Media Disruption: EP10 ‘สื่อออนไลน์’ ความหวัง ความฝัน ..ความจริง

ทีมข่าว TCIJ: 29 พ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 12609 ครั้ง

ตอนจบของซีรีส์ชุด ‘Media Disruption’ ปัจจุบันมี ‘สื่อออนไลน์’ ผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ด แต่พบยากที่จะเลี้ยงตัวเองได้ ยิ่งหากไม่มีสื่ออื่นควบคู่ไปด้วย เพราะ ‘เอเจนซี่’ มองการใช้สื่อออนไลน์อย่างเดียวในการทำตลาดอาจจะไม่พอ รวมทั้งเงินโฆษณาวิ่งหาแพลตฟอร์มระดับโลกมากกว่า คาดการณ์ปี 2562 จะมีการใช้จ่ายโฆษณาออนไลน์ในไทยรวม 20,163 ล้านบาท แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง 'Facebook' และ 'Youtube' (ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของ Google) รวมกันจะครองสัดส่วนเกือบครึ่งตลาดรวมมูลค่าเฉียดหมื่นล้านบาท สื่อหน้าใหม่ตัวเล็กรอดยาก ‘หาเงินไม่เป็น-ไม่มีโมเดลธุรกิจ’

Special Report ชิ้นนี้เป็นตอนหนึ่งของซีรีส์ชุด Media Disruption ที่ TCIJ ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการรู้เท่าทันดิจิทัล โดย Internews Network

Media Disruption: EP1 ไทม์ไลน์และพฤติกรรมผู้เสพสื่อที่เปลี่ยนไปในระดับโลก
Media Disruption: EP2 การหายไปของ ‘สื่อเก่า’ ทั้ง ‘ปริมาณ-เม็ดเงิน-คนทำงาน’
Media Disruption: EP3 ‘การควบรวมสื่อ’ และ ‘การหายไปของสื่อท้องถิ่น’ ในต่างประเทศ
Media Disruption: EP4 สำรวจพฤติกรรมเสพสื่อที่เปลี่ยนไปของคนไทย
Media Disruption: EP5 ‘สื่อสิ่งพิมพ์ไทย’ ในยุค Disrupt ถึงจุดดิ่งสุดแล้วหรือยัง?
Media Disruption: EP6 เมื่อ ‘วิทยุไทย’ ถูก ‘การเมือง-สื่อใหม่’ Disrupt
Media Disruption: EP7 ‘ทีวีไทย’ ในกระแสเปลี่ยนผ่าน
Media Disruption: EP8 ผลกระทบต่อ 'สิทธิแรงงาน' คนทำงานสื่อ
Media Disruption: EP9 อุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพและการรับข้อมูลที่ถูกต้อง
Media Disruption: EP10 ‘สือออนไลน์’ ความหวัง ความฝัน ..ความจริง

 

สถานการณ์สื่อออนไลน์โลก

ปัจจุบันพบว่าการเพิ่มขึ้นของ ‘สื่อออนไลน์’ เกิดขึ้นอย่าง 'ก้าวกระโดด’ พบว่าในปี ค.ศ. 1991 โลกมีเว็บไซต์เพียง 1 เว็บ จากนั้นก็ใช้ระยะเวลา 27 ปี เพิ่มเว็บไซต์ขึ้นถึง 1,630,322,579 เว็บ ในปี ค.ศ. 2018 [1] ทั้งนี้มีการประมาณการณ์ว่าทุกๆ 24 ชั่วโมง จะมีเว็บไซต์ใหม่ๆ เกิดขึ้นถึง 547,200 เว็บไซต์ทั่วโลก [2] ส่วนโซเชียลมีเดียที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2000’s มีการประเมินว่าในเดือน ม.ค. 2019 ทั่วโลกมีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่ยัง active อยู่ถึง 3,484 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นสัดส่วน 45% ของประชากรโลก โดยโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยม 5 อันดับแรก ที่ผู้ใช้ยัง active อยู่ ได้แก่ อันดับ 1.Facebook 2,234 ล้านบัญชี 2.YouTube 1,900 ล้านบัญชี 3.WhatsApp 1,500 ล้านบัญชี 4.Facebook Messenger 1,300 ล้านบัญชี และ 5.WeChat 1,058 ล้านบัญชี (ข้อมูล ณ ต.ค. 2018) [3]

ยุคตื่นทองสื่อออนไลน์ไทย

ทุกวันนี้เกิดสื่อออนไลน์หัวใหม่ๆ ทั้งเว็บไซต์ เพจเฟสบุ๊ค, ช่อง Youtube, รายการ Podcast รวมถึงช่องทางออนไลน์อื่นๆ ผุดขึ้นเกือบรายวัน

สำหรับประเทศไทย พบว่าในปัจจุบันนั้นมีสื่อออนไลน์หน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นเกือบแทบจะทุกวันตามแพลตฟอร์มต่างๆ ปัจจัยสำคัญก็คือการก้าวเข้าสู่ยุค Digital Disruption ที่ผู้บริโภคสื่อหันมาใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเตอร์เน็ตมากขึ้น เม็ดเงินโฆษณา ธุรกิจต่างๆ รวมทั้ง ‘คนทำสื่อ’ ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ก็ต่างมุ่งสู่ ‘สื่อออนไลน์’ ทั้งสิ้น

ผู้รับจ้างผลิตสื่อออนไลน์อิสระประสบการณ์มากกว่า 10 ปี รายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ TCIJ เมื่อเดือน พ.ย. 2562 ว่า 'กระแสตื่นทองสื่อออนไลน์' นั้นมีมาเงียบๆ มาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2549 ที่เขาเข้าวงการมา นอกจากเอกชนต้องมีเว็บไซต์ของตัวเองเกือบทุกที่แล้ว ก็ยังมีการแพร่กระจายไปในองค์กรภาครัฐตั้งแต่ท้องถิ่น อบต. ไปจนถึงกรม กระทรวง หน่วยงานต่างๆ

"เท่าที่เข้าวงการและเห็นมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา การใช้สื่ออินเตอร์เพิ่มมากขึ้น ใครมีบริษัทก็ต้องมีเว็บไซต์ ขนาด อบต.ยังต้องมีเว็บไซต์ของตนเอง ทั้งใช้คนของตัวเองทำ ช่วงหลังก็มีการจัดซื้อจัดจ้างก็ยิ่งกระตุ้นให้ท้องถิ่นทำเว็บไซต์เยอะมาก เพื่อนที่รับจ้างทำเว็บไซต์เรียกได้ว่าเป็นมนุษย์ทองคำเลย"

“ภาครัฐสนับสนุนการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเห็นได้ชัดก็ตั้งแต่ปี 2552 (ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เพื่อนหลายคนเริ่มเข้าไปรับจ๊อบภาครัฐ สร้างเว็บไซต์ปรับปรุงระบบต่างๆ ต่อมาการทำเว็บไซต์ถือว่าเป็นขุมทรัพย์ใหม่ของนักการเมืองและข้าราชการ เมื่อก่อนองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ปรับปรุงเว็บไซต์เกือบทุกรอบปีงบประมาณ เปลี่ยนขั้วรัฐบาลทีหนึ่งก็ใช้คนของตนเข้ามาทีหนึ่งผ่านการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนเอ็นจีโอ พวก สสส. หรือองค์กรสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ก็รับนักข่าวไปทำงานสื่อด้วยเยอะ พวกคนทำงานข่าวให้องค์กรสื่อภาคธุรกิจเองก็ถูกดูดตัวไปทำสื่อเอ็นจีโอเยอะด้วยช่วงนั้น”

และเริ่มเป็นกระแสระรอกใหญ่อีกครั้งในยุคโซเชียลมีเดีย ที่เน็ตไอดอลและ Influencer สามารถทำเงินได้จริงผ่านเฟสบุ๊ค คนก็แห่มาทำสื่อของตนเองมากขึ้น จากนั้นหลังปรากฏการณ์ฟองสบู่ทีวีดิจิทัลแตกหลังปี 2557 องค์กรสื่อที่เข้าไปประมูลทีวีดิจิทัลขาดทุนและได้ผลกระทบหนักมีการเลิกจ้าง ประกอบกับก่อนหน้านั้นเกิดยุคความตกต่ำของสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสารที่ได้มีการเลิกจ้างเหมือนกัน บุคลากรสื่อหันมาทำสื่อออนไลน์เป็นของตนเองมากขึ้น

“จะเห็นได้ชัดหลังปี 2010 ที่เขาว่าเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย พอมีโซเชียลมีเดีย มีกระแส Influencer ทำเงินได้ คนก็แห่เข้ามาเลย เป็นอีกยุคหนึ่งที่ทำเงินได้มากกว่ายุคเขียนบลอกเขียนเว็บปั่น SEO แล้วหวังแค่เงิน Google AdSense มายุคนี้เป็นไอดอลทางเฟสบุ๊ค เป็น Influencer เจ้าของเพจรีวิวสินค้า มีโฆษณาทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายอย่างพนันออนไลน์แชร์ลูกโซ่เข้า คนธรรมดาใช้โซเชียลเป็น พอปังขึ้นมาก็เป็นดาราง่ายขึ้น ใครๆ ก็อยากเป็นเซเลบออนไลน์ มันได้ชื่อเสียงด้วยได้เงินด้วยถ้าจังหวะคุณดี เกิดปรากฎการณ์ระเบิดตูมเลยทำนบเส้นแบ่งความเป็นสื่อพัง เกิดเพจเกิดสื่อใหม่ผุดขึ้นมาเยอะมาก”

“ยุคใหม่นี้เกิดหลังพวกเว็บไซต์ประชาไท เว็บ ม.เที่ยงคืน เว็บอิศรา นะ ซึ่งเป็นเว็บข่าวเว็บไซต์ของเอ็นจีโอ เป็นเว็บข่าวแบบ stand alone ออนไลน์เพียวๆ ไม่มีฐานข่าวเป็นสิ่งพิมพ์หรือทีวี ยุคแรกๆ เลย พวกนี้เขาเริ่มมาตั้งแต่ต้นยุค 2000’s เพื่อเป็นทางเลือกการรับสื่อมากกว่าการรับสื่อของรัฐกับเอกชน”

“แล้วต่อมาไม่กีปีนี้ก็มี The Matter ที่ถือเป็นสื่อออนไลน์ stand alone ภาคเอกชนเอกชนเจ้าแรกๆ ที่สร้างปรากฏการณ์ในยุคโซเชียลมีเดียได้ ถูกจริตคนอ่านรุ่นใหม่ Gen-Y Gen-Z ถ้าจำไม่ผิดเขาน่าจะเริ่มปี 2559 จากนั้นมี The นั่น The นี่ออกมามากมาย ส่วนพวกสื่อมืออาชีพที่โดนเลิกจ้าง ตกงาน ถึงจุดอิ่มตัวกับการเป็นลูกจ้าง หลังฟองสบู่ทีวีดิจิทัลแตก ก็แห่กันมาหันมาทำสื่อออนไลน์ โฆษณาว่าตัวเองเป็นตัวจริงกว่า มีคุณภาพกว่าพวกเน็ตไอดอล มีคุณภาพกว่า Influencer แต่โดยรวมแล้วรูปแบบนำเสนอแทบจะไม่ต่างกันเลย คุณลองเอาเนื้อหาแต่ละที่มาปริ้นใส่กระดาษไม่บอกที่มา คุณก็ดูไม่ออกหรอกว่าเจ้าไหนเป็นเจ้าไหน”

ผู้รับจ้างผลิตสื่อออนไลน์อิสระรายนี้ยังระบุว่าจากนี้ไปเส้นแบ่งระหว่างสื่อมืออาชีพกับสมัครเล่นจะพร่าเลือนกว่าเดิม สื่อมืออาชีพอาจจะตายเพราะคนทำสื่อง่ายขึ้นเพราะรสนิยมคนไทยก็ดูเหมือนว่าจะชอบสื่อแบบดูไม่เป็นทางการมากกว่าสื่อมืออาชีพแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ปัญหาเรื่องเว็บ Clickbait และ Fake news ก็ถือเป็นปัญหาสำคัญในยุคนี้

“เห็นพรรคพวกออกมาทำเว็บข่าวกันเอง งานชิ้นแรกๆ ลงทุนหลักหมื่นบาทคุณภาพดีมากแต่คนไลค์หลักร้อย ไปเทียบกับพวกแชร์คลิปรถแห่วัยรุ่นกินเหล้าเต้นแร้งเต้นกา คนดูเป็นล้าน คนแชร์เป็นหมื่น ไม่ต้องลงทุนอะไรมากแค่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตแล้วอัพลงเฟสบุ๊ค คนทำสื่อที่บอกว่าตนเองมีคุณภาพก็งง โฆษณาไม่เข้าหาเงินไม่เป็นเพราะเป็นนักข่าวมาทั้งชีวิตไม่เคยวิ่งขอโฆษณา ท้ายสุดเพจก็ร้าง เว็บก็ร้าง หันไปทำอาชีพอื่น ไปขับแกร็บ หรือไม่ก็กลับไปเป็นลูกจ้างฟรีแลนซ์ในวงการสื่อ งานเหมือนเดิมหรืออาจจะหนักกว่าเดิม แต่รายได้กับความมั่นคงลดลงมาก”

“ต่อมามันเกิดพวก Clickbait วนกลับไปเหมือนตอนคนแข่งกันปั่น SEO แต่คราวนี้หนักหน่วงกว่า ทั้งรีไรท์ยำข่าวเขาซะเละ พาดหัวข่าวให้คนเข้าใจผิด หนักสุดก็พวก Fake news ปั้นเรื่องมาเองเลยเพื่อให้คนคลิ๊กเพจคลิ๊กเว็บตัวเอง เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกไม่ใช่แค่บ้านเรา เราจะยังอยู่กับมันไปอีกหลายปี แม้ช่วงหลังเฟสบุ๊คเริ่มเข้มงวดมากขึ้นภาครัฐออกมาปรามพวกข่าวปลอมมากขึ้น แต่กว่าจะหมดน่าจะใช้เวลาหลายปี คนทำ Clickbait-Fake news ยังพอมีเวลากอบโกยได้อยู่” ผู้รับจ้างผลิตสื่อออนไลน์อิสระประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ระบุ

อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ที่มีประสบการณ์ทำงานในวงการหนังสือพิมพ์มามากกว่า 30 ปี ให้สัมภาษณ์กับ TCIJ ในช่วงเดือน ก.ย. 2562 ถึงการปรับตัวสู่ออนไลน์ของสื่อเก่า ว่าส่วนใหญ่แล้วคนทำสื่อแบบเก่าที่กระโจนเข้าสู่โลกออนไลน์แล้วจะประสบความสำเร็จนั้น จะต้องทิ้งขนบธรรมเนียมรูปแบบเดิม โดยเฉพาะการจัดองค์กร และจากนี้ไปอาจจะได้เห็นองค์กรสื่อรูปแบบเก่า 'ทิ้งกิจการ' หรือการปิดกิจการอีก เพื่อมาลุยออนไลน์เต็มตัว

"คุณต้องทิ้งสื่อเก่าแล้วมาทำสื่อออนไลน์เอง ต้องใช้คนไม่มาก มี sponsor 2-3 ตัว อาศัยชื่อเสียงส่วนตัว ตัวอย่างที่เห็นแล้วตอนนี้ก็เช่นคุณสุทธิชัย หยุ่น เป็นต้น"

"ในด้าน operation การดำเนินการขนาดใหญ่ก็จะไม่รอด ต้องเป็นสื่อแบบหลายวัตถุประสงค์ multi purpose และสื่อหลายรูปแบบ multi media สื่อเก่าทิ้งกิจการเดิมที่ไม่ทำเงินที่ไม่มีคนอ่านเพราะมันเหมือนน้ำท่วมบ้าน เสียเวลากั้นทำไม ถ้าเป็นผมทิ้งเลยคิดแล้ว ต้องสร้างอะไรที่มันใหม่ ต้องกล้าตัดสินใจ  ยังไงสื่อออนไลน์ก็ต้องมีขนาดเล็ก หากทำ operation ขนาดใหญ่ต้นทุนแพงเกินไป" อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ท่านนี้ ระบุ

ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของช่องทีวีดิจิทัลช่องหนึ่ง ที่มีประสบการณ์ในวงการทีวีมากกว่า 20 ปี ให้สัมภาษณ์กับ TCIJ ช่วงเดือน พ.ย. 2562 ระบุว่าปัจจุบันเกิดสำนักข่าวออนไลน์ในไทยจำนวนมาก เขามองว่าในอนาคตอันใกล้ที่มาของรายได้ของสื่อออนไลน์ต่างๆ ก็จะมาจากแพลตฟอร์มอย่าง Facebook สำนักข่าวที่มีโครงสร้างแบบดั้งเดิมจะถูกแทนที่ด้วยสำนักข่าวออนไลน์ที่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่าและ 'เซเลบออนไลน์' จะมีอิทธิพลในวงการมากกว่าสำนักข่าวรูปแบบเดิม

"เว็บข่าวออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 100 สำนักข่าวแล้ว อาจจะสูงที่สุดในโลกเลยมัง? เจาะกลุ่มคนอ่าน เช่น กลุ่ม intellectual ปัญญาชน กลุ่มเฉพาะอื่นๆ เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวเศรษฐกิจ"

"ในอนาคตสื่อออนไลน์จะได้เงินจากแพลตฟอร์มเฟสบุ๊ค หรือรายได้จากทำ CSR ของบริษัทต่างๆ คนจะทำคอนเทนต์เพียวๆ เพื่อขาย จากนี้ไปใครก็สามารถเป็นเซเลบทางออนไลน์ได้ง่ายกว่าการเป็นสำนักข่าวแบบเก่าซึ่งมันเทอะทะ ต้องแบกภาระค่าจ้างงานต่างๆ ส่วนออนไลน์ไม่จำเป็นต้องใช้คนมาก ข่าวอ่านเอาแล้ว คนเอามาเล่าต่อได้ นอกจากนี้แนวโน้มสำนักข่าวต้องซื้อวิดีโอจาก citizen reporter มากขึ้นเรื่อยๆ คนจะทำคลิปเองมากขึ้น ส่วนตอนนี้ที่เห็นได้ชัด agenda ข่าวในไทย ก็เอามาจากออนไลน์ เช่นพวก จ่าพิชิต (เพจ Drama-addict) พวก Red skull อะไรพวกนี้" ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของช่องทีวีดิจิทัลท่านนี้ระบุ

จิตวิญญาณสื่อที่หายไป?

อดีตบุคลากรของบริษัทผู้ผลิตรายการให้ช่องทีวีดิจิทัล ที่มีประสบการณ์การทำงานในสื่อออนไลน์มากว่า 10 ปี ให้ความเห็นกับ TCIJ ไว้ในช่วงเดือน ต.ค. 2562 ว่าเวลานี้คงยังไม่มีคำตอบใดที่ชัดเจนนักสำหรับทางรอดในวงการสื่อมวลชนโดยรวม ท่ามกลางกระแสสื่อใหม่ หลายสื่อซึ่งเคยเป็นกระแสหลักเลือกที่จะทิ้งพื้นที่เดิมและเปลี่ยนไปเล่นในแพลตฟอร์มใหม่ สิ่งที่น่ากังวลต่อไปก็คือพวกเขาอาจกำลังเลือกที่จะโยนจิตวิญญาณความเป็นมืออาชีพอันเป็นพื้นฐานสำคัญทิ้งไปเพื่อแลกกับยอดวิวหรือยอดไลค์ ขณะที่ความน่าเชื่อการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างรอบด้าน จรรยาบรรณจริธรรมของสื่อมวลชนที่ต้องยึดถือ หรือกระทั่งการทำงานอย่างปราณีตรอบคอบ อาจเป็นราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการเลือกเดินบนเส้นทางใหม่

ดังนั้น หากสื่อเองไม่สามารถยืนหยัดในความน่าเชื่อถือหรือมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนว่า แพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ต้องการงานที่ดี โปรดัคชั่นที่ดี ซึ่งในความจริงอาจไม่ใช่ทั้งหมด เช่น การถ่ายทำหรือการถ่ายทอดสด ภาพที่ต้องคมชัดไม่กระตุกก็ยังเป็นต้องการที่ผู้รับสื่อเรียกร้องและปัญหาแบบนี้ก็ยังพบอยู่บ่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่า ในเชิงกระบวนการผลิตสื่อในยุคใหม่อาจมีต้นทุนที่ลดลง แต่หากสามารถนำทักษะ เทคนิค และจิตวิญญาณมาปรับใช้ ก็น่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่จะทำให้สื่อจากโลกเก่าสามารถยืนหยัดได้ภายใต้สิ่งใหม่ที่ปรากฏ

"ดูเหมือนว่าทั้งสื่อเก่าในสื่อใหม่เองที่ลงสู่สนามออนไลน์ ก็กำลังเข้าใจผิดกับประเด็นกระแสเพื่อเรียกยอดไลค์หรือแข่งขันด้วยความเร็ว จนละเลยความเป็นมืออาชีพ ทั้งที่สังคมน่าจะยังต้องการหาความหนักแน่นและข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ว่าอดีต ปัจจุบัน และอนาคตก็จะเป็นเช่นนี้" อดีตบุคลากรของบริษัทผู้ผลิตรายการให้ช่องทีวีดิจิทัล ที่มีประสบการณ์การทำงานในสื่อออนไลน์มากว่า 10 ปี ระบุ

 

ความจริงที่สื่อออนไลน์ไทยต้องเผชิญ

ปัจจุบันรายได้ของสื่อออนไลน์มักจะมาจาก Banner และ Feed โฆษณาสินค้าและบริการต่างๆ ผ่านเอเจนซี่ หรือจากเจ้าของผลิตภัณฑ์โดยตรง, Google Adsense บริการโฆษณาออนไลน์ต่างๆ, รายได้จากโฆษณาวีดีโอทั้งจากแพลตฟอร์มอย่าง Facebook และ YouTube รวมทั้งรายได้จากการโฆษณาสินค้าในตัวเนื้อหา ข่าว บทความ หรือสกู้ปของเว็บไซต์เลยที่เรียกว่า ‘Advertorial’ ส่วนในต่างประเทศนั้นมีการสมัครสมาชิกรายเดือน (subscriptions) หรือจ่ายเงินเพื่ออ่าน Premium content รายชิ้น แต่ช่องทางหาเงินนี้ยังไม่เป็นที่นิยมของผู้อ่านในประเทศไทยเท่าไรนัก

ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูล ณ ช่วงปลายปี 2562 โดย TCIJ คาดว่าปัจจุบันมีสื่อออนไลน์ไม่กี่เจ้าเท่านั้นที่พอจะเลี้ยงตัวเองได้จากรายได้ที่ได้กล่าวไป โดยเฉพาะสื่อแบบ stand alone ที่ไม่ทำธุรกิจทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ หรืออื่นๆ ควบคู่ไปด้วย  ทั้งนี้พบว่ายอดคนเข้าเว็บไซต์และเข้าเพจก็มักจะสู้สื่อออนไลน์ที่มีธุรกิจสื่ออื่นควบคู่ด้วยไม่ได้ และยิ่งเป็นสื่อที่เกิดใหม่แล้วด้วยละก็ หนทางในการอยู่รอดยืนระยะยาวก็แทบที่จะตีบตัน

ตัวอย่างเช่น เมื่อลองพิจารณาข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (ณ วันที่ 28 พ.ย. 2562) ของ ‘บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด’ เจ้าของ 'thestandard.co' สื่อออนไลน์ stand alone อันดับต้นๆ ของไทยในปัจจุบัน ทั้งในด้านยอดผู้อ่าน และการลงทุนให้กับกองบรรณาธิการ บริษัทฯ อยู่ในหมวดธุรกิจ (มาจากงบการเงินปีล่าสุด): 73101 กิจกรรมของบริษัทโฆษณา จดทะเบียนเมื่อปี 2560 ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ในปี 2560 บริษัทฯ มีรายได้รวม 36,456,161.48 บาท รายจ่ายรวม 49,382,619.30 บาท ขาดทุนสุทธิ 12,926,457.82 บาท ปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้รวม 95,398,782.68 บาท รายจ่ายรวม 83,905,142.98 บาท กำไรสุทธิ 11,410,551.83 บาท จากข้อมูลนี้พบว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของการทำสื่อออนไลน์สเกลใหญ่นั้นมีต้นทุนสูงมาก อย่างในปี 2560 มีค่าใช้จ่ายเกือบ 50 ล้านบาท และในปี 2561 ใช้ถึง 80 ล้านกว่าบาท โดยเริ่มแรกเมื่อก่อตั้ง thestandard.co ใช้ทีมงานประจำถึงกว่า 80 คน และมีคอลัมนิสต์อีกว่า 40 คน [4] ซึ่งถือว่าการใช้ ‘กำลังคน’ ของเดอะสแตนดาร์ด มีจำนวนมากทีเดียว เมื่อเทียบกับสื่อออนไลน์ stand alone เจ้าอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่มักจะมีทีมงานไม่เกิน 20 คน

แต่เมื่อเปรียบเทียบสถิติจำนวนคนเข้าเว็บไซต์กับ thairath.co.th (เว็บไซต์อันดับหนึ่งในหมวดข่าวสารของไทยจัดอันดับโดย truehits.net ณ เดือน ต.ค. 2562) ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจสื่อเครือไทยรัฐ โดย similarweb.com พบว่าในเดือน ต.ค. 2562 thairath.co.th มีผู้เข้าชมเว็บ 52.19 ล้านครั้ง ส่วน thestandard.co มีผู้เข้าชมเว็บ 1.6 ล้านครั้ง (เช็คข้อมูล ณ วันที่ 28 พ.ย. 2562) และยอดไลค์เพจ thairath – ไทยรัฐออนไลน์ อยู่ที่ 11,249,252 ไลค์ ส่วนยอดไลค์เพจ THE STANDARD อยู่ที่ 1,026,151 ไลค์ (เช็คข้อมูล ณ วันที่ 28 พ.ย. 2562)

บรรณาธิการบริหารสื่อออนไลน์ชื่อดังแห่งหนึ่ง ที่เปิดดำเนินการมาแล้วกว่า 3 ปี (ณ ปี 2562) ให้สัมภาษณ์กับ TCIJ เมื่อเดือน ต.ค. 2562 ว่าสื่อออนไลน์ในยุคนี้รายได้มาจาก 1. ภาคธุรกิจ คือ advertorial ซึ่งต่างจากอดีตที่มาเป็นที่มักเป็นรูปแบบแอดฯ สำเร็จรูปแล้วลงแบนเนอร์ตามจุดต่างๆ ปัจจุบันบริษัทจะให้กองบรรณาธิการเขียนเนื้อหาให้ มีการบรีฟประเด็นและเป้าหมาย 2.การเอาคอนเท้นต์ไปอยู่ในแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น ไลน์ทูเดย์ (today.line.me) ซึ่งจะแบ่งเปอร์เซ็นต์โฆษณากัน แต่ส่วนนี้ยังสร้างรายได้เพียงเล็กน้อยได้ประมาณ 'ค่าไฟ' ขององค์กรเท่านั้น  3. ฟีดโฆษณาต่างๆ นอกเหนือจาก Google AdSense ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีหลายเจ้า แต่ก็มีได้รายได้แค่หลักพัน และ 4.รับโปรเจ็คต่างๆ เช่น รับทำอีเวนต์ นิทรรศการ รับทำสื่อสิ่งพิมพ์จำพวกรายงานประจำปี เป็นต้น

"สื่อออนไลน์ที่มีชื่อเสียงหน่อย รายได้กว่า 90% มาจาก advertorial ซึ่งลูกค้าแต่ละเจ้าก็มีความต้องการแตกต่างกันไป บางรายสนใจยอดไลก์ยอดแชร์ บางรายไม่สนใจ แล้วแต่ว่าเขาเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร หากเรามีคนไลค์เพจหรือฟอลโลเวอร์ไม่เยอะมาก เขา(ลูกค้า) อาจสนใจสิ่งอื่น เช่น รู้สึกว่าถ้าได้ลงที่นี่ดูน่าเชื่อถือ มีกลุ่มเป้าหมายตรงกับเขา เป็นสินค้าที่อาจไม่เน้นสื่อสารกับแมส บางเจ้าจะรับโฆษณาแต่เขียนราวกับเป็นเนื้อของเขาเอง เพราะเขาถือว่าเขาเลือกลูกค้าที่ตรงกับเขาอยู่แล้ว และมีอำนาจต่อรองในการกำหนดเนื้อหา"

ส่วนจำนวนกองบรรณาธิการของสื่อออนไลน์นั้นมักจะอยู่ที่สิบกว่าคนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็จะมีเฉพาะบางเจ้าที่ลงทุนทีมใหญ่มากมีกองบรรณาธิการจำนวนมากกว่านี้ บรรณาธิการบริหารสื่อออนไลน์ท่านนี้ยังระบุว่า โมเดลการหาโฆษณาที่องค์กรตนเองใช้ในปัจจุบัน เรียกว่า 'เลี้ยงตัวเองได้' แต่ 'ไม่รวย' และสื่อที่จะอยู่รอดได้ต้องขยันสุดขีดทั้งทีมเนื้อหาและฝ่ายขายโฆษณา ไม่ใช่จู่ๆ ทำแล้วลูกค้าวิ่งเข้ามา เม็ดเงินโฆษณาไม่เหมือนในอดีตสักสิบปีที่แล้วที่ซื้อหน้ากระดาษหนึ่งได้ราคาสูง เดี๋ยวนี้บทความหนึ่งก็ราคาถูกลงมากเมื่อเทียบกัน แปลว่าต้องหาให้ได้จำนวนมาก คนทำงานก็ต้องทำงานหนักขึ้นมากๆ การที่จะอยู่ได้ระยะยาวเป็นเรื่องท้าทายมาก นายทุนจะต้องอดทนมากๆ และทำเพราะอยากทำ เนื่องจากผลกำไรนั้นมีไม่มาก

"เวลาขายโฆษณาเราขายทั้งเว็บและเฟสบุ๊คคู่กัน ส่วนการขายแยกเฉพาะเฟสบุ๊คก็มี ราคาจะถูกลง อินสตราแกรมก็ขายด้วย แล้วแต่ความต้องการของลูกค้าถึงอย่างนั้นก็มีหลักเกณฑ์ในการรับโฆษณา บางอย่างที่ไม่เข้ากับแนวทางของเราก็ไม่รับ โฆษณาที่มี agenda ฟอกขาวธุรกิจหรือคนต่างๆ ก็ไม่ได้รับ"

ส่วนสื่อใหม่ต่างๆ หรือเพจต่างๆ ที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกวันนี้ บรรณาธิการบริหารสื่อออนไลน์ท่านนี้มองว่าไม่น่าจะเป็นคู่แข่งหรือคุกคามกับสื่อออนไลน์ที่มีอยู่ก่อน กลับมองว่ามันเอื้อกัน เพราะทำให้คอนเท้นต์มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้ภาพรวมของตลาดคึกคัก คนที่จะซื้อโฆษณาก็อาจจะอยากซื้อมากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญกว่าก็คือ เพจใหม่ๆ หรือสื่อออนไลน์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นยังนำเสนอเนื้อหาแบบเก่า มุมมองยังเก่า กระทั่งวิธีนำเสนอบางทีก็ยังเก่า ก็ยากที่จะเรียกพวกเขาว่าเป็นสื่อใหม่

"ตราบใดที่เกิดมาแล้ว แต่คนอ่านจำคุณไม่ได้ ก็ถือว่ายังไม่เกิดขึ้น และเมื่อเกิดแล้ว ความท้าทายสำคัญคือจะยืนระยะได้นานแค่ไหนด้วย บางเจ้าอาจยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ แค่ทำเพราะอยากทำ บางเจ้ายังใช้ภาษาหนังสือพิมพ์มาไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งคนอ่านเดี๋ยวนี้อ่านไม่รู้เรื่องแล้ว อะไรที่เป็นแค่การย้ายที่ เช่นหนังสือพิมพ์ย้ายมาสู่เพจไม่นับเป็นสื่อใหม่ เพราะไม่มีนวัตกรรมอะไร มันจะใหม่ก็ต่อเมื่อมีวิธีการเล่าเรื่องเป็นของตัวเองมากกว่า"

บรรณาธิการบริหารสื่อออนไลน์ท่านนี้มองอนาคตอุตสาหกรรมสื่อออนไลน์ไทยไว้ว่า ทางรอดของคนทำสื่อออนไลน์นั้น 'นายทุน' จะต้องมีความอดทนสูง สายป่านต้องยาว สื่อออนไลน์เจ้านั้นๆ ถึงจะยืนระยะได้ นอกจากนี้แคแรคเตอร์และคุณภาพของสื่อออนไลน์แต่ละเจ้าก็อาจเป็นตัวชี้ขาดของการอยู่รอดในระยะยาว

"นายทุนต้องอดทนมาก เพราะมันจะเข้าเนื้อนาน เป็นงานที่ไม่มีกำไร รายใหม่ที่เกิดขึ้นจะอยู่รอดได้ถ้ามีสตาฟแค่ 2-3 คน กลายเป็นโมเดลแบบจ่าพิชิต (เพจ Drama-addict) ฯลฯ แต่หากหวังงานแบบเชิงกองบรรณาธิการที่ต้องมีการประชุมกอง คาดหวังความต่อเนื่องของงาน ก็ต้องมีทีมงานจำนวนหนึ่ง แต่เม็ดเงินโฆษณามันน้อยกว่าสิ่งที่กำลังทำกันตอนนี้ หลายเจ้าลงทุนไปเยอะ ที่จะต้องพิสูจน์กันคือการยืนระยะให้ได้ยาว และอยู่ในสนามให้ได้เป็นคนท้ายๆ อดทนไปก่อน รายที่เกิดใหม่ที่แย่งส่วนแบ่งตลาดเล็กๆ น้อยๆ นั้น สุดท้ายทั้งคนอ่านและคนขายโฆษณาจะรู้เองว่าเขาควรต้องไปที่ไหน ตอนนี้มันอาจกระจัดกระจายกันอยู่ แต่ถึงที่สุดคนจะวิ่งหาอะไรที่เป็น originality และมีคาแรคเตอร์ชัด"

และแม้ว่าเม็ดเงินโฆษณาในสื่อออนไลน์มันเหมือนจะมากขึ้น แต่ก็ต้องผลิตชิ้นงานมากขึ้น และสื่อออนไลน์ที่มีสื่ออื่นๆ ในเครือด้วยจะได้เปรียบกว่าสื่อออนไลน์เพียวๆ ส่วนเรื่องแนวทางหารายได้ของสื่อออนไลน์โดยการสนับสนุนของคนอ่าน subscribe บรรณาธิการบริหารสื่อออนไลน์ท่านนี้คิดว่าเป็นไปได้ยากในสังคมไทย เพราะคนไทยมีรายได้น้อยเกินไป คนไทยไม่มีเงินมากพอ อย่างไรก็ตามยังหวังว่าในอนาคตข้างหน้าจะทำ premium content มีข้อมูลจำนวนหนึ่งที่ต้องจ่ายเงินถึงจะเข้าถึงได้

"เม็ดเงินโฆษณาในออนไลน์อาจดูเยอะ แต่ราคาต่อ volume หนึ่งมันน้อยลง เช่น เมื่อก่อนลูกค้ามาซื้อโฆษณาบนปกนิตยสารได้ตัวหนึ่ง องค์กรก็อยู่รอดได้เดือนหนึ่ง แต่สื่อออนไลน์ advertorial อาจต้องได้ถึง 10 ตัวถึงจะรอดเดือนหนึ่ง ซึ่งมันเหนื่อยมาก ต้องครีเอทเนื้อหาด้วย จุดนี้เกิดจากการดิสรัปท์ของวงการเอเจนซี ลูกค้าไม่อยากผ่านเอเจนซีแล้วเพราะราคาแพง เขาวิ่งหา production house และ publisher โดยตรง ทำให้เราก็ต้องคิดงานให้เป็นแบบงานโฆษณาซึ่งเหนื่อยมาก อย่างไรก็ตาม ออนไลน์บางเจ้าก็ขายโฆษณาได้แพงกว่าท้องตลาด ซึ่งเป็นความตั้งใจของสื่อที่แบรนด์แข็งแรง หรือสื่อที่เป็นลูกผสมในเครือมีกระดาษด้วยก็อาจจะได้ราคาดีกว่าเพราะมีหลายแพลตฟอร์มให้ลูกค้า" บรรณาธิการบริหารสื่อออนไลน์ท่านนี้ระบุ

มุมมองเอเจนซี่ ใช้สื่อออนไลน์เพียงสื่อเดียวในการทำตลาดอาจจะไม่พอ

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ หรือ MI และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีเดีย อินไซต์ ระบุกับ Marketeer ไว้เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2561 ว่าการใช้สื่อออนไลน์เพียงสื่อเดียวในการทำตลาด บางครั้งกระแสที่ได้กลับมาอาจไม่ตอบโจทย์ด้านยอดจำหน่ายตามคาดการณ์ตามเป้าหมาย Market Plan ของแต่ละองค์กรธุรกิจเพราะ 1.ประชากรโซเชียลสมาธิต่ำ ด้วยพฤติกรรมคนใช้งานโซเชียลมีเดีย จะมีพฤติกรรม นิ้วไถหน้าจอดูสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลอยู่ตลอดเวลา ไม่ค่อยจดจ่อกับคอนเทนต์ใด คอนเทนต์หนึ่งเป็นเวลานานๆ ถ้าคอนเทนต์นั้นไม่โดดเด่นดึงดูดสายตาและความสนใจได้จริง

2.ให้ความสำคัญกับตัวเลขและข้อมูลทางเทคนิคของ สื่อออนไลน์มากไป แม้จุดแข็งของสื่อออนไลน์คือการวัดผล Reach & Frequency & View ที่เข้าถึงคอนเทนต์ที่นักการตลาดได้สื่อสารผ่านสื่อไปยังกลุ่มเป้าหมาย แต่ในบ้างครั้งสื่อออนไลน์อาจไม่สะท้อนประสิทธิภาพจริง หรือการันตีได้ว่าสื่อออนไลน์ได้ทำหน้าที่สื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตามที่คิดไว้ ถ้ายังศึกษาวิธีการวัดผลผ่านสื่อนี้ไม่ดีพอ โดยสื่อออนไลน์ใช้วิธีการวัดผล Reach & Frequency & View ดังนี้คือ Reach หรือการเข้าถึงคอนเทนต์ โดยการนับ Reach จะนับ 1 Reach เมื่อคนๆ นั้นเจอโฆษณาบนหน้า Feed หรือเลื่อนโฆษณาผ่านหน้าจอ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดดูโฆษณา ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้บริโภคคนนั้นอาจยังไม่ทันสังเกตว่าโฆษณาที่เลื่อนผ่านคือโฆษณาอะไร View หรือการนับจากการมองเห็นคลิปโฆษณาซึ่งการนับ View จะเริ่มนับตั้งแต่เห็นคลิปโฆษณาที่เล่นเพียงบางส่วน ไม่จำเป็นต้องเห็นโฆษณาเต็มหน้าจอ โดยการนับ View ของเฟสบุ๊คจะนับเมื่อคนๆ นั้นเห็นคลิปโฆษณาเพียง 3 วินาที หรือแค่เป็นเวลาที่ผู้บริโภคเลื่อนหน้าจอผ่านเท่านั้น ซึ่งถ้าคลิปโฆษณาไม่ดึงดูดจริง ผู้บริโภคจะไม่สนใจและหยุดดูจนจบ ซึ่งในบ้างครั้งนักการตลาดกลับให้ความสำคัญกับการวัดผลเป็นตัวเลขทางเทคนิคของสื่อออนไลน์มากเกินไป จนความสำคัญเรื่องคอนเท้นต์และพฤติกรรมเชิงลึกของกลุ่มเป้าหมายในการเสพสื่อออนไลน์ ซึ่งมีความแตกต่างจากการเสพสื่อออฟไลน์ประเภทอื่นๆ ทำให้กระแสที่ได้รับกลับมาจากการใช้สื่อออนไลน์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

และ 3.Omni Channel สร้างประสิทธิภาพในการสื่อสาร นอกจากนักการตลาดจะต้องเข้าใจเชิงลึกถึง Customer Journey ที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ หรือสื่อออฟไลน์เพียงสื่อเดียวอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ได้ตามที่คาดการณ์ เพราะสื่อแต่ละสื่อมีหน้าที่แตกต่างกันไปโดยทีวีจะมีหน้าที่ในการจุดกระแส ให้กับคนหมู่มาก ได้รับรู้ในตัวสินค้า หรือแคมเปญ ที่นำเสนอ ซึ่งการใช้สื่อในรูปแบบ Omni Channel หรือการผสมผสานช่องทางการสื่อสารออนไลน์ ออฟไลน์ และณ จุดขาย หรือ Point of Sale เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าแบบไร้รอยต่ออาจจะเป็นคำตอบที่ช่วยให้นักการตลาดขับเคลื่อนแบรนด์ไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้ [5]

แม้เม็ดเงินโฆษณามหาศาล แต่สื่อครบวงจรได้เปรียบกว่าสื่อออนไลน์เพียวๆ และยักษ์ใหญ่ ‘Facebook- Google’ ผูกขาด

จากตัวเลขคาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาปี 2562 นี้ จะเห็นได้ว่า Facebook และ Youtube (ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของ Google) รวมกันจะครองสัดส่วนงบโฆษณาสื่อดิจิทัลเกือบครึ่งตลาดรวมมูลค่าเฉียดหมื่นล้านบาท | ที่มาภาพประกอบ: IFTTT.com

ข้อมูลจากบริษัท คันทาร์ อินไซด์ (ประเทศไทย) ที่ใช้วิธีจัดเก็บข้อมูลจาก 40 เอเยนซี ซึ่งเป็นผู้ใช้งบโฆษณาสื่อดิจิทัล โดยแยกเป็น 14 ประเภทสื่อ สำรวจจาก 57 กลุ่มธุรกิจ พบว่า 6 เดือนแรกของปี 2562 มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล มูลค่า 9,019 ล้านบาท และคาดการณ์ว่า 6 เดือนหลังปี 2562 จะมีมูลค่า 11,144 ล้านบาท รวมทั้งปี 2562 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 20,163 ล้านบาท เติบโตจากปี 2561 ร้อยละ 19

แต่ทั้งนี้พบว่าจากเม็ดเงินคาดการณ์ปี 2562 ที่ 20,163 ล้านบาทนั้น สื่อที่ครองงบโฆษณาสูงสุด คือ 1. Facebook มูลค่า 5,762 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29 | 2. Youtube มูลค่า 4,120 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 20 | 3. ครีเอทีฟ (งานสร้างสรรค์และโปรดักชั่น) มูลค่า 2,108 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 10 | 4. ดิสเพลย์ มูลค่า 1,731 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 9 | 5. search engine มูลค่า 1,643 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 8 | 6. LINE มูลค่า 1,472 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 7 | 7. โซเชียลมีเดียอื่นๆ มูลค่า 1,342 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 7 | 8. Online Video อื่นๆ มูลค่า 1,079 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 5 | 9. Affiliated Marketing มูลค่า 331 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 2 | 10. Twitter มูลค่า 204 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 1 | 11. Instagram มูลค่า 113 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 1 | 12. อื่นๆ มูลค่า 221 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 1 [6]

เสียงคนทำสื่อออนไลน์หน้าใหม่ ยากที่จะอยู่รอด เพราะ ‘หาเงินไม่เป็น-ไม่มีโมเดลธุรกิจ’

คนทำสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน แทบที่จะต้องลงมือทำในทุกกระบวนการด้วยตัวเองเพียงคนเดียว | ที่มาภาพประกอบ: The Broadcast Bridge

ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2562 TCIJ ได้สัมภาษณ์คนทำสื่อออนไลน์หน้าใหม่ 5 ราย ที่ทำคอนเทนต์เฉพาะทาง, คอนเทนต์ข่าวท้องถิ่น และคอนเทนต์เกี่ยวกับกีฬา ทั้งนี้ส่วนใหญ่ระบุถึงปัญหาคล้ายๆ กันนั่นก็คือ เรื่องการหารายได้ และความมั่นคง ไม่มีโมเดลธุรกิจชัดเจน รวมทั้งการผุดขึ้นของคนทำสื่อหน้าใหม่ในตลาดที่มีจำนวนมาก และการผูกขาดของแพลตฟอร์มเจ้าใหญ่ ก็ถือเป็นอุปสรรคต่อการหารายได้และการสร้างชื่อเสียงให้สื่อของตนเองยากขึ้นไปอีก

1. คนทำเว็บเนื้อหาเฉพาะทาง A “ทำสื่อเองมาหลายปีแล้ว มีหลายเว็บ หลายเพจ ทำเอาสนุก ทำๆ ไปโดยหวังว่าสักวันมันต้องมีรายได้ แต่เท่าที่ผ่านมาไม่เคยมีรายได้เลย ช่วงหลังลองสมัคร Google AdSense เพราะพึ่งรู้ว่ามันทำเงินได้ ลองมาขยายช่องทางทำ Youtube อีก แต่ตอนนี้มีข่าวว่า Google จะลดรายได้อีก มาคิดดูถ้าเราหลังพิงกับแพลตฟอร์มอย่างเดียวก็ไม่แน่นอนถ้าจะหวังรายได้ เพราะพวกนี้เขาเปลี่ยนกฎกติกาได้เสมอ แต่จะให้วิ่งหาสปอนเซอร์เองก็อายเขา เลยทำสื่ออย่างไร้จุดหมายเรื่องรายได้ เหมือนทำเอาสนุกเอาความรู้มากกว่า”

“ในส่วนหนึ่งมองว่าที่ยังทำสื่อของตนเองไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีเวลาทุ่มกับมันจริงจังเพราะตอนนี้ยังเป็นพนักงานประจำมีเงินเดือน เคยคิดว่าจะออกจากงานประจำมาทำสื่อเอง แต่ก็ไม่กล้าเพราะเราทำเป็นแต่เนื้อหาแต่หาโฆษณาไม่เป็น สายงานที่ทำไม่เกี่ยวกับการหาโฆษณา จุดนี้มันทำให้เราลำบากหากตัดสินใจออกจากงานมาทำสื่อของตัวเองเต็มตัว”

2. คนทำเว็บเนื้อหาเฉพาะทาง B "ปัจจุบันทำสื่อเล็กๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นเว็บไซต์ของตัวเอง และรับเขียนงานให้กับสื่ออื่นๆ ปัจจุบันสื่อเปลี่ยนไปเร็วมาก จากทำงานการเป็นองค์กรใหญ่ๆ มาเป็นสื่อเล็กๆ กันเยอะ ส่งผลมาถึงคนทำงานสื่อใหม่ๆ อย่างผม ทั้งในแง่รายได้ไม่แน่นอนมากขึ้น รวมถึงกลุ่มคนผู้เสพสื่อที่เปลี่ยนไป หลายครั้งก็ตามไม่ทันว่าผู้อ่านผู้เสพต้องการอะไร วิธีการไหนบ้างที่จะหาเงินได้"

3. คนทำเว็บไซต์เนื้อหาเกี่ยวกับท้องถิ่น “หลังจากเป็นนักข่าวออนไลน์เป็นลูกจ้างคนอื่นมา 10 กว่าปี ผมตั้งใจจะทำเว็บที่ทำกับเพื่อนฝูงอยู่นี้เป็นที่สุดท้าย ถ้ามันอยู่ได้ ก็จะได้กลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด เพราะยังไงกรุงเทพก็ไม่ใช่บ้าน”

“ความกลัวเลยเป็นความกลัวว่ามันจะอยู่ไม่ได้จริงๆ แต่ตอนนี้ก็ไม่มีรายได้อะไรเท่าไหร่ ดังนั้น ก็เลยยังไม่ได้กลัวอะไร เพราะคิดว่า ทำไปเรื่อย ถ้ามันดี เดี๋ยวก็คงดีเอง”

“แต่ถ้ามองไกลกว่านั้นก็คิดว่า ถ้าเกิดวันหนึ่งเว็บไซต์มันมีรายได้แล้ว เราสามารถใช้จ่ายได้กับทีมงาน กับนักเขียนที่มาเขียนให้เราได้แล้ว เราน่าจะต้องมีภาระมากขึ้นในการพยายามให้มันมีรายได้ทุกวัน ซึ่งเราก็คงกลัวว่าเราจะทำได้ไม่ดี ดูแลเพื่อนร่วมทีม และนักเขียนของเราได้ไม่ดี มีปัญหาเรื่องการจัดการ”

“ตอนนี้ มีความกลัวว่าจะหารายได้ไม่ได้ เพราะ เว็บไซต์ยังไม่ฮิต และไม่ได้เน้นเขียนด้วยวิธีที่จะทำให้มันฮิตมากๆ เรื่องที่เลือกบางประเด็นก็น่าจะไม่มีใครซื้อ หรือซื้อยาก”

“การไม่มีรายได้ บางทีก็ทำให้ทำงานยาก เพราะถ้าอยากจะไปสัมภาษณ์คนหรือลงพื้นที่ต้องใช้เงิน ถ้าไม่เยอะมากเราก็ยอมจ่ายเองเพื่อให้ได้งาน แต่ถ้าต้องเดินทางไกลๆ บางทีเราก็จ่ายเองไม่ไหว ถ้าเราให้แหล่งข่าวจ่ายเงินให้ เราก็จะถูกครอบงำ เราเลยต้องดิ้นรนพอสมควร”

4. คนทำเว็บไซต์และเพจกีฬา A "ตอนนี้ผมหารายได้จากการเขียนบทความลงใน Facebook Instant Article จากงานอดิเรกตอนเรียน กลายมาเป็นงานประจำของผม รายได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้อ่านและการคำนวณค่าเงินในแต่ละเดือนของเฟสบุ๊คซึ่งรายได้ต่อเดือนสำหรับผมถือว่าพออยู่ได้"

"ถ้าถามว่ากลัวและกังวลอะไร สำหรับผมเองมองว่าคอนเทนท์กีฬายังเป็นคอนเทนท์ยอดนิยมและสามารถเจาะกลุ่มผู้อ่านได้ดี ตัวคอนเทนท์ผมจึงไม่ค่อยกังวล แต่สิ่งที่กังวลก็คือ การทำงานภายใต้ แฟลตฟอร์มของเฟสบุ๊คที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ไม่แน่นอน มีความเสี่ยงสูง ทำให้เว็บหรือเพจของเรามีโอกาสโดนแบนจากการสุ่มตรวจของอัลกอรึทึ่มของเฟสบุ๊คที่บางครั้งก็มีข้อผิดพลาดเยอะจากมาตรฐานชุมชนที่กว้างและคลุมเครือ การเปลี่ยนนโยบายต่าง ๆ ที่กระทบกับยอดการเข้าถึงเนื้อหาของเรา"

"เบื้องต้นผมมีวิธีแก้ปัญหาความไม่แน่นอนของเฟสบุ๊คหลายอย่าง เช่น การเข้ากลุ่มกับคนที่ทำงานแบบเดียวกัน จะทำให้เราสามารถอัพเดทความเคลื่อนไหวแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้ อย่างที่สองคือ นอกจากทำบทความลงในเว็บและเพจของตัวเองแล้ว ผมยังสมัครเป็นแอดมินเพจกีฬาคอยอัพเดทข่าวให้กับเพจอื่นด้วย"

5. คนทำเว็บไซต์และเพจกีฬา B "ผมคิดว่าสื่อออนไลน์ตัวคนเดี่ยวมันไม่ค่อยมั่นคงเท่าไหร่ ทุกวันนี้รายได้หลักมาจากเฟสบุ๊ค แต่คนในวงออนไลน์รู้กันดีว่า เฟสบุ๊คจะปรับเปลี่ยนกฏของตัวมันเองอยู่เรื่อยๆ เหมือนกับกูเกิ้ล แต่ผิดกันก็แต่ว่า กูเกิ้ลจะเอาใจใส่คนทำสื่อที่หารายได้จากเขามากกว่าเฟสบุ๊ค อย่างน้อยถ้าทำผิดไม่ร้ายแรงกูเกิ้ลจะมีการเตือน ส่วนเฟสบุ๊คจะแบนและตัดการสร้างรายได้เราไปเลย แต่เหตุผลที่ยังทำกับเฟสบุ๊คก็คือเขาจ่ายหนักกว่ากูเกิ้ลหลายเท่าตัวมาก ทุกวันนี้ก็เลยอยู่อย่างกลัวๆ ทุกวันต้องคอยเช็คหลังบ้านของบทความตลอดครับว่ามีอะไรผิดแปลกไปไหม"

"อีกเรื่องหนึ่ง ความจริงผมไม่ได้เรียนมาทางการทำสื่อเลย เห็นหลายเพจมีโฆษณาเข้าอยากมีบ้างแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะตัวคนเดียว คิดว่าถ้ารู้ช่องทางการสร้างรายได้มันน่าจะช่วยให้สบายใจขึ้นอย่างน้อยไม่ต้องพึ่งพาเฟสบุุ๊คอย่างเดียวแล้ว แต่ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงก็เลยอยู่อย่างกลัวๆ ต่อไป"

"อีกใจนึงลึกๆ ที่กลัว แม้จะฟังดูไม่น่าเชื่อแต่ต้องคิดเรื่องนี้ทุกเดือน เฟสบุ๊คอย่างน้อยๆ เราจะเห็นมันล่มเดือนละ สองครั้งสามครั้ง บางทีเราก็กังวลว่าเออ ถ้าวันนึงเฟสบุ๊คมันหายไปจะทำอย่างไร เพราะแทบทุกอย่างเราฝากชีวิตไว้กับมันหมด หรือถ้ามีโซเชียลมีเดียตัวใหม่เป็นกระแสขึ้นมาจะทำอย่างไร เพราะผมรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรหยุดนิ่งเลย ได้ยินข่าวมาแว่วๆ ว่าเขียนบทความผ่านทางไลน์ก็สร้างรายได้เหมือนกัน แต่ยังไม่ได้ลองเพราะแค่เขียนบทความลงเว้ป นั่งคิดคอนเทนต์ทำกราฟฟิค บางทีก็หมดพลังแล้ว"

เวทีเสวนาทางเลือกทางรอดคนทำสื่อชี้ต้องทำสื่อแบบ 'Niche, Local Niche และ Premium Mass' ถึงเวลานักข่าวปรับตัว ทิ้งการทำข่าวแบบเดิมๆ

เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2561 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศราฯ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้จัดงานเสวนา ทางเลือกทางรอดคนสื่อยุค 4.0 โดยมีวิทยากรจากหลายวงการมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องทางเลือกทางรอดในปัจจุบัน เพราะถ้าเลือกแล้วไม่รอดก็คงไม่มีประโยชน์ที่จะเลือก รวมถึงตอบคำถามที่ว่า สื่อต้องปรับรูปแบบการนำเสนอหรือคอนเทนต์อย่างไร ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ชรัตน์ เพ็ชร์ธงไชย หัวหน้าธุรกิจ LINE TODAY, LINE ประเทศไทย ได้ฉายภาพของสถานการณ์สื่อในอดีตและหลังจากที่เทคโนโลยีได้เข้ามาพลิกโฉมในหัวข้อแรก "เทคโนโลยี 4.0 ข่าวแห่งอนาคต" โดยได้เปรียบเทียบสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อในอดีตจนถึงปัจจุบันว่า ข่าวคือทุกสิ่งที่ทุกคนเสพ หรือ News is now. สถานการณ์ที่ว่า News is now.นี้ ก็ยังคงเป็นเช่นนั้นในอุตสาหกรรมสื่อ โดยในแง่ของผู้ผลิตคอนเทนต์ในยุคดิจิทัลนั้น เทคโนโลยีทำให้การสร้างสรรค์ข่าวเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีปริมาณมาก ส่งผลให้มีคู่แข่งในการผลิตคอนเทนต์เพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่งบโฆษณาลดลง ในขณะที่ฝั่งผู้เสพคอนเทนต์นั้น เผชิญกับสถานการณ์คอนเทนต์ที่ท่วมท้นจนดูแทบไม่ทัน และยังมีประเด็นที่ว่า ผู้เสพคอนเทนต์ไม่รู้ว่าจะหาคอนเทนต์ที่ต้องการจากที่ใดด้วยเช่นกัน

โดยในส่วนของ LINE ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันนี้นั้น ทาง LINE รับมือกับสถานการณ์ด้วยการสร้างพันธมิตรและทำหน้าที่เป็นจุดกึ่งกลางในช่วงที่คอนเทนต์ท่วมท้น ด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้กับบริการของบริษัท แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการใช้งาน อย่าง LINE TODAY จะเป็นการดึงกลุ่มผู้ผลิตคอนเทนต์และผู้เสพมาพบกัน โดยมี AI เข้ามาช่วย เพื่อให้สามารถดูอัลกอริธึมว่า ผู้อ่านชอบอ่านข่าวหมวดหมู่ใด เพื่อคัดเลือกคอนเทนต์ที่น่าสนใจให้กับกลุ่มเป้าหมายของ LINE TODAY อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ความเร็วไม่ใช่สิ่งสำคัญประการเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายที่เราต้องการ และเหมาะสมกับแพลตฟอร์มถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น     

ทางด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จาก สวทช. ได้แสดงมุมมองของ AI ต่อวงการสื่อมวลชนว่า AI ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเลือกและแนะนำข่าวให้ดีขึ้นได้ ตลอดจนปรับปรุงขั้นตอนการทำงานในการที่จะสื่อคอนเทนต์ออกไป อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการสร้างรายได้ เช่น ช่วยให้สื่อมวลชนสามารถตัดสินใจว่าจะใส่โฆษณาลงไปเมื่อใดโดยที่ไม่รบกวนผู้อ่าน หรือช่วยนักข่าวในการหาข้อมูลในการสร้างสรรค์งาน           

หากจะพูดถึงบทบาทของ AI ในปัจจุบันแล้ว เมื่อปีที่แล้ว AI ก็เกือบจะสามารถเอาชนะมนุษย์ในศึกโป๊กเกอร์ระดับโลกได้ ต่อไปในอนาคต AI ก็จะทำได้แม้กระทั่งการเขียนบทความ แต่จะเป็นบทความในระดับเด็กนักเรียนเขียน หรือแม้แต่แต่งเพลงจนติดท็อปชาร์ตได้ ด้วยการเก็บข้อมูลเพลงที่ได้รับความนิยม       

อย่างไรก็ดี แม้ว่า AI จะสามารถเข้ามาช่วยวงการสื่อ แต่ AI ก็ยังมีทักษะที่ยังไม่สามารถทำได้ เช่น การตระหนักรู้ว่าเรื่องใดควรเขียนหรือไม่ควรเขียน ดร.ชัย กล่าวว่า AI ยังไม่มีตรงนี้ เราต้องนำจริยธรรมไปนำ AI โดยเราจะต้องรู้ว่า จะต้องใช้งาน AI อย่างไร และจะดูแล AI อย่างไร ดังนั้น จริยธรรมของผู้ที่ดูแล AI จึงเป็นสิ่งสำคัญ และต่อไปไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ จะกลายมาเป็นเรื่องของฮิวแมน ซิเคียวริตี้ ในฐานะที่เราเป็นผู้พัฒนาและป้อนข้อมูลให้กับ AI นั้น เราต้องหาทางบล็อค AI ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ส่วนที่เราไม่ต้องการให้ AI เข้ามา เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปในรูปแบบที่เราต้องการ    

สำหรับคุณก้าวโรจน์ สุตาภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของการผลิตคอนเทนต์และการกระจายคอนเทนต์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และได้แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับทางรอดของสื่อในยุคปัจจุบันว่า ความคิดสร้างสรรค์, การวิเคราะห์ข้อมูล, การนำเสนอข่าว"ถูกที่ถูกเวลา" และ "แพลตฟอร์ม" ก็จะสามารถสร้างรายได้ตามมาให้เรา โดยจะเห็นได้จากคอนเทนต์ต่างๆ ที่กลายเป็นไวรัลนั้น ส่วนใหญ่เป็นคอนเทนต์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ เราจะต้องมองแนวโน้มว่า จะนำข่าวออกไปอยู่ในช่องทางที่ถูกต้องและช่วงเวลาที่เหมาะสมได้อย่างไร         

นอกจากนี้ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ยังมองว่าด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะเทคโนโลยีและเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงคอนเทนต์ แนวทางที่ธุรกิจสื่อสามารถเดินหน้าและผลักดันต่อไปนั้น จริยธรรมของสื่อและความถูกต้องของข้อมูลเป็นสิ่งที่ได้มีการนำเสนอบนเวที เนื่องจากกระแสข่าวปลอมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ยิ่งปีหน้าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น กระแสข่าวปลอมน่าจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่ด้วยความที่สมาชิกของสมาคมฯล้วนแต่เป็นสำนักข่าวใหญ่ๆ หากมีการรายงานข่าวผิดหรือมีผู้ฟ้องร้อง ก็จะสามารถตามหาตัวได้  ประกอบกับชื่อเสียงที่มีมานานและใช้เวลาในการสร้างชื่อของแต่ละสื่อ ดังนั้นคงจะไม่มีใครกล้าผลิตข่าวปลอมกัน

สายใย สระกวี Head of Communications and Public Affairs, Google (Thailand) Company Limited ได้ขึ้นเวทีพร้อมกับบอกเล่าจุดยืนในการสนับสนุนวงการสื่อสารมวลชนทั้งในไทยและต่างประเทศ ตลอดจนแนวทางการใช้ประโยชน์จาก กูเกิล ที่จะทำให้ผู้สื่อข่าวสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกสบายมากขึ้นในยุคดิจิทัลว่า กูเกิลได้จัดตั้งโครงการ Google News Initiative ขึ้นมา โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาการทำงานด้านสื่อสารมวลชนกับนักข่าวทั่วโลก โดยโครงการในประเทศไทย จะมีคอร์สออนไลน์ที่จะให้ข้อมูลกับนักข่าวในการใช้เครื่องมือต่างๆของกูเกิล เช่น Google Search, Google Maps, YouTube ตลอดจน Google Translate และ Google Image Search       

โดยในส่วนของ Google Search นั้น ด้วยข้อมูลที่ Google Search ได้ค้นพบจากเว็บและจัดทำดัชนีเพจจากโดเมนทั่วโลก ทำให้นักข่าวสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมกับยกตัวอย่าง Google Trends ที่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลความต้องการของชาวอเมริกันที่ต้องการย้ายไปอยู่แคนาดาที่พุ่งสูงขึ้นเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี 2559 เป็นต้น ขณะที่ Google Translate นั้น จากเดิมที่ได้มีการแปลเป็นคำๆ ก็เริ่มแปลรูปประโยคมากขึ้น แต่ AI ที่ได้มีการนำมาใช้กับ Google Translate นั้น ยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่มีการเรียนรู้มากขึ้น  ปัจจุบัน ความสามารถในการแปลแบบก้าวกระโดด เนื่องจากมีการอัพเดทข้อมูลให้เป็นจำนวนมากต่อการอัพเดท 1 ครั้ง

นิรันดร์ศักดิ์ บุญจันทร์  ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วรรณกรรม The paperless ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของเส้นทางอาชีพบนเวทีในหัวข้อ ‘ทางเลือกฝ่าวิกฤตวารสารศาสตร์’ ว่าแต่เดิมนั้นเป็นบรรณาธิการจุดประกายวรรณกรรม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อลาออกก็ได้นำต้นฉบับที่เป็นเอกสารกลับบ้านมาด้วย มีวันหนึ่งได้เห็นกองต้นฉบับแล้วก็คิดได้ว่าอยากจะทำเว็บไซต์ขึ้นมา โดยมองว่าหนังสือคือบิ๊กดาต้าอย่างหนึ่ง และในปัจจุบันนั้นไม่มีพื้นที่ให้สื่อสิ่งพิมพ์เหลือแล้ว คอนเทนต์ที่นำเสนอบนโลกออนไลน์จะต่างกับสื่อสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิม เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนไป         

เมื่อเปลี่ยนมาทำเว็บไซต์ ก็ได้มีการทำงานอย่างอื่นควบคู่ไปกับการนำเสนอเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเพลง รับทำโฆษณา หรือทำวิดีโอวิจารณ์หนังสือ ด้วยความที่เป็นนักข่าวมาก่อน จึงทำให้มีคอนเนคชั่นและได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่เคยรู้จักกัน นอกจากนี้ คุณนิรันดร์ศักดิ์มองว่า การทำเว็บไซต์เกี่ยวกับข่าวอาชญากรรม ไม่ว่าจะนำเสนอข้อมูลพื้นที่อันตรายหรือวิธีการป้องกัน ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกที่น่าจะไปได้ดี         

น.ส.บุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวไทยพับลิก้า ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีจุดเริ่มต้นจากการที่ต้องการเป็นสถาบันข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถนำข้อมูลไปใช้อ้างอิงต่อได้ที่ มีจุดยืนในการทำข่าวเจาะ เรื่องความโปร่งใสและความยั่งยืน โดยมองว่าเป็นเทรนด์ และนักข่าวแต่ละคนของเว็บสามารถทำข่าวได้ทุกข่าวที่วางแผนไว้ เนื่องจากแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญของตัวเอง มุ่งเน้นเจาะลูกค้าเฉพาะทาง         

ในส่วนของคำถามเรื่องการปรับตัวนั้น น.ส.บุญลาภ มองว่าอนาคตเทคโนโลยีไปเร็วมาก แพลตฟอร์มในการเล่าข่าวและเทคโนโลยีต่างๆ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันมาก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือคอนเทนต์ โดยนักข่าวต้องสามารถทำคอนเทนต์ได้ วิเคราะห์ได้ มองให้ออกว่าอะไรคือประเด็นสำคัญ         

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร เดอะ สแตนดาร์ด ซึ่งก่อนหน้านี้ทำนิตยสาร A-day แล้วมาทำ เดอะ สแตนดาร์ด เพราะมองเห็นช่องว่างของตลาดระหว่างสื่อแบบดั้งเดิมที่ย้ายมาทำออนไลน์ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหญ่ (Mass) โดย เดอะ สแตนดาร์ด จะชูจุดเด่นที่คอนเทนต์ที่มีความน่าเชื่อถือและเพิ่มความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในคอนเทนต์ เหมือนกับเป็น Premium Mass โดยจะมีทั้งข่าวทั่วๆ ไป และสกู๊ปพิเศษทุกวัน มีการใช้ อินโฟกราฟิก ไลฟ์สด พอดคาสต์ ในการนำเสนอ มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคนเมือง มีอายุระหว่าง 15-40 ปี        

ในส่วนของการปรับตัวของสื่อนั้น นครินทร์ มองว่า สื่อจะปรับตัวต้องอาศัย 4 ข้อคือ 1. ต้องค้นหาตัวตนให้เจอ อะไรคือจุดแข็งหรือสิ่งที่เราถนัดกว่าผู้อื่น ต้องคิดว่าทำไมโลกถึงต้องการสิ่งที่เราทำ 2. เปลี่ยนโมเดลธุรกิจ (reinvent business model) ต้องปรับวิธีการหารายได้ใหม่ จากแต่เดิมที่มีรายได้หลักจากโฆษณา ก็ต้องมองหารายได้ทางอื่น 3. อย่าหยุดเรียนรู้ เนื่องจากโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นถ้าเราหยุดเมื่อไหร่ เราก็จะตามโลกไม่ทัน 4. ต้องมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งที่สื่อต้องขายก็คือความน่าเชื่อถือเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

อภิรักษ์ โรจน์อำพร  บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่าไทยรัฐเป็นสื่อรายใหญ่ ปัจจุบันได้แยกออกเป็น 3 ส่วนคือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไทยรัฐออนไลน์ และไทยรัฐทีวี โดยแต่ละฝ่ายจะแยกกันเป็นเอกเทศ ซึ่งในส่วนของ ไทยรัฐออนไลน์นั้น ข้อดี คือ เป็นชื่อที่มีคนรู้จักอยู่มาก แต่ก็จะมีเรื่องของแบรนดิ้งเดิมที่ติดมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ โดยคุณอภิรักษ์มองว่า ถ้าสื่อสิ่งพิมพ์ย้ายมาสู่ออนไลน์โดยไม่ปรับ Mindset เลยจะทำให้อยู่ได้อย่างลำบาก ซึ่งทางออนไลน์จะแตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีฝ่ายหารายได้กับฝ่ายเขียนเนื้อหาแยกกันต่างหาก ในทางกลับกัน สื่อออนไลน์นั้นทุกสิ่งทุกอย่างคือเงิน ไทยรัฐออนไลน์จะยังเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะมีคอนเทนต์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระยะทดลอง โดยบรรดาเนื้อหาที่ได้มีการผลิตออกมาเป็นจำนวนมากนั้น ส่วนหนึ่งจะมีการทดลองทำเนื้อหาที่แตกต่างไปจากเดิมด้วยมาโดยตลอด      

อภิรักษ์ มองในเรื่องของการปรับตัวว่า ข่าวและคอนเทนต์คือผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งที่ต้องปรับตัวตามผู้บริโภคให้ทัน จับให้ได้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร โดยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ด้วยความเป็นองค์กรข่าว ไม่ว่าจะทำคอนเทนต์แบบใดก็ตาม สิ่งที่ต้องคงไว้ให้ดีคือ ‘คุณภาพ’         

นิกร จันพรม ผู้ก่อตั้ง เว็บไซต์ 77kaoded.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นศูนย์กลางให้แต่ละจังหวัดเข้ามาโพสต์ข่าวท้องถิ่นของตัวเอง ด้วยความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำข่าว จากแต่เดิมที่นักข่าวท้องถิ่นจะส่งข่าวเข้ามายังส่วนกลาง และส่วนกลางจะเลือกเพียงแค่บางข่าวไปตีพิมพ์ คุณนิกรต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงตรงนี้ โดยการสร้างสถานที่ให้นักข่าวท้องถิ่นสามารถเข้ามารายงานข่าวได้ด้วยตัวเอง ทำให้เกิดความรู้สึกมีตัวตนขึ้นมา ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาตัวเองและคุณภาพงาน        

นิกร ตอบคำถามในเรื่องการปรับตัวของสื่อว่าความน่าเชื่อถือนั้นต้องมีมาตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนกลาง สร้างให้ทุกคนมีตัวตน มีพาร์ทเนอร์ สร้างความน่าเชื่อถือในพื้นที่ โดยเชื่อว่าถ้าสร้างให้ทุกคนมีตัวตนขึ้นมาแล้ว ก็จะทำให้สังคมดีขึ้น

ในช่วงของการเสวนาเรื่อง ‘ทางรอดคนสื่อ’ นั้น สุทธิชัย หยุ่น Content Creator ผู้ก่อตั้ง Kafedam Media Group ได้อธิบายถึงทางออกในการฝ่าวิกฤติวงการข่าวยุคดิจิทัลว่านักข่าวต้องยอมรับว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นจะมัวทำข่าวกันแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้วเพราะผู้บริโภคมีช่องทางในการเสพข่าวสารมากมาย ถ้าทีวีทุกช่อง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับรายงานข่าวเหมือนๆ กัน ผู้บริโภคก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องมานั่งดูข่าวคุณ นักข่าวจึงต้องทำในสิ่งที่แตกต่าง ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ และคิดว่าเป็นสิ่งที่ตนเองทำได้ดีกว่าคนอื่น นักข่าวต้องเรียนรู้ตลอดเวลาว่าผู้บริโภคต้องการอะไร แล้วทำคอนเทนต์ออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขา ด้วยการทำข่าววิเคราะห์ เชิงลึก สร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพ ทำยังไงก็ได้ให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเขาได้อะไรจากคุณในแบบที่ไม่ได้รับมันจากคนอื่น โดยที่ฐานคนดูของคุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนหมู่มาก แค่เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการและคอยติดตามสิ่งที่คุณนำเสนออยู่ทุกวัน เมื่อนั้นคุณจึงจะอยู่รอดต่อไปได้

พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์  ผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Journalism จาก TDRI ชี้ว่านอกจากองค์กรสื่อจะได้รับผลกระทบอย่างที่เราเห็นๆกันในปัจจุบัน อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ก็คือเรื่องของความน่าเชื่อถือของสื่อที่กำลังถูกกัดกร่อนให้ลดน้อยลงทุกที นักข่าวจึงต้องรู้จักบริหารจัดการข้อมูลที่มีอยู่มากมายในตอนนี้ เพราะงานข่าวคือการนำเสนอความจริง ขายความจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ก็คือมีการใส่สี โยนความคิดเห็นต่างๆนานาเข้าไปในข่าว จนเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า แล้วข่าวที่ถูกนำเสนอออกไปนั้นใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากแค่ไหน       

พีระพงษ์กล่าวต่อว่า งานของนักข่าวก็คือการหยิบยกข้อมูลจากทะเลข่าวสารที่มีอยู่เต็มไปหมด มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเพื่อนำเสนอให้คนได้รับรู้ และข่าวที่มีคุณภาพก็ย่อมมาจากนักข่าวที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องรู้จักวิเคราะห์ สืบค้น เสาะหาข้อมูลที่มีอยู่รอบตัวมาสร้างประเด็นที่เป็นความจริง เป็นเหตุเป็นผล ก่อนที่จะเล่าเรื่องราวเหล่านั้นต่อไปยังผู้บริโภค

จักรพงษ์  คงมาลัย Content Marketing จาก Moonshot แนะนำว่าธุรกิจสื่อในปัจจุบันจะหวังรายได้จากโฆษณาเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้ว เราก็ต้องคอยดูว่าผู้บริโภคไปอยู่ตรงไหน ไปใช้เวลากับอะไร แล้วพยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ตรงนั้นให้ได้ หรือหากจำเป็นต้องลองจับธุรกิจใหม่ๆเพิ่มเติมก็ต้องทำ ลองผิดลองถูกกันไป ส่วนนักข่าวก็จำเป็นต้องมีความสามารถรอบด้าน ต้องมีความรู้ในเรื่องแพลตฟอร์ม รู้จักหาช่องทางการนำเสนอที่แตกต่างไปจากคนอื่น แล้วหากลุ่มคนที่เป็นลูกค้าหรือฐานคนดูของตัวเองให้ได้      

เช่นเดียวกับชนวัฒน์ วาจานนท์ ซีอีโอ บริษัท ทีวีบูรพา ซึ่งยอมรับว่า บริษัทของเขาก็ได้รับผลกระทบจากดิจิทัลจนต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ จากเดิมที่เน้นแต่การทำคอนเทนต์สารคดีและขายเวลาให้กับเอเจนซี่โฆษณา ซึ่งเคยทำกำไรได้อย่างงดงามในอดีต ทุกวันนี้ทีวีบูรพาได้หันมาจับธุรกิจที่หลากหลายไม่ว่าเป็นการทำคอนเทนต์ออนไลน์ ทำมาร์เก็ตติ้งแคมเปญให้กับลูกค้า โดยยังยึดการทำสารคดีซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัทมาใช้ 

นอกจากนี้ในช่วงอภิปรายหัวข้อธุรกิจสื่อยุค 4.0 ภายในงานเดียวกันนี้ ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง Digital Content Marketing บริษัท Dots Consultancy ยังได้อธิบายแง่มุมการตลาดอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากว่า ที่ผ่านมาธุรกิจสื่อจะยึดรายได้หลักจากการขายเวลาให้กับเอเจนซี่โฆษณา ซึ่งอาจเป็นพื้นที่บนหนังสือพิมพ์ ทีวี แต่ตอนนี้เอเจนซี่ทั้งหลายเริ่มมีช่องทางในการสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น และก็เป็นช่องทางที่สามารถเจาะไปยังกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะทางได้มากยิ่งขึ้น ทำให้รายได้หลักส่วนนี้ของบริษัทสื่อลดลงไป ดังนั้นองค์กรสื่อควรมานั่งคิดกันใหม่ หารูปแบบ ปรับวิธีการทำงาน และปรับแนวคิดบุคลากรกันใหม่ทั้งหมด         

ณัฐพัชญ์เสริมว่า สื่อยังคงยึดติดกับการหารายได้แบบเดิมๆ ก็คือการขายปริมาณคนดูให้กับเอเจนซี่โฆษณา พอเกิดวิกฤติทุกวันนี้ คนเริ่มหันไปหาสื่อใหม่ๆมากขึ้น และสื่อกระแสหลักดั้งเดิมก็ตามคนดูไปตามช่องทางออนไลน์ทั้งหลาย ในขณะเดียวกันก็ยังคงยึดติดกับการขายปริมาณคนดู ซึ่งทำให้เกิดการพาดหัวข่าวแบบเรียกแขก เรียกยอดไลค์ ยอดคนเข้าชม กดแชร์ ทำให้คุณภาพของข่าวที่นำเสนอลดลงไป นี่คือสิ่งที่คนทำสื่อต้องคิดกันใหม่ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้จะหันกลับมาทำลายความน่าเชื่อถือ ในขณะที่ทราฟฟิคที่มีคุณภาพและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้คือสิ่งที่ทุกคนต้องการ    

เทพชัย หย่อง ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน มองว่า ความรับผิดชอบและการทำหน้าที่ให้กับสังคมนั้น ยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสื่อเก่าและกลุ่มคนทำสื่อใหม่ ในขณะที่ผู้อ่านยังคงอ่านข่าวเหมือนเดิม ไม่ได้ลดลงไป แม้ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงเพราะเทคโนโลยี          

ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านยุทธศาสตร์สื่อสารสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่อีกหนึ่งในวิทยากรในหัวข้อ ‘ธุรกิจสื่อยุค 4.0’ ได้ให้ความเห็นเรื่องวิธีที่จะทำให้สื่ออยู่รอดได้ในยุค 4.0 อย่างมีความหมายไว้ว่า อย่างแรกต้องมองภาพรวมให้ออกก่อน เนื่องจากถ้ามองจากภาพรวมจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าการมองแค่รอบๆ และต้องรู้จักว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องปกติ และเราควรจะมีวิถีของการคิดให้เหมาะกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า

นอกจากนี้ ดร.สุดารัตน์ยังกล่าวว่า "เราต้องสร้างความจำเป็นให้เกิด ถ้าเราเป็นสื่อเราต้องมีความจำเป็นกับคนผู้รับสารให้ได้ ถ้าเราสามารถที่จะมีความจำเป็นกับผู้รับสารได้ ผู้รับสารก็ยังต้องการเราอยู่" [7]

อีกหนึ่งความหวัง? เมื่อ Facebook เปิดตัว ''News Tab' หวังช่วยสำนักข่าวมีรายได้เพิ่ม-สู้ข่าวปลอม

ช่วงเดือน ต.ค. 2019 มีข่าวว่า 'Facebook' เตรียมที่จะเปิดตัวเซคชั่นใหม่เรียกว่า 'News Tab' หรือ 'หน้าข่าว' ผ่านแอปพลิเคชั่นเฟสบุ๊คในโทรศัพท์มือถือ และเฟสบุ๊คจะให้เงินค่าจัดหาเนื้อหาข่าวให้กับสำนักข่าวต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตามเฟสบุ๊คยังปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดว่าจ่ายเงินอย่างไรในอัตราเท่าไร หรือสำนักข่าวไหนบ้างที่จะมีสิทธิรับเงินส่วนนี้ | ที่มาภาพ: The Verge

เมื่อปลายเดือน ต.ค. 2019 เฟสบุ๊คเตรียมที่จะเปิดตัวเซคชั่นใหม่เรียกว่า ‘News Tab’ หรือ ‘หน้าข่าวง ผ่านแอปพลิเคชั่นเฟสบุ๊คในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะแสดงหัวข้อข่าวของสำนักข่าวใหญ่ต่างๆ เช่น The Wall Street Journal, The Washington Post, BuzzFeed News, Business Insider, NBC, USA Today and the Los Angeles Times รวมทั้งข่าวท้องถิ่นต่างๆ ด้วย และเมื่อผู้ใช้แตะที่หัวข้อข่าวนั้นก็จะสามารถไปยังเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นของสำนักข่าวนั้นได้ทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาสำนักข่าวต่างๆ เรียกร้องให้เฟสบุ๊คจัดทำมานานหลายปี โดยเฟสบุ๊คจะให้เงินค่าจัดหาเนื้อหาข่าวให้กับสำนักข่าวเหล่านั้นด้วย

ทางเฟสบุ๊คเผยว่าจะมีคณะทำงานซึ่งเป็นนักข่าวที่มีประสบการณ์ คอยคัดกรองหัวข้อข่าวสำหรับเซคชั่นที่เรียกว่า 'Today's Story'' ซึ่งรวบรวมข่าวสำคัญในแต่ละวัน ขณะที่ส่วนอื่นๆ ในหน้าข่าวนี้จะถูกคัดสรรโดยอัตโนมัติจากระบบอัลกอริทึมของเฟสบุ๊ค ซึ่งอ้างอิงจากความสนใจของผู้ใช้แต่ละคน คล้ายกับแอปพลิเคชั่นของ Apple ที่ชื่อว่า Apple News ในโทรศัพท์ไอโฟน

บริการใหม่นี้ถือเป็นก้าวสำคัญทั้งในแง่ของการช่วยเหลือสำนักข่าวต่างๆ ให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันทางสื่อออนไลน์ และยังเป็นความพยายามในการต่อสู้กับข่าวปลอมที่มาจากสำนักข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามเฟสบุ๊คยังปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดว่าจ่ายเงินอย่างไรในอัตราเท่าไร หรือสำนักข่าวไหนบ้างที่จะมีสิทธิรับเงินส่วนนี้ [8]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] Total number of Websites (InternetLiveStats.com, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 29 Nov 2019)
[2] How Many Websites Are There Around the World? (Mill is For Business, 2 Feb 2019)
[3] Global social media research summary 2019 [Smart Insights (Marketing Intelligence) Ltd, 12 Feb 2019]
[4] 12 เรื่องรู้จัก “The Standard” นามสกุลใหม่ของวงศ์ทนง (Positioning, 5 Jun 2017)
[5] คนไทยใช้เน็ต 10 ชั่วโมงต่อวัน แต่ทำไมโฆษณาออนไลน์อย่างเดียวจึงไม่เกิด (MARKETEER ONLINE, 27 Aug 2018)
[6] โฆษณาดิจิทัลปีนี้ทะลุ 2 หมื่นล้าน “เฟซบุ๊ก-ยูทูบ” โกยเม็ดเงินครึ่งตลาด (Positioning, 30 Aug 2019)
[7] ทางเลือกทางรอดคนสื่อยุค 4.0 แนวทางการปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้ในยุคปัจจุบัน (IQ สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 22 Oct 2018)
[8] Facebook launches a news section - and will pay publishers (BARBARA ORTUTAY and TALI ARBEL, AP, 26 Oct 2019)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: