การลดอำนาจการปกครองของประชาชนในรัฐธรรมนูญ 2560

พจนา วลัย กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน: 19 มี.ค. 2562 | อ่านแล้ว 3552 ครั้ง


การเมืองของชนชั้นนำ (ข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือนระดับสูง นายทุนผูกขาด) รวมถึงชนชั้นกลางที่ฝักใฝ่ระบอบเผด็จการทหาร เห็นได้จากแนวคิดอุดมการณ์ของผู้ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  แม้รัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารจะยังคงรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้คล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ทั้งระบุกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น เข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงถอยหลังไปจากเดิม คือ

1. การเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายความมั่นคงจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน  หากเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 จะเห็นว่า มีการลดความสำคัญของสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น มาตรา 25 หมวดสิทธิเสรีภาพ ระบุว่า บุคคลมีสิทธิเสรีภาพตราบเท่าที่ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคง ซึ่งเป็นข้ออ้างครอบจักรวาลประจำของเผด็จการ และมาตรา 44 ห้ามประชาชนชุมนุมเกิน 5 คน จำกัดสิทธิในการชุมนุมในกรณีที่เป็น “ภัยต่อความมั่นคง”  แต่ในรัฐธรรมนูญ 2540 จะจำกัดสิทธิในการชุมนุมในกรณีสงครามหรือภาวะฉุกเฉินเท่านั้น

2. การลดอำนาจการปกครองของประชาชน ซึ่งเห็นได้จากการออกแบบรัฐสภา ที่จะส่งผลให้สมาชิกผู้แทนราษฎรอ่อนแอ เพราะเปลี่ยนให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกสรรกันเองเฉพาะกลุ่ม และจากคณะกรรมการสรรหาที่แต่งตั้งโดย คสช.

3. การแทรกแซงการดำเนินงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น อนุญาตให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ การบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดบทลงโทษหากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม

4. การควบคุมรัฐบาลผ่านองค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ไม่เคยมาจากเลือกตั้งของประชาชน

5. การสร้างอุปสรรคไม่ให้การเมืองของประชาชนคนชั้นล่างเติบโต เห็นได้จากการสร้างเงื่อนไขมากมายในการก่อตั้งพรรคการเมืองจดทะเบียน ทำให้ตัวแทนของประชาชนเข้าสู่รัฐสภายากลำบาก

กล่าวสั้นๆ อำนาจ 3 ฝ่าย คือ อำนาจบริหารยึดโยงกับประชาชน แต่อนุญาตให้ผู้นำฝ่ายบริหารเป็นคนนอก อำนาจนิติบัญญัติมีทั้งส่วนที่ยึดโยงและไม่ยึดโยงกับประชาชน ในขณะที่อำนาจตุลาการไม่เคยยึดโยงกับประชาชน และยังเป็นเครื่องมือของคณะรัฐประหาร (รับใช้โครงสร้างส่วนบน)

อำนาจการปกครองของประชาชนผ่านการเลือกตัวแทนเข้าสู่สภาหรือโครงสร้างอำนาจรัฐนั้นมีความสำคัญยิ่งยวดต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมักถูกกลบเกลื่อนโดยพวกชนชั้นนำและชนชั้นกลางที่ฝักใฝ่เผด็จการ คือ ยังอ้างเสมอว่าจะต้องหยุดระบอบทักษิณ ไม่เอาพรรคที่มีทักษิณ ชินวัตรชักใยอยู่เบื้องหลัง แท้จริง พวกเขาพยายามกดหัวไม่ให้คนชั้นล่างลืมตาอ้าปาก มีอำนาจปกครองและแข่งขันกับพวกเขาได้

เมื่อกลไกรัฐที่มีอำนาจสูงสุดของอำนาจทั้ง 3 ส่วนข้างต้นถูกออกแบบมาไม่ให้ยึดโยงกับเจ้าของอำนาจแท้จริง ผลที่ตามมาคือ การไม่รับผิดชอบที่จะดำเนินการตามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซ้ำร้ายยังสามารถเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักสิทธิเสรีภาพ บ่อนทำลายรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรให้อ่อนแอในที่สุด ซึ่งจะเป็นปัญหาในการบริหารประเทศให้เป็นไปตามนโยบายที่ก้าวหน้า

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการลดอำนาจของประชาชน จากการออกแบบ 1) วุฒิสภาหรือสภาสูง ที่เคยมาจากการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศ แต่ถูกจำกัดให้เลือกเฉพาะกลุ่มและถูกคัดสรรโดยผู้มีอำนาจรัฐเดิม 2) นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ ซึ่งแต่เดิมมาจากสมาชิกผู้แทนราษฏรบัญชีรายชื่อ 3) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีกับบทลงโทษ หากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม และ 4) ศาลรัฐธรรมนูญควบคุมนักการเมืองและรัฐบาล

1.สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกสรรของ คสช.

มาตรา 269 ในวาระเริ่มแรก ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่ คสช.ถวายคำแนะนำ โดยให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่งซึ่ง คสช.แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่า 9 คนแต่ไม่เกิน 12 คน มีหน้าที่ดำเนินการสรรหาบุคคลเป็นสมาชิกวุฒิสภา 3 ส่วน ดังนี้

  1. คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว.จำนวน 200 คน แล้วนำเสนอรายชื่อให้ คสช.คัดเลือก จำนวน 50 คน
  2. คณะกรรมการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมแก่การปฏิรูปประเทศ มีจำนวนไม่เกิน 400 คน แล้วนำเสนอรายชื่อให้ คสช.คัดเลือก จำนวน 194 คน
  3. ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวน 6 คน

การเลือกสรรกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลาย และมีอายุการดำรงตำแหน่ง 5 ปี นานกว่า ส.ส. 1 ปี มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกแต่งตั้งโดยทหารเผด็จการทั้งหมด เพื่อควบคุมผู้แทนของประชาชน ทำให้สภาพการเมืองไทยย่ำแย่กว่าฉบับก่อนที่เคยให้มีการเลือกตั้ง

การอ้างว่า ส.ว. เป็นกลไกสำคัญในการตรากฎหมาย คัดกรองบุคคล นักการเมืองหรือคนดีมาทำงานในองค์กรสำคัญต่างๆ ให้สามารถพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นนั้น (อ้างจากเว็บไซต์ กกต. https://www.ect.go.th/ect_th/news_page.php?nid=28  ) เป็นการหลอกลวง เพราะนี่จะเป็นโอกาสให้เผด็จการทหาร คณาธิปไตยหน้าเดิม มีอำนาจต่อไปภายใต้กฎกติกาที่ตัวเองร่างไว้ ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาก็ได้ใช้อำนาจที่ขาดการตรวจสอบจากประชาชนมาแล้ว

2. นายกรัฐมนตรีจากคนนอก ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภา

การอนุญาตให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง (ซึ่งเปิดทางให้เล่นเกมการเมือง) เราอาจมีนายกรัฐมนตรีทหารหรือคนของทหาร หรืออภิสิทธิ์ชนเข้ามา หรือแม้จะเป็นคนนอกที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเสนอชื่อเข้ามาแข่งขัน ก็ไม่จำเป็นจะต้องเปิดทางให้ฝ่ายเผด็จการใช้วิธีนี้ ซึ่งเขาจะใช้ ส.ว.ในมือของตัวเองเลือก เพราะจากข้อกำหนดที่ให้ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.สามารถร่วมลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรายชื่อที่พรรคเสนอ ซึ่งยิ่งลดทอนการยึดโยงระหว่างประชาชนและนายกรัฐมนตรีขึ้นไปอีก  ดังนั้น โดยหลักการยึดโยงประชาชน การเลือกผู้นำรัฐบาลสามารถนำมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งก็เพียงพอแล้ว

3. ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีกับบทลงโทษ

มีการคงไว้ซึ่งบทบาทและยืดวาระการทำงานของ คสช.ออกไปหลังการเลือกตั้ง และให้มีส่วนสำคัญในการกำหนด “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่ผูกพันกับ “นโยบายรัฐ” ตามมาตรา 16  

อีกทั้ง ในมาตรา 270 ยังให้ ส..มีหน้าที่และอํานาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และการจัดทําและดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งความคืบหน้าในการดําเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุก 3 เดือน และหากไม่ทำตามจะมีบทลงโทษ ดังนี้

ในส่วนของรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง บทเฉพาะกาลในมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 2560 กำหนดไว้ว่า ในช่วง 5 ปีแรกหลังการเลือกตั้ง ซึ่ง ส.ว.ยังทำหน้าที่อยู่ หากเกิดกรณีที่การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท เป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรีหรือเป็นการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีโดยตรง วุฒิสภาสามารถพิจารณาว่า การดำเนินการของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนั้น ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และสามารถส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้

พูดง่ายๆ ก็คือ รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดถัดไปอาจโดนลงโทษหนัก หากไม่ดำเนินนโยบายตามกรอบที่ยุทธศาสตร์ชาติวางไว้ อาจโดนลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี และอาจโดนเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในทุกระดับตลอดชีวิต รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ อีก (อ้างจากข่าวเวิร์คพอยท์ https://workpointnews.com/2019/02/21/บทลงโทษของข้าราชการ/ )

“ยุทธศาสตร์ชาติ” จึงกลายเป็นเครื่องมือในการสืบทอดและแช่แข็งนโยบายของฝ่ายเผด็จการ-อนุรักษ์นิยม เพื่อไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีเสรีภาพที่จะกำหนดนโยบายเองตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

4. ศาลรัฐธรรมนูญควบคุมรัฐบาลและนักการเมือง

สืบจากข้างต้น การกำหนดบทลงโทษหากคณะรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญจับผิดและถอดถอนนักการเมือง หรือ “วีโต้” นโยบายของรัฐบาลที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความเองว่า “ไม่ตรงกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ” เป็นอำนาจที่ลอยอยู่เหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและลอยอยู่เหนือหัวประชาชน

อีกทั้ง ร.. 2560 ยังเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐมนตรีคนใดขาดคุณสมบัติ เช่น ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ที่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้เขียนขึ้นตามมาตรา 219 และหากผู้ใดฝ่าฝืนต้องพ้นจากตำแหน่งหรืออาจถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี นอกจากนี้ ยังมีกลไกควบคุมอื่นๆ เช่น ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาลให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทางการเงินการคลัง ซึ่งรัฐบาล คสช.และ สนช.เป็นผู้เขียนกฎหมาย

นี่คือการให้อำนาจราชการอยู่เหนืออำนาจการเมืองการปกครองของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นถึงความไม่เชื่อใจเจ้าของอำนาจที่เลือกตัวแทนเข้ามา และกีดกันนโยบายที่ก้าวหน้าที่อาจนอกกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เช่น นโยบายสร้างรัฐสวัสดิการ ลดขนาดกองทัพ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงประกันการมีอยู่ของอำนาจฝ่ายเผด็จการชนชั้นนำ ข้าราชการหน้าเดิมมากกว่าสิทธิประโยชน์ของประชาชน จึงไม่แปลกใจหากจะมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในอนาคต รวมถึงยกเลิกกฎหมายที่ออกโดย สนช.หลายร้อยฉบับ หรือคำสั่ง คสช. ที่ฉวยโอกาสในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี เปลี่ยนแปลงระบบการเมืองการปกครองไทยให้ล้าหลังตามอุดมการณ์ของตัวเอง โดยขจัดการตรวจสอบจากประชาชนออกไปให้พ้นทาง

ข้อสรุป-เสนอแนะ

โดยสรุป ในสถานการณ์ใกล้วันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ประชาชนต้องตระหนักว่า ความพยายามลดอำนาจหรือกดหัวประชาชนดังเช่น 5 ปีที่ผ่านมาของ คสช.ยังมีอยู่จริง และยังจะปรากฏชัดมากขึ้นต่อๆ ไป หากฝ่ายพรรค “สืบทอดอำนาจ” ของ คสช.ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้  ตรงกันข้าม ถ้าประชาชนต้องการมีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการปกครองท้องถิ่นของตนและประเทศชาติ โดยไม่หลงใหลได้ปลื้มกับ “เศษเนื้อ” เช่น บัตรคนจน สวัสดิการฉาบฉวยต่างๆ ที่พรรคพวกสืบทอดอำนาจ “โยน” มาให้  ประชาชนจะต้องระดมกันเลือกพรรคฝ่ายส่งเสริมอำนาจประชาชน ต่อต้านฝ่ายสืบทอด โอกาสในการแสดงพลังอำนาจของฝ่ายประชาชนมาถึงแล้ว เพื่อต่อต้าน คัดค้าน สั่งสอนระบบเผด็จการทหารที่ชอบรัฐประหาร อ้างความมั่นคงของชาติแต่กลับได้ประโยชน์มั่งคั่งร่ำรวย 


  

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ ประชาไท
ที่มาภาพประกอบ: underdogs.xyz

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: