รับมือภัยแล้ง '63 เตรียมเจาะ ‘น้ำบาดาล’ 524 แห่ง นักวิจัยเตือนระวังวิกฤตน้ำเค็ม

ทีมข่าว TCIJ: 29 ธ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 7718 ครั้ง

หลายภาคส่วนหวั่นภัยแล้ง 2563 รัฐคาดการณ์ว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 43 จังหวัด เตรียมมาตรการขุดเจาะบ่อบาดาล 524 แห่ง 32 จังหวัด นักวิจัยชี้นับถอยหลัง 'วิกฤตน้ำเค็ม' ความเชื่อมโยงที่มาจาก ‘ภัยแล้ง-การใช้น้ำบาดาล’ | ที่มาภาพประกอบ: กรมทรัพยากรน้ำบาดาล

หลายภาคส่วนหวั่นภัยแล้ง 2563

ช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2562 มีรายงานข่าวว่าหลายฝ่ายได้กังวลต่อสถานการณ์น้ำฤดูแล้ง 2562/2563 ค่อนข้างวิกฤต ช่วงเวลาปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2563 เฉพาะ 2 เดือน คือ ธ.ค. 2562 กับ ม.ค.2563 สะท้อนถึงความวิกฤตของประเทศชัดเจนขึ้น โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คาดการณ์ว่า 2 เดือนนี้ปริมาณฝนทั้งประเทศจะต่ำกว่าค่าปกติ ถึง 50% ภาคใต้แม้ปกติฝนชุก แต่ปริมาณฝนเดือน ธ.ค. 2562 จะน้อยกว่าค่าปกติ 20% ส่วนเดือน ม.ค. 2563 จะใกล้เคียงค่าปกติ

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่าสภาพอากาศที่แห้งแล้งที่มาเร็ว ปริมาณน้ำต้นทุนลดลงในปัจจุบันส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือ และวางแผนรับมือภัยแล้งในอนาคต ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ และเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบร่วมทั้งวางแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวของสังคม เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในอนาคต

สำหรับการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/2563 กรมชลประทานวางแผนการใช้น้ำจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 (วันที่ 1 พ.ย. 2562-30 เม.ย. 2563) ณ วันที่ 1 พ.ย. 2562 ปริมาตรน้ำต้นทุนสามารถใช้การได้จำนวน 26,666 ล้าน ลบ.ม. โดยวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจํานวน 17,699 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับความสำคัญดังนี้ เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,300 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 6,999 ล้าน ลบ.ม. ภาคเกษตรกรรม 7,881 ล้าน ลบ.ม. งดส่งน้ำนาปรัง 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ภาคอีสานตอนกลางและตอนล่าง

ส่วนภาคอุตสาหกรรม 519 ล้าน ลบ.ม. โดยจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4,000 ล้าน ลบ.ม. (เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ 3,000 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 250 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสัก 250 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำแม่กลอง 500 ล้าน ลบ.ม.) แยกเป็น เพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,150 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 2,335 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อการเกษตร 515 ล้าน ลบ.ม.พืชใช้น้ำน้อย

ผลการจัดสรรน้ำ (อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง) ทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงปัจจุบัน ใช้น้ำไปแล้ว 4,570 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ของแผนจัดสรรน้ำ ส่วนในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ ) วันนี้ใช้น้ำไป 18.15 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงปัจจุบัน ใช้น้ำไปแล้ว 1,316.66 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของแผนจัดสรรน้ำ

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 477แห่งทั่วประเทศ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 47,773 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 63 เป็นปริมาตรน้ำใช้การได้ 23,920 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2561 มี 58,702 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77 น้อยกว่าปี 2561 จำนวน 10,929 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 24.18 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำ ระบายน้ำจำนวน 73.86 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน สามารถรับน้ำได้อีก 28,294 ล้าน ลบ.ม.

ข้อมูลจากกรมชลประทานระบุว่า ณ 21 ธ.ค. 2562 สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำ 507 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 20.86 ของปริมาณความจุอ่าง ซึ่งขณะนี้ได้นำน้ำก้นอ่างมาใช้แล้วประมาณ 74 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ในส่วนความช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ

กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 สนับสนุนเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และส่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคให้แก่พื้นที่รับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ได้แก่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูแล้งปี 2562 ที่ผ่านมา จำนวน 49 เครื่อง ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และมีบางพื้นที่เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จึงยังคงเครื่องสูบน้ำไว้ช่วยเหลือเฉพาะการอุปโภคบริโภค 6 เครื่อง

ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ ชี้แจงสถานการณ์น้ำให้ประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง พร้อมกับรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด โดยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานชลประทานที่ 6 เข้าร่วมประชุมสานเสวนาเครือข่ายผู้ใช้น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เหนือน้ำ-ท้ายน้ำ เพื่อรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมในลุ่มน้ำชี แผน-ผลการใช้น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและมาตรการให้ความช่วยเหลือภัยแล้งสร้างการมีส่วนร่วมให้ตระหนักและรับรู้การใช้น้ำให้ประหยัดและรู้คุณค่า

สำหรับในพื้นที่เหนือเขื่อนอุบลรัตน์ สำนักงานชลประทานที่ 6 ร่วมกับ โครงการชลประทานหนองบัวลำภู สำนักงานชลประทานที่ 5 จัดการประชุมร่วมกับเทศบาลตำบลบ้านค้อ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อประชาสัมพันธ์และชี้แจงให้ประชาชนและเกษตรกรผู้ใช้น้ำบริเวณเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ ได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ รวมทั้งขอความร่วมมือจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณรอบๆ อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ไม่เดินเครื่องสูบน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้อย จึงต้องสงวนไว้ใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค และการรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงฤดูฝน ปี 2563

ด้านจังหวัดมหาสารคาม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ ได้นำรถติดป้ายประชาสัมพันธ์และเครื่องกระจายเสียง ออกวิ่งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ ขอความร่วมมือให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด นอกจากนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ร่วมกับชาวบ้านและผู้นำชุมชน ลงพื้นที่หาแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค ในพื้นที่บ้านเหล่าบัวบ้าน หมู่ 4 ตำบลเหล่าบัวบาน อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ที่ประสบปัญหาน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาไม่เพียงพอ  พร้อมชี้แจงสถานการณ์น้ำและรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด

ทั้งนี้สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั้ง 5 จังหวัดเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า [1] น้ำต้นทุนลด...เฝ้าระวังสถานการณ์ทั่วประเทศ (คมชัดลึก, 23 ธ.ค. 2562)

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำชี้ นาปรัง 2.7 ล้านไร่เตรียมยืนต้นตาย

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำระบุว่าพื้นที่ปลูกข้าวในช่วงต้นปี 2563 ที่จะรอการเก็บเกี่ยวเหลืออยู่อีกไม่ต่ำกว่า 2.76 ล้านไร่ที่จะขาดน้ำ | ที่มาภาพประกอบ: แฟ้มภาพมติชน เมื่อเดือน พ.ค. 2562

ประชาชาติธุรกิจได้รายงานเมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2562 ว่า ดร.ชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ได้ระบุถึงสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 ว่าจะประสบความรุนแรงในพื้นที่ 54 อำเภอ 20 จังหวัดนอกเขตชลประทานที่เสี่ยงขาดน้ำเพื่อการเกษตรและบางพื้นที่อาจจะถึงขั้นขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

“สภาวะอากาศที่เกิดขึ้นหลังเดือน พ.ค. พบว่าทั้งประเทศมีปริมาณฝนน้อยโดยทั่วถึง แม้จะมีพายุพัดผ่านเข้าสู่ประเทศไทยถึง 3 ลูก ได้แก่ ปาบึก-โพดุล-นากรี แต่ส่วนใหญ่เกิดฝนตกหนักใน สปป.ลาว และจังหวัดริมขอบแม่น้ำโขง ส่งผลให้พื้นที่ตอนในของประเทศมีปริมาณน้ำฝนไม่มากนัก จนอาจเรียกได้ว่า เกิดปรากฏการณ์ฝนตกน้อยเป็นหย่อม ๆ ปริมาณฝนสะสม(1 ม.ค.-12 ธ.ค. 2562) ในหลายพื้นที่ของประเทศต่ำกว่า 800 มิลลิเมตร ตั้งแต่จังหวัดขอนแก่น-อุดรธานี-นครราชสีมา-กำแพงเพชร-อุทัยธานี ทำให้อ่างเก็บน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศขณะนี้มีปริมาตรน้ำใช้การได้ต่ำกว่าร้อยละ 30 หลายแห่ง และที่น่ากังวลที่สุดก็คือ อ่างในเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาตรน้ำติดลบถึง -4% ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งจะส่งผลไปถึงน้ำกินน้ำใช้ของประชาชนในจังหวัดขอนแก่นโดยตรง” ดร.ชวลิตกล่าว

ทั้งนี้มีอ่างเก็บน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศที่มีปริมาตรน้ำใช้การได้น้อยกว่าร้อยละ 20 ณ วันที่ 17 ธ.ค. 2562 ปรากฏเขื่อนภูมิพล 1,893 ล้าน ลบ.ม. (20%), แม่มอก 19 ล้าน ลบ.ม. (20%), จุฬาภรณ์ 9 ล้าน ลบ.ม. (7%), อุบลรัตน์ -7 ล้าน ลบ.ม. (-4%), ลำพระเพลิง 23 ล้าน ลบ.ม. (15%), ลำนางรอง 20 ล้าน ลบ.ม. (17%), ทับเสลา 20 ล้าน ลบ.ม. (14%) และกระเสียว 22 ล้าน ลบ.ม. (8%) โดยมีข้อสังเกตว่า เขื่อนลำปาว มีปริมาตรน้ำใช้การได้สูงถึง 1,403 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 75% แต่เขื่อนอุบลรัตน์ที่อยู่ในพื้นที่อีสานตอนกลางใกล้เคียงกับเขื่อนลำปาวกลับมีปริมาตรน้ำติดลบหนัก

“กรณีนี้เห็นได้ชัดว่า พายุที่พัดผ่าน สปป.ลาวเข้ามาไทยไปไม่ถึงพื้นที่รับน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ทำให้แทบไม่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง ตรงนี้ชัดเจนว่า เกิดจากอิทธิพลฝนน้อยและตกเป็นหย่อม ๆ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับเขื่อนลำนางรอง ส่งผลให้ปีหน้าพื้นที่จังหวัดขอนแก่นกับบุรีรัมย์ จะเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้อย่างหนัก” ดร.ชวลิตกล่าว

สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อาศัยน้ำจาก 4 เขื่อนหลักมีปริมาตรน้ำใช้การได้ ณ วันที่ 17 ธ.ค. 2562 เขื่อนภูมิพล 1,893 ล้าน ลบ.ม. (20%), เขื่อนสิริกิติ์ 2,107 ล้าน ลบ.ม. (32%), เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 413 ล้าน ลบ.ม. (46%) และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 266 ล้าน ลบ.ม. (28%) รวมมีปริมาตรน้ำใช้การได้แค่ 4,680 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 26 เท่านั้น โดยน้ำจำนวนนี้จะต้องใช้ไปถึงช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2563 หรือจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนของปี 2563 ส่งผลให้กรมชลประทานไม่มีทางเลือกจำเป็นต้องระบายน้ำออกมาแค่วันละ 18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรองรับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและผลักดันน้ำเค็มเป็นหลักเท่านั้น จนแทบจะไม่สามารถระบายน้ำเพื่อการเกษตรได้อีกแล้ว

“จากตัวเลขล่าสุดของแผนการระบายน้ำฤดูแล้ง 2562/63 กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ทั้งฤดูกาล (1 พ.ย. 2562-30 เม.ย. 2563) แผนการจัดสรร 3,866 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ใช้ไปแล้ว 966.94 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 25.01 ของแผนเฉพาะวันที่ 1-12 ธันวาคม ระบายน้ำออกไปแล้ว 228.24 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 37.64 (แผน 598.40 ล้าน ลบ.ม.) และถ้ายังระบายน้ำออกมาในระดับนี้มีความเสี่ยงมากกว่า เมื่อถึงช่วงพฤษภาคมจะเหลือปริมาณน้ำอยู่ไม่ถึง 876 ล้าน ลบ.ม.” แหล่งข่าวในสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว

ด้านกรมชลประทานได้วางแผนการใช้น้ำจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562-30 เมษายน 2563) ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ปริมาณน้ำต้นทุนสามารถใช้การได้จํานวน 26,666 ล้าน ลบ.ม. โดยวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจํานวน 17,699 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำ (อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง) ทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงปัจจุบัน (17 ธันวาคม 2562) ปรากฏใช้น้ำไปแล้ว 4,154 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของแผนจัดสรรน้ำ

ดร.ชวลิต ได้แสดงความเป็นห่วงพื้นที่ปลูกข้าวในเขตภาคเหนือตอนล่างต่อเนื่องมาถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นปี 2563 ครอบคลุมทั้งข้าวนาปรังรอบแรก (ก.พ.-มี.ค.) และรอบสอง จากการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าวล่าสุดของ GISTDA พบว่า พื้นที่ปลูกข้าว 6.17 ล้านไร่ในปัจจุบันจะมีปริมาณน้ำจากการระบายของเขื่อนหลักเพียงพอไปจนถึงการเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 3.41 ล้านไร่เท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่ปลูกข้าวในช่วงต้นปี 2563 ที่จะรอการเก็บเกี่ยวเหลืออยู่อีกไม่ต่ำกว่า 2.76 ล้านไร่ที่จะขาดน้ำ

“พื้นที่ปลูกข้าวจำนวน 2.76 ล้านไร่จะขาดน้ำแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าวนอกเขตชลประทาน ไล่มาตั้งแต่จังหวัดสุโขทัย-พิษณุโลกบางส่วน-พิจิตร-กำแพงเพชรบางส่วน-นครสวรรค์-สิงห์บุรี-อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา-บางส่วนของปทุมธานี เพราะไม่สามารถระบายน้ำจากเขื่อนหลักเพื่อการเกษตรได้อีกแล้วในช่วงท้ายของแผนการระบายน้ำ และหากปีหน้าเกิดสถานการณ์ฝนล่าช้าขึ้นมาอีก ความเสียหายก็จะหนักยิ่งขึ้น จากความจำเป็นที่กรมชลประทานจะต้องจัดสรรน้ำโดยให้ความสำคัญกับน้ำกินน้ำใช้ก่อนเป็นอันดับแรก” ดร.ชวลิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม วงการค้าข้าวได้ประมาณการตัวเลขจากพื้นที่ปลูกข้าวที่จะขาดแคลนน้ำจนต้องปล่อยให้ข้าวแห้งตายจะคิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกที่จะประสบความเสียหายอยู่ระหว่าง 1.2-1.3 ล้านตัน [2] วิกฤตน้ำแล้งลากยาว 6 เดือน นาปรัง 2.7 ล้านไร่เตรียมยืนต้นตาย (ประชาชาติธุรกิจ, 19 ธ.ค. 2562)

ผลประชุมแผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เห็นชอบผลักดัน 4 เรื่องสำคัญ

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2562 ในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2562 โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ กรอบแนวทางเพื่อการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สอยทรัพยากรน้ำสาธารณะของหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำร่วมประชุม

ทั้งนี้ที่ประชุม กนช.มีมติเห็นชอบ 4 เรื่อง โดยเรื่องแรกเป็น แผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีของ 2 หน่วยงานคือ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการน้ำเสียชุมชนระยะ 20 ปี ขององค์การจัดการน้ำเสียโดยมีแผนปฏิบัติการปี 2564-2580 ที่ส่งเสริมให้มีการจัดสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชมชนในเขตพื้นที่เทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ รวมระบบบำบัดน้ำเสียที่จะก่อสร้าง 780 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 1.70 ล้าน ลบ.ม./วัน และโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2562และปี 2563 ของการประปาส่วนภูมิภาคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการผลิต ระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ประสบปัญหา ให้สามารถบริการน้ำประปาแก่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างพอเพียง รวม 14 โครงการ สามารถเพิ่มกำลังผลิตอีก 513,960 ลบ.ม./วัน และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มอีก 453,583 ราย

เรื่องที่ 2 แผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ 3 โครงการ โดยมี โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563-2580) โดย สทนช.ได้ศึกษาทบทวนความเพียงพอของการพัฒนาและจัดทำแผนหลักเพื่อรองรับการพัฒนาในระยะ 10 ปีและ 20ปี พบว่าความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นจากปี 2560-2580 รวม 670 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยในแผนการดำเนินการประกอบด้วย แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน ปี 2563-2570 รวม 38 โครงการ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 872.19 ล้าน ลบ.ม. แผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำปี 2563-2580 จำนวน 9 โครงการ/มาตรการ  แผนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยปี 2563-2580 จำนวน 25 โครงการ แผนการจัดการคุณภาพน้ำปี 2563-2580 จำนวน 33โครงการ และมาตรการอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำปี 2563-2580 จำนวน 3 โครงการ  แผนหลักการพัฒนาหนองหาร จ.สกลนคร มีหน่วยงานรับผิดชอบ 12 หน่วยงาน รวม 65 โครงการครอบคลุมการพัฒนา 10 ปี (พ.ศ. 2563-2572) กรอบวงเงิน 7,445 ล้านบาท มีแผนงานระยะเร่งด่วนปี 63-65 จำนวน 34โครงการ กรอบวงเงิน 1,842 ล้านบาท

เรื่องที่ 3 พิจารณากรอบแนวทางเพื่อการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สอยทรัพยากรน้ำสาธารณะของหน่วยงานรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเรื่องที่  4 ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด

เตรียมขุดเจาะบ่อบาดาล 524 แห่ง ใน 34 จังหวัด

หน่วยงานของรัฐคาดการณ์ว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 43 จังหวัด และได้เตรียมมาตรการจัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับประปาหมู่บ้านนอกเขต กปภ. โดยการขุดเจาะบ่อบาดาล 524 แห่ง 32 จังหวัด | ที่มาภาพประกอบ: กรมทรัพยากรน้ำบาดาล

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ได้แสดงความห่วงใยสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/2563 พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบและปฏิบัติตามแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด ซึ่ง สทนช.ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในการเฝ้าติดตามและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ทั้งนี้จากข้อมูลสถานการณ์น้ำวันที่ 18 ธ.ค. 2562 คาดการณ์ว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 43 จังหวัด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาไว้พร้อมแล้ว ได้จัดหาแหล่งน้ำสำรองและขุดเจาะบ่อบาดาล 61 สาขา 31 จังหวัด และจัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับประปาหมู่บ้านนอกเขตการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ขุดเจาะบ่อบาดาล 524 แห่ง 32 จังหวัด

สำหรับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรนอกเขตชลประทานที่คาดว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงรุนแรงกว่า 30 จังหวัด 0.37 ล้านไร่ กรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเตรียมแผนรับมือโดยเร่งจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนทั้งการขุดบ่อบาดาลและหาแหล่งน้ำผิวดินเพื่อลดความรุนแรงของไม้ผลที่อาจยืนต้นตายได้ นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือทั้งประเทศรวม 4,192 เครื่องและจัดเจ้าหน้าที่พร้อมให้การช่วยเหลือได้ทันทีที่ประชาชนร้องขอ ส่วนสถานการณ์แม่น้ำโขงที่ลดลงเตรียมเสนอขอความร่วมมือจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในการขอน้ำเพิ่มในฤดูแล้งเป็นกรณีพิเศษและให้วางมาตรการแม่น้ำโขงให้ชัดเจนเพื่อการบริหารจัดการน้ำในอนาคตด้วย โดยขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อมีน้ำใช้อย่างพอเพียงตลอดช่วงแล้งนี้ [3] รองนายกฯ ห่วงน้ำแล้งสั่งเร่งช่วยเหลือปชช. เล็งประสานจีนขอน้ำแม่น้ำโขงเพิ่ม (ผู้จัดการออนไลน์, 20 ธ.ค. 2562)

นักวิจัยชี้นับถอยหลัง 'วิกฤตน้ำเค็ม' ความเชื่อมโยงที่มาจากภัยแล้ง-การใช้น้ำบาดาล

การใช้น้ำบาดาลเกินกว่าศักยภาพของพื้นที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการรุกตัวของน้ำบาดาลเค็มเข้ามาในเขตน้ำบาดาลจืด | ที่มาภาพประกอบ : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2562 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่นระบุว่าการใช้น้ำบาดาลเกินกว่าศักยภาพของพื้นที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการรุกตัวของน้ำบาดาลเค็มเข้ามาในเขตน้ำบาดาลจืด ที่มาของ “โครงการประเมินสถานะองค์ความรู้ด้านความเค็มของน้ำและดิน ข้อมูลและปัญหาหลักด้านความเค็มของน้ำและดิน เพื่อนำไปสู่การกำหนดหัวข้อวิจัยด้านความเค็มของน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย” โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)

ประเทศไทยเกิดปัญหาความเค็มของน้ำและดินทั้งในแผ่นดินและบริเวณชายฝั่งทะเล การแพร่กระจายความเค็มเกิดจากสภาพทางธรรมชาติ (แบบนี้ค่อยๆ เกิดขึ้น) และการกระทำของมนุษย์ (แบบนี้เกิดขึ้นเร็วมาก) ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำและดิน เช่น การรุกล้ำของน้ำเค็ม การแพร่กระจายของน้ำบาดาลเค็ม และดินเค็ม ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของน้ำ เพื่อการอุปโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และระบบนิเวศ ประกอบกับเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น การเปลี่ยนแปลงปริมาณฝน รูปแบบ การกระจายตัวของฝน การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล และความเค็มของน้ำทะเล รวมถึงปรากฏการณ์ทางสมุทรศาสตร์ ทำให้เกิดคำถามถึงผลกระทบด้านความเค็มของน้ำและดิน และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในอนาคต

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการศึกษาด้านความเค็มของน้ำและดินที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ องค์ความรู้ยังขาดหายไปในเรื่องทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดิน การปนเปื้อนของน้ำเค็ม การหนุนสูงของน้ำทะเล ต่อระบบนิเวศ เกษตรกรรม ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมในอนาคตในเชิงพื้นที่ เชิงเทคโนโลยี และนวัตกรรม โจทย์ที่เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เครือข่าย รวมถึงเป้าหมายดำเนินการวิจัย จึงเป็นประเด็นวิจัยสำคัญที่ควรกำหนดแนวทางและเป้าหมายทั้งเชิงพื้นที่และประเด็นวิจัยให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทัน มีการวางแผนการรับมือ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ดร.โพยม สราภิรมย์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ บอกว่าปัญหาหลักด้านความเค็มในประเทศไทย ได้แก่ ดินเค็ม น้ำเค็มทั้งน้ำผิวดินและน้ำบาดาล การรุกตัวของน้ำทะเล ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในแม่น้ำ แผ่นดินและในชั้นน้ำบาดาล การจัดการน้ำในพื้นที่น้ำจืดหายากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่เกาะ การเพาะเลี้ยงกุ้งน้ำเค็มในพื้นที่น้ำจืด และการทำนาเกลือสินเธาว์และเหมืองแร่โพแทช ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นต่อทรัพยากรในภูมิภาคต่างๆ กันตามแหล่งกำเนิดความเค็ม และกิจกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้อง

ยกตัวอย่างปัญหาน้ำเค็มบนดินที่พบมากคือ บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และลุ่มน้ำเจ้าพระยากับท่าจีน โดยพบว่าในช่วงหน้าแล้ง น้ำทะเลหนุนทำให้เกิดผลกระทบต่อเรื่องประปา ทั้งน้ำประปานครหลวง น้ำประปาภูมิภาค ล้วนได้รับผลกระทบ

 “เราใช้น้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาผลิตน้ำประปาส่วนใหญ่ เมื่อมีปัญหาน้ำเค็มเข้ามา เราก็ใช้น้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนภูมิพลลงมาไล่ คือ ใช้น้ำจืดผลักดันน้ำเค็ม มีการทำประตูระบายน้ำกั้นน้ำ ฯลฯ ขณะที่ภาคกลางทางฝั่งปราจีนบุรี ลุ่มน้ำบางปะกง แม้จะมีปัญหาคล้ายกรุงเทพฯ แต่เมื่อก่อนไม่มีแหล่งน้ำสำรองขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลมาช่วยไล่น้ำเค็ม จึงต้องใช้น้ำดิบจากแหล่งที่ซื้อไว้เป็นบ่อสำรองมาผลิตแทน ตอนนี้มีอ่างเก็บน้ำใหม่ขึ้นมามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้บ้างแล้ว แต่ที่เป็นปัญหาซับซ้อนกว่านั้นคือ นากุ้งอยากได้น้ำเค็ม แต่เกษตรกรและประปาอยากได้น้ำจืด”

‘นาเกลือ-นากุ้ง’ กับตัวแปรสำคัญคือ ‘มนุษย์’

แผนที่ธรณีวิทยาศักยภาพน้ำบาดาลและดินเค็มของภาคอีสาน | ที่มาภาพ: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาสำคัญคือ ดินและน้ำบาดาลเค็ม มีการคาดการณ์กันว่าแหล่งเกลือหินใต้ดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณมากถึง 18 ล้านล้านตัน โดยพบอยู่ใน 2 พื้นที่ คือ แอ่งโคราช ด้านตะวันตกเฉียงใต้และทางใต้ของเทือกเขาภูพาน และแอ่งสกลนคร ด้านเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของเทือกเขาภูพาน

ดร.โพยม อธิบายว่าเกลือใต้ดินเหล่านี้ที่มักจะนำมาทำเกลือสินเธาว์แล้วบางทีก็ปล่อยให้น้ำที่เกิดจากการผลิตเกลือแพร่กระจาย หรือบางทีก็เป็นตามธรรมชาติ คือเมื่อพื้นที่เป็นดินเค็ม น้ำเค็มเหล่านี้ก็ไหลลงมาในลำห้วยและแม่น้ำ เพราะฉะนั้นในภาคอีสานแม้จะไม่มีทะเลก็มีความเค็มเช่นกัน

“สิ่งที่ผมคิดว่าจะต้องเจอแน่ๆ คือ ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาเหล่านี้เร็วขึ้น รุนแรงขึ้นคือ มนุษย์ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของมนุษย์ทำให้เกิดความเค็มที่แพร่กระจายมากขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ หนึ่ง เราทำนาเกลือ สอง เราทำนากุ้ง และปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดการทะเลาะกันและเป็นประเด็นมากก็คือ การทำนากุ้งน้ำเค็มในพื้นที่น้ำจืด อย่างเช่นพื้นที่ในจังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และตอนนี้ก็เหมือนจะแพร่ขยายไปเรื่อยๆ จนเกือบถึงนครสวรรค์แล้ว” 

ยกตัวอย่าง สมมติว่านากุ้งที่นครปฐมอาจจะมีศักยภาพให้ทำได้อย่างเต็มที่แค่หนึ่งหมื่นไร่ ถ้าทำเกินศักยภาพไปเป็นหนึ่งแสนไร่ ไม่ใช่กระทบแค่น้ำผิวดิน แต่จะกระทบไปถึงดินและน้ำใต้ดินด้วย และทำลายระบบนิเวศโดยรอบด้วย ทั้งนี้ในกรณีการกระจายความเค็มของนากุ้งในพื้นที่ภาคกลางนั้น ดร.โพยม บอกว่า ต้องพิจารณาเป็นพื้นที่ๆ ไปด้วย เพราะพื้นที่ภาคกลางค่อนข้างเป็นดินเหนียวและดินทราย ถ้าไปทำอยู่บนดินเหนียวอาจจะปลอดภัยก็ได้ แต่ถ้าไปทำตรงโซนที่เป็นทรายตื้น อาจจะรั่วซึมเข้าสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ง่าย

ฉะนั้นปัญหาใหญ่ที่ว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอาจจะทำให้เกิดการแพร่กระจายความเค็ม แต่มนุษย์นี่แหละที่กระตุ้นให้เกิดปัญหารุนแรงมากขึ้น เช่นเดียวกับภาคอีสานที่มีการทำนาเกลือกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำนาเกลือที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี หรือที่อำเภอประทาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายความเค็มอย่างรวดเร็วยิ่งกว่า

การเติมน้ำใต้ดิน ใช่ว่าจะทำที่ไหนก็ได้

ภาพแสดงการเจาะน้ำบาดาลและชั้นดินแต่ละระดับ | ที่มาภาพ: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ในเมื่อสูบน้ำบาดาลขึ้นมามากจะด้วยความจำเป็นของพื้นที่ขาดน้ำอุปโภคบริโภค หรือเพราะภัยแล้ง การจัดการเติมน้ำใต้ดิน (Managed Aquifer Recharge, MAR) เป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ แต่ปัญหาคือ ควรทำวิธีไหน และจุดๆ ไหนกัน จึงจะเหมาะสม

น้ำประปาในกรุงเทพฯ ใช้น้ำจากผิวดิน แต่ในอุตสาหกรรมบางประเภทก็ใช้น้ำบาดาล ดร.โพยม บอกว่า “น้ำบาดาลในกรุงเทพฯ จะเค็มเป็นชั้นๆ ไม่ได้เค็มทุกชั้น ส่วนใหญ่จะเค็มชั้นบน ข้างล่างจืด การเจาะบ่อบาดาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญเพราะต้องผ่านชั้นบนไปให้ถึงชั้นน้ำจืด และต้องเติมน้ำให้พอดีกับที่เราใช้ ไม่เช่นนั้นน้ำเค็มจากน้ำทะเลจะเข้ามาได้ เหมือนน้ำที่ปากแม่น้ำ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ซึ่งเฝ้าระวังอยู่ แจ้งว่าทั้งระดับน้ำทะเลและความเค็มยังเป็นปกติ แต่มีความแปรปรวนอันเนื่องจากน้ำในแผ่นดินเป็นหลัก นั่นคือ น้ำทะเลเหมือนเดิม แต่น้ำที่ไหลลงมาในแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้ามีน้อย ความเค็มก็จะรุกเข้ามาได้มาก

เช่นเดียวกับดินเค็มในภาคอีสาน เป็นดินเค็มในพื้นที่เกษตรกรรม มีความเค็มหลายระดับ เค็มน้อย เค็มปานกลาง และเค็มมาก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีระดับความเค็มน้อย เราจึงพยายามจัดการพื้นที่ดินเค็มน้อย ควบคุมไม่ให้มันขยายตัว และปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมตามศักยภาพ เช่น ปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งชอบดินเค็มนิดๆ ฉะนั้นในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดสุรินทร์ หรือเขตใกล้เคียงก็ใช้ประโยชน์ได้ แต่อาจจะได้ข้าวไม่มากเช่นที่อื่น หรือในพื้นที่ดินเค็มจัดก็ส่งเสริมการเลี้ยงปลาที่ชอบน้ำกร่อย ปลูกพืชอินทรีย์ หรือ สมุนไพรบางชนิด เป็นต้น”

ดร.โพยม บอกอีกว่า ไม่ว่าจะเป็นดินเค็ม หรือการทำนากุ้ง รวมทั้งปริมาณน้ำฝน ล้วนสัมพันธ์กับการกระจายตัวของน้ำบาดาลเค็ม รวมทั้งกรณีที่เกิดหลุมยุบก็เช่นกัน

 “ฝนตกลงมา น้ำใต้ดินไหลเอาเกลือเหล่านี้ไปแพร่กระจาย และปัญหาที่สูบใช้น้ำใต้ดินเค็มมาทำเกลือมากก็ทำให้เกิดหลุมยุบจากกระบวนการเอาเกลือขึ้นมาทำนาเกลือหรือ Solution Mining ก็คือเอาน้ำไปละลายเกลือและสูบขึ้นมาใช้ จากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าถ้าเราบริหารจัดการดีๆ ควบคุมระดับน้ำใต้ดินได้ก็สามารถควบคุมการแพร่กระจายความเค็มได้ด้วย แต่ปัญหาที่กังวลคือ เรื่องการเติมน้ำใต้ดิน”

ในภาคอีสานนั้น ถ้าเราไปเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ดินเค็ม น้ำใต้ดินที่เค็มก็อาจจะแพร่กระจาย เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจด้วยว่าจะต้องเติมที่ตรงไหน อย่างไร การไปเติมน้ำบาดาลแบบไม่รู้ที่รู้ทาง ก็อาจจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม นั่นคือ ปกติพื้นที่ในอีสานจะเป็นพื้นที่ที่เรียกว่าเนินลอนลาดคือสูงๆ ต่ำๆ สลับกับที่ลุ่ม เวลาที่น้ำใต้ดินไหลจะไหลจากเนินแล้วไหลลงไปพาเอาเกลือขึ้นมาที่ลุ่ม ถ้าเติมน้ำใต้ดินมากๆ ที่ลุ่มใกล้เคียงจะเค็มมากกว่าเดิม หรือไปเติมที่ลุ่มที่มีความเค็มบางจุด อาจจะทำให้ความเค็มไปเกิดในที่ใหม่ๆ เป็นต้น

ดร.โพยม กล่าวว่า “ในเมื่อเราเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืดไม่ได้ อย่างน้อยก็ควรพยายามที่จะไม่ให้มันเกิดเพิ่มขึ้นอีกหรือแพร่กระจายมากขึ้น เพราะถ้าเราสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากๆ จะเกิดการแทรกตัวของน้ำเค็มได้ สิ่งที่ควรทำคือจัดการให้มีการเติมน้ำใต้ดินที่เรียกว่า Managed Aquifer Recharge หรือ MAR  ให้เท่า ๆ กับที่เราใช้ โดยหลักการ คือ เราใช้เท่าไร เราควรจะเติมเท่านั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพน้ำของพื้นที่ แต่ต้องเข้าใจเรื่องชั้นดินชั้นหิน คุณภาพน้ำ และระบบการไหลด้วยว่า เติมแล้วจะไปเกิดผลกระทบกับพื้นที่คนอื่นหรือไม่ ระบบจะยั่งยืนหรือไม่และการดูแลรักษาระบบอย่างไร เป็นเรื่องนี้ต้องมีหน่วยงานลงไปกำกับดูแล เราต้องวางแผนการเติมน้ำทั่วประเทศ” 

การเติมน้ำใต้ดิน เป็นเรื่องที่ทุก ๆ ประเทศทั่วโลกทำกัน ทั้งอเมริกา ออสเตรเลีย ฮออลแลนด์ เยอรมัน อินเดีย จีน แต่จะมีการวางแผนแม่บทการเติมน้ำใต้ดิน มีคู่มือที่เป็นมาตรฐาน และมีหน่วยงานกำกับดูแลติดตาม เพื่อป้องกันปัญหาด้านคุณภาพน้ำที่จะตามมา เพราะเรื่องนี้เป็นการบูรณาการการจัดการน้ำผิวดิน-ใต้ดิน และช่วยแก้น้ำแล้ง น้ำท่วม  น้ำเค็ม ได้เป็นอย่างดี แต่ก็เปรียบเสมือนยาแรง กินผิดวิธีแทนที่จะหายป่วย ก็อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายแทนได้

 “นอกจากนี้ ยังต้องเป็นการบริหารจัดการบ่อน้ำบาดาลที่เรียกว่า Well Field การวางตำแหน่งบ่อบาดาลต้องไม่แย่งน้ำกัน คือ บางแห่งบ่อเดียวพอดีอยู่แล้ว ถ้าจะเจาะอีกบ่อควรจะเป็นตรงไหน ห่างกันเท่าไหร่ จึงไม่เกิดการทำให้ความเค็มถูกดึงขึ้นมาจากระดับลึกลงไป เรื่องนี้ในประเทศฝรั่งเศสมีกฎหมายกำกับไว้ชัดเจน ฉะนั้น ฐานข้อมูลศักยภาพน้ำบาดาลเหล่านี้ต้องมีความแม่นยำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีเกลือหินรองรับอยู่ด้านล่าง ความรู้ และเทคโนโลยี ซึ่งหน่วยงานของไทยทำได้ แต่ระดับนโยบายต้องให้ความสำคัญตรงนี้” ดร.โพยม กล่าว

ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการปัญหาเค็ม-เค็ม

เมื่อถามว่าอะไรคือเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่เกี่ยวกับความเค็ม ณ เวลานี้? หัวหน้าคณะวิจัย ดร.โพยม บอกว่า “ไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และดิน ทุกอย่างสำคัญหมด จึงต้องใช้ “พื้นที่” เป็นตัวตั้งในการบริหารจัดการ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเน้นไปที่ยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร เกษตรอินทรย์ ก็ต้องดูเรื่องการใช้เทคนิคแก้ไขหรือลดความเค็มในดินเค็ม เพิ่มน้ำสำรองเพื่อเจือจางน้ำเค็มและอะไรที่ตอบโจทย์ด้านเกษตร  ส่วนภาคเหนือและภาคกลาง เป็นเรื่องการจัดการน้ำต้นทุน เพื่อรักษาความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีคนทำวิจัยว่า ถ้าน้ำในสถานีสูบน้ำสำเหร่ ซึ่งเป็นแหล่งที่สูบขึ้นมาทำน้ำประปากรุงเทพฯ เค็ม จะต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนมาเมื่อไร อย่างไร แต่ถ้าเขื่อนไม่มีน้ำจะเกิดอะไรขึ้น ในอนาคตจึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพล ทั้งการใช้น้ำในพื้นที่ภาคกลาง และการรักษาระบบนิเวศ เพื่อไล่ความเค็ม เพราะน้ำที่ใช้ไม่ได้ปล่อยมาเพื่อไล่ความเค็มอย่างเดียว แต่ต้องใช้กันทั้งลุ่มน้ำ

ขณะที่ภาคตะวันออกกับภาคใต้ จะเน้นเรื่องประปารองรับน้ำกินน้ำใช้และการท่องเที่ยว เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่ระยะการไหลสั้นมาก น้ำไหลมานิดเดียวก็ไหลลงทะเลหมด การกักเก็บน้ำเพื่อไล่ความเค็ม เพื่อทำน้ำประปาจึงสำคัญ รวมทั้งมีพื้นที่เกาะมากมาย ฉะนั้น ต้องเร่งทำวิจัยในเรื่องเทคนิคการเก็บน้ำและน้ำฝนในพื้นที่ในเกาะโดยเร็ว รวมถึงการทำวิจัยเกี่ยวกับการทำเขื่อนใต้ดินและการกรองน้ำทะเลต้นทุนต่ำ เพราะคนที่อาศัยบนเกาะต้องใช้น้ำในราคาที่แพงมาก ๆ

ประเทศไทยใช้น้ำใต้ดินเยอะมากแต่ไม่ได้อยู่ในแผนหลักของการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ เราจะเห็นแต่แผนผังน้ำผิวดิน ขาดน้ำใต้ดิน และน้ำเสีย ในแผนเดียวกัน จึงยังเป็นปัญหา ที่ผ่านมาให้ความสำคัญของน้ำบาดาลในฐานะเป็นน้ำสำรองยามวิกฤติ ทั้งที่มีโครงการชลประทานน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ที่สามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งได้ดีมากๆ เป็นตัวอย่างอยู่แล้ว  แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มีระบบการใช้ และเติมน้ำใต้ดิน ให้พื้นที่ชลประทานได้อย่างเป็นรูปธรรม  แม้ระยะหลังมีหน่วยงานที่ทำงานด้านน้ำบาดาลพยายามดูแลโดยเฉพาะขึ้น มีการรายงานสถานการณ์น้ำบาดาล และมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น แต่ปัญหาคือบุคลากรที่ทำงานด้านนี้ยังน้อย งบประมาณน้อย เพราะคนที่สนใจศึกษาด้านนี้ก็ยังมีน้อยมาก

“กรมชลประทานเป็นหน่วยงานที่เข้มแข็งมาก มีบุคลากรและงบประมาณจำนวนมาก แต่ถูกกำหนดบทบาทให้ดูแลพื้นที่ในเขตชลประทานซึ่งมีเพียง 25-30 %ของประเทศ ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานเยอะมาก ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ที่ดูแลเรื่องน้ำนอกเขตชลประทานก็กระจัดกระจาย งบประมาณ และบุคลากรของหน่วยงานท้องถิ่นก็มีน้อยมาก สุดท้ายชาวบ้านนอกเขตชลประทานก็ค่อนข้างสับสน และน่าเห็นใจ เพราะไม่รู้จะได้รับการสนับสนุน ดูแล จากหน่วยงานไหนกันแน่ จึงได้แต่รอลุ้นจากน้ำฝน แต่จากสถานการณ์ที่แปรปรวนของภูมิอากาศ ถือว่าเสี่ยงมาก ถ้าเราพัฒนาระบบธรรมาภิบาลด้านน้ำและบูรณาการการทำงานด้านน้ำแบบรัฐ-ท้องถิ่นไม่ได้ ปัญหาด้านน้ำก็แก้ไขได้ยาก” ดร.โพยม สรุป

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] น้ำต้นทุนลด...เฝ้าระวังสถานการณ์ทั่วประเทศ (คมชัดลึก, 23 ธ.ค. 2562)
[2] วิกฤตน้ำแล้งลากยาว 6 เดือน นาปรัง 2.7 ล้านไร่เตรียมยืนต้นตาย (ประชาชาติธุรกิจ, 19 ธ.ค. 2562)
[3] รองนายกฯ ห่วงน้ำแล้งสั่งเร่งช่วยเหลือปชช. เล็งประสานจีนขอน้ำแม่น้ำโขงเพิ่ม (ผู้จัดการออนไลน์, 20 ธ.ค. 2562)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: Infographic แผนปฏิบัติการรับมือภัยแล้ง 43 จังหวัด 4,132 หมู่บ้าน
ขยายพื้นที่ ‘เจาะบ่อบาดาล’ แก้วิกฤตภัยแล้ง งานวิจัยชี้เสี่ยงดินเค็ม
9 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการเจาะบ่อน้ำบาดาล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: