เปิดรายงานวิจัย SLAPP คดีการฟ้องปิดปากเพื่อจำกัดเสรีภาพในการพูด

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 พ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 4388 ครั้ง

เปิดรายงานวิจัย SLAPP คดีการฟ้องปิดปากเพื่อจำกัดเสรีภาพในการพูด

เปิดรายงานการวิจัยฉบับใหม่จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ เผยให้เห็นว่า จำนวนคดีการฟ้องปิดปาก (SLAPP) ในไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่ากังวลเพราะนี่ไม่ใช่แค่ความพยายามปิดปากเฉพาะประชาชนที่ถูกฟ้องร้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการพูดที่ขยายวงไปทั่วโลก และพบว่าหนึ่งในสี่ของการฟ้องคดีปิดปากคือ การโพสต์ข้อความแสดงความเห็นออนไลน์

29 พ.ย.2562 รายงานการวิจัยฉบับใหม่เรื่อง “รายงานข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี” จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้เผยให้เห็นจำนวนคดีการฟ้องปิดปากที่เพิ่มสูงขึ้นในไทย เป็นแนวโน้มที่น่ากังวลเพราะนี่ไม่ใช่แค่ความพยายามปิดปากเฉพาะประชาชนที่ถูกฟ้องร้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการพูดที่ขยายวงไปทั่วโลก

SLAPPs ย่อมาจาก strategic lawsuits against public participation หรือ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “การฟ้องปิดปาก” เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในหลายประเทศ เพราะเป็นคดีที่เพิ่มอำนาจอย่างไม่เป็นธรรมให้คนรวยใช้คุกคามคนประชาชนที่ต้องการจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ

ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ผู้อำนวยการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเผยว่า การฟ้องปิดปากมักจะเป็นคดีที่ไม่มีมูลเหตุ ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อน กินระยะเวลายาวนาน และเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น หากจำเลยไม่มีฐานะทางการเงินเพียงพอที่จะสู้คดีของตน พวกเขาก็ไม่มีทางเลือก และจำต้องยอมรับข้อเรียกร้องของโจทก์ ซึ่งมักจะมาในรูปของ การชดใช้ค่าเสียหาย การขอโทษ หรือ การลบข้อความที่ถือว่าละเมิด

“การฟ้องคดีปิดปากในประเทศไทย มักจะเป็นคดีหมิ่นประมาท และเป็นที่น่าตกใจว่า คดีหมิ่นประมาทเป็นข้อกล่าวหาทางอาญา มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี และ ปรับ 200,000 บาท หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง”

จากรายงานวิจัยของสมาคมฯ พบว่า ตั้งแต่ปี 2540 มีคดีปิดปากอย่างน้อย 212 คดีที่นำเข้าสู่กระบวนการศาล และบางคดีก็เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ เช่น การโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า หนึ่งในสี่ของคดีปิดปากเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ประชาชนถูกฟ้องร้องจากความพยายามที่จะร้องเรียนเรื่องสภาพการทำงานที่ผิดกฎหมาย เรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจ หรือ เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยบุคคลที่พวกเขาร้องเรียนนั่นเองเป็นโจทก์

สถานการณ์นั้นย่ำแย่ลงเรื่อยๆ หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 เนื่องจากกองทัพสร้างและใช้กฎหมายเพื่อปกป้องกลุ่มผู้มีอำนาจและกดขี่กลุ่มผู้ที่อ่อนแอ รวมถึงให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของบรรษัทและรัฐบาลมากกว่าประโยชน์สาธารณะ

“รายงานวิจัยยังพบว่าร้อยละ 95 ของคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย เป็นคดีอาญา และผู้ที่เป็นจำเลยส่วนใหญ่ คือ ประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอาสาสมัคร (39%) ผู้แทนชุมชนและแรงงาน (23%) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (16%) และ นักข่าว (9%) และกิจกรรมหลักที่เป็นสาเหตุสำคัญของการฟ้องร้องคือการแสดงความเห็นออนไลน์ (25%)”

ประสบการณ์ความชอกช้ำทางจิตใจที่เกิดจากการถูกฟ้องร้อง และต้องขึ้นศาลสร้างความหวาดกลัวและยับยั้งบรรยากาศการแสดงความคิดเห็น กลายเป็นสังคมที่มีผู้คนเพียงจำนวนน้อยที่พร้อมจะยืนหยัดเพื่อผู้คนที่เปราะบางและไม่มีปากมีเสียง

นี่คือปัญหาที่น่าเป็นห่วงในไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีช่องว่างด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก คนรวยที่สุด 1% ของประชากรครอบครองความมั่งคั่งกว่า 66.9% ของประเทศ ในขณะที่คนจนที่สุดจำนวน 50% ของประชากรมีความมั่งคั่งเพียงแค่ 1.7%

แต่การฟ้องคดีปิดปากกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยมีประเทศไทยเป็นตัวอย่างให้กลุ่มคนรวยและผู้มีอำนาจทั่วโลกที่ต้องการจะปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์

เมื่อเดือนกรกฏาคมปีนี้ที่ประเทศอังกฤษ คารอล แคดวาลหลาด นักข่าวสืบสวนสอบสวนถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทในจากมหาเศรษฐี อารอน แบงค์ ที่ให้การสนับสนุนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป จากบทบาทของเธอในการรายงานข่าวความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทแคมบริดจ อะนาไลติกา กับประธานาธิบดีทรัมป์ รัสเซีย และการลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป

ทนายความของเธอระบุว่า เป็นคดีที่ไม่มีมูลแต่อย่างใด แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้สถานะทางการเงินของเธอล้มละลายเพื่อให้เธอหยุดการทำข่าวสืบสวนสอบสวน ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีของเธออาจสูงถึงหนึ่งล้านปอนด์ หรือประมาณ 40 ล้านบาท

การฟ้องคดีปิดปากได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน หลายบริษัทได้ฟ้องคดีเพื่อบีบให้ประชาชนยุติการแสดงความเห็นด้านลบบนสื่อออนไลน์

“ทางสมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ ขอเรียกร้องให้ทางการไทยปฏิบัติตามคำมั่นที่จะยึดถือมติของสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยให้การรับรองไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2560 และยึดถือพันธกรณีตามกฎหมายภายในประเทศและระหว่างประเทศ ที่จะป้องกันไม่ให้บุคคลใดถูกฟ้องร้องด้วยคดีความที่ไม่จริงและมีจุดประสงค์เพื่อปิดกั้นเสรีภาพการพูด ทางสมาคมฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโทษทางอาญาของข้อกล่าวหาหมิ่นประมาท และให้การฟ้องร้องคดีปิดปากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย” ณัฐาศิริ กล่าวทิ้งท้าย

 

ดาวน์โหลดได้ที่นี่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: