คนไทยรู้ยัง: ครัวเรือนไทยล้มละลายจากค่าใช้จ่ายทางสุขภาพน้อยลง

ทีมข่าว TCIJ: 29 มี.ค. 2562 | อ่านแล้ว 5919 ครั้ง

หลังประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2545 สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ครัวเรือนไทยจ่ายเงินเองเมื่อเทียบกับรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศลดลง, สัดส่วนครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลลดลง และสัดส่วนอุบัติการณ์ของครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพ ก็ลดลงด้วยเช่นกัน ที่มาภาพประกอบ: ดัดแปลงจาก Chiang Mai Citylife

ข้อมูลจาก Policy Brief: ฉบับที่ 50 : มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ครัวเรือนไทยยังต้องจ่ายอะไรเพื่อสุขภาพอีก (โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ, มิ.ย. 2561) ระบุว่าประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ปี 2545 ส่งผลให้มีครัวเรือนไทยที่ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลง แต่จากการค้นหาข้อเท็จจริงเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนไทยในช่วง 25 ปี ที่ผ่านมา พบว่าครัวเรือนไทยยังมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจำนวนใกล้เคียงกับช่วงก่อนมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านอื่นเพิ่มขึ้นทำให้เห็นว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ครัวเรือนที่มีผู้อาศัยในภาวะพึ่งพิง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุและคนพิการ ได้รับประโยชน์มากกว่าจากการมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เห็นได้จากสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลงมากกว่าครัวเรือนที่ไม่มีผู้อาศัยในภาวะพึ่งพิง ครัวเรือนไทยโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีระดับรายได้สูงยังมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพส่วนใหญ่เป็นค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน นอกจากนี้ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายในการซื้อยาและเวชภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการซื้อวิตามินยาบำรุงและอาหารเสริมซึ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2552

ทั้งนี้พบว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนไทย (ปรับอัตราเงินเฟ้อให้เป็นค่าในฐานปี 2554) ก่อนมีบัตรทอง คือระหว่างปี 2533-2543 เฉลี่ยแล้วสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 2.7-3.8 (4-7 หมื่นล้านบาทต่อปี) เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ หลังมีบัตรทอง ระหว่างปี 2547-2558  เฉลี่ยแล้วสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 1.5-1.9 (5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี)

ในด้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครัวเรือนไทยหลังมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ครัวเรือนไทยจ่ายเงินเองเมื่อเทียบกับรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศลดลง, สัดส่วนครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลลดลง และสัดส่วนอุบัติการณ์ของครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพ ก็ลดลงด้วยเช่นกัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: