แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้รัฐบาลไทยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อออกกฎหมาย แก้ปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงจากการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย หลังมีการแก้ไขเนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าว ให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทยแล้ว
30 ส.ค. 2562 รัฐบาลไทยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อออกกฎหมาย แก้ปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงจากการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย หลังมีการแก้ไขเนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าว ให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทยแล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้ เนื่องในโอกาสวันผู้สูญหายสากล
“การเพิกเฉยใด ๆ ย่อมหมายถึงประเทศไทยอนุญาตให้เกิดช่องโหว่ที่น่าตกใจในระบบกฎหมายของตน ซึ่งจะส่งผลให้พลเมืองไทยอาจตกเป็นเหยื่อการทรมาน หรือการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยทางการไม่มีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ” ปิยนุช โคตรสาร กล่าว
“วันนี้ในแต่ละปีมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ เพราะหมายถึงการเฝ้ารอทุกวันของครอบครัวจำนวนมาก เพื่อให้ทราบความจริงและชะตากรรมของญาติผู้สูญหายไป ทางการไทยต้องทำให้พวกเขามีความหวังว่าจะเกิดความยุติธรรม ยุติการใช้แนวทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความล่าช้า และปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะกำหนดให้มีกฎหมายเอาผิดทางอาญากับการบังคับบุคคลให้สูญหาย”
ทางการไทยลงนามใน อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) เมื่อเดือน ม.ค. 2555 อย่างไรก็ดี มีความล่าช้าอย่างต่อเนื่องในแง่ความพยายามที่จะให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว และการออกกฎหมายในประเทศที่สอดคล้องกัน
ในปี 2560 สมาชิกสภานิติบัญญัติจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ส่งร่างพรบ.กลับไปให้คณะรัฐมนตรีเพื่อการปรึกษาหารือเพิ่มเติม และรัฐบาลแจ้งต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปีนั้นว่า จะระงับการพิจารณาร่างพรบ.ไว้ก่อน โดยจะจัดให้มีการปรึกษาหารือกับสาธารณะ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ส่งร่างฉบับใหม่กลับไปให้รัฐสภาเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2562
การบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งเกิดขึ้นกับนักเคลื่อนไหวคนสำคัญหลายท่าน และยังไม่ได้รับการคลี่คลาย เน้นให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิบัติ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความของเหยื่อการทรมาน ได้ถูกลักพาตัวที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2547 และหายตัวไป
พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักเคลื่อนไหวอีกคนหนึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยในช่วงเวลาดังกล่าว บิลลี่อยู่ระหว่างประสานงานกับชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงและนักเคลื่อนไหว เพื่อฟ้องคดีกับเจ้าหน้าที่อุทยาน ซึ่งจงใจเผาทำลายบ้านเรือน ไร่นา และทรัพย์สินอื่น ๆ ของพวกเขา
เชื่อว่าในปัจจุบันมีกรณีผู้สูญหาย 86 กรณี ซึ่งผู้ตกเป็นเหยื่อมีทั้งนักสหภาพแรงงานและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ประท้วง และผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง ซึ่งล้วนแต่เป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายในประเทศไทย โดยมีการส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายและการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้ กฎหมายความมั่นคงและกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลอื่น ๆ และนำมาใช้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการ โดยไม่มีข้อหาหรือไม่ต้องเข้ารับการไต่สวน และมักไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่บุคคลที่ถูกควบคุมตัวจะตกเป็นผู้สูญหาย
การสอบสวนของทางการยังไม่สามารถหักล้างข้อสงสัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีส่วนร่วมในการสูญหาย การลักพาตัว และความตายของนักเคลื่อนไหวชาวไทยประมาณแปดคน ซึ่งลี้ภัยไปอยู่ในลาว โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมถึงปี 2559 และ 2560
“โศกนาฎกรรมการหายตัวไปเหล่านี้ รวมทั้งความล้มเหลวของรัฐบาลในการค้นหาความจริงและคืนความยุติธรรมแก่ครอบครัวผู้สูญหาย ทำให้เกิดรอยด่างพร้อยมากขึ้นต่อชื่อเสียงของประเทศไทย การสูญหายหลายกรณีที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อเจตจำนงของผู้นำการเมืองไทย ที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาเพื่อให้พลเมืองของตนปลอดภัย” ปิยนุช โคตรสาร กล่าว
ประเทศไทยมีหน้าที่ปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) ซึ่งเราได้ให้ภาคยานุวัติแล้ว โดยต้องสอบสวน ดำเนินคดี ลงโทษ และจัดให้มีการเยียวยาและชดเชยต่ออาชญากรรมเนื่องจากการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ