และจะยิ่งเป็นการฉุดกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร การมีงานทำ รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจ SMEs

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม 'โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 จังหวัดเลย'

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: