Media Disruption: EP3 ‘การควบรวมสื่อ’ และ ‘การหายไปของสื่อท้องถิ่น’ ในต่างประเทศ

ทีมข่าว TCIJ | 29 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 8641 ครั้ง

'การควบรวมกิจการ' ถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต่างหวาดกลัวว่าจะนำมาสู่การ 'ผูกขาดในอุตสาหกรรม’ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้พบว่าอุตสาหกรรมสื่อโลกมีการควบรวมบ่อยครั้ง โดยให้เหตุผลด้านบวกว่า ‘เป็นการผนวกสินค้าและบริการให้ครอบคลุมความต้องการของผู้รับสื่อ’ แต่ความกังวลใจของหลายฝ่ายกลับมองว่าอาจจะสร้างการผูกขาด มีการเอาเปรียบผู้บริโภค และทำลายความหลากหลายของสื่อ รวมทั้งการปรากฏการณ์ ‘การหายไป’ ของ ‘สื่อท้องถิ่น’ ในยุค Digital Disruption

 

Special Report ชิ้นนี้เป็นตอนหนึ่งของซีรีส์ชุด Media Disruption ที่ TCIJ ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการรู้เท่าทันดิจิทัล โดย Internews Network

Media Disruption: EP1 ไทม์ไลน์และพฤติกรรมผู้เสพสื่อที่เปลี่ยนไปในระดับโลก
Media Disruption: EP2 การหายไปของ ‘สื่อเก่า’ ทั้ง ‘ปริมาณ-เม็ดเงิน-คนทำงาน’
Media Disruption: EP3 ‘การควบรวมสื่อ’ และ ‘การหายไปของสื่อท้องถิ่น’ ในต่างประเทศ
Media Disruption: EP4 สำรวจพฤติกรรมเสพสื่อที่เปลี่ยนไปของคนไทย
Media Disruption: EP5 ‘สื่อสิ่งพิมพ์ไทย’ ในยุค Disrupt ถึงจุดดิ่งสุดแล้วหรือยัง?
Media Disruption: EP6 เมื่อ ‘วิทยุไทย’ ถูก ‘การเมือง-สื่อใหม่’ Disrupt
Media Disruption: EP7 ‘ทีวีไทย’ ในกระแสเปลี่ยนผ่าน
Media Disruption: EP8 ผลกระทบต่อ 'สิทธิแรงงาน' คนทำงานสื่อ
Media Disruption: EP9 อุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพและการรับข้อมูลที่ถูกต้อง
Media Disruption: EP10 ‘สือออนไลน์’ ความหวัง ความฝัน ..ความจริง

 

‘ควบรวมกิจการสื่อ’ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก-หนทางสู่การผูกขาด

ตั้งแต่ต้นยุค 2000 เป็นต้นมา พบว่าเทรนด์ของธุรกิจประเภทสื่อ (Media) และสื่อสารโทรคมนาคม (Telecommunication) ต่างก็พยายามผนวกบริการต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งบริการโทรศัพท์มือถือ การสื่อสารผ่านเคเบิล บรอดแบนด์ และแพคเกจทีวี ให้มาจากผู้ประกอบการรายเดียว แทนที่จะแยกขายสินค้าและบริการแบบเดี่ยวเหมือนแต่ก่อน อันเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ 'การหลอมรวมสื่อ' (Media Convergence) ที่คาดกันว่าจะเป็นรูปแบบในอนาคตของวงการสื่อสาร และความพยายามนี้ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเกิด ‘การควบรวมกิจการ’ ขึ้น

ในระบบการค้าเสรี 'การควบรวมกิจการ' โดยเฉพาะ 'การควบรวมกิจการแนวดิ่ง' (vertical mergers) ถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต่างหวาดกลัวว่าจะนำมาสู่ 'การผูกขาดในอุตสาหกรรม’ และในช่วงไม่กี่ปีมานี้พบว่าในอุตสาหกรรมสื่อมีการควบรวมกิจการแนวดิ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้จะมีการให้เหตุผลด้านบวกว่า “เพื่อเป็นการผนวกสินค้าและบริการให้ครอบคลุมกับความต้องการของผู้บริโภค” แต่ความกังวลใจของหลายฝ่ายกลับมองว่า “อาจจะสร้างการผูกขาด มีการเอาเปรียบผู้บริโภค และทำลายความหลากหลายของสื่อ” ขึ้นมาแทน

ตัวอย่างการการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมสื่อ โทรคมนาคมและเทคโนโลยี ที่สำคัญตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000

ที่มาภาพประกอบ: investopedia.com

  • ปี ค.ศ. 2000 AOL ควบรวม Time Warner Cable ประมาณการมูลค่าดีล 135 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ซึ่งถือเป็นสถิติการควบรวมมูลค่าสูงสุดตลอดกาลของอุตสาหกรรมสื่อ)
  • ปี ค.ศ. 2000 Viacom Inc. ซื้อกิจการพนันออนไลน์ BET ประมาณการมูลค่าดีล 3-3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2000 Tribune (ผู้จัดพิมพ์ Chicago Tribune) ซื้อกิจการ Times Mirror Co. (ผู้จัดพิมพ์ Los Angeles Times)
  • ปี ค.ศ. 2001 EchoStar ผู้ให้บริการโซลูชั่นการสื่อสารผ่านดาวเทียมและบริการอินเทอร์เน็ต พยายามควบรวมกับ DirectTV ด้วยมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 2002 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ขัดขวางดีลนี้
  • ปี ค.ศ. 2001 Vivendi Universal กลุ่มธุรกิจสื่อสัญชาติฝรั่งเศส ซื้อกิจการ USA Networks Inc. มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2001 Comcast ควบรวมกับ AT&T บรอร์ดแบนด์ ด้วยมูลค่า 52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มีฐานสมาชิกบรอร์ดแบนด์ในมือถึง 3 ล้านคนในขณะนั้น
  • ปี ค.ศ. 2002 eBay ควบรวม Paypal ด้วยมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2003 Yahoo ควบรวม Overture (GoTo.com) ด้วยมูลค่า 63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2003 News Corporation เข้าควบรวมกิจการ Hughes Electronics (บริษัทลูกของ DirecTV) ด้วยมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2003 หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ อนุมัติให้ HBC เข้าซื้อกิจการ Univision มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก้าวสู่การเป็นเครือข่ายทีวีและวิทยุภาษาสแปนิชใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2003 การรวมกันของ Vivendi Universal กับ NBC ด้วยดีลมูลค่า 43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ทำให้ก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงแข่งกับ Disney Corp. และ Viacom Inc.
  • ปี ค.ศ. 2004 Cingular ซื้อกิจการ AT&T Wireless Services Inc. มูลค่า 41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ขณะนั้น
  • ปี ค.ศ. 2004 Sony Music ควบรวมกับ BMG
  • ปี ค.ศ. 2004 Dow Jones ซื้อกิจการ MarketWatch มูลค่า 519 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2004 AOL Time Warner ควบรวม com ด้วยมูลค่า 435 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2005 SBC ได้ซื้อกิจการ AT&T (ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ) ในราคา 16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากการซื้อครั้งนี้ SBC ยังให้คงชื่อและแบรนด์ของ AT&T ไว้
  • ปี ค.ศ. 2005 Verizon ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ ซื้อกิจการ MCI บริษัทด้านโทรคมนาคม มูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2005 News Corporation ซื้อกิจการ Intermix Media, Inc. ซึ่งเป็นเจ้าของ com โซเชียลมีเดียอันดับต้นๆ ของโลกในขณะนั้น มูลค่า 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2005 Paramount Pictures ซื้อ DreamWorks มูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2006 Disney Corp. ซื้อ Pixar มูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2006 AT&T ซื้อกิจการ BellSouth Corp. 67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีสิทธิควบคุมกิจการร่วมอย่าง Cingular
  • ปี ค.ศ. 2006 Vivendi Universal ซื้อกิจการ BMG มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ Vivendi Universal เป็นผู้จัดจำหน่ายเพลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • ปี ค.ศ. 2006 Google ซื้อกิจการ YouTube ซึ่งต่อมาได้เป็นเว็บไซต์วีดีโออันดับ 1 ของโลก ด้วยมูลค่า 65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2006 Google ซื้อกิจการบริษัทให้บริการโฆษณาออนไลน์ DoubleClick ซึ่งเป็นรากฐานให้กับบริการโฆษณา Google AdSense ด้วยมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2008 CBS ควบรวม CNET ด้วยมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2009 Disney Corp. ซื้อ Marvel (บริษัทในเครือ Marvel Comics) มูลค่า 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2010 Apple ควบรวม Quattro Wireless มูลค่า 275 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2010 Google ควบรวม ผู้ให้บริการโฆษณาออนไลน์ Admob มูลค่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2010 Disney Corp. ควบรวม Playdom ออนไลน์โซเชียลเน็ตเวิร์คเกมส์ มูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2010 News Corporation ซื้อหุ้น 90% Wireless Generation มูลค่า 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2010 Filmyard Holdings ซื้อ Miramax จาก Disney Corp. มูลค่า 663 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2011 Comcast เทคโอเวอร์ NBC Universal จาก General Electric Co. ด้วยการถือหุ้น NBC 51%
  • ปี ค.ศ. 2011 AOL ซื้อ Huffington Post ด้วยมูลค่า 315 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2011 AT&T ซื้อ T-Mobile ด้วยมูลค่า 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2011 Specific Media ซื้อ com มูลค่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2011 Microsoft ซื้อบริษัท Skype Technologies ด้วยมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2012 Disney Corp. ซื้อ Lucasfilm ด้วยมูลค่า 05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2014 Apple ซื้อกิจการ Beats Electronics ด้วยมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2014 Facebook ซื้อ Instagram ด้วยมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2014 Facebook ซื้อ WhatsApp ด้วยมูลค่า 19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2014 Jeff Bezos เจ้าของ Amazon เข้าซื้อกิจการ Washington Post ด้วยมูลค่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2014 Amazon ซื้อกิจการบริษัทวีดีโอสตรีมมิง Twitch Interactive มูลค่า 970 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการซื้อกิจการมูลค่าสูงสุดของ Amazon
  • ปี ค.ศ. 2016 Microsoft ควบรวมโซเชียลเน็ตเวิร์ค LinkedIn ด้วยมูลค่า 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2018 AT&T ซื้อบริษัทเคเบิลทีวี Time Warner ด้วยมูลค่า 85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2018 Disney Corp. ซื้อ Twenty-First Century Fox, Inc. ด้วยมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ปี ค.ศ. 2018 Meredith Corp. ควบรวม Time, Inc. ด้วยมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มาเรียบเรียงจาก: globalization101.org [1] [2] | techcrunch.com | mediaradar.com | money.cnn.com | nbcnews.com | wikipedia.org [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7]

 

ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ช่วงไม่กี่ปีมานี้ สื่อขนาดใหญ่หลายรายได้ควบรวมกิจการระหว่างกันเอง ตัวอย่างเช่นกรณีของ Twenty Century Fox ซึ่งเป็นสื่อและธุรกิจบันเทิงระดับโลก กับ Comcast Corp. ซึ่งเป็นบริษัท Pay TV ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ (วัดจากยอดจำนวนสมาชิก) ต่างก็พยายามเข้าซื้อกิจการ Time Warner Cable เหตุผลที่ทั้งสองต้องแข่งขันกันซื้อ Time Warner Cable ก็คือเพื่อการแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ (revenue synergy) ลดต้นทุนการประกอบการในกิจการ (cost synergy) และเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ อีกดีลหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ AT&T ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทั้งโทรศัพท์มือถือและบรอดแบนด์ของสหรัฐฯ เสนอดีลมูลค่า 48.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเข้าซื้อกิจการของ DirectTV ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมรายใหญ่ของสหรัฐฯ [1]

นอกจากนี้ยังมีการเดินหน้ากว้านซื้อเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ของบรรษัทเทคโนโลยีสื่อสารยักษ์ใหญ่ของโลก เช่นเมื่อปี 2014 เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กอันดับหนึ่งของโลกอย่าง Facebook เข้าซื้อกิจการ Whatsapp ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นส่งข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือของสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าสูงถึง 19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดีลนี้แสดงให้เห็นว่า Facebook ต้องการขยายธุรกิจบริการส่งข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญของ Facebook ที่ต้องการจะเปิดและเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างกันในที่ต่างๆ ของโลก หรือดีลที่ Apple ได้เข้าซื้อกิจการของ ‘Beats Electronic’ ผู้ให้บริการเพลงสตรีมมิ่ง และยังเป็นผู้ผลิตหูฟัง ลำโพง และซอฟท์แวร์ระบบเสียงของสหรัฐฯ ด้วยมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีการประเมินว่าการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะต่อยอดให้ Apple มีความแข็งแกร่งมากขึ้นในธุรกิจอุปกรณ์เสริมทางดนตรีและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจให้บริการเพลงผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (Music-Streaming Industry) [2]

อีกตัวอย่างเมื่อปี 2018 ศาลสหรัฐฯ ได้ พิพากษาอนุญาตข้อตกลงควบรวมกิจการแนวดิ่งระหว่างบรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม AT&T กับบรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านสื่อบันเทิง Time Warner ซึ่งถือเป็นดีลควบรวมสื่อครั้งประวัติศาสตร์ที่มีมูลค่าสูงถึง 85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ข้อตกลงฉบับนี้จะทำให้ธุรกิจเครือข่ายบรอดแบนด์ไร้สายและไดเร็กทีวีของ AT&T ถูกผนวกรวมเข้ากับกิจการสื่อของ Time Warner ซึ่งครอบคลุมทั้งสถานีโทรทัศน์ CNN และช่องเคเบิลอื่นๆ อย่าง Cartoon Network, HBO และ Warner Bros. ต่อกรณีนี้องค์กรเพื่อผู้บริโภค Public Knowledge ได้ระบุว่าดีลนี้ไม่เพียงทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายโดยตรงจากค่าธรรมเนียมบอกรับที่อาจแพงขึ้น รวมถึงตัวเลือกช่องทีวีและผู้ให้บริการที่ขาดความหลากหลาย และยังจะเป็นการกระตุ้นให้บริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ ทำตามอย่าง นอกจากนี้นักวิเคราะห์บางรายชี้ว่าคำพิพากษาของศาลจะเป็นการเปิดไฟเขียวสำหรับดีลควบกิจการอื่นๆ เช่น กรณีที่ ‘Disney Corp.’ เสนอเข้าซื้อกิจการและลิขสิทธิ์ภาพยนต์ของ 21st Century Fox และข้อตกลงควบรวมผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ T-Mobile กับ Sprint ทั้งนี้ AT&T และ Time Warner อ้างว่าจำเป็นต้องขยายองค์กรให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้สามารถแข่งขันกับบริษัทคู่แข่งอย่าง Netflix และ Amazon รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง Google, Facebook และ Apple ได้ [3] [4]

 

การหายไปของ ‘สื่อท้องถิ่น’

สื่อท้องถิ่นทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ และทีวี ต่างได้รับผลกระทบจาก Digital Disrupt ที่มาภาพประกอบ: queensjournal.ca/Stephanie Jiang

ในสหรัฐฯ ระหว่างปี 2013-2017 พบว่าการจ้างพนักงานของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2013 มีการจ้างงานประมาณ 36,700 ตำแหน่ง ปี 2014 มีการจ้างงานประมาณ 32,900 ตำแหน่ง ปี 2015 มีการจ้างงานประมาณ 32,880 ตำแหน่ง (ปี 2016 ไม่มีข้อมูล) และในปี 2017 การจ้างพนักงานของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลดลงเหลือเพียง 25,000 ตำแหน่ง [5] ส่วนการจ้างงานทีวีท้องถิ่นนั้น ไม่ได้ลดลงมากนัก โดยในปี 2004 มีการจ้างงานทั่วสหรัฐฯ 29,630 ตำแหน่ง หดตัวลงมากที่สุดในปี 2013 เหลือ 25,650 ตำแหน่ง และในปี 2018 ขยับมาอยู่ที่ 28,670 ตำแหน่ง [6]

มีงานศึกษาระบุว่าช่วง 15 ปี (2004-2018) หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในสหรัฐฯ ต้องปิดตัวลงไป 1,779 ฉบับ จากในปี 2004 มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ไม่ใช่รายวัน 7,419 ฉบับ รายวัน 1,472 ฉบับ รวม 8,891 ฉบับ ต่อมาในปี 2018 หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ไม่ใช่รายวันลดลงเหลือ 5,829 ฉบับ รายวันลดลงเหลือ 1,283 ฉบับ รวมเหลือเพียง 7,112 ฉบับ และเมื่อนับในทุกภูมิภาคของสหรัฐฯ ในปี 2018 พบว่ามีถึง 171 ท้องถิ่น (county หรือ ‘เทศมณฑล’) ที่ไม่มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น โดยภูมิภาคที่ไม่มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมากที่สุดคือเขต New England ที่มีถึง 91 ท้องถิ่น ที่ไม่มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น [7]

สื่อท้องถิ่นในเขตชนบทที่ประชากรมีรายได้น้อยกว่าเขตเมืองมีความเสี่ยงปิดตัวลงมากที่สุด สถิตพบว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเขตชนบทเหล่านี้กว่า 500 ฉบับ ได้ปิดตัวลงตั้งแต่ปี 2004 [8] ส่วนการวิเคราะห์ของสำนักข่าว AP ที่ใช้ข้อมูลที่รวบรวมโดย University of North Carolina ระบุว่ามีกว่า 1,400 ท้องถิ่น ในสหรัฐฯ ต้องสูญเสียหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไปในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชนบท ประชากรมีรายได้น้อย และสัดส่วนประชากรพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ [9]

นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยังมีความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนมือเจ้าของด้วยการ 'ถูกซื้อ-ควบรวม' โดยในปี 2018 พบว่ากว่า 1 ใน 3 ของหนังสือพิมพ์ทั่วสหรัฐฯ ถือครองสิทธิ์โดยบริษัทใหญ่ที่สุด 25 แห่ง จากที่เคยมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 เมื่อปี 2004 และถ้าหากนับเฉพาะหนังสือพิมพ์รายวันบริษัทใหญ่ที่สุด 25 แห่งนี้ ถือครองสิทธิ์ถึง 2 ใน 3 เลยทีเดียว มีรายงานระบุว่า ' New Media/Gatehouse' เจ้าของหนังสือพิมพ์รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ได้พยายามกว้านซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ในเมืองเล็กๆ อย่างต่อเนื่อง [10] [11]

ส่วนสถานการณ์ของ ‘ทีวีท้องถิ่น’ พบว่าทีวีท้องถิ่นก็มักจะถูกซื้อหรือควบรวมกิจการด้วยเช่นกัน ในปี 2018 มีการเปลี่ยนมือเจ้าของทีวีท้องถิ่นในสหรัฐฯ ถึง 144 สถานี มูลค่าการซื้อ-ควบรวม 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่มีการเปลี่ยนมือเจ้าของเพียง 107 สถานี ด้วยเม็ดเงินรวม 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในด้านรายได้จากเม็ดเงินโฆษณา ตั้งแต่ปี 2004-2016 พบว่าทีวีท้องถิ่นทั่วสหรัฐฯ มีรายได้จากการโฆษณาลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้จะมีแหล่งรายได้จากช่องทางออนไลน์มาเป็นส่วนเสริมก็ตาม ในปี 2004 ทีวีท้องถิ่นทั่วสหรัฐฯ มีรายได้จากการโฆษณาประมาณ 22.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2005 21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2006 22.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2007 21.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2008 20.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2009 15.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2010 รายได้จากโฆษณาในการออกอากาศปกติ 18.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รายได้จากออนไลน์ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2011 ออกอากาศปกติ 17.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออนไลน์ 534 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2012 ออกอากาศปกติ 19.51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออนไลน์ 625 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2013 ออกอากาศปกติ 17.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออนไลน์ 695 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2014 ออกอากาศปกติ 19.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออนไลน์ 819 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2015 ออกอากาศปกติ 17.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออนไลน์ 911 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2016 ออกอากาศปกติ 19.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออนไลน์ 1.005 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2017 ออกอากาศปกติ 17.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออนไลน์  1.035 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ [12]

ในแคนาดาเอง ก็มีสถานการณ์คล้ายกับสหรัฐฯ ที่เม็ดเงินโฆษณาของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นค่อยๆ ลดลง ในปี 2005 ทีวีท้องถิ่นทั่วแคนาดามีรายได้จากการโฆษณา 1,174 ล้านดอลลาร์แคนาดา ตัวเลขนี้ค่อยๆ ลดลงมาอย่างเห็นได้ชัด จนถึงในปี 2016 เม็ดเงินรายได้จากการโฆษณาของทีวีท้องถิ่นในแคนาดาเหลือเพียง 428 ล้านดอลลาร์แคนาดา [13]

ส่วนที่เยอรมนี ก็พบกับปรากฏการณ์ยอดสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลดลงมาตั้งแต่ปี 2000 โดยในปี 2000 ยอดสมัครสมาชิกของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอยู่ที่ประมาณ 16.6 ล้านฉบับ ปี 2005 ประมาณ 15.1 ล้านฉบับ ปี 2010 ประมาณ 13.8 ล้านฉบับ และในปี 2017 ยอดสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลดลงเหลืออยู่ที่ประมาณ 11.5 ล้านฉบับ [14]

เมื่อสื่อท้องถิ่นหายไป การตรวจสอบผลประโยชน์สาธารณะในท้องถิ่นก็หายไปด้วย

ยุค Digital Disrupt ในหลายท้องถิ่นกำลังเผชิญกับการลดจำนวนลงนักข่าวที่รายงานเรื่องของท้องถิ่น รวมทั้งมีการตั้งข้อสังเกตถึงข่าวท้องถิ่นที่ขาด ‘ความลึก’ ของเนื้อหาลงไปเป็นอย่างมาก ที่มาภาพประกอบ: Education Writers Association/Roger H. Goun (Creative Commons)

ปี 2008 มีการเผยผลสำรวจภายใต้โครงการที่ชื่อ ‘ห้องข่าวที่เปลี่ยนไป อะไรได้-อะไรเสีย ในวงการหนังสือพิมพ์รายวันของอเมริกา’ พบว่าบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับข่าวที่ ‘ขายได้’ มากขึ้น และการลดกำลังคนกองข่าวน้อยลง ซึ่งได้ทำให้ความสามารถของกองบรรณาธิการที่จะทำข่าวให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนได้น้อยลง [15]

แม้ว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในสหรัฐฯ จะมี ‘สื่อออนไลน์ท้องถิ่น’ เกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวลงของ ‘หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น’ สื่อท้องถิ่นต้องก้าวเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น แต่ก็มีการชี้ว่า Google และ Facebook ได้แย่งเม็ดเงินโฆษณาไปจากสื่อออนไลน์ท้องถิ่น จากระบบโฆษณาของทั้ง Google และ Facebook ที่ฐานข้อมูลและข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้อินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่อยู่ในมือยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 นี้ รวมทั้งเนื้อหาในระดับประเทศมักจะได้รับความสนใจจากเอเจนซี่โฆษณามากกว่า ทำให้เว็บไซต์สื่อออนไลน์ท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างมีกำไร หรือกรณีหนักสุดคือการล้มเลิกกิจการตั้งแต่ช่วงที่ขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปริมาณที่เกิดขึ้นของสื่อออนไลน์ท้องถิ่นไม่สามารถทดแทนการลดลงของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น

ในสหรัฐฯ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมักจะมีบทบาทนำในชุมชน สำหรับการตรวจสอบสิ่งไม่ชอบมาพากลต่างๆ ที่ขัดต่อหลักผลประโยชน์โดยรวมของสาธารณะ -- การขาดหายไปของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็ย่อมทำให้การตรวจสอบต่างๆ ขาดหายไปด้วย

มีงานวิจัยของ University of Illinois at Chicago และ University of Notre Dame ระบุว่าการกู้ยืมเทศบาลเพิ่มขึ้นหลังจากที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นปิดตัวลงไป งานวิจัยนี้พบว่าการกู้เงินที่เพิ่มขึ้นไม่เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจเลย แต่การขาดหายไปของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่เคยมีหน้าที่ตรวจสอบ ได้ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งกล้าที่จะใช้งบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น

“หลักฐานของเราแสดงให้เห็นว่าท้องถิ่นมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองเมื่อไม่มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายงานข่าวในท้องถิ่นนั้นๆ” หนึ่งในทีมวิจัยระบุ เขายังระบุว่าค่าใช้จ่ายในการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และถนนในท้องถิ่นจะสูงขึ้นเมื่อไม่มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นคอยตรวจสอบ [16]

นอกจากนี้ผู้คลุกคลีในวงการสื่อ ได้ชี้ถึงปัญหาของสื่อระดับท้องถิ่นอย่างหนึ่งก็คือการที่เนื้อหาระดับประเทศมักจะมีคนเข้าไปอ่านหรือดูในเว็บไซต์มากกว่าเนื้อหาท้องถิ่น (จากการประเมิน ณ ปี 2017) และนอกจากการลดจำนวนนักข่าวที่รายงานเรื่องของท้องถิ่นแล้ว ลักษณะงานของสื่อตามท้องถิ่นยังเปลี่ยนไปทำข่าวที่เป็นความสนใจระดับประเทศ ตัวอย่างเช่น The New York Times ซึ่งวางตัวเป็นสื่อที่นำเสนอประเด็นระดับโลก กลับลดจำนวนเนื้อหาเกี่ยวกับเมืองนิวยอร์กลงไป -- อดีตนักข่าวของ The New York Times รายหนึ่งระบุอีกว่า ตั้งแต่เขาเริ่มสังเกตถึงช่องว่างการรายงานข่าวท้องถิ่นรายวันจากห้องสื่อมวลชนในศาลเขต Queens ของเทศบาลเมืองนิวยอร์ก ตั้งแต่ปี 1985 เป็นต้นมา ก่อนที่จะลาออกในปี 2001 เขาพบว่าแม้นิวยอร์กจะเป็นเหมือนเมืองหลวงของการทำสื่อ แต่ที่เขต Queens ซึ่งมีอาชญากรรมอย่างฆาตกรรม อาชญากรรมทางเพศ ทำร้ายร่างกาย การปล้น ปีละประมาณ 35,000 ครั้ง ตามข้อมูลของตำรวจ และมีการพิจารณาคดีอาญาของศาลอีก 2 แสนครั้งต่อปี เขาพบว่าช่วงหลังแทบที่ไม่มีนักข่าวเกาะติดที่ศาลเขต Queens เลย

นอกจากนี้จากการสำรวจการรายงานข่าวท้องถิ่นในเทศบาลเมืองนิวยอร์กจากโครงการ Urban Reporting Program ของภาควิชาวารสารศาสตร์ Brooklyn College/CUNY พบว่าในพื้นที่เทศบาลเมืองนิวยอร์กซึ่งเป็นฐานของหนังสือพิมพ์รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ 3 รายจาก 10 ราย  ก็ได้ถอยห่างจากการทำข่าวพื้นที่ชานเมืองหรือนอกเมือง -- สถานการณ์ที่นิวยอร์ก เป็นการสะท้อนภาพใหญ่ทั่วประเทศสหรัฐฯ ว่าการรายงานข่าวระดับท้องถิ่นมีน้อยลง (จากการประเมิน ณ ปี 2017) บรรณาธิการบริหารของ New York Daily News ได้เคยกล่าวไว้ในปี 2017 ว่าเขาสังเกตได้ว่ายุคนี้การรายงานข่าวท้องถิ่นมีความลึกน้อยที่สุด ตั้งแต่เขาเริ่มเป็นนักข่าวมาเมื่อปี 1974 เลยทีเดียว แม้ว่ามีนักข่าวใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายก็ตาม [17]  

รายงานชิ้นหนึ่งใน VOA เมื่อเดือน ก.ย. 2019 ระบุว่าทุกวันนี้อาจจะดูเหมือนว่าชาวอเมริกันมีทางเลือกมากมายในการติดตามข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือทางเว็บไซต์ พอดคาสท์ เคเบิ้ลทีวี แต่เมื่อมองลึกลงไป ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสื่อมวลชน โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ได้ตกอยู่ในการควบคุมของบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่บริษัท การเข้ามากวาดซื้อและยุบรวมหนังสือพิมพ์และสถานีข่าวขนาดเล็ก โดยบริษัทใหญ่ ๆ ไม่กี่บริษัท กลายเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงในสหรัฐฯ โดยเห็นได้ชัดที่สุดในวงการหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะบริษัทสื่อขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง GateHouse Media และ Gannett เข้าควบคุมหลายร้อยสื่อสิ่งพิมพ์ โดยหันมาเน้นการทำข่าวจากส่วนกลางมากขึ้น และลดความสำคัญของข่าวในท้องถิ่นลง

เมื่อเดือน ส.ค. 2019 GateHouse Media และ Gannett ประกาศว่าทั้งสองจะควบรวมบริษัทกัน ซึ่งจะทำให้บริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นเข้าควบคุมหนังสือพิมพ์รายวันมากกว่า 250 หัว ตลอดจน หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์และสื่อท้องถิ่นอีกหลายร้อยสื่อ ส่วน Digital First หรือที่รู้จักกันในชื่อ MediaNews Group ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่เป็นผู้นำเทรนด์ที่น่าเป็นห่วง นั่นคือการกวาดซื้อหนังสือพิมพ์ ไล่นักข่าวออก และนำอสังหาริมทรัพย์ของสำนักข่าวออกขายทอดตลาด ซึ่ง Digital First เคยบอกหนังสือพิมพ์ Washington Post ว่าเป้าหมายของบริษัทคือการทำให้สื่อสิ่งพิมพ์มีผลกำไรและสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน -- โดยปกติแล้วหนังสือพิมพ์ไม่ใช่ธุรกิจทำเงิน หนังสือพิมพ์หลายหัวในสหรัฐฯ มักจะเป็นของมูลนิธิครอบครัวที่ร่ำรวยหรือองค์กรที่ให้ความสำคัญกับภารกิจต่อสังคมมากกว่าผลกำไร

ปัจจุบัน กฎหมายในสหรัฐฯ ที่เคยจำกัดไม่ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งถือหุ้นใหญ่ของหลายสื่อในตลาดเดียวกัน ได้ถูกแก้ไขให้เคร่งครัดน้อยลง เปิดทางให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งสามารถเข้าครอบงำแวดวงสื่อมวลชนทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ได้ ซึ่งองค์กรที่รณรงค์ให้มีการกระจายอำนาจของสื่อมวลชนมองว่า เป็นการทำให้สื่อที่เคยมีความหลากหลาย สะท้อนเสียงของชุมชนหายไป และตกอยู่ในอุ้งมือของบริษัทใหญ่ไม่กี่บริษัท สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเมืองของคนอเมริกันด้วย มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าการขาดหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทำให้คนมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยลงและเกิดความแตกแยกมากขึ้น [18]

 

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] จับตากระแสการควบรวมกิจการทั่วโลก (SCB EIC, 17 Sep 2014)
[2] เพิ่งอ้าง
[3] ทรัมป์เงิบ!! ศาลสหรัฐฯ ไฟเขียวดีลควบกิจการ AT&T กับไทม์วอร์เนอร์ ชี้ไม่พบหลักฐาน “บั่นทอนการแข่งขัน” (MGR Online, 13 Jun 2018)
[4] WarnerMedia (Wikipedia, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 25 Sep 2019)
[5] Number of employees for local newspapers in the United States from 2013 to 2017 (Amy Watson, statista.com, 16 May 2019)
[7] Where Are the News Deserts in the United States? (Sarah Feldman, statista.com, 14 Nov 2018)
[8] The U.S. newspaper crisis is growing: More than 1 in 5 local papers have closed since 2004 (ERIN KEANE, salon.com, 16 Oct 2018)
[9] Loss of local news hinders ability to watchdog government (MICHAEL CASEY, apnews.com, 11 Mar 2019)
[10] The U.S. newspaper crisis is growing: More than 1 in 5 local papers have closed since 2004 (ERIN KEANE, salon.com, 16 Oct 2018)
[11] THE EXPANDING NEWS DESERT (Penelope Muse Abernathy, Knight Chair in Journalism and Digital Media Economic, 2018)
[12] Local TV News Fact Sheet (Pew Research Center, 25 Jun 2019)
[13] Local daily newspaper advertising revenue in Canada from 2005 to 2016 (A. Guttmann, Statista, 23 Nov 2018)
[14] Sales volume of local and regional subscription newspapers in Germany in selected years from 1970 to 2017 (Evgeniya Koptyug, statista.com, 8 May 2019)
[15] สิ่งพิมพ์มะกัน รับ "ยุคมืด" ชู "Super Bureau" -เบรกกิ้ง นิวส์ สู้ (ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 28 - 30 ก.ค. 2551)
[16] Loss of local news hinders ability to watchdog government (MICHAEL CASEY, apnews.com, 11 Mar 2019)
[17] In New York City, Local Coverage Declines—and Takes Accountability With It (Paul Moses, thedailybeast.com, 5 May 2017)
[18] The Strip Mining of the US News Industry (Rob Garver, VOA, 18 Sep 2019)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: