การจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง การจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน มาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยมลพิษ หรือสิ่งอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการทำเหมือง แต่งแร่และประกอบโลหกรรม และหลักเกณฑ์หรือวิธีการให้ความคุ้มครองแก่คนงานและความปลอดภัยแก่บุคคลภายนอก ล้วนเป็นเนื้อหาใหม่ที่ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒[1] แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ หรือ ‘กฎหมายแร่ฉบับใหม่’ ว่าจะต้องถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองแร่ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รัฐมนตรี) เป็นผู้ออกประกาศร่วมกัน ซึ่งการออกประกาศดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อของการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมืองและการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ก่อนด้วย รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีการศึกษาข้อมูลทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับการปนเปื้อนของโลหะหนักหรือสารพิษ และการเจ็บป่วยที่อาจเกิดจากสารเคมีหรือมลพิษที่เกิดจากการทำเหมืองของประชาชนในพื้นที่ก่อนและหลังการทำเหมืองด้วย
นับว่าเป็นบทบัญญัติที่ค่อนข้างก้าวหน้าทีเดียวเมื่อเทียบกับกฎหมายแร่ฉบับเก่าหรือพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ที่ถูกยกเลิกใช้บังคับไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรเพราะมีอัตราโทษเบาเกินไปเพียงแค่ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับผู้ประกอบการที่ได้กำไรมหาศาลจากการประกอบกิจการเหมืองแร่และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว
ผลของมาตรา ๓๒ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องออกประกาศหลายฉบับ อาทิ
(๑) ประกาศกระทรวง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมืองสำหรับการทำเหมืองแร่ แต่งแร่และประกอบโลหกรรม
(๒) ประกาศกระทรวง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนสำหรับการทำเหมืองแร่ แต่งแร่และประกอบโลหกรรม
(๓) ประกาศกระทรวง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำมาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยมลพิษหรือสิ่งอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการทำเหมือง แต่งแร่และประกอบโลหกรรม
(๔) ประกาศกระทรวง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการให้ความคุ้มครองแก่คนงานและความปลอดภัยแก่บุคคลภายนอกสำหรับการทำเหมือง แต่งแร่และประกอบโลหกรรม
หรืออาจทำให้เนื้อหาทั้งสี่เรื่องออกเป็นประกาศกระทรวงฉบับเดียวกันก็เป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจที่สามารถทำได้
แต่ดูเหมือนว่าเนื้อหาที่ก้าวหน้าในกฎหมายแร่ฉบับใหม่น่าจะเป็นหมันเพราะผ่านมาเกือบสองปีแล้วนับตั้งแต่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลใช้บังคับตามมาตรา ๑๘๗ วรรคสองที่ระบุว่าให้การดําเนินการออกกฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบ ตามวรรคหนึ่ง ให้ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดําเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดําเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ก็ยังไม่เห็นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการอนุมัติ/อนุญาตประทานบัตรภายใต้โครงสร้างใหม่ทั้ง คนร., คณะกรรมการแร่, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.), กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะกระตือรือล้นในการออกประกาศกระทรวงตามมาตรา ๓๒ สักฉบับเดียว
โดยเฉพาะ กพร. และกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานที่ผูกขาดอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติ/อนุญาตอาชญาบัตรสำหรับการสำรวจแร่และประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองแร่มาอย่างยาวนานได้แสดงอาการหวงอำนาจอย่างเต็มที่โดยกีดกันไม่ให้โครงสร้างใหม่ตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ดังกล่าวด้วยการออกเอกสาร ‘แนวทางปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนผ่านการใช้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐’[2] ขึ้นมาใช้เป็นแนวทางในการเร่งรัดพิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองแร่ เพราะเกรงว่าการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตอาชญาบัตรสำหรับการสำรวจแร่และประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองแร่จะเปลี่ยนจากฐานความคิดเดิมที่มองเห็นทรัพยากรแร่เป็นเพียงวัตถุดิบของระบบอุตสาหกรรมที่ต้องขุดขึ้นมาใช้เพียงอย่างเดียวมาเป็นฐานความคิดใหม่ที่เน้นสร้างดุลยภาพและความยั่งยืนในการพัฒนาด้วยการเพิ่มมิติด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชนมากเกินไปจนเป็นอุปสรรคในการส่งเสริมการลงทุน
แนวทางปฏิบัติฯดังกล่าวได้ระบุใจความสำคัญที่เกี่ยวกับมาตรา ๓๒ ไว้ว่า “สำหรับการจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง และการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ตามมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ ให้จัดทำเฉพาะการทำเหมืองประเภทที่ ๓ (๖) การทำเหมืองแร่กัมมันตรังสี และประเภทที่ ๓ (๘) การทำเหมืองแร่ที่มีกิจกรรมโดยตรงหรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๐ เรื่อง การแบ่งประเภทการทำเหมือง พ.ศ. ๒๕๖๐”[3]
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ กพร. เห็นว่าการกำหนดให้มี ‘การจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง’ และ ‘การจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน’ เฉพาะการทำเหมืองแร่กัมมันตรังสีและการทำเหมืองแร่ที่มีกิจกรรมโดยตรงหรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพเป็นการกำหนดภายใต้มาตรา ๑๙[4] ที่ให้จัดทำเฉพาะกรณี ‘การทำเหมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนสูง’ เท่านั้น ซึ่งเป็นความเห็นที่เคลือบแคลงและเบี่ยงเบน เนื่องจากบทบัญญัติของมาตรา ๓๒ มีใจความกว้างกว่าโดยระบุให้ออกเป็น ‘ประกาศกระทรวง’ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำ ‘แนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง’, ‘ข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน’, ‘มาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยมลพิษ หรือสิ่งอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการทำเหมือง แต่งแร่และประกอบโลหกรรม’ และ ‘หลักเกณฑ์หรือวิธีการให้ความคุ้มครองแก่คนงานและความปลอดภัยแก่บุคคลภายนอก’ สำหรับการทำเหมืองทั่วไปที่ไม่ได้เจาะจงเฉพาะกรณีการทำเหมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนสูงเพียงอย่างเดียว
เพื่ออธิบายให้ชัดยิ่งขึ้นก็คือ หนึ่ง-มาตรา ๑๙ กำหนดไว้ว่าให้มีการจัดทำ ‘แนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง’ และ ‘ข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน’ โดยออกเป็น ‘ประกาศ คนร.’ ซึ่งนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯที่นายกฯมอบหมายให้ปฏิบัติการแทนเป็นผู้ลงนามในประกาศ ส่วนมาตรา ๓๒ ก็ระบุให้การกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำ ‘แนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง’, ‘ข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน’, ‘มาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยมลพิษ หรือสิ่งอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการทำเหมือง แต่งแร่และประกอบโลหกรรม’ และ ‘หลักเกณฑ์หรือวิธีการให้ความคุ้มครองแก่คนงานและความปลอดภัยแก่บุคคลภายนอก’ โดยออกเป็น ‘ประกาศกระทรวง’ ซึ่งรัฐมนตรีทั้งสองกระทรวงเป็นผู้ลงนามในประกาศ ดังนั้น เอกสารแนวทางปฏิบัติฯเพื่อการนี้ที่อธิบดี กพร. เป็นผู้ลงนามแต่ผู้เดียวจึงใช้การไม่ได้
และสอง-มาตรา ๓๒ ไม่ได้เจาะจงให้ออกเป็นประกาศกระทรวงเฉพาะกรณี ‘การทำเหมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนสูง’ เพียงอย่างเดียว แต่ให้ออกประกาศกระทรวงเพื่อครอบคลุมการทำเหมืองทั่วไปที่ไม่ถูกจัดอยู่ในประเภทของการทำเหมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนสูงด้วย และแม้ว่าการออกประกาศทั้งสองฉบับ (ประกาศ คนร. และประกาศกระทรวง) อาจทำให้มีเนื้อหาทับซ้อนกันในส่วนของหัวข้อ ‘การจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง’ และ ‘การจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน’ ก็ตาม แต่หัวข้ออื่นที่เหลือไม่ทับซ้อนกัน
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงยังต้องออกประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่เช่นเดิม ในส่วนของหัวข้อที่อาจทับซ้อนกันก็ขจัดปัญหาได้ด้วยการเขียนให้ประกาศทั้งสองฉบับมีความเชื่อมโยงและไม่ขัดกันได้ ไม่ใช่ขจัดหรือละเว้นไม่ออกประกาศทั้งสองฉบับให้ครบถ้วนตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
นั่นหมายความว่าการทําเหมืองประเภทที่ ๒ ซึ่งเป็นการทําเหมืองในเนื้อที่ขนาดใหญ่แต่ไม่เกิน ๖๒๕ ไร่ เป็นโครงการที่ต้องจัดทำ EIA แต่ไม่เข้าข่ายเป็นโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (ไม่ต้องจัดทำ EHIA) และการทําเหมืองประเภทที่ ๓ ซึ่งเป็นการทําเหมืองขนาดใหญ่เกิน ๖๒๕ ไร่ ที่ครอบคลุมการทำเหมืองประเภทอื่น ๆ ไม่ใช่แค่การทำเหมืองแร่กัมมันตรังสีและการทําเหมืองแร่ที่มีกิจกรรมโดยตรงหรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (ต้องจัดทำ EHIA) ที่ถูกจัดให้เป็นการทำเหมืองประเภทที่ ๓ เช่นเดียวกัน ได้แก่ การทําเหมืองแร่ในทะเล การทําเหมืองแร่ใต้ดิน การทําเหมืองแร่ทองคํา การทําเหมืองแร่ถ่านหิน การทําเหมืองแร่ที่จะต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี (พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ ๑) ดังที่ระบุไว้ใน ‘ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑’ จึงไม่ควรถูกยกเว้นในการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง การจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน มาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยมลพิษ หรือสิ่งอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการทำเหมือง แต่งแร่ และประกอบโลหกรรม และหลักเกณฑ์หรือวิธีการให้ความคุ้มครองแก่คนงานและความปลอดภัยแก่บุคคลภายนอกตามประกาศรัฐมนตรีตามมาตรา ๓๒ แต่อย่างใด[5]
การฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่โดยไม่ออกเป็นประกาศ คนร. และประกาศกระทรวงเพื่อให้เกิดการกลั่นกรองให้ครบถ้วนตามเจตนารมณ์ของมาตรา ๑๙ และ ๓๒ ตามลำดับ ที่ต้องการถ่วงดุลอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ใหม่เพื่อให้เกิดดุลยภาพและมิติการพัฒนาที่คำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น แต่ออกเป็นเอกสารแนวทางปฏิบัติฯให้จัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมืองและข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเฉพาะการทำเหมืองแร่กัมมันตรังสีและการทำเหมืองแร่ที่มีกิจกรรมโดยตรงหรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โดยไม่ครอบคลุมการทำเหมืองแร่ประเภทที่ ๒ และ ๓ ทั้งหมด ถือเป็นความผิด
การปฏิบัติงานที่ไม่ครบถ้วนรอบคอบเช่นนี้ก็มีแต่จะต้องรอรับผลการกระทำของตัวเองในระยะเวลาอันใกล้นี้เมื่อมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่อันบกพร่องของอธิบดี กพร. แทนที่จะทำให้ถูกต้องครบถ้วนตั้งแต่เริ่มต้น กลับต้องวุ่นวายเป็นลิงแก้แหในภายหน้าอย่างแน่นอน เนื่องจากประทานบัตรและประทานบัตรต่ออายุสำหรับการทำเหมืองแร่ประเภทที่ ๒ และ ๓ ที่ได้รับอนุญาตหลังกฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๐ เป็นต้นมาต้องถูกยกเลิกเพิกถอนไปทั้งหมด เหตุเพราะเป็นประทานบัตรและประทานบัตรต่ออายุที่ไม่ผ่านขั้นตอนตามมาตรา ๑๙ และ ๓๒ ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่ระบุให้ต้องออกประกาศ คนร. และประกาศกระทรวงเพื่อให้การทำเหมืองแร่ประเภทที่ ๒ และ ๓ ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง การจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน มาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยมลพิษ หรือสิ่งอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการทำเหมือง แต่งแร่และประกอบโลหกรรม และหลักเกณฑ์หรือวิธีการให้ความคุ้มครองแก่คนงานและความปลอดภัยแก่บุคคลภายนอก ให้ครบถ้วนเสียก่อน.
เชิงอรรถ
[1] มาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีรายละเอียดดังนี้
“มาตรา ๓๒ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการทําเหมือง การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรม ให้รัฐมนตรีมีอํานาจออกประกาศกําหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทําแนวพื้นที่กันชนการทําเหมือง การจัดทําข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน มาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยมลพิษ หรือสิ่งอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการทําเหมือง การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรม และหลักเกณฑ์หรือวิธีการให้ความคุ้มครองแก่คนงานและความปลอดภัยแก่บุคคลภายนอก
การออกประกาศกําหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทําแนวพื้นที่กันชนการทําเหมืองและการจัดทําข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ทั้งนี้ การกําหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทําข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างน้อยต้องกําหนดให้มีการศึกษาข้อมูลทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับการปนเปื้อนของโลหะหนักหรือสารพิษ และการเจ็บป่วยที่อาจเกิดจากสารเคมีหรือมลพิษที่เกิดจากการทําเหมืองของประชาชนในพื้นที่ก่อนและหลังการทําเหมือง”
[2] แนวทางปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนผ่านการใช้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นเอกสารเวียนภายใน กพร. ที่ส่งถึงอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด ลงนามโดยอธิบดี กพร. เฉพาะในส่วนที่ยกเป็นประเด็นขึ้นมาในบทความชิ้นนี้ ประกอบด้วย
(๑) บันทึกข้อความกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ อก ๐๕๐๔/ว ๒๐๖๗ ลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการรับคำขอประทานบัตร และคำขอต่ออายุประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐
(๒) บันทึกข้อความกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ อก ๐๕๐๔/ว ๕๕๑๙ ลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๑ เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการคำขอประทานบัตรและคำขอต่ออายุประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐
(๓) บันทึกข้อความกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ อก ๐๕๐๔/ว ๑๑๔ ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๒ เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการคำขอประทานบัตรและคำขอต่ออายุประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ (เพิ่มเติม)
[3] รายละเอียดในเครื่องหมายคำพูดอยู่ในข้อ ๔ ของบันทึกข้อความกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ อก ๐๕๐๔/ว ๕๕๑๙ ลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๑ เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการคำขอประทานบัตรและคำขอต่ออายุประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐
[4] มาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีรายละเอียดดังนี้
“เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการแร่ การอนุญาตให้ทําเหมืองให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมือง มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กําหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ และในกรณีที่แหล่งแร่ใดมีศักยภาพในการพัฒนา แต่เทคโนโลยีที่จะใช้ในการทําเหมืองและมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนยังไม่เหมาะสม ให้สงวนแหล่งแร่นั้นไว้จนกว่าจะมีเทคโนโลยี และมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่เหมาะสม ในกรณีการทําเหมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนสูง ในการอนุญาตต้องกําหนดให้มีการจัดทําแนวพื้นที่กันชนการทําเหมือง และจัดทําข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนด้วย
ภายใต้บังคับวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการมีอํานาจประกาศกําหนดให้การอนุญาตและการกําหนดเง่ือนไขใด ๆ ในการออกประทานบัตรให้ทําเหมืองในพื้นที่และชนิดแร่ใดต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนการอนุญาต เพื่อพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่ใช้ในการทําเหมือง มาตรการในการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งผลกระทบสะสมต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน”
[5] การทําเหมืองประเภทที่ ๑ ซึ่งเป็นการทําเหมืองในเนื้อที่ไม่เกิน ๑๐๐ ไร่ ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทํารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีจํานวน ๗ ชนิดแร่ ได้แก่ ทรายแก้ว ดินอุตสาหกรรมชนิดดินซีเมนต์ ดินเหนียวสี ดินเบา ดินมาร์ล บอลเคลย์และดินทนไฟ อาจจะถูกยกเว้นไม่รวมอยู่ในประกาศ คนร. และประกาศกระทรวงตามมาตรา ๑๙ และ ๓๒ ตามลำดับ เพราะเป็นการทำเหมืองขนาดเล็ก
ที่มาภาพจาก: Tyna_Janoch(CC0 Public Domain)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ